xs
xsm
sm
md
lg

“เสือ”จากผู้ล่าเป็นผู้ถูกล่า ทั่วโลกเหลือแค่ 3,200 ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายเสือโคร่งจากกล้องวีดีโออินฟาเรดในผืนป่าแม่วงก์ ที่ทางอช.แม่วงก์บันทึกไว้ได้
WWF เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกเพิ่มความพยายามในการกวาดล้างขบวนการลักลอบล่าสัตว์ ระบุเสือในป่าทั่วโลกเหลืออยู่เพียง 3,200 ตัว ด้านกรมอุทยานฯเผยเมืองไทยมีระบบฐานข้อมูลเสือดีที่สุดในโลก มีเสือโครงในไทยประมาณ 200-250 ตัว ตั้งเป้าเพิ่มประชากรเสือ 50% ในอีก10 ปีข้างหน้า

เนื่องในวันอนุรักษ์เสือโลก 29 ก.ค. ของทุกปี องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature-WWF) ออกมาเปิดเผยว่าปัจจุบันประชากรเสือในป่าทั่วโลกเหลืออยู่เพียง 3,200 ตัว และยังตกเป็นเป้าสำคัญของขบวนการลักลอบล่าสัตว์ แต่ปัจจัยหลักของการคุกคามประชากรเสือคือแหล่งอาหารของเสือ เช่น กวาง หมูป่า และกระทิง ลดลง ตามธรรมชาติแล้วเสือ 1 ตัว ต้องกินกวางขนาดกลาง 1 ตัวต่อทุกสัปดาห์ในการประทังชีวิต

ขณะที่ผืนป่าส่วนใหญ่ในเอเชียถูกจัดอันดับให้อยู่ในสภาพ “ป่าไร้ชีวิต” หรือสภาพของป่าที่มีแต่ต้นไม้แต่ไม่มีสัตว์ป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของประชากรเสือ ดังนั้น การต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์จึงจำต้องพุ่งเป้าหมายไปทั้งการปกป้องเสือ และสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือ

การลักลอบล่าสัตว์ส่วนใหญ่มักเล็งไปที่สัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือมากกว่าตัวเสือ ตามอุปสงค์ของตลาดผู้บริโภคในระดับท้องถิ่น และสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือหลายชนิดตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์และไม่อยู่ในข่ายต้องอนุรักษ์

ไมค์ บัลท์เซอร์ หัวหน้าโครงการฟื้นฟูประชากรเสือ WWF กล่าวว่า หากไม่มีการปกป้องสวัสดิภาพของสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือและการทำลายป่า ความพยายามในการเพิ่มประชากรเสืออีกหนึ่งเท่าตัวให้ได้ภายในปี 2565 จึงไม่น่าเป็นไปได้ ความอยู่รอดของสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือจึงเป็นปัจจัยหลักในการอยู่รอดของเสือ

การกวาดล้างขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าจึงจำเป็นต้องมีหลายวิธีที่รัดกุม เช่นการเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร เปลี่ยนนักล่าให้เป็นผู้ปกป้องสัตว์ป่า ด้วยการฝึกอบรมให้ความรู้และผลักดันให้เป็นนักเคลื่อนไหวแนวหน้าในการปกป้องชีวิตเสือ WWF ประเทศไทย และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นตัวอย่างในการเข้าถึงและดึงชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ผ่านการอบรม และกระบวนการสร้างพันธมิตรชุมชนร่วมกันเพื่อทำให้การล่าสัตว์ป่าลดลง ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน พบว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อสำคัญของเสือโคร่งเช่น กระทิง กวาง มีการกระจายเพิ่มขึ้นสองเท่า โดยดูจากกล้องดักถ่ายภาพ นอกจากนั้นพบหลักฐานการล่าสัตว์ป่าลดลงถึง 4 เท่า โดยดูจากหลักฐานของการล่าสัตว์ป่า เช่น กระสุนปืน และห้างยิงสัตว์

“การอนุรักษ์ฟื้นฟูสัตว์ป่า เป็นทางเลือกที่เราทุกคนร่วมกันทำได้ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้สะท้อนให้เห็นแนวทางที่สร้างสรรค์ในการส่งเสริมบทบาทของชุมชนในการฟื้นฟูสัตว์ป่า โดยการให้ความรู้ สร้างความตระหนักและแรงจูงใจ ปลุกเร้า และเสนอทางออก เราต้องสนับสนุนให้มีการคิดใหม่ ถ้าจะเป็นคนค้าสัตว์ป่า คนล่าสัตว์ป่า ขอให้คิดให้ดีก่อน เราต้องรักและปกป้องสัตว์ป่าและช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การฟื้นฟูเสือโคร่ง เป็นสิ่งที่ต้องทำแข่งกับเวลา เพราะเสือโคร่งเหลือน้อย และยังมีจำนวนที่ลดลงอยู่เรื่อยๆ” โรเบิร์ต สไตน์เมทซ์ หัวหน้าฝ่ายชีววิทยาการอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย กล่าว

นอกจากนี้บทบาทของรัฐบาลยังเป็นตัวแปรที่สำคัญ รายงานอาชญากรรมสัตว์ป่าของ WWF ที่เผยแพร่ล่าสุด ระบุว่า ในแต่ละปีมีการตรวจยึดซากเสือได้มากกว่า 200 ตัว โดยประเทศที่เป็นทั้งแหล่งกำเนิด ทางผ่าน และประเทศปลายทางผู้บริโภคกลับไม่จริงจังมากพอในการต่อต้านขบวนการลักลอบการล่าและการค้าสัตว์ป่า โดยเฉพาะประเทศจีนและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีอุปสงค์ต่อผลิตภัณฑ์จากเสือในอัตราสูง

ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ เช่น เขมร ลาว พม่า แทบไม่ปรากฏการค้นพบเสือในประเทศแล้ว การฟื้นฟูเสือโคร่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานาน และค่อยเป็นค่อยไป การเพิ่มขึ้นของประชากรเสือขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของจำนวนเหยื่อของเสือ ดังนั้นการฟื้นฟูเหยื่อของเสือจึงเป็นทางออกที่สำคัญ แม้วันนี้แหล่งอาหารของเสือโคร่งจะได้รับการฟื้นฟูขึ้น แต่อนาคตของเสือโคร่งยังน่าวิตก เพราะขบวนการล่าสัตว์ป่าเกิดจากผู้ซื้อและผู้ล่าที่ไม่ได้มาจากพื้นที่ในชุมชนเท่านั้น หากเราจะสร้างผืนป่าที่มีชีวิตไว้ให้กับคนรุ่นต่อไป ทุกภาคส่วนของสังคมต้องมีความตระหนักร่วมกัน โดยหยุดล่า หยุดซื้อ และหยุดกินสัตว์ป่า

ด้าน นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่มีระบบฐานข้อมูลเสือโคร่งในสวนสัตว์ซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในโลก โดยในส่วนของสวนสัตว์สาธารณะที่มีการเลี้ยงเสือโคร่งในประเทศไทย กรมฯ ได้มีการจัดทำทะเบียนประวัติพร้อมถ่ายรูปเสือโคร่งประมาณ 1,000 ตัวไว้แล้ว และมีเสือโคร่งประมาณ 400 ตัว ได้ถูกติดไมโครชิพเพื่อระบุตัวแล้ว ภาพลายเสือโคร่งทั้งหมดจะถูกนำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลลายเสือโคร่งในกรงเลี้ยงซึ่งจะนำไปใช้ในการตรวจติดตามและป้องกันการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศต่อไป

นายธีรภัทร กล่าวต่อว่า ในปี 2556 จะจัดตั้งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเพิ่มขึ้นอีก 100 แห่ง ในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีเสือโคร่งทั่วประเทศ และการนำอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เช่น การติดกล้องวงจรปิดตามพื้นที่ที่สำคัญ และติดตามการเปลี่ยนแปลงของผืนป่าผ่านภาพถ่ายดาวเทียม รวมทั้งการดูแลพื้นที่ไม่ให้มีการลักลอบค้าสัตว์ป่าเพิ่มเติมและมีแผนจะประกาศพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มเติมเพื่อเชื่อมโยงผืนป่า โดยได้มีการสำรวจเส้นทางที่มีเชื่อมป่าได้มากกว่า 200 เส้นทาง แต่จะเชื่อมป่าใหญ่ๆ ก่อน

นอกจากนี้กรมอุทยานแห่งชาติยังให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันคาดว่ามีจำนวนเสือโคร่งประมาณ 200-250 ตัว โดยจะเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งให้มากขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 125 ตัว ภายในปี 2565 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น