xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีซต้าน KFC ชี้ทำลายป่าฝนเขตร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพรณรงค์ของกรีนพีซต่อ KFC ในกรณีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำลายป่าฝนเขตร้อนของอินโดนีเซีย
กรีนพีซเผยบรรจุภัณฑ์ของ KFC มีส่วนทำลายป่าฝนเขตร้อนของอินโดนีเซีย ส่งผลต่อสัตว์ป่าและพรรณพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ ด้าน KFC ไหวทัน เตรียมยกเลิกการสั่งซื้อกล่องบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว

กรีนพีซสากลนำเสนอหลักฐาน ระบุว่า KFC (เคเอฟซี) ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของแบรนด์อาหารฟาสต์ฟูดยักษ์ใหญ่ Yum! (ยัม!) ใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษที่มาจากการทำลายป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซีย ที่ผลิตโดยบริษัท เอเชียพัลพ แอนด์ เพเพอร์ (เอพีพี) โดยการพิสูจน์หลักฐานผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารทั้งในสหราชอาณาจักร จีน และอินโดนีเซีย ยืนยันตรงกันว่ามีเยื่อไม้จากป่าฝนเขตร้อนปรากฏอยู่ในบรรุภัณฑ์หลายชนิดรวมถึงกล่องกระดาษไก่ทอดของเคเอฟซี

รายงานฉบับล่าสุดของกรีนพีซเปิดเผยว่า บรรจุภัณฑ์กระดาษหลายชนิดของเคเอฟซีใช้ไม้ที่ตัดจากป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพรรณพืชที่ใกล้สูญพันธุ์เช่น เสือสุมาตรา นักวิจัยของกรีนพีซใช้การตรวจสอบเชิงนิติเวชและการวิจัยห่วงโซ่อุปทาน ผลการทดสอบพบว่าบางบรรจุภัณฑ์มีเส้นใยจากป่าฝนมากกว่า 50% โดยเฉพาะเอพีพีซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดส่งกระดาษให้กับเคเอฟซียังคงใช้ไม้จากการทำลายป่าฝนเขตร้อน โดยมีรายงานเมื่อเร็วๆ นี้เปิดเผยว่า บริษัทดังกล่าวมีการใช้ไม้กฤษณาซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งที่ได้รับการสงวนมาใช้ในโรงงานผลิตเยื่อกระดาษที่สุมาตราด้วย

ทั้งนี้ กรีนพีซเรียกร้องให้เคเอฟซีและยัม! ซึ่งเป็นบริษัทแม่ยุติการรับซื้อกระดาษจากเอพีพี และมีนโยบายที่เข้มงวดเพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์กระดาษที่มาจากการทำลายป่าฝนเขตร้อน

ด้าน ยัม! ประเทศไทย เตรียมยกเลิกการสั่งซื้อกล่องบรรจุภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อการทำลายป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซีย โดยนายมิลินด์ พันท์ กรรมการผูจัดการใหญ่ บริษัท ยัม เรส
เทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยัม! ประเทศไทย ในฐานะเจ้าของร้านอาหารบริการด่วน เคเอฟซี และพิซซ่าฮัท ในประเทศไทย ได้ทำการตรวจสอบไปยังบริษัทคู่ค้าแพกเกจบรรจุภัณฑ์ของร้านอาหารเคเอฟซี และพิซซ่าฮัท พบว่า มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของบรรจุภัณฑ์เท่านั้น ที่บริษัทคู่ค้านำเข้าเยื่อกระดาษที่ทำมาจากเยื่อไม้ในป่าฝนเขตร้อน ประเทศอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ยัม! ประเทศไทย เตรียมประสานงานเพื่อยกเลิกการซื้อกล่องบรรจุภัณฑ์จากบริษัทคู่ค้าที่ส่งผลกระทบต่อการทำลายป่าฝนเขตร้อน เพื่อลดการทำลายธรรมชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น