xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียน “ควาย” ในวิถีเกษตรพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ โรงเรียนสอนคนและควาย
“ข้าว” เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากของประเทศไทย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ากว่าจะมาเป็นข้าวสารและข้าวสวยที่หุงกินกันทุกวันนั้นเป็นมาอย่างไร กระบวนการทำนาต้องใช้อะไรบ้าง

“เมื่อก่อนชาวนาใช้ควายไถนา” เป็นคำพูดที่แสดงถึงวีถีเกษตรกรในอดีต ที่จะเห็นได้ว่าควายคือคู่แท้ของชาวนา ถ้าไม่มีความก็คงไม่สามารถจะทำมาหากินได้ เมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีและความเจริญทางวัตถุนำพาความสะดวกสบายเข้ามาสู่เกษตรกร ควายเนื้อแท้ๆ ก็จะหายไป กลายเป็นควายเหล็กเข้ามาแทนที่

ในยุคสมัยนี้ คงมีไม่กี่แห่งที่จะได้เห็นชาวนาใช้ความทำนา เด็กสมัยใหม่บางคนอาจนึกภาพไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่าควายกับวัวแตกต่างกันอย่างไร แล้วการใช้ควายทำนาเขาทำกันอย่างไร แต่ก่อนที่ภาพวิถีชีวิตแบบนี้เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา ก็ยังมีผู้ที่คิดถึงการอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่ เพื่อรักษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมให้คนรุ่นหลังได้เห็น จะได้สืบทอดต่อไปในอนาคต
บรรยากาศภายในโรงเรียนโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ แปลงปลูกที่3
“กาสรกสิวิทย์” เป็นชื่อโรงเรียนที่ไม่ใช่โรงเรียนทั่วๆ ไปตามที่เคยเห็น แต่เป็นโรงเรียนที่สอนคนและควายให้ใช้ชีวิตร่วมกันได้ตามวิถีของเกษตรกร ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนในเรื่องการอนุรักษ์วิถีชีวิต ความเป็นอยู่แบบพื้นบ้านที่เรียบง่ายและพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โรงเรียนสอนคนและควาย แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.สระแก้ว โดย นายเชษฐา โชไชย ผู้อำนวยการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ได้เล่าถึงการคัดเลือกคนที่จะเข้ามาเรียนรู้ภายในโรงเรียนว่า ทางกรมปศุสัตว์จะทำการคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น เพื่อที่จะได้รับกระบือพระราชทานประจำปี ทั้งนี้เกษตรกรเหล่านั้นต้องเป็นสมาชิกธนาคารโค-กระบือ โดยทางโรงเรียนจะมีปราชญ์ผู้มีความรู้ เป็นครูสอนให้กับผู้ที่ได้ถูกคัดเลือกให้มาเรียน ในแต่ละรุ่นนั้นทางกรมปศุสัตว์จะเป็นผู้พิจารณาผู้เรียน10 คนและควายอีก 10 ตัว เพื่อมาฝึกฝนกับปราชญ์ที่โรงเรียนในระยะเวลา 10 วัน ของทุกเดือน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
เกษตรกรและควาย ผู้เรียนรู้
คนและควายที่ถูกคัดเลือกมานั้น ก็จะได้มาเรียนรู้และฝึกฝนในวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย และวัตถุประสงค์ที่สำคัญของการเรียนรู้ครั้งนี้คือ การใช้ควายไถนา หลังจากการได้รับควายจากทางกรมปศุสัตว์และได้รับคัดเลือกให้มาเรียนยังโรงเรียนแห่งนี้ ช่วงเวลา 10 วัน คือการเรียนรู้รูปแบบชีวิตที่เคยเป็นมาในอดีต

ใช่ว่าควายที่เกิดมาทุกตัวนั้นจะไถนาเป็นตั้งแต่เกิด ควายทุกตัวจะต้องมีการฝึกฝนเพื่อที่จะไถนา หรือทำงานอื่นๆ เช่นเดียวกับคนที่จะต้องเรียนรู้การไถนา และวิธีการฝึกฝนควายให้ไถนาเป็นเช่นกัน โรงเรียนแห่งนี้จึงเสมือนสถานที่ฝึกสอนที่คนและควายไปพร้อมๆ กัน ตามวิถีของชาวนาไทย
บรรยากาศคนและควาย กำลังเรียนไถนา
นายแดง มารศรี ปราชญ์ผู้สอน เล่าถึงเรื่องการเรียนการสอนว่า ในวันแรกของการเรียนนั้น จะเป็นการสร้างความคุ้นเคยให้แก่คนและควาย เพราะการจะไถนาได้ดีนั้นต้องใช้การร่วมแรงร่วมใจกันของทั้งสองฝ่าย หากไม่เกิดความสนิทสนมคุ้นเคยกันนั้นงานคงออกมาได้ไม่ดี

การเรียนจะมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยเริ่มจากการทำความรู้จักกับควายไทยและการใช้ประโยชน์ วิธีดูลักษณะควายตามภูมิปัญญาไทย และการคัดเลือกควายไว้ใช้งาน การป้องกันโรคและสมุนไพรสำหรับควาย ตลอดจนแนวทางทำการเกษตรแบบผสมผสานตามทฤษฎีใหม่ ส่วนภาคปฏิบัติก็เริ่มกันตั้งแต่วิธีจูงควาย วิธีเทียมแอกและเทียมไถ วิธีใช้ภาษาเชือก การฝึกไถดะ ไถแปร ฝึกคราดและการตีลูกทุบ ไปกระทั่งหัดทำแร่ธาตุก้อนสำหรับควายและการทำโอ่งแก๊สชีวภาพจากมูลควาย เป็นต้น

ระยะเวลาในการเรียน 10 วันนี้ จะมีการทดสอบวัดผลควบคู่ไปด้วย หากผ่านการเรียนรู้และทดสอบวัดผลได้นั้น ทางโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ก็จะมีใบประกาศนียบัตรรับรองให้แก่ คนและควายที่จบการศึกษาด้วย ที่นี่เป็นการถ่ายทอดความรู้จากปราชญ์ท้องถิ่นผู้มีประสบการณ์ เพื่อที่จะทำให้วิถีชีวิตของคนที่อยู่คู่กับควายยังคงอยู่ไม่ให้เลือนหายจากไป
นายสายัญ สกุลดี และควายคู่ใจเจ้าบุญชู
ภายในโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ได้น้อมนำวิธีเกษตรพอเพียงมาปรับใช้ภายในบริเวณโรงเรียนด้วย โดยมีการแบ่งพื้นที่ 30-30-30-10 เป็นพื้นที่เพาะปลูก สระน้ำเพื่อการใช้สอย และพื้นที่ทำนา อย่างละ 30 ส่วน รวม 90 ส่วน และพื้นที่พักอาศัย 10 ส่วน ภายในพื้นที่โรงเรียนยังมีโรงเรือนแสดงเครื่องมือและอุปกรณ์ในการใช้ทำนา ที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งทำขึ้นตามภูมิปัญญาชาวบ้าน อุปกรณ์ทุกชิ้นจะนำมาใช้ทำการเกษตรในโรงเรียน และแปลงนาจะปลูกข้าวในระยะต่างๆกัน เพื่อให้ผู้ที่ได้มาเยี่ยมชมได้เห็นข้าวในระยะเติบโตที่ต่างกัน และภายหลังจากการเก็บเกี่ยว จะใช้การปลูกพืชบำรุงดินแทนการใช้ปุ๋ย นอกจากนี้ ภายในโรงเรียนยังมีที่พักที่ทำจากดินเป็นที่พักของผู้ฝึกอบรมและวิทยากร เพื่อการสัมผัสวิถีชาวนาอย่างแท้จริง

สำหรับวิธีการไถนานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นายสายัญ สกุลดี ผู้ช่วยปราชญ์ กล่าวว่า ควายที่จะนำมาฝึกฝนนั้นจะต้องมีอายุ 2 ปีขึ้นไป ซึ่งควายจะมีขนาดตัวพอเหมาะ เนื่องด้วยการใช้คราดผูกติดบนหลังควาย ปลายคราดนั้นจะอยู่ที่พื้นพอดี ส่วนชาวนานั้นต้องมีทักษะการใช้เชือก เพราะเชือกจะเป็นตัวบังคับทิศทางการเดินของควาย ความคุ้นเคยกันและความไว้ใจกันของคนและควายก็เป็นสิ่งสำคัญ การจะไถนาได้สำเร็จนั้น ต้องพึ่งพาทักษะและความอดทนของทั้งสองฝ่ายที่ร่วมด้วยช่วยกัน ในการเรียนก็มีควายบางตัวที่ดื้อ หรือบางตัวก็ขี้เกียจ สัตว์ก็คล้ายกับคนเราที่มีความเกียจคร้านบ้างเหมือนกัน อย่างเจ้าบุญชูควายคู่ใจของพี่สายัญ อายุ 5 ปี เพศผู้ ก็มีอาการดื้อตามประสาควายหนุ่มๆ อยู่บ้างเป็นบางครั้งคราว
เกษตรกรพาควายตนเองมากินหญ้า
จะเห็นได้ว่าแม้เป็นเพียงมุมเล็กๆ แต่เมื่อมองถึงคุณค่าที่ควรแค่การอนุรักษ์ไว้ จะเป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่จะสืบต่อวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา ไม่ให้หายไปตามวันเวลาที่มีการพัฒนาด้านวัตถุอย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งที่สะท้อนให้ผู้คนที่อยากได้รับรู้ได้เห็นว่าการใช้ควายทำนานั้นเป็นมาอย่างไร ภาพของควายไถนาก็คงจะยังไม่เลือนหายจากไปในเร็ววัน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 999 ต.ศาลาลำดวน อ.เมือง จ.สระแก้ว ผู้สนใจเข้าเที่ยวชมสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากทางโรงเรียนได้ที่ โทร.0-3743-5058 หรือสอบถามที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครนายก (พื้นที่รับผิดชอบ: นครนายก,ปราจีนบุรี,สระแก้ว) โทร.0-3731-2282, 0-3731- 2284
กำลังโหลดความคิดเห็น