xs
xsm
sm
md
lg

“คนเลี้ยงเหยี่ยว” เหยื่อขบวนการล่าค้าสัตว์ป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ล่า ค้า ขาย และเลี้ยงอย่างผิดกฎหมาย จุดเริ่มต้นของ “คนคลั่งเหยี่ยว” ที่ต้องการนกนักล่ามาเลี้ยงไว้ในครอบครอง กระแสความนิยมของการเลี้ยงนกเหยี่ยวเหล่านี้ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในสังคมไทย ถึงความไม่เหมาะสมของการดักจับ กักขัง อย่างไร้ศีลธรรม และนำไปสู่วัฏจักร “การค้าสัตว์ป่า” ในที่สุด โดยกลุ่มพ่อค้าคนกลางที่ใช้สัตว์เป็นเครื่องมือสู่ความ “มั่งคั่ง”



หากินกับ “สัตว์ป่า”
เชื่อหรือไม่ว่าธุรกิจค้าสัตว์ป่า มียอดเงินสะพัดเป็นรองจากการค้ายาเสพติด การลักลอบทำสิ่งผิดกฎหมายที่มีความสุ่มเสี่ยงมักมาพร้อมกับจำนวนเงินมหาศาล จึงเป็นสิ่งหลอกล่อใจให้พ่อค้าคนกลางเข้ามาหนุนเสริมให้วัฏจักรอุบาทว์นี้ดำรงอยู่ต่อไป เพียงเพราะ “เม็ดเงิน” ตัวเดียว

เริ่มจากการปลุกกระแสกลุ่มเลี้ยงเหยี่ยวให้เกิดขึ้น ประจวบเหมาะกับสื่อต่างๆ ที่เข้ามาส่งเสริมให้เกิดเป็นธุรกิจค้านกล่าเหยื่อได้ไม่ยาก เมื่อความนิยมชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จึงก่อให้เกิดแนวโน้มการตีราคาสัตว์ป่าเป็นรายตัวสูงขึ้น

โรเจอร์ โลหะนันท์ นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย กล่าวถึงกระแสการเลี้ยงเหยี่ยวในปัจจุบันว่า ตอนนี้คนเลี้ยงเหยี่ยวยังมีจำนวนไม่เยอะ แต่มีราคาแพง ได้ทำการขยายกลุ่มคนเลี้ยงโดยมีเว็บไซต์เป็นสื่อและหาสมาชิกเพิ่ม เพราะว่าวัตถุประสงค์จริงๆ แล้วนั้น เพื่อสร้างกระแสการเลี้ยงเหยี่ยวให้เกิดขึ้นจนสามารถทำเป็นธุรกิจได้ เมื่อถึงเวลานั้นราคาเหยี่ยวอาจถึงตัวละหลายหมื่นบาท

“กลุ่มพวกนี้เป็นชมรมเกี่ยวกับการฝึกเหยี่ยวเพื่อการค้า ด้วยนิสัยคนไทยที่มักนิยมอะไรเป็นพักๆ มันเป็นกระแส อยากทำเหมือนในหนังฝรั่งให้เหยี่ยวล่าเหยื่อ แล้วให้เหยี่ยวเกาะแขนเพราะคิดว่ามันเท่ คนเราก็ชอบหาอะไรใหม่ๆ มาขายกันอยู่เรื่อย จึงตั้งชมรมนี้ขึ้นมา”

เมื่อลองเสิร์ชดูราคาขายเหยี่ยวทางเว็บไซต์ ได้ปรากฏรายการสินค้าประเภทนกล่าเหยื่อเป็นจำนวนมาก ทั้งเหยี่ยวในประเทศที่ติด พ.ร.บ.สัตว์ป่า และเหยี่ยวนำเข้า ซึ่งระบุราคาไว้อย่างชัดเจน พร้อมลงอีเมลและเบอร์โทร.ติดต่ออย่างไม่เกรงกฎหมาย

ขายเหยี่ยวแดง-ดำ-ชิครา-นกเขาหงอน-ต่างสี-ภูเขา มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย เลี้ยงตั้งแต่ลูกป้อน ราคาเหยี่ยวแดง 5,000 บาท เหยี่ยวดำ 6,000 บาท เหยี่ยวชิครา 2,500 บาท เหยี่ยวนกเขาหงอน 4,000 บาท เหยี่ยวต่างสี 18,000 บาท เหยี่ยวภูเขา 34,000 บาท

“ขายเหยี่ยวขาว-ดำ-แดง (ฝึกบินร่อนแล้ว) ราคาเหยี่ยวขาว 35,000 บาท เหยี่ยวแดง 40,000 บาท (รอบหน้า มิถุนายน) เหยี่ยวดำ 45,000 บาท (รอบหน้ามิถุนายน)”

ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองเรื่องการเลี้ยงเหยี่ยว จะเห็นว่าที่สนามหลวงก่อนจะย้ายมาอยู่ที่จตุจักรมีการขายลูกเหยี่ยวตัวละแค่หนึ่งร้อยบาท แต่ปัจจุบันมีความนิยมเลี้ยงเหยี่ยวมากขึ้น

“ยิ่งมีกระแสนิยมมากเท่าไหร่ ราคาค่าตัวก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น” แต่ถ้ากล่าวกันตามกฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 การครอบครอง การเลี้ยง การดักจับ การซื้อ ถือว่าผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาชาวบ้านหลายคนมีแรงจูงใจเพียงไม่กี่ร้อยบาท ปีนขึ้นไปขโมยลูกเหยี่ยวออกมาจากรัง จึงเป็นการได้มาของรายได้ที่ผิดกฎหมายโดยไม่มีต้นทุน แต่ถึงอย่างไรในวงจรการค้าสัตว์ป่าคนที่รวยที่สุดก็คือ “พ่อค้าคนกลาง” อยู่ดี

“คนคลั่งเหยี่ยว” ที่พอมีฐานะซื้อนกนำเข้าจากต่างประเทศได้นั้นจะมีสักกี่คนในเมืองไทย และเมื่อคนทั่วไปมีความต้องการเลี้ยงเหยี่ยว แต่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ จึงหันไปพึ่งตลาดค้าสัตว์ ที่รู้จักกันดีแห่งหนึ่งก็คือ “สวนจตุจักร” ซึ่งเป็นตลาดนัดที่มักมีพ่อค้าคนกลางมาตั้งแผงลอยขายนกล่าเหยื่อไทยผิดกฎหมาย อย่างนกเหยี่ยว นกเค้าแมว ปะปนกับสัตว์อื่นๆ




ใช้ “หมา” เป็นเหยื่อ “เหยี่ยว”
สิ่งที่ตามมาของการเลี้ยงเหยี่ยวอย่างบ้าคลั่งของคน นอกจากการลักลอบดักจับอย่างผิดกฎหมายแล้ว การใช้สิ่งมีชีวิตหนึ่ง ให้ตกเป็นเหยื่ออันโอชะเพื่อให้อีกหนึ่งชีวิตอยู่รอดต่อไป เหตุการณ์เหล่านี้คงไม่สะเทือนใจเท่าไหร่นัก ถ้าสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นไม่ใช่ “สุนัข” เพื่อนรักผู้ซื่อสัตย์ของมนุษย์

ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงเหยี่ยวด้วยลูกเป็ด ลูกไก่ ลูกนก หรือสัตว์เล็กต่างๆ นานา แต่มันไม่ดีกว่าหรือ? ถ้าเหยี่ยวเลี้ยงเหล่านั้นจะออกล่าเหยื่อตามธรรมชาติที่มันควรจะเป็น

โรเจอร์ เล่าให้ฟังว่า เรากำลังจับตาดูอยู่ เมื่อเห็นในเว็บไซต์ว่าพวกนิยมเหยี่ยวได้จับลูกสุนัขไปเป็นเหยื่อสำหรับฝึกเหยี่ยว ซึ่งมีหลายคนได้ร้องเรียนเข้ามา

“คนกลุ่มนี้เขาเลี่ยงด้วยการเอาเหยี่ยวต่างประเทศเข้ามา อ้างว่าเป็นสัตว์นำเข้า เพราะถ้าเป็นเหยี่ยวไทยจะผิดกฎหมายเลี้ยงไม่ได้ และก็พอรู้ที่อยู่เขา แต่เราต้องทำให้ชัดเจนในแง่กฎหมายก่อน และเช็กกับกรมอุทยานฯ (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) ดูว่ามีข้อไหนที่เราดูแลได้ว่ามันเป็นการทารุณสัตว์ไหม อย่างเอาลูกสุนัขมาให้เหยี่ยวล่า หรือการให้เหยี่ยวฝึกจับนกพิราบ สำหรับเราแล้วยังไงก็เป็นการทารุณอยู่ดี แต่มันมีข้อโต้แย้งได้ว่าคนฝึกเหยี่ยวเขาก็จะออกมาอ้างว่าเหยี่ยวก็ต้องฝึกด้วยวิธีนี้ มันเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน เพราะต่างคนต่างมองในมุมไม่เหมือนกัน”

“ถ้ามองในแง่ของศีลธรรม หรือสวัสดิภาพสัตว์ เราต้องคำนึงถึงคุณธรรม ไม่ใช่ค่านิยม ต่อให้กลุ่มเหยี่ยวมาสนับสนุนว่าการฝึกเหยี่ยวก็ต้องใช้เหยื่อเป็นๆ มันก็ไม่ถูกต้อง เพราะมันหมดยุคสงครามแล้ว ตอนนี้เราไม่ได้ฝึกเหยี่ยวเพื่อประโยชน์การสงครามของมนุษย์ แต่เราฝึกเพื่อความสนุกสนาน และเพื่อการค้า”
สัตว์ล่ากันเองตามธรรมชาติก็เพื่อความอยู่รอด แต่มนุษย์ฝึกเหยี่ยวโดยการเอาเหยื่อมาให้มันล่า เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง บางคนอาจจะอ้างว่ามันคือสิทธิเสรีภาพ แต่สิ่งนี้มันก็ไม่ต่างจากกลุ่มที่เลี้ยงสัตว์ให้กัดกันเอง

ผศ.นสพ.ดร.ไชยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า นอกเหนือไปจากความต้องการเพื่อสนองความอยากของคน ซึ่งมันไม่ใช่วิถีทางในการอนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าเลย ในการที่ไปพรากพวกสัตว์เหล่านี้ออกมาจากป่า เพียงแค่ต้องการครอบครองสัตว์ป่าชั่วครูชั่วยาม




เมื่อรัฐร่วมรับผลประโยชน์
เรื่องเงินๆ ทองๆ มันไม่เข้าใครออกใคร คนมักหยิบคำกล่าวนี้มาใช้ในยุคของทุนนิยมที่บูชาวัตถุในรูปของ “เงินตรา” มากกว่าศีลธรรม แม้กระทั่งคนของรัฐ ข้าราชการไทยก็ยังติดกับดักเพราะไม่รู้จักคำว่า “พอ” หรือว่าสิ้นยุคของคนมีศีลธรรมเสียแล้ว

“ศีลธรรมบ้านเรามันเสื่อมโทรมลง การที่เอาเหยี่ยวนำเข้ามาเพื่อขายมันก็เป็นรายได้อย่างหนึ่งนะ อะไรก็ได้ที่มันทำเงิน พวกเราไม่สนใจคุณธรรมแล้ว เงินมันบังตาสังคมไทยหมด เมื่อผลประโยชน์เข้าระบบราชการเมื่อไหร่ เขาจะออกมาปกปิดมากกว่าที่จะออกมาแก้ไข” นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย กล่าวอย่างเป็นห่วงสังคมไทยในปัจจุบัน

นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย กล่าวต่อว่า การนำเข้ามาและเพาะขยายพันธุ์เองได้ มันเป็นช่องโหว่ของกฎหมายไทย กฎหมายสัตว์ป่าคุ้มครองเฉพาะสัตว์ไทย ถ้าไปถามไซเตส (Cites) หน่วยงานที่ควบคุมดูแลการนำเข้าสัตว์ต่างประเทศ และไปถามกรมอุทยานฯ ก็จะบอกว่ามันเป็นสัตว์สากลที่มีการอนุญาตให้ซื้อขายกันได้ จึงไม่มีข้ออ้างเรื่องการนำเข้า โดยลืมนึกไปว่าการนำเข้ามันเป็น “เอเลียนสปีชีส์” แล้วเรามาเลี้ยงกันเพื่อการค้าแบบนี้ แต่เขาไม่คำนึงเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศ

“มันไม่ใช่ว่าเขาห้ามไม่ได้ เขาห้ามได้ แต่เขาจะอ้างว่ามันไม่ได้ห้ามนำเข้า แต่นี่มันบ้านเราเราจะห้ามอะไรก็ได้ หน่วยราชการเขาไม่ค่อยเข้าใจ เราก็พยายามบอกว่ากรมอุทยานฯ และกระทรวงทรัพยากรฯ (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) สามารถออกกฎกระทรวงชนิดของสัตว์ที่ห้ามนำเข้าได้ แต่ว่าหน่วยราชการเขาอาจจะได้ผลประโยชน์อะไรจากตรงนี้ อาจเป็นเรื่องภาษีนำเข้า หรืออะไรก็ตาม เราก็ต้องมานั่งคุยกันทุกครั้งเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับสัตว์เหล่านี้ขึ้น”

“ประชาชนเขารู้มากกว่าหน่วยราชการอีก โดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมายนำเข้ามาเพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่กรมอุทยานฯ เองกลับไม่รู้ หรือรู้ แต่แกล้งไม่รู้ เผลอๆ อาจจะไปสนับสนุนเขาอีก พอมีปัญหาก็จะมาบอกว่าเดี๋ยวให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ”




ระวัง! ไวรัสสมองอักเสบระบาด
แม้ว่าโรคไวรัสสมองอักเสบที่กำลังแพร่ระบาดในเหยี่ยวที่อาศัยอยู่ในแถบยุโรป ยังไม่มีการรายงานในไทยอย่างเป็นทางการ แต่การนำเข้าสัตว์เหล่านี้มาจากแหล่งที่มีการระบาดของไวรัสชนิดนี้อยู่ ถือเป็นภาวะเสี่ยงที่อาจจะเกิดโรคขึ้นได้โดยที่เราไม่รู้ตัว จึงต้องมีการเฝ้าระวังไม่ใช่เมื่อเกิดขึ้นแล้วค่อยมาแก้ไข เพราะกำลังพูดถึงชีวิตของคน

ผศ.นสพ.ดร.ไชยันต์ ระบุว่า ในระยะนี้โรคไวรัสสมองอักเสบกำลังระบาดอยู่ในเหยี่ยว ที่อาศัยอยู่ในแถบประเทศอิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ใช่การรับไวรัสมาจากเหยี่ยวโดยตรง เหยี่ยวเสมือนเป็นพาหะที่เป็นแหล่งรังโรค เพื่อให้ไวรัสได้เพิ่มจำนวนในเลือด และเมื่อยุงไปกัดเหยี่ยว จึงดูดเอาไวรัสมาด้วย ฉะนั้นจึงสามารถแพร่จากสัตว์สู่คนได้ง่าย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้สามารถรับเชื้อได้ง่าย

“มีความเสี่ยงที่เราอาจจะนำเข้าเหยี่ยวบางตัวที่มีเชื้อไวรัสอยู่ เพราะประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนและมียุงอยู่ทั้งปี จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดขึ้น และมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งกล่าวถึงเชื้อไวรัสสามารถปล่อยปนเปื้อนอยู่ในมูล หรือสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย น้ำตาของเหยี่ยว ซึ่งอาจจะมีการติดเชื้อโดยตรงของไวรัสชนิดนี้ได้

การเลี้ยงเหยี่ยวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะตัดสินใจเอามาครอบครองดูแล ปัจจุบันนี้ถ้าลองสังเกตจะเห็นว่าประเทศไทยมีสัตว์ต่างประเทศนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เฟอเรท อีกัวน่า ชูการ์ไกรเดอร์ รวมถึงแมลง และสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งสัตว์เหล่านี้หลุดเข้าไปในสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้เลี้ยงไม่มีความรู้ในการเลี้ยงมากพอ เพราะเลี้ยงตามกระแส เมื่อเบื่อแล้วก็ปล่อย จึงสร้างปัญหาให้แก่ระบบนิเวศในธรรมชาติ

โรเจอร์ ให้ความคิดเห็นว่า นกไทยเขาไม่คุ้นเคยกับการหลบเหยี่ยวฝรั่ง และอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือเหยี่ยว คนเราอาจจะเข้าใจง่ายๆ ว่าสัตว์ต้องรู้จักศัตรูของตัวเอง แต่มันไม่จริงนะ ถ้าไม่โดนโฉบไปกินเสียก่อนก็ยังไม่รู้ว่านี่คือศัตรู เพราะมันไม่ได้เหมือนที่เขาเห็นตอนที่โตมากับพ่อแม่ เขาก็จะไม่รู้ และต้องเรียนรู้ด้วยการเสี่ยงตาย ทำให้สัตว์จึงลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ
“คนขายเขาก็ขายตามแฟชั่น ถ้าใครสนใจก็ซื้อไป เราไม่ได้เลี้ยงด้วยความรู้ แต่เราเลี้ยงตามกระแสก็จะเกิดปัญหาขึ้นต่อระบบนิเวศ และเป็นอันตรายต่อคนในครอบครัว ถ้าเด็กมาเล่นอาจโดนจิกตาบอดได้ จะมีสักกี่คนที่คอยระวังลูกหลานในบ้าน ฉะนั้นจึงต้องศึกษาความพร้อมของตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ”




ถึงเวลารื้อ...กฎหมายสัตว์ป่า
“ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งอนุรักษ์เหมือนยิ่งทำลาย” เป็นที่มาของการโก่งค่าตัวสัตว์ป่าหายาก ที่ต้องลักลอบออกมาจากป่า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเลี้ยงไว้ดูเล่น เลี้ยงเพื่อการค้า หรือเลี้ยงเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ก็ตามแต่ ต่างล้วนเป็นที่มาของการ “แหกกฎหมาย” ทั้งสิ้น

พ.ท.ธนชาต วัฒนานุกิจ เลขาธิการสมาพันธ์สัตว์ปีกสวยงามแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความไม่เสรีของกฎหมายสัตว์ป่าว่า การดักจับจากธรรมชาติแล้วมาขายในตลาดนัดจตุจักร เชื่อเลยว่าจับเท่าไหร่ก็ไม่หมดหรอก เพราะจริงๆ แล้วกฎหมายเมืองไทย ไม่เอื้ออำนวยต่อผู้เลี้ยงสักเท่าไหร่

“เราควรเริ่มสนับสนุนให้ผู้เลี้ยงเพาะพันธุ์สัตว์อย่างมีระเบียบ กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เขาอยู่ในกรอบของกฎหมาย โดยเฉพาะสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ถ้ายิ่งห้ามไม่ให้ครอบครองแล้วมีความผิด คิดว่าไม่เห็นด้วย” พ.ท.ธนชาต แสดงความคิดเห็นชี้แนะ

“ณ ปัจจุบันกฎหมายควรจะแก้ไขได้แล้ว ในอนาคตอันใกล้นี้ผมกำลังเขียนโครงการเปิดเป็นศูนย์อนุรักษ์นกไทยและสัตว์ป่าหายาก เพราะฉะนั้นโครงการนี้จะผลักดันให้เป็นนโยบายระดับชาติได้ เพื่อเป็นการเพาะขยายพันธุ์นกไทยและสัตว์ป่าหายากให้ได้ในจำนวนมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายใต้การดูแลของสมาพันธ์สัตว์ปีกสวยงามแห่งประเทศไทย ถ้าใครไม่มีคุณสมบัติตามที่เราวางไว้ก็ไม่สามารถเปิดได้ ถ้าเขาไปดักจับสัตว์ต้องมีวิธีให้เขารักสัตว์ แต่เราต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายเสียใหม่?”

“หนึ่งในสามส่วนของกฎระเบียบที่เราวางไว้คือ 1.ผู้เลี้ยงสามารถจำหน่ายเพื่อที่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแล 2.สามารถที่จะดูแล แล้วนำไปปล่อยในธรรมชาติ และ 3.สามารถเพาะเลี้ยงนกเหล่านั้นไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เพื่ออนาคต เพราะฉะนั้นถ้าคุณทำสามส่วนนี้ได้ มันจะเอื้อประโยชน์ถึงกันหมด ประเทศชาติก็ได้ตรงที่ได้ปล่อยสัตว์สู่ธรรมชาติ ผู้เลี้ยงเองที่เพาะเลี้ยงก็ได้เงินมาเลี้ยงดูฟาร์มหรือศูนย์อนุรักษ์ของเขา และในขณะเดียวกันก็มีพ่อแม่พันธุ์รุ่นต่อไปในการเพาะเลี้ยงขึ้นมาอีก ซึ่งผมคิดว่าภายในปีนี้ ผมจะผลักดันโครงการให้ออกมาสู่สาธารณชน”

ถึงอย่างไรแล้ว ไม่ว่าจะเลี้ยงด้วยจุดประสงค์ใด “เลี้ยงเพราะรัก” หรือ “เลี้ยงเพื่อการค้า” ก็ควรศึกษาให้เข้าใจในธรรมชาติของสัตว์ป่า ไม่ใช่ว่าสักแต่จะเลี้ยงตามกระแส! และโดยธรรมชาติของสัตว์ป่า พวกมันน่าจะมีความสุขมากกว่านี้ ถ้าได้ใช้ชีวิตอย่างมีอิสระและเสรีภาพ ไม่ต่างจากที่เราทุกคนต้องการ...




---ล้อมกรอบ---
Thai Raptor Group กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีในประเทศไทย โดยทางกลุ่มได้มีการศึกษาข้อมูลเหยี่ยวอพยพเพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาเผยแพร่แก่สังคม ตามหลักการและความคิดที่ว่า “ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ”

“เรารักนกและเหยี่ยว แต่เราไม่พรากเขามาจากธรรมชาติ” ความรู้สึกภายในจิตใต้สำนึกของ ผศ.นสพ.ดร.ไชยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ บุคคลสำคัญท่านหนึ่งในกลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีในประเทศไทย

รู้หรือไม่ว่าจังหวัดเพชรบุรีเป็นแหล่งดูนกอินทรีย์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย และช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคม จะมีเทศกาลดูเหยี่ยวอพยพที่เขาดินสอ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร และที่เขาเรดาร์ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตรงข้ามศูนย์บริการทางหลวงเขาโพธิ์)

“นกเหยี่ยวอพยพเหล่านี้มาจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพื่อหนีหนาวในช่วงเดือนตุลาคม และบินมาที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีมากกว่า 200,000 ตัว จึงสามารถเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มันสร้างความประทับใจและเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นที่เราต้องจับมาเลี้ยง”

ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเฉพาะการซื้อขายสัตว์ ถือเป็นโทษที่รุนแรง เพราะเป็นการทำลายสัตว์ป่า และไม่ใช่การอนุรักษ์ใดๆ ทั้งสิ้น

ถ้าพบการซื้อขายสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย สามารถรายงานไปที่กรมอุทยานฯ หรือพบนกล่าเหยื่อที่บาดเจ็บ สามารถนำมาส่งที่ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือสัตว์ป่า สำนักงานอนุรักษ์สัตว์ป่ากรมอุทยานแห่งชาติ หรือนำส่งที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อได้โดยตรง แจ้งสายด่วน โทร.1362

ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ขอบคุณภาพประกอบ : Thai Raptor Group, Thai Hawk Master
เหยี่ยวล่าหมา
อุปกรณ์ฝึกเหยี่ยว
เหยี่ยวนกเขาหงอน
เหยี่ยวขาว
เหยี่ยวแดง






เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ
เหยี่ยวกิ้งก่าสีน้ำตาล
เหยี่ยวด่างดำขาว ตัวผู้
เหยี่ยวด่างดำขาว ตัวเมีย




กำลังโหลดความคิดเห็น