อำเภอเล็กๆ ในจังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทย อย่าง “อำเภออัมพวา” จังหวัดสมุทรสงคราม กำลังมีประเด็นร้อนที่สังคมกำลังจับตาและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ คือโครงการ “ชูชัยบุรีศรีอัมพวา” โรงแรมหรูสไตล์ยุโรปมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ของ ชูชัย ชัยฤทธิเลิศ นักธุรกิจค้าอัญมณี ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างขึ้นริมคลองอัมพวา และกำลังถูกต่อต้านจากกระแสสังคม นักอนุรักษ์และคนในพื้นที่ ในเรื่องของความไม่เหมาะสมของการออกแบบตัวอาคาร และจากกรณีการรื้อบางส่วนของห้องแถวไม้ริมน้ำอายุกว่า 100 ปี 12 หลัง ซึ่งอยู่ในส่วนก่อสร้างโครงการชูชัยบุรีศรีอัมพวา
กระแสต่อต้านที่รุนแรง ทำให้นายชูชัยออกมายืนยันว่าไม่มีนโยบายที่จะรื้อทิ้งเรือนแถวไม้ 12 หลัง แต่มีโครงการจะปรับปรุงใหม่ โดยจะอนุรักษ์บ้าน 12 หลังนี้ไว้เป็นสถานที่ขายสินค้าโอท็อปของชาวอัมพวา และประกาศยอมชะลอการก่อสร้างโรงแรมไว้ก่อนจนกว่าจะหาข้อยุติได้
จากกรณีดังกล่าว ธีรภาพ โลหิตกุล นักถ่ายภาพและนักเขียนสารคดีอิสระ กล่าวแสดงความคิดเห็นในบทความ “เมื่อกาลเวลาพราก ‘อัมพวา’ จากเราไป” ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 ก.ย. 2555 ว่า อัมพวาเป็นชุมชนในฝันของผู้คนจำนวนมาก และยังได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ตั้งแต่ปี 2545 และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเดนมาร์ก ในการจัดทำโครงการ “อนุรักษ์ศิลปกรรมสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม” โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามาศึกษาวิจัยการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนอัมพวา ในปี 2545 เป็นผลทำให้อัมพวาได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Asian-Pacific for Culture Heritage Conservation) ระดับ Honorable Mention จากองค์การยูเนสโก ในปี 2551
นอกจากนั้น ที่อัมพวายังมี “โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์” ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา นำที่ดินที่คุณประยงค์ นาคะวะรังค์ คหบดีชาวอัมพวา น้อมเกล้าฯ ถวายมาดำเนินการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ทำให้มีเรือนไม้เก่าได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างสวยงามถึง 17 ห้องด้วยกัน ดังนั้นอัมพวาจึงถือเป็นต้นแบบของการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมที่ชุมชนมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่ “ช็อกความรู้สึก” เมื่อโครงการชูชัยบุรีศรีอัมพวา โรงแรมในสไตล์ยุโรปหรูกำลังผุดโผล่ขึ้นท่ามกลางหมู่เรือนไม้ชายน้ำเหล่านี้ โดยไม่ผิดทั้งระเบียบการก่อตั้งอาคารที่พักอาศัย และไม่ผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผังเมืองรวมเทศบาลตำบลอัมพวาหมดอายุมาตั้งแต่ปี 2552 และผังเมืองรวมฉบับใหม่ ยังไม่ประกาศใช้
ธีรภาพ ได้กล่าวแสดงความรู้สึกเพิ่มเติมว่า “ผมไม่ได้ต่อต้านคุณชูชัยที่จะทำโครงการดังกล่าว และไม่ได้ต่อต้านศิลปะสถาปัตยกรรมตะวันตก หรือกระทั่งรูปเคารพศิวลึงค์ ที่คุณชูชัยจะสร้างขึ้น แต่ต่อต้านการออกแบบอาคารซึ่งผิดที่ผิดทาง อันนำมาซึ่งทัศนะอุจาด ทำลายอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ตามหลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม อันเป็นหลักการสากลที่นานาอารยะประเทศยอมรับ”
ธีรภาพ กล่าวต่อว่า ในประเด็นการรื้อเรือนไม้ 12 หลัง ที่คุณชูชัยได้ออกมาชี้แจงว่าจะไม่รื้อแล้วนั้น ความจริงได้มีการรื้อออกไปบางหลังแล้ว และเรือนไม้ทั้ง 12 หลังนี้ได้ถูกสร้างมาในแบบเดียวกัน ใช้คานเดียวกัน แม้กระทั่งหลังคาหรือส่วนต่างๆ ก็สร้างมาในรูปแบบเดียวกัน จึงไม่เห็นสมควรที่จะรื้อ เนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ และถ้าหากเรื่องการรื้อเรือนไม้ทั้ง 12 หลังนี้ ไม่ถูกสังคมต่อต้าน ก็มีสัญญาณชัดเจนว่าต้องรื้อหมดแน่นอน
นอกจากนั้น ธีรภาพยังกล่าวอีกว่า “และในเรื่องการปล่อยให้มีการสร้างอาคาร ตามโครงการชูชัยบุรีศรีอัมพวานั้น เป็นประเด็นที่องค์กรบริหารส่วนปกครองท้องถิ่นอัมพวา ต้องพิจารณาแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากนักลงทุนสามารถอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย มาใช้กระทำสิ่งๆ ต่างได้โดยชอบธรรม และไม่ผิดต่อข้อกฎหมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราไม่ได้ต่อต้านในการกระทำของคุณชูชัยในทุกๆ เรื่อง เรารู้สึกเห็นด้วยกับความตั้งใจของคุณชูชัย ที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อคนในชุมชนอัมพวา เช่น การสร้างศูนย์ศิลปะ ให้ชาวบ้านนำหัตถกรรมพื้นบ้านมาจัดจำหน่าย” นายธีรภาพ โลหิตกุล กล่าว
แม้จะยังไม่มีข้อตกลงสิ้นสุดที่ชัดเจนในกรณีการสร้างโครงการชูชัยบุรีศรีอัมพวานี้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นกรณีตัวอย่างให้ชุมชนทางวัฒธรรมอื่นๆ ได้ระมัดระวังและปกป้องคุ้มครองอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมชุมชนของตนเองไว้ อย่าปล่อยให้เป็นเพียงเหตุการณ์เหมือนไฟไหม้ฟาง หรือเรียกร้องเอาสิ่งที่สูญเสียไปแล้วให้กลับคืนมา ก็ย่อมทำไม่ได้เป็นธรรมดา