xs
xsm
sm
md
lg

ธรณีพิบัติ ธรรมชาติ อาเพศ หรือน้ำมือมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทัศนียภาพ 3 อ่าวภูเก็ต ที่ต้องสะเทือนจากแผ่นดินไหว
ตั้งแต่ต้นปี 2555 ที่ผ่านมา ก็เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหลายอย่างที่ทำเอาประชาชนคนไทยตกอกตกใจ บ้างก็ตื่นตระหนกกันยกใหญ่ ไล่มาตั้งแต่แผ่นดินไหว แผ่นดินลุกเป็นไฟ ถนนยุบ เป็นต้น ซึ่งบางอย่างก็เป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่บางอย่างนั้นก็เพิ่งจะเคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จนทำให้เกิดความไม่แน่ใจระหว่างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ หรือเป็นอาเพศกันแน่

แผ่นดินไหว
ภายหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ บริเวณชายฝั่งตะวันตกทางตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนได้ในภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงบนตึกสูงในบางพื้นที่ของ กทม.โดยหลังจากนั้น ก็ยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง

และในวันที่ 16 เม.ย.คนภูเก็ตก็ต้องตื่นตระหนกอีกครั้ง เมื่อรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ซึ่งในระยะแรกนั้น คาดว่า เป็นอาฟเตอร์ช็อกขนาดใหญ่ แต่ในที่สุดแล้วกลับกลายเป็นแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ขนาด 4.3 ริกเตอร์ นับว่าเป็นแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ซึ่งตามข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งล่าสุด คือ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2539 ขนาด 5.5 ริกเตอร์ บริเวณพรมแดนไทย-ลาว
ประชาชนอพยพขึ้นที่สูงเมื่อครั้งที่มีการเตือนภัยสึนามิ
แต่อย่างไรก็ตาม ความสั่นสะเทือนที่รู้สึกได้ก็ยังสั่นคลอนความรู้สึกมั่นใจของประชาชนด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นแล้ว ยังมีคำทำนายดวงเมืองของโหรชื่อดังว่า ในปีนี้ประเทศไทยจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมาก ทั้งเรื่องแผ่นดินไหว อัคคีภัย น้ำท่วม จะเกิดความเสียหายเหมือนที่เกิดขึ้นครั้งที่แล้วช่วงปลายสมัยอยุธยา ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2

และยังมีใบปลิวออกมาเตือน 2 ฉบับ ในพื้นที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยเตือนให้คนออกจากเกาะภูเก็ต ในวันที่ 28 เม.ย.เนื่องจากเกาะภูเก็ตจะจมลงในทะเลจากภัยธรรมชาติ แม้ว่าจะมีทั้งคนเชื่อ และไม่เชื่อข้อความนี้ แต่ก็สร้างความตื่นตระหนกให้ชาวบ้านได้ไม่น้อย จนทางราชการต้องออกมาให้ข้อมูลข่าวสารและเตือนไม่ให้หลงเชื่อใบปลิวดังกล่าว

แม้ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งสองครั้งนี้จะไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง แต่พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันก็นับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ที่มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาเยี่ยมเยือน จึงทำให้เกิดความไม่มั่นใจในความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวบางส่วน มีการยกเลิกการเข้าพักโรงแรมในพื้นที่บ้างเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติ
บ้านร้าวจากแผ่นดินไหวที่ อ.ถลาง
ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา จารุศิริ หัวหน้าหน่วยวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้เรื่องแผ่นดินไหวว่า ในกระบวนการทางธรณีวิทยา ถือว่าเป็นเรื่องปกติอยู่ เนื่องจากแผ่นดินไหวที่ดูเหมือนเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงนี้ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 2-3 ปีก่อน เพียงแต่ความลึกของศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวนั้นอยู่ลึกกว่าในช่วงที่ผ่านมา ส่วนที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดที่ภูเก็ตนั้น การเกิดแผ่นดินไหวอยู่ในระดับตื้น จึงทำให้รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่แล้วในแง่ธรณีวิทยา เพียงแต่ว่ามันเกิดในระดับตื้น ก็เลยทำให้คนส่วนใหญ่อกสั่นขวัญหาย เพราะว่าบ้านสะเทือน สะพานจะพัง ซึ่งโดยปกติแล้วก็มีแผ่นดินไหวอยู่แต่คนไม่ได้รู้สึกถึงการสั่นสะเทือน แต่ช่วงหลังๆ แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นมันอยู่ในระดับตื้น เลยทำให้คนรู้สึกอกสั่นขวัญหายไปตามๆ กัน”

“ส่วนเรื่องปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น น้ำในน้ำพุร้อนที่ จ.ระนอง เพิ่มสูงขึ้นในบางบ่อ เรารู้อยู่แล้วว่าน้ำพุร้อนก็อยู่ใกล้ๆ กับรอยเลื่อน รอยเลื่อนนั้นอาจจะถูกกระทบกระทั่งได้ ถ้าหากมีการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนใหญ่ๆ อย่างเช่น การเลื่อนตัวของรอยเลื่อนใหญ่ที่สุมาตราในคราวที่แล้ว แต่ไม่เกิดสึนามิ อันนั้นผลกระทบจะทำให้เกิดกับหลายๆ รอยเลื่อนที่มีพฤติกรรมในการเลื่อนตัวคล้ายๆ กัน เราเชื่อกันว่า ผลพวงของแรงดันน้ำ แรงดันของรอยเลื่อน มันอาจจะส่งผลกระทบให้รอยเลื่อนระนองเอง ซึ่งมีน้ำพุร้อนอยู่ด้วย มีการขยับ การสะสมพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสะสมแรงดันจนกระทั่ง ทำให้น้ำที่อยู่ข้างในตัวน้ำพุร้อนเองได้รับการดันตัว อัดแรงสูงขึ้นจนกระทั่งมันดันขึ้นมา แต่ไม่ได้เป็นทุกบ่อ เพราะว่าแต่ละรอยเลื่อนที่มีบ่อน้ำพุร้อนมีลักษณะหรือสภาวะในการสะสมแรงไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นบางบ่อเท่านั้นที่มีปัญหา”
แผ่นดินลุกเป็นไฟ
แผ่นดินลุกเป็นไฟ
หลังจากผ่านเรื่องแผ่นดินไหวได้ไม่เท่าไหร่ ก็เกิดเหตุการณ์ที่น่าประหลาดใจขึ้นอีกครั้งในวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา บริเวณริมถนนสายนครไทย-ด่านซ้าย ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินลุกเป็นไฟ โดยมีควันไฟลุกจากใต้ดินตลอดเวลา เมื่อโยนเศษกระดาษหรือเศษใบไม้เข้าไปในบริเวณนั้นจะเกิดเพลิงลุกไหม้ทันที พบว่า มีสัตว์ถูกไฟคลอกตาย และมีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟลวก

จากการตรวจสอบของนักธรณีวิทยา พบว่า มีการหมักหมมของขี้เลื่อยที่เกิดจากโรงไม้มานานหลายสิบปี ทำให้เกิดก๊าซมีเทน เมื่อมีการขุดเจาะก๊าซจึงรั่วแล้วถูกประกายไฟทำให้ลุกไหม้ คล้ายกับกรณีไฟไหม้ในป่าพรุ โดย รศ.ดร.ปัญญา ได้อธิบายว่า ก๊าซมีเทนไม่ได้เป็นอันตราย เพียงแต่สามารถลุกเป็นไฟได้ เนื่องจากการสะสมของเศษซากไม้ ซากใบไม้ที่เน่าเปื่อยผุพัง และทับถมกันเป็นเวลานาน แล้วเกิดการสันดาปกับความร้อนจนลุกเป็นไฟ ซึ่งในกรณีนี้เกิดขึ้นจากการเข้าไปตอกเสาเข็มพัฒนาพื้นที่ แล้วเกิดมีประกายไฟ ทำให้กลายเป็นเหตุการณ์นี้ขึ้นมา

“ข้อมูลในด้านการวิจัยทางธรณีวิทยาเอง เชื่อว่า มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับรอยเลื่อนที่มีอยู่ในบริเวณแถบนั้น รอยเลื่อนที่อยู่ใกล้ที่สุดนั้นอยู่ไกลออกไปประมาณ 100 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นอันนี้ไม่เกี่ยวข้องแน่ๆ บางคนเอาไปผนวกกับการระเบิดของภูเขาไฟ ผมก็เชื่อว่า มันไม่เกี่ยวข้องเพราะว่า การหาอายุภูเขาไฟที่อ่อนที่สุดในประเทศไทยอายุ 500,000 ปี มันดับสนิทไปแล้ว อยู่ที่วิเชียรบุรี เพราะฉะนั้นมันจึงไม่น่าที่จะเกี่ยวข้องกับการเกิดหรือการระเบิดของภูเขาไฟ”
ถนนคอนกรีตระเบิดจากความร้อน
“สิ่งสำคัญก็คือ ลักษณะบริเวณแบบนี้มีที่อื่นอีกไหมในประเทศไทย ถ้าหากทั้งคู่เป็นกิจกรรมของมนุษย์และกิจกรรมของธรรมชาติ กิจกรรมของธรรมชาติที่มีลักษณะของป่าพรุแบบนี้มีอยู่มากมายทีเดียวในประเทศไทย ฉะนั้นมีโอกาสเกิดไหม ก็มีโอกาสสะสมแก๊สมีเทน แต่จะลุกเป็นไฟหรือเปล่า อยู่ที่จังหวะว่าจะมีอะไรทำให้เกิดความร้อนมากหรือน้อย ความร้อนมาจากไหน ปริมาณความร้อนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ช่วงเวลาเดือนนี้เป็นช่วงเวลาที่ร้อนจัดอยู่แล้ว ฉะนั้นโอกาสที่จะทำให้เกิดแบบนี้มีไหม มี แต่ไม่มาก”

แม้ว่าแผ่นดินลุกเป็นไฟจะสามารถดับไฟได้ และยกเลิกการประกาศเป็นพื้นที่อันตรายแล้ว แต่มุมมองทางด้านโหราศาสตร์กลับมีมุมมองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเชื่อว่าเหตุการณ์แผ่นดินลุกเป็นไฟ เป็นลางร้ายของแผ่นดินไทย และเมื่อนำมาประกอบกับเหตุการณ์ไฟไหม้ที่วัดพนัญเชิง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่และสำคัญของประเทศไทย ก็ถือว่าเป็นเครื่องเตือนภัยถึงลางร้ายของประเทศ

คอนกรีตระเบิด-ถนนยุบ
นอกจากแผ่นดินไหว และแผ่นดินลุกเป็นไฟแล้ว ก็ยังมีเหตุการณ์แปลกๆ ที่เกิดขึ้นกับแผ่นดินในประเทศไทยอีก เริ่มจากเหตุการณ์ถนนคอนกรีตระเบิด ที่ ต.หาดหล้า อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ประชาชนบริเวณนั้นรู้สึกว่ามีแรงสั่นสะเทือนอย่างมาก ทำให้เข้าใจว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น และเกิดความตื่นตระหนก แต่เมื่อตรวจสอบจากเครื่องวัดการเกิดแผ่นดินไหวแล้ว ไม่พบรายงานแต่อย่างใด จึงมีการสำรวจในพื้นที่แล้วพบว่าผิวถนนคอนกรีตแตกเป็นรอยแยกยาวประมาณ 5 เมตร ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นจากสภาพความร้อนของอากาศ ส่งผลให้เนื้อคอนกรีตขยายตัวอย่างรุนแรง และเกิดการแตกระเบิดขึ้น
 
ส่วนเรื่องของถนนยุบที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ทั้งที่ถนนพระราม 4 และถนนพญาไท ก็ทำให้คนกรุงตระหนกตกใจกันเป็นอย่างมาก บ้างก็คาดการณ์ว่าอาจเกิดจากอากาศร้อนทำให้เหล็กใต้ถนนโก่งตัว บางส่วนก็มีการผูกโยงไปถึงความเชื่อเรื่องโลกแตกในปี ค.ศ.2012 แต่เมื่อทาง กทม.มีการตรวจสอบอย่างจริงจังแล้วกลับพบว่า เกิดจากถนนไม่มีการบดอัดชั้นดิน และเป็นถนนลาดยางเพียงอย่างเดียว ไม่มีคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำให้ความหนาแน่นของผิวถนนไม่ดีพอ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์อย่างแท้จริง
ถนนยุบกลางกรุง
แต่ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ ความรู้ความเข้าใจของประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกมากจนเกินเหตุ และสามารถเตรียมตัวเพื่อรับมือได้ โดย รศ.ดร.ปัญญา ได้กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว ว่า ในอนาคตนั้น เรื่องแผ่นดินไหวก็สามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติเช่นกัน และหากเกิดแล้วอาจจะไม่รู้สึกตัวเพราะกลับไปสู่สภาพความลึกเหมือนเดิม ประชาชนก็จะสบายใจ แต่เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดลึกเท่าไหร่ จะเกิดขึ้นตอนไหน หรือแค่การทำนายก็ยังยาก ฉะนั้น ประชาชนต้องมีการเตรียมพร้อม

“ประชาชนควรจะต้องเตรียมพร้อม บ้านเรือนต่างๆ ที่คิดว่าจะโยกจะพังได้ง่ายๆ คงจะต้องมีการซ่อมแซมแน่นอนที่สุด ถ้าหากว่าเป็นบ้านอิฐบ้านปูนก็อาจจะต้องมีการยึด เอาขอเกี่ยว หรือลักษณะจะเอาพังพืดที่มันยืดหยุ่นได้ง่ายมายึดก็ยังดี สำหรับประชาชนที่อยู่ในบริเวณแถบนั้น ถ้าหากว่ารู้ว่าเกิดแผ่นดินไหวก็คงจะต้องรีบออกนอกบ้าน ในกรณีที่ต้องการป้องกันก็ต้องรู้ให้ได้ว่าแนวรอยเลื่อนมันใกล้บ้านเราหรือเปล่า อันนั้นก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะมาบอกชาวบ้านว่าคุณอยู่ใกล้ อยู่ในพื้นที่คุณนะ เพราะฉะนั้นคุณจะย้ายออก หรือคุณจะเป็นอันตรายถ้าคุณยังอยู่ต่อไป ถ้าอยู่ต่อไปก็เสี่ยงนะจะเลือกเอายังไง ข้อมูลพวกนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องบอกประชาชน เป็นการการเตรียมความพร้อมของรัฐบาล รัฐบาลต้องบอกประชาชนเพราะรัฐบาลไม่ตาย ประชาชนที่อยู่ตรงนั้นตาย ประชาชนต้องรับรู้ก่อนว่าตัวเขาเองต้องปฏิบัติตัวยังไง รัฐบาลก็ต้องมีหน้าที่ในการบอกว่า ถ้ายังอยู่อย่างนี้ ถ้าเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมาอย่าใช้ลิฟท์นะ อะไรทำนองนั้น หรือถ้าหากว่ากำลังใช้รถไฟใต้ดินกรุณารีบไปอยู่ในที่กำบังที่ปลอดภัย ใครเป็นคนทำล่ะ ก็ต้องเป็นรัฐบาล”

สุดท้ายแล้ว การเตรียมความพร้อมของประชาชนก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่ต้องออกมาให้ความรู้ที่ถูกต้องและทันท่วงที ไม่ใช่เกิดเหตุขึ้นแล้วค่อยมาแจ้งไม่ให้ตกใจ หรือเกิดเหตุการณ์จบไปแล้วค่อยแจ้งว่าควรจะทำตัวอย่างไร ไม่เช่นนั้นก็อาจเกิดความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้
 
*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 
 
ในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน โดยจากประวัติศาสตร์นั้นเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ยุคก่อนสุโขทัย แต่ไม่สามารถวัดระดับความรุนแรง หรือสถานที่เกิดได้อย่างแน่ชัด ส่วนสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยที่ตรวจวัดโดยกรมอุตุนิยมวิทยา ที่มีขนาดอยู่ในระดับเล็กถึงปานกลาง (ไม่เกิน 6.0 ริกเตอร์) มีดังนี้ แผ่นดินไหวเมื่อ 17 ก.พ.2518 ขนาด 5.6 ริกเตอร์บริเวณ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก, แผ่นดินไหวเมื่อ 15 เม.ย.2526 ขนาด 5.5 ริกเตอร์ บริเวณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี, แผ่นดินไหวเมื่อ 22 เม.ย.2526 ขนาด 5.9 ริกเตอร์ บริเวณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี  , แผ่นดินไหวเมื่อ 22 เม.ย.2526 ขนาด 5.2 ริกเตอร์ บริเวณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี, แผ่นดินไหวเมื่อ 11 ก.ย.2537 ขนาด 5.1 ริกเตอร์ บริเวณ อ.พาน จ.เชียงราย, แผ่นดินไหวเมื่อ 9 ธ.ค.2538 ขนาด 5.1 ริกเตอร์ บริเวณ อ.ร้องกวาง จ.แพร่, แผ่นดินไหวเมื่อ 21 ธ.ค.2538 ขนาด 5.2 ริกเตอร์ บริเวณ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ และ แผ่นดินไหวเมื่อ 22 ธ.ค.2539 ขนาด 5.5 ริกเตอร์ บริเวณพรมแดนไทย-ลาว
กำลังโหลดความคิดเห็น