โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
การไปทำงานต่างบ้านต่างเมืองต่างประเทศโดยลำพัง อาจไม่ใช่เรื่องยากลำบากหรือโลดโผนนักในยุคนี้ แต่หากย้อนกลับไปในราวร้อยปีก่อนคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งความกล้า ความสามารถ และความอดทนไม่น้อยเลย
นั่นคือความคิดที่เกิดขึ้นเมื่อฉันได้ทราบประวัติชีวิตของ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” หรือ คอร์ราโด เฟโรจี ศิลปินและอาจารย์สอนศิลปะชาวอิตาเลียนที่เดินทางมารับราชการในเมืองไทยเมื่อปี 2466 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชประสงค์จะได้ช่างปั้นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างอนุสาวรีย์ นายคอร์ราโด จึงได้รับเลือกให้เข้ามารับราชการในตำแหน่งช่างปั้นประจำกรมศิลปากร และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานของอาจารย์ศิลป์ในประเทศสยาม
เหตุที่ฉันพูดถึง อ.ศิลป์ ขึ้นมา ก็เนื่องจากวันที่ 15 กันยายน ที่จะถึงนี้ถือเป็นวันคล้ายวันเกิดของ อ.ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ ซึ่งหาก อ.ศิลป์ ยังมีชีวิตอยู่ก็จะมีอายุถึง 122 ปี แล้ว และสถานที่ที่จะรำลึกถึง อ.ศิลป์ได้ดีที่สุดก็ย่อมต้องเป็นที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเพราะที่นี่เป็นสถานศึกษาที่ อ.ศิลป์ก่อตั้งขึ้นด้วยความรักและภาคภูมิใจ แต่หากอยากรู้เรื่องราวประวัติชีวิตและผลงานมากมายของ อ.ศิลป์ก็ต้องมาที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์” ในกรมศิลปากรที่อยู่ในรั้วติดกัน
สำหรับอาคารที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลป์ พีระศรีฯ นั้น เป็นอาคารที่ อ. ศิลป์ ออกแบบเองเพื่อเป็นสถานที่ทำงานโดยได้ออกแบบให้มีหน้าต่างบานใหญ่เป็นกระจกใสเพื่อรับแสงและลมธรรมชาติได้ตลอดวัน ภายในทาผนังห้องด้วยสีเหลืองสดใส เพดานเป็นสีเขียวอ่อน ท่านได้ใช้อาคารหลังนี้เป็นสถานที่ทำงานเรื่อยมาจนตลอดชีวิตของท่าน
แม้ดูภายนอกจะเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แต่ภายในจัดเก็บข้าวของได้เรียบร้อยน่าชม อบอุ่นและอบอวลไปด้วยบรรยากาศของศิลปะ โดยพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ด้านนอกเป็นห้องจัดแสดงผลงานจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ทั้งของ อ.ศิลป์เองและบรรดาลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดเช่น อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ อ.ประยูร อุลุชาฎะ อ.ชลูด นิ่มเสมอ อ.จำรัส เกียรติก้อง อ.เขียน ยิ้มศิริ อ.สวัสดิ์ ตันติสุข อ.ทวี นันทขว้าง ฯลฯ ซึ่งผลงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นงานศิลปกรรมในยุคแรกเริ่มของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ซึ่ง อ.ศิลป์เป็นผู้สอนและวางรากฐานไว้ให้
ส่วนห้องทางด้านในจัดจำลองบรรยากาศโต๊ะทำงานเมื่อครั้ง อ.ศิลป์ยังมีชีวิตอยู่ โดยมีโต๊ะยาวตัวหนึ่งตั้งอยู่กลางห้อง จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ของ อ.ศิลป์ ซึ่งมีทั้งเครื่องพิมพ์ดีด เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องมือปั้น และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ นอกจากนั้นในห้องนี้ยังจัดแสดงแบบร่างอนุสาวรีย์และประติมากรรมชิ้นสำคัญ เช่นแบบร่างพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 แบบร่างพระศรีศากยทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑล และต้นแบบพระเศียรรัชกาลที่ 8 แบบร่างภาพจิตรกรรมฝาผนังในหอพุทธรัตนสถาน พระบรมมหาราชวัง รวมไปถึงหนังสือหายากที่ อ.ศิลป์ใช้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะตะวันตกและสมุดรวมภาพเก่าของ อ.ศิลป์ขณะทำงานในสถานที่ต่างๆอีกด้วย
ผลงานอันโดดเด่นของ อ.ศิลป์ส่วนใหญ่คือการออกแบบอนุสาวรีย์ ดังนั้นหากอยากทราบว่าท่านออกแบบอนุสาวรีย์อะไรบ้างนั้น ขอเชิญให้มาชมกันต่อที่ “หอประติมากรรมต้นแบบ” ที่อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์เพียง 50 เมตร ที่นี่แต่เดิมเป็นโรงปั้นหล่อและหลอมโลหะของกรมศิลปากรมาตั้งแต่ปี 2499 แต่ตอนหลังได้ย้ายโรงปั้นหล่อนี้ไปที่ศาลายา พื้นที่ตรงนี้จึงได้จัดทำเป็นหอประติมากรรมต้นแบบเป็นที่จัดนิทรรศการและเป็นแหล่งข้อมูลด้านประติมากรรม และศิลปกรรมให้คนที่สนใจได้เข้ามาชมกัน
ประติมากรรมต้นแบบที่จัดแสดงส่วนใหญ่จะหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์และมีบางส่วนที่หล่อเป็นโลหะ ซึ่งประติมากรรมเหล่านี้ถูกใช้เป็นแบบเพื่อหล่อเป็นโลหะสำหรับนำไปประดิษฐานเป็นอนุสาวรีย์ต่างๆ ที่คุ้นตากันดี และหลายชิ้นก็ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเชิงสะพานพุทธฯ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ และพระบรมราชานุสาวรีย์พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี เป็นต้น
นอกจากนั้นก็ยังมีรูปหล่อต้นแบบของพระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรสน์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่พุทธมณฑล พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี อนุสรณ์ดอนเจดีย์ และอีกหลายอนุสาวรีย์ ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่ผลงานของ อ.ศิลป์เพียงคนเดียว แต่ยังมีผลงานของลูกศิษย์ลูกหาของท่าน รวมๆ แล้วนับร้อยชิ้น สามารถเดินชมและถ่ายรูปได้ตามสะดวก
สำหรับวันศิลป์ พีระศรีในครั้งนี้ ยังเป็นวันคล้ายวันเกิดของ อ.ศิลป์ครั้งสำคัญ เพราะเป็นวันเกิดครบรอบ 122 ปี อย่างที่ฉันว่าไปแล้ว ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงมีการจัดกิจกรรมหลายอย่างเพื่อเป็นการระลึกถึงท่าน ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญตักบาตร การวางช่อดอกไม้ การแสดงปาฐกถา การบรรยาย เสวนา การเล่นดนตรีและการแสดงของนักศึกษา การจุดเทียนรำลึก ณ บริเวณอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะของคณะวิชาและหอศิลป์ที่น่าสนใจหลายรายการ จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจมาร่วมรำลึกถึง อ.ศิลป์ ด้วยกัน
การมาชมพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้ทำให้ฉันเกิดความรู้สึกชื่นชม อ.ศิลป์ พีระศรี เป็นอย่างมาก เพราะถึงแม้จะต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานไกลบ้านเกิดเมืองนอน แต่ท่านก็มุ่งมั่นทำหน้าที่และสร้างผลงานอันทรงคุณค่าฝากไว้ในแผ่นดินไทยได้อย่างมากมาย ชาวศิลปากรและศิลปินหลายๆ ท่านจึงเคารพรักและนับถือ อ.ศิลป์ พีระศรี เป็นต้นแบบในการทำงาน เหมือนคำกล่าวที่ท่านเคยพูดไว้ว่า
“นาย...ถ้าฉันตาย...นายคิดถึงฉัน...นายรักฉัน...นายไม่ต้องทำอะไร...นายทำงาน”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรีอนุสรณ์ และ หอประติมากรรมต้นแบบ ตั้งอยู่ที่กรมศิลปากร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 09.00-16.00 (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามโทร. 0-2223-6162
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com
การไปทำงานต่างบ้านต่างเมืองต่างประเทศโดยลำพัง อาจไม่ใช่เรื่องยากลำบากหรือโลดโผนนักในยุคนี้ แต่หากย้อนกลับไปในราวร้อยปีก่อนคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งความกล้า ความสามารถ และความอดทนไม่น้อยเลย
นั่นคือความคิดที่เกิดขึ้นเมื่อฉันได้ทราบประวัติชีวิตของ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” หรือ คอร์ราโด เฟโรจี ศิลปินและอาจารย์สอนศิลปะชาวอิตาเลียนที่เดินทางมารับราชการในเมืองไทยเมื่อปี 2466 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชประสงค์จะได้ช่างปั้นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างอนุสาวรีย์ นายคอร์ราโด จึงได้รับเลือกให้เข้ามารับราชการในตำแหน่งช่างปั้นประจำกรมศิลปากร และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานของอาจารย์ศิลป์ในประเทศสยาม
เหตุที่ฉันพูดถึง อ.ศิลป์ ขึ้นมา ก็เนื่องจากวันที่ 15 กันยายน ที่จะถึงนี้ถือเป็นวันคล้ายวันเกิดของ อ.ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ ซึ่งหาก อ.ศิลป์ ยังมีชีวิตอยู่ก็จะมีอายุถึง 122 ปี แล้ว และสถานที่ที่จะรำลึกถึง อ.ศิลป์ได้ดีที่สุดก็ย่อมต้องเป็นที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเพราะที่นี่เป็นสถานศึกษาที่ อ.ศิลป์ก่อตั้งขึ้นด้วยความรักและภาคภูมิใจ แต่หากอยากรู้เรื่องราวประวัติชีวิตและผลงานมากมายของ อ.ศิลป์ก็ต้องมาที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์” ในกรมศิลปากรที่อยู่ในรั้วติดกัน
สำหรับอาคารที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลป์ พีระศรีฯ นั้น เป็นอาคารที่ อ. ศิลป์ ออกแบบเองเพื่อเป็นสถานที่ทำงานโดยได้ออกแบบให้มีหน้าต่างบานใหญ่เป็นกระจกใสเพื่อรับแสงและลมธรรมชาติได้ตลอดวัน ภายในทาผนังห้องด้วยสีเหลืองสดใส เพดานเป็นสีเขียวอ่อน ท่านได้ใช้อาคารหลังนี้เป็นสถานที่ทำงานเรื่อยมาจนตลอดชีวิตของท่าน
แม้ดูภายนอกจะเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แต่ภายในจัดเก็บข้าวของได้เรียบร้อยน่าชม อบอุ่นและอบอวลไปด้วยบรรยากาศของศิลปะ โดยพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ด้านนอกเป็นห้องจัดแสดงผลงานจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ทั้งของ อ.ศิลป์เองและบรรดาลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดเช่น อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ อ.ประยูร อุลุชาฎะ อ.ชลูด นิ่มเสมอ อ.จำรัส เกียรติก้อง อ.เขียน ยิ้มศิริ อ.สวัสดิ์ ตันติสุข อ.ทวี นันทขว้าง ฯลฯ ซึ่งผลงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นงานศิลปกรรมในยุคแรกเริ่มของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ซึ่ง อ.ศิลป์เป็นผู้สอนและวางรากฐานไว้ให้
ส่วนห้องทางด้านในจัดจำลองบรรยากาศโต๊ะทำงานเมื่อครั้ง อ.ศิลป์ยังมีชีวิตอยู่ โดยมีโต๊ะยาวตัวหนึ่งตั้งอยู่กลางห้อง จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ของ อ.ศิลป์ ซึ่งมีทั้งเครื่องพิมพ์ดีด เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องมือปั้น และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ นอกจากนั้นในห้องนี้ยังจัดแสดงแบบร่างอนุสาวรีย์และประติมากรรมชิ้นสำคัญ เช่นแบบร่างพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 แบบร่างพระศรีศากยทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑล และต้นแบบพระเศียรรัชกาลที่ 8 แบบร่างภาพจิตรกรรมฝาผนังในหอพุทธรัตนสถาน พระบรมมหาราชวัง รวมไปถึงหนังสือหายากที่ อ.ศิลป์ใช้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะตะวันตกและสมุดรวมภาพเก่าของ อ.ศิลป์ขณะทำงานในสถานที่ต่างๆอีกด้วย
ผลงานอันโดดเด่นของ อ.ศิลป์ส่วนใหญ่คือการออกแบบอนุสาวรีย์ ดังนั้นหากอยากทราบว่าท่านออกแบบอนุสาวรีย์อะไรบ้างนั้น ขอเชิญให้มาชมกันต่อที่ “หอประติมากรรมต้นแบบ” ที่อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์เพียง 50 เมตร ที่นี่แต่เดิมเป็นโรงปั้นหล่อและหลอมโลหะของกรมศิลปากรมาตั้งแต่ปี 2499 แต่ตอนหลังได้ย้ายโรงปั้นหล่อนี้ไปที่ศาลายา พื้นที่ตรงนี้จึงได้จัดทำเป็นหอประติมากรรมต้นแบบเป็นที่จัดนิทรรศการและเป็นแหล่งข้อมูลด้านประติมากรรม และศิลปกรรมให้คนที่สนใจได้เข้ามาชมกัน
ประติมากรรมต้นแบบที่จัดแสดงส่วนใหญ่จะหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์และมีบางส่วนที่หล่อเป็นโลหะ ซึ่งประติมากรรมเหล่านี้ถูกใช้เป็นแบบเพื่อหล่อเป็นโลหะสำหรับนำไปประดิษฐานเป็นอนุสาวรีย์ต่างๆ ที่คุ้นตากันดี และหลายชิ้นก็ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเชิงสะพานพุทธฯ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ และพระบรมราชานุสาวรีย์พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี เป็นต้น
นอกจากนั้นก็ยังมีรูปหล่อต้นแบบของพระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรสน์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่พุทธมณฑล พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี อนุสรณ์ดอนเจดีย์ และอีกหลายอนุสาวรีย์ ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่ผลงานของ อ.ศิลป์เพียงคนเดียว แต่ยังมีผลงานของลูกศิษย์ลูกหาของท่าน รวมๆ แล้วนับร้อยชิ้น สามารถเดินชมและถ่ายรูปได้ตามสะดวก
สำหรับวันศิลป์ พีระศรีในครั้งนี้ ยังเป็นวันคล้ายวันเกิดของ อ.ศิลป์ครั้งสำคัญ เพราะเป็นวันเกิดครบรอบ 122 ปี อย่างที่ฉันว่าไปแล้ว ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงมีการจัดกิจกรรมหลายอย่างเพื่อเป็นการระลึกถึงท่าน ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญตักบาตร การวางช่อดอกไม้ การแสดงปาฐกถา การบรรยาย เสวนา การเล่นดนตรีและการแสดงของนักศึกษา การจุดเทียนรำลึก ณ บริเวณอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะของคณะวิชาและหอศิลป์ที่น่าสนใจหลายรายการ จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจมาร่วมรำลึกถึง อ.ศิลป์ ด้วยกัน
การมาชมพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้ทำให้ฉันเกิดความรู้สึกชื่นชม อ.ศิลป์ พีระศรี เป็นอย่างมาก เพราะถึงแม้จะต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานไกลบ้านเกิดเมืองนอน แต่ท่านก็มุ่งมั่นทำหน้าที่และสร้างผลงานอันทรงคุณค่าฝากไว้ในแผ่นดินไทยได้อย่างมากมาย ชาวศิลปากรและศิลปินหลายๆ ท่านจึงเคารพรักและนับถือ อ.ศิลป์ พีระศรี เป็นต้นแบบในการทำงาน เหมือนคำกล่าวที่ท่านเคยพูดไว้ว่า
“นาย...ถ้าฉันตาย...นายคิดถึงฉัน...นายรักฉัน...นายไม่ต้องทำอะไร...นายทำงาน”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรีอนุสรณ์ และ หอประติมากรรมต้นแบบ ตั้งอยู่ที่กรมศิลปากร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 09.00-16.00 (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามโทร. 0-2223-6162
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com