xs
xsm
sm
md
lg

ชิมเช่ด ทีเด็ด 3 เมืองผลไม้...ฮิ ฮิ ฮิ /ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
พ.ค.-มิ.ย. เป็นฤดูผลไม้ของภาคตะวันออก
“ระยองฮิสั้น จันท์ฮิใหญ่ ตราดฮิยาว”

เป็นประโยคที่ผมได้ยินจนชินหู เมื่อพูดถึง 3 จังหวัดชายฝั่งภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี และตราด

นี่นับเป็นเสน่ห์ของภาษาถิ่นแห่งแดนตะวันออกที่มีสำเนียงเป็นเอกลักษณ์ชวนฟัง ซึ่งล่าสุดผมได้รู้จักภาษาถิ่นของภาคตะวันออกอีกคำหนึ่งนั่นก็คือ คำว่า “เช่ด”

คำๆนี้ แม้เป็นภาษาถิ่นภาคตะวันออก แต่ผมได้ยินเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ผ่านคำพูดของคุณบริสุทธิ์ ประสพทรัพย์ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ซึ่งเป็นแม่งานในโครงการ “ชิมเช่ด ชมของเด็ดเมืองตราด”
ทุเรียน ผลไม้ขึ้นชือของระยอง จันท์
คุณบริสุทธิ์บอกกับผมว่าคำว่า เช่ดเป็นภาษาพื้นเมืองทางภาคตะวันออก เช่ดสื่อความประมาณว่า “สุดยอด” ชิมเช่ดในที่นี่จึงหมายถึงการไปชิมของดีของเด็ดนั่นเอง

อย่างไรก็ตามคำว่าเช่ดเมื่อไปถามกับคนท้องที่คือ “คุณชัยวัฒน์ ปริ่มผล” จาก“สวนอำไพ” จ.ตราด และคุณมานัด โพธิ์แก้ว “แห่งสวนยายดา” จ.ระยอง ทั้งคู่บอกกับผมว่า คำว่า“เช่ด” หมายถึง“ทั้งหมด” ชิมเช่ดในความหมายของคนท้องถิ่นทั้งสองคือการไปกินไปชิมทั้งหมด

งานนี้ไม่ว่าชิมเช่ดจะเป็นการไปชิมของดี ชิมของเด็ด หรือชิมทั้งหมด แต่เอาเป็นว่าในช่วงต้นฝนอย่างนี้ที่ผลไม้ ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ลางสาด สละ ระกำ ต่างพากันออกผลสะพรั่ง ส่งกลิ่นเย้ายวน การไปชิมเช่ดถือเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจไม่น้อย

นั่นจึงทำให้ทางททท.ได้จัดโครงการ“อร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน” ขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.(บางจังหวัดอาจลากยาวไปถึง ก.ค.-ส.ค.โน่น) เพื่อพาผู้ที่สนใจเที่ยวไปชิมไปในไร่ในสวนๆต่างของจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ในภาคตะวันออก (บางจังหวัดภาคอื่นก็มีแต่ไม่เด่นเท่าภาคนี้)
ท่องเที่ยวเชิงเกษตรชมสวนผลไม้ลุงทองใบ
อร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร พาไปอิ่มอร่อยกับผลไม้สดๆจากต้น จากไร่ สวนของชาวบ้าน ที่ได้ทั้งความสดใหม่ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด เป็นราคาหน้าสวนไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่สำคัญคือได้เที่ยวในบรรยากาศวิถีชาวสวน ได้เรียนรู้วิถีชาวสวน เรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งบางสิ่งบางอย่างสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับวิถีของเราๆท่านๆได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอยู่กับธรรมชาติ ต้นไม้ใบหญ้า การใช้ชีวิตแบบพอเพียง เป็นต้น

นอกจากนี้มันยังทำให้เราได้เห็นถึงความยากลำบากของชาวไร่ ชาวสวน ว่ากระบวนการในการได้มาของผลไม้ต่างๆนั้น ยากลำบากแค่ไหน ยิ่งเป็นส่วนที่ปลอดสารเคมีใช้วิธีทางธรรมชาติ นี่ยิ่งยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก

อย่างปีนี้สภาพอากาศที่ร้อนจัด(ผิดปกติจากทุกๆปี) ชาวสวนหลายๆคนบ่นกับผมว่ามันทำให้ผลผลิตของทุเรียนลดหายไปจำนวนไม่น้อย ส่วนเงาะที่ถือเป็นสิ่งที่จะมาช่วยทดแทนกันได้ก็ประสบกับปัญหาราคาตกขายกันกิโลกรัมละเพียง 5-8 บาทเท่านั้น จนพี่น้องชาวสวนจำนวนหนึ่งต้องออกมาประท้วงด้วยการเทเงาะเพื่อให้รัฐบาลได้รับรู้ว่า ปีนี้ขณะที่น้ำมัน แก๊ส ต้นทุนพลังงานขึ้นราคา จนส่งผลให้ราคาอาหาร สินค้า อุปโภค บริโภค ขึ้นตาม กลายเป็นยุคแพงทั้งแผ่นดิน แต่ราคาผลไม้บางชนิดกลับตกต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ

ดังนั้นใครและใครหลายคนที่มักจะบ่นว่าผลไม้อย่างนั้นอย่างนี่แพง หากได้รับรู้ถึงความยากลำบากและปัญหาของชาวสวนทั่วไทยแล้วอาจจะเปลี่ยนใจก็เป็นได้
หน้าผลไม้ปีนี้เงาะราคาไม่สู้ดีนัก
พูดถึงระยองและเมืองจันท์แล้ว ในอดีตที่นี่หาได้เป็นเมืองแห่งทุเรียนและเงาะแต่อย่างใดไม่

ระยองสมัยก่อนมีชื่อโดดเด่นในเรื่องสับปะรดและพุทราอินเดีย

ส่วนเมืองจันท์นั้นค่อนข้างอาภัพในเรื่องผลไม้ ด้วยไม่มีผลไม้พื้นถิ่นอะไรเป็นตัวชูโรงของตัวเองเลย

แต่ด้วยความเป็นเมืองชายฝั่งทะเล มีดินตะกอนปากแม่น้ำที่มีคุณภาพดี มีป่าไม้อันอุดม มีฝนตกชุกในอันดับต้นๆของเมืองไทย ทำให้พื้นดินมีศักยภาพอย่างสูงในการทำสวนผลไม้ และแน่นอนว่าย่อมมีคนมองเห็น จึงทำให้เมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้ว มีผู้นำพันธุ์เงาะบางยี่ขันจากกรุงเทพฯมาทดลองปลูกที่เมืองจันท์ แล้วเกิดมีการกลายพันธุ์เป็น “เงาะสีชมพู” ขึ้นมา

เงาะสีชมพู หรือที่ชาวสวนในยุคนั้นนิยมเรียกว่า “เงาะพันธุ์หมาจู” เพราะเป็นเงาะที่มีขนยาวสวยงามคล้ายหมาจู เงาะพันธุ์นี้ต่างจากเงาะบางยี่ขันคือ เงาะบางยี่ขัน มีผลสีส้ม เนื้อไม่ร่อน ส่วนเงาะหมาจู เนื้อร่อน หวาน กรอบ และมีผลเป็นสีชมพูเข้ม แลดูสวยงาม ได้รับความนิยมอย่างสูงเป็นระยะเวลาประมาณ 40-50 ปี

กระทั่งชาวสวนจันท์ได้ทดลองนำเงาะโรงเรียนจากทางใต้มาปลูก ผลปรากฏว่าเงาะโรงเรียนตอบโจทย์ความต้องการของทั้งคนปลูกและผู้บริโภคได้ดีกว่า จึงเกิดเป็นยุคของเงาะโรงเรียนในภาคตะวันออกเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

แต่กระนั้นเรื่องราวของเงาะสีชมพูก็ไม่ได้จางหาย หากแต่มันได้กลายเป็นหนึ่งในตำนานเงาของเมืองจันท์ ที่วันนี้หลายๆสวนยังมีการปลูกเงาะทั้ง 2 พันธุ์ควบคู่กันไป
ทุเรียนสดๆจากสวนลุงทองใบ
หันมาดูเรื่องราวของทุเรียนในดินแดนตะวันออกกันบ้าง

เมื่อประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว ทุเรียนนนท์ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งทุเรียนนับจากอดีตถึงปัจจุบัน ประสบกับปัญหาความเปลี่ยนแปลง เมื่อกรุงเทพฯพัฒนาทางวัตถุแบบรวดเร็วฉับไว เมืองนนท์ย่อมได้รับอานิสงส์ตาม สวนๆต่างในเมืองนนท์ถูกแปรเปลี่ยนเป็นถนนหนทาง ห้างร้าน บ้านจัดสรร ทำให้ทุเรียนนนท์เริ่มร่อยหรอไปจากเมืองนนท์

แต่มันเหมือนฟ้าลิขิตที่ช่วงนั้นระยองก็ประสบกับปัญหาสับปะรดและพุทราราคาตกอย่างหนัก
จนชาวสวนพุทรา สับปะรด ต้องหันไปปลูกอย่างอื่นแทน ซึ่งที่เมืองแกลง(อ.แกลง) ได้มีชาวสวนบางคนนำกิ่งพันธุ์ทุเรียนจากเมืองนนท์ไปทดลองปลูก
สวนทุเรียนลุงทองใบ
ผลที่ออกมาคือดีเกินคาด จากเดิมทุเรียนนนท์ต้องปลูก 4-5 ปี จึงจะให้ผลกินเนื้อได้ แต่เมื่อมาปลูกที่ระยอง จันท์ ไล่ไปจนถึงตราด ใช้ระยะเวลาเพียง 2-3 ปี ก็ออกผลได้กินเนื้อทุเรียนสุกกันแล้ว

และนั่นจึงเป็นที่มาของการเปิดตลาด(การปลูก)สวนทุเรียนในภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็น ชะนี ก้านยาว หมอนทอง โดยเฉพาะหมอนทองถือเป็นทุเรียนพันธุ์มาตรฐานที่มีปลูกมีขายอยู่ทั่วไป
นักท่องเที่ยวอร่อยกับผลไม้สดใหม่จากต้น แต่เด็กคนนี้เลือกที่จะนอนหลับปุ๋ยแทน
นอกจากนี้ที่แดนตะวันออกยังมีทุเรียนพันธ์ท้องถิ่นของตัวเอง คือ “พันธุ์พวงมณี” ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดตราด

ทุเรียนพันธุ์นี้เดิมเคยประสบภาวะเกือบสูญพันธุ์ เพราะเป็นพันธุ์ที่ปลูกยาก แต่มาวันนี้พวงมณีกลายเป็นทุเรียนพันธุ์มาแรง ราคาดี ที่มีปลูกในหลายๆสวนของภาคตะวันออก
หวาดเสียวกับการเก็บทุเรียน
สำหรับทุเรียน ในช่วงนี้ชาวสวนในภาคตะวันออกกำลังเก็บผลขาย ซึ่งผมได้มีโอกาสไปเที่ยวชม “สวนลุงทองใบ” หนึ่งในสวนผลไม้อันโดดเด่นในเรื่องท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดระยองฮิ ได้เห็นชาวสวนกำลังเก็บทุเรียนดูน่าหวาดเสียว เพราะเขาให้คนหนึ่งปีนขึ้นไปเก็บ และโยนลงมาให้คนข้างล่างรับด้วยกระสอบ ที่บอกว่าหวาดเสียวเพราะถ้ารับพลาด ถูกตัว ถูกแขน ขา ถึงเลือดตกยางออกได้

อย่างไรก็ดีเพื่อนผมที่เป็นชาวระยองมันบอกว่า ใน 3 จังหวัดฮิมีเรื่องของทุเรียนที่น่าหวาดเสียวกว่าการเก็บอีก นั่นก็คือเวลาที่ผู้หญิงปอกทุเรียนต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ เพราะถ้าปอกไม่ดี ไอ้เพื่อนผมคนนี้มันบอกว่า

“อาจถูกหนามทุเรียนทิ่มฮิ”
กำลังโหลดความคิดเห็น