xs
xsm
sm
md
lg

ระนองหวั่นปัญหาทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย กระทบธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระนอง - จังหวัดระนองหวั่นปัญหาระบบนิเวศทางทะเลส่งผลกระต่อธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสภาพแวดล้อม ทสจ.จัดการประชุมโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนขึ้น คาดว่าจะสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการให้ทราบถึงปัญหา และร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2555 ที่โรงแรม เฮอริเทจ แกรนด์คอนเวนชั่น จังหวัดระนอง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระนอง (สนง.ทสจ.ระนอง) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมีว่าที่ ร.ต.ปฐวี ปรัตคจริยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนองเป็นประธานการประชุม

นายมนู อานันทสฤษฎ์. ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระนอง กล่าวว่า จังหวัดระนองมีพื้นที่ริมฝั่งทะเลอันดามัน ยาวถึง 151 กิโลเมตร และมีทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบกับนโยบายของจังหวัดที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาจังหวัดระนองเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และศูนย์กลางการค้าชายแดนฝั่งอันดามัน และกำลังจะยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวให้เป็นสากลมากขึ้น แต่ในปัจจุบัน ระบบนิเวศทางทะเลถูกทำลายและทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมลง สาเหตุเกิดจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งของมนุษย์ขาดมาตรการดูแลที่ชัดเจน และไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการก่อสร้างบนพื้นที่ชายฝั่ง การปล่อยน้ำเสียสู่ทะเล การทิ้งขยะของชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง

จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้ความสวยงามของธรรมชาติลดลง และสร้างความเสื่อมโทรมแก่สภาพแวดล้อม จึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศต่างๆ รวมถึงแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดระนองด้วย ทาง สนง.ทสจ.ระนอง จึงจัดประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ขึ้น เพื่อเป็นการให้ความรู้ในด้านการอนุรักษ์ และยังเป็นการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดระนองอีกด้วย

ในการประชุมได้พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ผลกระทบต่างๆ แนวทางแก้ไข รวมถึงแผนพัฒนาที่จะดำเนินการต่อไป หลังจากนั้น ก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาคประชาชน ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ในส่วนของกิจกรรมที่ สนง.ทสจ.ระนอง จัดขึ้นแล้วนั้น ประกอบด้วย การรณรงค์ทำความสะอาดชายหาด รณรงค์เก็บขยะในทะเล กิจกรรมอันดามันปลอดโฟม กิจกรรมการใช้จุลินทรีย์ในการจัดการน้ำเสีย
กำลังโหลดความคิดเห็น