xs
xsm
sm
md
lg

เรียงร้อยถ้อยอักษร ผ่าน “กาพย์เห่เรือฯ” โดย “นาวาเอกทองย้อย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย (ภาพจาก Facebook นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย)
สำหรับ “พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” นอกจากจะมีจุดสนใจอยู่ที่ความตระการตาของเรือลำต่างๆ แล้ว ก็ยังมีชุดแต่งกายในแบบต่างๆ ที่สะท้อนถึงความงดงามของวัฒนธรรมไทย

อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคฯ ก็คือ “กาพย์เห่เรือ” อันเป็นจังหวะสัญญาณเพื่อความพร้อมเพรียงกันของฝีพาย และเรือแต่ละลำในขบวน ซึ่งในพระราชพิธีครั้งนี้ก็ได้ใช้ “กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” ประพันธ์ขึ้นโดย นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย อดีตข้าราชการทหาร กองทัพเรือ ผู้ซึ่งประพันธ์กาพย์เห่เรือในวาระสำคัญๆ มาแล้วหลายครั้ง
ความวิจิตรของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
ในวัย 67 ปี แม้ว่านาวาเอกทองย้อยจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ก็ยังได้รับหน้าที่สำคัญในการประพันธ์กาพย์เห่เรือ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากในสมัยเด็กที่จบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่ด้วยความชอบทางกาพย์กลอน และพออ่านออกเขียนได้ จึงอ่านหนังสือทุกชนิดเรื่อยมา จนกระทั่งได้บวชเป็นสามเณร และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยสำเร็จการศึกษาจากสำนักเรียน วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี ชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค ก่อนจะเทียบวุฒิเรียนปริญญาตรี และสมัครเข้ารับราชการในภายหลัง

ความรักความชอบในบทกวี ทำให้นาวาเอกทองย้อยยังคงแต่งบทกลอนเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ.2538 กองทัพเรือและหน่วยราชการอื่นๆ เตรียมจัดโครงการฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ.2539 จึงมีการจัดประกวดแต่งกาพย์เห่เรือ นาวาเอกทองย้อยได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการให้แต่งกาพย์เห่เรือเข้าประกวดด้วย และได้รับรางวัลชนะเลิศ หลังจากนั้น นาวาเอกทองย้อยก็ได้รับหน้าที่สำคัญนี้เรื่อยมา

หลักการแต่งกลอนของนาวาเอกทองย้อยมี 3 องค์ประกอบด้วยกัน คือ ฉันทลักษณ์ หลักภาษา และจินตนาการ โดยจะนำฉันทลักษณ์และหลักภาษามารังสรรค์ให้เกิดเป็นจินตนาการที่เห็นภาพได้ชัดเจน และเน้นใช้คำที่เข้าใจง่าย แต่ไม่ใช่ภาษาพูดหรือภาษาตลาด
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
สำหรับกาพย์เห่เรือในครั้งนี้ จะประกอบด้วยเนื้อหา 3 ส่วน คือ บทสรรเสริญพระบารมี อันเป็นหัวใจสำคัญของกาพย์ กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อประชาชนชาวไทยอย่างล้นพ้น และการถวายพระพรให้พระองค์ทรงมีพระชนม์ยิ่งยืนนาน

ส่วนที่ 2 คือ กาพย์ชมเรือ เป็นการชมความงดงามของเรือแต่ละลำ ตั้งแต่เรือพระที่นั่งทั้ง 4 ลำ เรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง และความงดงามของศิลปะไทยบนตัวเรือ และส่วนสุดท้ายคือ กาพย์ชมเมือง ที่พรรณาถึงความเป็นไปของบ้านเมือง ที่ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมตามยุคสมัย

การชมขบวนพยุหยาตราในครั้งนี้ นอกจากจะชมความวิจิตรงดงามของเรือแต่ละลำแล้ว ก็ต้องคอยฟังความงดงามของถ้อยอักษรที่ผ่านการเรียงร้อยมาเป็นกาพย์เห่เรือ ดังที่ นาวาเอกทองย้อยได้เคยกล่าวไว้ว่า “หัวใจ 4 ห้องของขบวนเรือก็คือ ความงดงามวิจิตรของเรือแต่ละลำ ความสวยงามของรูปขบวนเรือ ท่วงทำนองของฝีพาย และเสียงเห่อันไพเราะเพราะพริ้ง ส่วนกาพย์เห่เรือนั้นถือว่าเป็นหัวใจห้องที่ 5 ของขบวนเรือพระราชพิธี”
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น