xs
xsm
sm
md
lg

"วังบ้านหม้อ" มนต์เสน่ห์ของชีวิตที่ไม่เคยหายไปกับกาลเวลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากจะเปรียบวันและเวลาเป็นดั่งสายน้ำ สรรพสิ่งทั้งหลายที่ตั้งอยู่บนโลกก็น่าจะเป็นกิ่งไม้ใหญ่น้อยที่ปักตั้งไว้ อยู่อย่างตั้งมั่น บ้างก็โรยลาไปตามกาลบ้างก็ทวนกระแสอยู่อย่างตั้งมั่นและคงทน เฉกเช่นกับวิถีชีวิตของเราที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และบางครั้งก็ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนเร็วเกินกาลเวลาไปด้วยซ้ำ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือเทศกาลวันสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านไปแบบว่าตัวยังไม่แห้งดี หลายครอบครัวพากันมุ่งหน้าไปต่างจังหวัด หลายคนเล่นสาดน้ำสงกรานต์อย่างสนุกสนาน หากแต่คนในตระกูลกุญชร กลับมารวมตัวกันที่วังบ้านหม้อเพื่อทำบุญรำลึกถึงบรรพบุรุษ พ่อ-แม่ ปู่ย่า ตาทวด และครูบาอาจารย์ ผู้ล่วงลับพร้อมทำ “พิธีรดน้ำดำหัว” ขอพรผู้ใหญ่ในสกุล อีกทั้งเป็นการเชื่อมสายสัมพันธ์ให้ลูกหลานที่แตกแขนงออกไปได้มีโอกาสกลับมาพบปะกันเป็นประจำในวันที่ 16 เมษายนของทุกปีที่ “วังบ้านหม้อ”

วังบ้านหม้อ ตั้งอยู่บนนถนนอัษฎางค์ ถนนที่เลาะเลียบคลองหลอดจากหัวถนนที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ผ่านกระทรวงมหาดไทย และวัดราชบพิธ ก็จะเห็นกำแพงที่โอบล้อมรอบเรือนไม้โบราณหลังใหญ่ อันเป็นที่ตั้งของวังเก่าแก่อายุมากกว่า 200 ปีที่สร้างขึ้นเมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แห่งนี้

วังแห่งนี้เรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์และนับเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของวังเก่าในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นวังกลุ่มแรกซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สร้างพระราชทานพระโอรส 3 พระองค์อันเป็นพระพี่พระน้องกัน โปรดให้สร้างบริเวณท้ายวัดโพธิ์อันเป็นที่ว่างรกร้าง มีที่คุมขังซึ่งเรียกว่า “หับเผย” อยู่บริเวณนั้น วังทั้ง 3 วังนี้ จึงเรียกว่ากลุ่มวังท้ายหับเผย

วังที่ 1 สร้างพระราชทานพระองค์เจ้าพนมวัน (กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ในเจ้าจอมมารดาศิลา ต้นสกุล พนมวัน)

วังที่ 2 พระราชทานพระองค์เจ้าทินกร (กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ในเจ้าจอมมารดาศิลา ต้นสกุล ทินกร)
วังที่ 3 สร้างพระราชทานพระองค์เจ้ากุญชร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ในเจ้าจอมมารดาศิลา เป็นองค์ต้นราชสกุล "กุญชร" ปัจจุบันเรียก วังบ้านหม้อ
ปัจจุบัน “วังบ้านหม้อ” ได้รับการจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานแล้ว เพราะถือเป็นวังแห่งสุดท้ายที่เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต้นรัตนโกสินทร์ โดยวังท้ายหับเผยที่ 1 และ 2 ได้ถูกไฟไหม้ไปหมดแล้ว

แม้จะถูกยกให้เป็นโบราณสถานที่ได้รับการคุ้มครองแล้ว แต่ลูกหลานในตระกูลยังคงร่วมกันดูแลรักษากันเป็นอย่างดี ถือเป็นวังที่ยังคงรักษารูปแบบวังโบราณไว้ครบถ้วน คือ ภายในยังคงมีท้องพระโรงชั้นพระองค์เจ้าที่ทำด้วยไม้สักทั้งหลัง มีสภาพสมบูรณ์ โดยรอบยังเป็นที่พักพิงของลูกหลาน แต่ท้องพระโรงซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางของวังจะปิดเพื่อเก็บรักษาไว้ จะเปิดก็ต่อเมื่อมีพิธีสำคัญอย่างเช่นการรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์ หรือ งานแต่งงานของลูกหลานในตระกูลเท่านั้น เพราะที่แห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ องค์ต้นราชสกุลกุญชร, พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ (พระนามเดิม ม.จ.สิงหนาท) และอัฐิของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร)

สำหรับงานทำบุญและพิธีรดน้ำดำหัวของสายสกุล “กุญชร” ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องกันมานานกว่า 200 ปีแล้ว “ผมโตมาก็ได้เห็นว่าคุณปู่ คุณย่า คุณพ่อ คุณแม่จะปฏิบัติกันเป็นประเพณีแล้ว คุณแม่เล่าว่า เมื่อก่อน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์องค์ต้นราชสกุลกุญชร และผู้เป็นเจ้าของวังบ้านหม้อ ท่านจะเข้าไปทำบุญพระบรมราชอัฐิของพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และเจ้าจอมมารดาศิลาเป็นประจำทุกปี พอท่านสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ก็มารุ่นพ่อรุ่นแม่ ซึ่งพวกเราก็จะมาทำบุญพระอัฐิให้ท่าน จนถึงปัจจุบันพวกลูกหลานจะมารวมกันที่นี่เพื่อร่วมรำลึกถึงบรรพบุรุษ พ่อแม่ ปู่ย่า ตาทวด และครูบาอาจารย์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ก็ถือโอกาสรดน้ำผู้หลักผู้ใหญ่เพื่อขอพรท่าน ซึ่งเราจะเลือกจัดงานวันที่ 16 เมษายนของทุกปีเพราะเป็นวันที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์สิ้นพระชนม์” วิษุวัต สุริยกุล ณ อยุธยา ทายาทรุ่นที่ 6 ของวังบ้านหม้อ กล่าว

บรรยากาศ “พิธีรดน้ำดำหัว” ของวังบ้านหม้อจะเป็นงานที่เรียบง่าย เริ่มพิธีทำบุญเลี้ยงพระเช้า-เพล รดน้ำพระอัฐิองค์ต้นราชสกุล โดยมีลูกหลานที่ถนัดเรื่องดนตรีก็จะรวมตัวเล่นดนตรีไทยบรรเลงเพลงเคล้าคลอสร้างบรรยากาศความเป็นไทย ส่วนลูกหลานที่ถนัดเรื่องการทำอาหารก็จะเข้าครัวทำข้าวแช่สูตรวังบ้านหม้อ ซึ่งถือเป็นอาหารประจำตระกูล หนึ่งปีจะมีการทำข้าวแช่สูตรตระกูลแค่ในพิธีนี้เท่านั้น เมื่อเสร็จจากพิธีสงฆ์แล้ว ลูกหลานก็จะรดน้ำผู้ใหญ่เพื่อขอพร จากนั้นก็รับประทานอาหารร่วมกันท่ามกลางบรรยากาศความเป็นไทยที่ครบถ้วน

อย่างไรก็ตามแม้วันวานจะผ่านพ้นไปไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ หากแต่เจตนารมณ์และคำสอนที่ยังฝังแน่นอยู่สายเลือด ทำให้สายสกุล “กุญชร” ยังคงยึดขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของวันสงกรานต์มาเป็นแบบอย่างให้ลูกหลานได้เรียนรู้และเพื่อที่จะสืบทอดเจตนารมย์จากรุ่นสู่รุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น