นครศรีธรรมราช เปิดฤดูท่องเที่ยวชวนร่วมประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมายาวนานกับ “ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ” ภายใต้แนวคิด “มหกรรมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมคนนคร” ในวันที่ 9 - 18 ต.ค. 55 ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และสวนสมเด็จ พระศรีนคริทร์84 เขตเทศบาลนครศรีธรรมราช ภายในงานมีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา
เนื่องด้วยในปีนี้งานประเพณีบุญสาทรเดือนสิบ ได้จัดงานภายใต้แนวคิด “มหกรรมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมคนนคร” จึงได้มีการจัดกิจกรรมสำคัญขึ้น คือ กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา 5 ธ.ค. 55 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 ส.ค. 55 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา 28 ก.ค. 55 เช่น การแสดงโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ , วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง , การประกวดหมฺรับ ชิงหมฺรับทองคำพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และขบวนแห่หมฺรับ
ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ หรืองานเดือนสิบ เป็นงานบุญสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยความเชื่อทางพุทธศาสนิกชนในเรื่องกฎแห่งกรรม ผู้ที่สร้างบาปกรรมไว้มาก เมื่อตายไปจะกลายเป็นเปรตทนทุกขเวทนาชดใช้บาปกรรมนั้น
งานเดือนสิบ จัดขึ้นในช่วงวันแรม 1 ค่ำ ถึง 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกๆปี ซึ่งเชื่อว่าช่วงวันเวลาดังกล่าว พญายมจะปลดปล่อยวิญญาณของ"เปรต" หรือผู้ที่ล่วงลับแต่มีบาปกรรมมากให้ออกจากนรกขึ้นมาพบญาติพี่น้องบนโลกมนุษย์ ด้วยเหตุนี้บรรดาญาติพี่น้องจึงได้จัดการหาอาหารไปทำบุญ ที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับเป็นการต้อนรับ
งานเดือนสิบ เริ่มจัดครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2466 ที่วัดพระมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายหลังจึงถือปฏิบัติสืบเนื่องมาเป็นประจำทุกปีจนปัจจุบัน ประกอบด้วยวันสำคัญหลักๆ 3 วัน คือ
วันจ่าย แรม 13 ค่ำ เป็นวันที่ชาวนครจะจัดหาและซื้อสิ่งของต่างๆ เพื่อการจัด หฺมฺรับ (อ่านว่า หมับ มาจาก สำรับ) ของที่ซื้อมาใส่จะมีอาหารคาวหวาน ผักผลไม้ ส่วนใหญ่เป็นของแห้ง เก็บไว้ได้นานของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมัน ไม้ขีดไฟ ธูป เทียน ยาสามัญประจำบ้านรวมถึง หมาก พลู ปูน ยาเส้น ฯลฯ
วันหมฺรับเล็กหรือวันยก หมฺรับ แรม 14 ค่ำ เรียก เป็นวันที่ผู้คนจะนำหมฺรับและอาหาร ไปวัดถวายแด่พระสงฆ์ มีการจัดขบวนแห่ มีดนตรีนำหน้าขบวน นอกจากนี้มีการนำอาหารและขนมเดือนสิบ ตามประเพณีโบราณ รวมทั้งเงินหรือเหรียญสตางค์ไปวางตามที่ต่างๆ เช่น ริมกำแพงวัด, โคนต้นไม้ เพื่อแผ่ส่วนกุศล อุทิศแก่ผู้ล่วง ลับที่ปราศจากญาติ หรือญาติที่ไม่ได้มาร่วมทำบุญในวันนี้ เรียกว่า "ตั้งเปรต" หรือ"หลาเปรต" (ศาลาเปรต)
หลังจากตั้งเปรตแล้ว เริ่มพิธีกรรมสงฆ์ พระสงฆ์จะสวดบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ ผู้ที่ล่วงลับ จากนั้นชาวบ้านที่ยากจนหรือเด็กๆ จะวิ่งเข้าไปแย่งขนม อาหาร ที่ตั้งเปรต บ้างก็ถือว่าได้บุญ บ้างถือเป็นเรื่องสนุก เรียกว่า "การชิงเปรต"
วันสารท แรม 15 ค่ำ เป็นวันที่ประชาชนจะนำอาหารไปถวายพระสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำ บุญฉลอง หมฺรับ ที่จัดไป วันนี้เรียกว่า "วันหลองหมฺรับ" (วันฉลองหมฺรับ) ถือว่าเป็นวันหมฺรับใหญ่
กิจกรรมที่กระทำในวันนี้ มีการทำบุญเลี้ยงพระและบังสุกุล เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติ พี่น้องและผู้อื่นที่ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญวันนี้ ถือเป็นการทำบุญสำคัญ เพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติพี่น้อง และผู้ล่วงลับไปแล้วกลับสู่เมืองนรก ชาวบ้านเรียกวันนี้ว่า "วันส่งตายาย" การทำบุญวันนี้เพื่อบรรพบุรุษ จะไม่ อดอยากหิวโหยเมื่อกลับสู่นรก ถ้าลูกหลานไม่ทำบุญในวันส่งตายายนี้ จะถูกถือว่าเป็นคนอกตัญญู
อนึ่งการจัดหมฺรับไปทำบุญที่วัดนั้น จะประกอบไปด้วยขนมที่มีลักษณะพิเศษ 5 อย่าง ได้แก่ ขนมลา เปรียบเสมือนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ขนมพอง เปรียบเสมือเป็นยานพาหนะให้ผู้ล่วงลับได้ใช้เป็นแพข้ามสู่ภพภูมิใหม่ ขนมกง อุทิศเป็นเครื่องประดับ ขนมดีซำ อุทิศเป็นเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า สำหรับวิญญาณผู้ล่วงลับจะได้ใช้เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์
สำหรับผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครศรีธรรมราช โทร.0-7534-6515-6