xs
xsm
sm
md
lg

อยุธยาจัด “งานวิสาขบูชา” ร่วมฉลองพุทธชยันตี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จังหวัดพระนครศรีอยุธยาร่วมเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า จัดงานวันวิสาขบูชาอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 4 มิ.ย. 55 ณ อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี ทุ่งหันตรา พร้อมจัดทำพระพุทธรูปนวโลหะปางห้ามญาติ มอบให้ผู้มาร่วมเวียนเทียนไว้บูชาและเป็นที่ระลึก และจัดซุ้มนิทรรศการ ตลอดจนการแสดงแสง เสียง และสื่อผสมเกี่ยวกับพุทธประวัติอย่างตระการตา

นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า “ประชาชนชาวอยุธยาล้วนปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทุ่งมะขามหย่อง ‘ผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ’ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา และในวันที่ 4 มิ.ย. นี้ชาวอยุธยาขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนาครั้งสำคัญในปีมหามงคลนี้ ที่อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี ทุ่งหันตรา โดยในเวลา 18.00 น. จะเริ่มเวียนเทียนรอบพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระเกศ และเมื่อเวียนเทียนเสร็จก็จะมอบพระพุทธรูปนวโลหะปางห้ามญาติขนาด 1½ นิ้ว จำนวน 2,600 องค์ ให้ผู้ร่วมเวียนเทียนเพื่อบูชาและเป็นที่ระลึก หลังจากนั้นจะเป็นการแสดงแสง เสียง และสื่อผสม เรื่อง “พระมหาชนก” ความยาว 60 นาที ให้ชมอย่างตระการตา กำกับโดยคุณนิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง นอกจากนี้ ภายในบริเวณงานยังมีซุ้มนิทรรศการที่น่าสนใจ และกิจกรรมต่างๆ อีกมากมายด้วย”

สำหรับ “อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี” นี้ ทุกภาคส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกันจัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอยุธยา และแสดงถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกรณียกิจที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่สร้างความประทับใจให้ชาวอยุธยามิรู้ลืมคือเมื่อ เสด็จฯ มาทรงเกี่ยวข้าวที่ทุ่งมะขามหย่อง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2539 ภายในบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีประดิษฐานพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปางห้ามญาติ ขนาดความสูง 9.84 เมตร (9 หมายถึง รัชกาลที่ 9 และ 84 หมายถึง 84 พรรษา) ประทับยืนโดยพระหัตถ์ซ้ายทอดลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ แบฝ่าพระหัตถ์ตั้งขึ้นและหันออกในลักษณะห้าม ประดิษฐานอยู่บนฐานดอกบัวสูง 3 เมตร ฐานองค์พระมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 84 เมตร สร้างเป็นขั้นบันไดรอบฐาน 7 ขั้น (หมายถึงพระชนมพรรษา 7 รอบ) ที่พระเกศของพระพุทธรูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และที่ด้านหลังของพระพุทธรูปนี้จัดทำเป็นพระบรมรูปปั้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขนาดเท่าพระองค์จริง ทรงเคียวเกี่ยวข้าวจากฝีมือของนายพยงค์ ทรัพย์มีชัย ชาวอำเภอนครหลวง ช่างผู้ตีเคียวถวายพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงเกี่ยวข้าวเมื่อ 16 ปีก่อน ซึ่งทางจังหวัดขอให้ทำขึ้นใหม่เพื่อนำมาประกอบกับพระบรมรูปปั้นที่เป็นประติมากรรมปิดทอง มีเจตนาเปรียบเสมือนปิดทองหลังพระ พร้อมทั้งจัดแสดงภาพพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ส่วนด้านบนมีตราพระราชลัญจกร และตราสัญลักษณ์เนื่องในโอกาสมหามงคลต่างๆ รวม 9 ดวง
กำลังโหลดความคิดเห็น