สพภ. ร่วมกับ 7 หน่วยงาน ลงนามความร่วมมือผลักดันโครงการ PES ส่งเสริมการท่องเที่ยว ในพื้นที่ ต.คลองประสงค์ จ.กระบี่ แห่งแรกของไทย พร้อมจัดตั้ง “กองทุนตอบแทนคุณระบบนิเวศตำบลคลองประสงค์”
นายเสมอ ลิ้มชูวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. เปิดเผยว่า สพภ. ได้ดำเนินงาน “โครงการตอบแทนคุณระบบนิเวศตามหลักการ PES” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำหลักการ PES หรือ Payment for Ecosystem Services มาใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศให้คงไว้ซึ่งบริการของระบบนิเวศที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ และเพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมจากการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศให้กับประชาชนที่อยู่รอบพื้นที่ รวมทั้งยังเป็นแนวทางที่จะช่วยสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศอีกทางหนึ่งด้วย
โดยที่ PES หรือ การตอบแทนคุณระบบนิเวศ เป็นแนวคิดในการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ในการประเมินมูลค่าระบบนิเวศ และส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการหรือได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศ ตอบแทนคุณระบบนิเวศในรูปแบบต่างๆ ให้กับผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษา อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศนั้นๆ เพื่อให้คงไว้ซึ่งบริการหรือประโยชน์อย่างยั่งยืนที่ได้รับจากระบบนิเวศ และในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ที่ดูแลรักษา อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศมีขวัญและกำลังใจในการดำเนินงาน มีศักยภาพการดำเนินงานที่สูงขึ้น และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ และในส่วนของผู้ได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศที่ได้มีการตอบแทนคุณระบบนิเวศนั้น ก็จะได้หลักประกันว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศนั้นในกระบวนการผลิตอย่างพอเพียงและมีคุณภาพ
ในเบื้องต้น โครงการฯ ได้คัดเลือกพื้นที่ตำบลคลองประสงค์ จังหวัดกระบี่ เป็นพื้นที่เพื่อนำร่องการดำเนินงาน โดยได้รับความร่วมมือจาก องค์การบริหารส่วนตำบลคลองประสงค์ และภาคส่วนที่ได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศในพื้นที่ ได้แก่ โรงแรมอัยแลนดา อีโค วิลเลจ รีสอร์ท ชมรมเรือหัวโทงท่องเที่ยวตำบลคลองประสงค์ กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีชุมชนเขาขนาบน้ำตำบลคลองประสงค์ ชมรมผู้ประกอบการท่าเลตำบลคลองประสงค์ กลุ่มผู้ประกอบการโดยชุมชนตำบลคลองประสงค์ รวมถึง ภาคส่วนที่ดูแลอนุรักษ์ระบบนิเวศ ได้แก่ ชมรมอนุรักษ์ป่าชายเลนตำบลคลองประสงค์ ในการเข้าร่วมดำเนินงาน “โครงการตอบแทนคุณระบบนิเวศตามหลักการ PES ตำบลคลองประสงค์” กับ สพภ.
เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือและแสดงถึงเจตนารมณ์และความตั้งใจในการดำเนินโครงการฯ ของภาคส่วนต่างๆ ดังกล่าว สพภ. จึงจัดให้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงการดำเนินงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันพื้นที่ตำบลคลองประสงค์ให้เป็นพื้นที่ที่มีการตอบแทนคุณระบบนิเวศเพื่อความมั่นคงยั่งยืนของบริการระบบนิเวศแห่งแรกของประเทศไทย ตลอดจนสร้างระบบการตอบแทนคุณระบบนิเวศให้พื้นที่ตำบลคลองประสงค์ด้วยการจัดตั้ง “กองทุนตอบแทนคุณระบบนิเวศตำบลคลองประสงค์”
สำหรับตำบลคลองประสงค์อยู่ติดเมือง มีป่าโกงกางและลำคลองสายต่าง ๆ ที่เป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ค่อนข้างสูงจึงเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่นิยมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีชุมชน และนักปั่นจักรยานนิยมข้ามแม่น้ำกระบี่เข้ามาใช้พื้นที่เกาะกลางเป็นสถานที่ขี่จักรยานจำนวนหนึ่ง เนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่นี้ยังคงวิถีธรรมชาติ มีอากาศบริสุทธ์ ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีชุมชน ทำให้เกิดอาชีพมัคคุเทศก์และการบริการเรือรับจ้างนักท่องเที่ยว มีการให้บริการโฮมเตย์ พร้อมจัดกิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นรายได้เสริมที่สำคัญแหล่งหนึ่งนอกเหนือจากอาชีพหลักที่ทำการประมงชายฝั่งและการเพาะเลี้ยงปลาและหอยแมลงภู่ในกระชัง นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปสัตว์น้ำและหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นกิจกรรมของกลุ่มแม่บ้านและกลุ่มผู้สูงอายุที่ทำรายได้ให้กับหมู่บ้านด้วยเช่นกัน
ส่วนรูปแบบของ PES ในพื้นที่ตำบลคลองประสงค์นั้น จัดอยู่ในประเภทความสวยงามของแหล่งอนุรักษ์ทางธรรมชาติ เป็นการตอบแทนคุณระบบนิเวศให้กับผู้ดูแลพื้นที่เพื่อรักษาระบบนิเวศและความสวยงามของแหล่งธรรมชาติ โดยการจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ แล้วนำเงินจากกองทุนมาใช้ในการดูแลรักษาป้องกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศในพื้นที่ตนเองเพื่อให้คงความสวยงาม และสามารถใช้ประโยชน์ด้านนันทนาการอย่างยั่งยืน ส่วนผู้ที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนคุณระบบนิเวศ คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว เชิงนิเวศ และนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมในพื้นที่ เป็นต้น
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เห็นถึงประโยชน์ของบริการระบบนิเวศที่ได้จากพื้นที่ตำบลคลองประสงค์ และเห็นถึงความตั้งใจในการดูแลอนุรักษ์พื้นที่แห่งนี้ของชาวคลองประสงค์ จึงได้ผลักดันให้นำหลักการ PES มาดำเนินงานในพื้นที่ โดยการเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานให้ทุกฝ่ายและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยความร่วมมือและสนับสนุนจากหน่วยงานทุกฝ่ายตามความเหมาะสมและตามเห็นสมควร
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) โทร. 0-2141-7829, 0-2141-7808 หรือ www.bedo.or.th