xs
xsm
sm
md
lg

ท่องโลกแมลง ชวนทึ่งไปกับ “ผีเสื้อกะเทย” ที่“พิพิธภัณฑ์แมลง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
บรรดาผีเสื้อสะสม
“เสียงร้องก็ดัง ปีกมันบางใส ชอบร้องวุ่นวาย และก็เที่ยวเก่ง ค่ำค่ำไม่นอน ร่อนไปมาร้องเพลง นิสัยครื้นเครง คือเจ้าจักจั่น ….…..” ก่อนที่จะไปถึงยังพิพิธภัณฑ์แมลง ฉันฮัมเพลงแมลง ของนักร้องอินเตอร์ทาทายัง ไปพลางๆก่อนที่ฉันจะเข้าสู่รั่วประตูของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล
ผีเสื้อที่มีสีสันสวยงามที่สุด
ที่ชั้น 5 ของตึก 90 ปี ภายโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ถนนสามเสน เป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์แมลง” ซึ่งฉันคิดว่าน้อยคนที่รู้จักและเคยเข้าชมพิพิภัณฑ์แห่งนี้ เพราะตั้งอยู่ในโรงเรียน แต่พิพิภัณฑ์แมลงแห่งนี้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้

จุดเริ่มต้นของ “พิพิธภัณฑ์แมลง” แห่งนี้ เริ่มมาจากการสนใจสะสมผีเสื้อของ ภารดาหรือบราเดอร์ ดร.อำนวย ปิ่นรัตน์ อดีตอธิการโรงเรียนเซนต์คาเบรียลนี้เอง โดยบราเดอร์ เล่าให้ฉันฟังว่า “มันเป็นงานอดิเรกของผม เมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อน โดยไปหาแมลงมาเอง เอาสวิงไปจับมาแล้วก็มาศึกษา”
ผีเสื้อรูปหัวกะโหลก
ในสมัยก่อนการไปหาผีเสื้อ หาแมลงในป่าเป็นสิ่งที่ทำได้ ยังไม่มีกฎหมายเข้มงวดเหมือนตอนนี้ โดยบราเดอร์จะใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการสอนหนังสือออกตระเวนสู่ป่าเขาลำเนาไพรทั่วประเทศกับเพื่อนคอเดียวกันอีก 2-3 คน เพื่อเสาะหาผีเสื้อพันธุ์ต่างๆ

ภารดา ดร.อำนวย เล่าว่า “ในตอนแรกเราเริ่มสนใจจาก “ผีเสื้อกลางวัน” เนื่องจากว่าภารดาฝรั่งเศสที่ทำหนังสือดอกไม้อยู่แล้วเห็น จึงขอร้องให้ภารดาอำนวยทำหนังสือผีเสื้อที่ท่านได้เก็บไว้ 200 กว่าชนิด แล้วพิมพ์เป็นเล่ม หลังจากนั้นเห็นว่าผีเสื้อของท่านเก่าและสีซีด ภารดาอำนวยจึงเริ่มไปจับตัวสดๆสวยๆมาทำเป็นหนังสือ
 เหล่าผีเสื้อกะเทย
ตอนหลังได้มาพบเพื่อนชาวญี่ปุ่น ก็เลยได้ติดตามเขาไปจับตามในป่า ทั้งทางเหนือทางใต้ แล้วเราก็จับมามาสตาฟไว้เก็บใส่กล่อง หลังจากเก็บไว้ได้เยอะแล้ว ก็จัดทำเป็นหนังสือออกมา 1 เล่ม เมื่อมีคนสนใจก็เลยได้ทำเป็นเล่ม2-3ออกต่อๆมา

หลังจากนั้นมีชาวอังกฤษรู้ แล้วมาขอดู เขารู้ชื่อผีเสื้อกลางวันชนิดต่างๆมาก ก็เลยจัดทำให้ใหม่โดยทำเป็นหนังสือเล่มใหญ่ออกมา แบ่งเป็นตระกูลๆ รวมทั้งหมดก็พันกว่าชนิด”
หนึ่งในแมลงที่ภารดาอำนวยค้นพบ
จากผีเสื้อกลางวันแล้ว ก็ได้มาสนใจ “แมลงปอ” และในบางวันที่ฝนตกผีเสื้อไม่ออก ก็เลยมาจุดไฟหา “ผีเสื้อกลางคืน” โดยบราเดอร์ เล่าว่า “ต่อมามีฝรั่งสนในแมลงปอ จึงได้ชวนกันไปตามแหล่งน้ำเพื่อจับแมลงปอ จับไปจับมารวบรวมได้ประมาณ 200 กว่าชนิด ซึ่งไม่มีใครรู้เลยว่าเมืองไทยขนาดนี้

แต่กว่าจะได้แมลงปอมาก็ต้องไปตามป่าลึก หรือป่าหญ้า ส่วนผีเสื้อกลางคืนต้องเอาไฟไปล่อ เอาจอไปขึงแล้ว จับมาใส่ขวดยาฆ่าแมลง เก็บมาแล้วเอามากางเก็บใส่กล่องและดูว่าตัวนี้ชื่ออะไร เมื่อผู้เชี่ยวชาญเห็นลักษณะต่างๆของผีเสื้อก็จะบอกว่าอยู่ในตระกูลอะไร ชื่ออะไร แล้วก็รวบรวมเป็นหนังสือผีเสื้อขึ้นมาใหม่เป็นเล่มที่สมบูรณ์แบบ ภารดาเป็นคนทำเองทั้งหมด ส่วนผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้บรรยาย”
ภารดาอำนวยโชว์ผีเสื้อพร้อมอธิบาย
หลังจากที่ ภารดา ดร.อำนวย ค่อยๆเล่าและหยิบหนังสือมาให้ฉันดูแล้ว ก็พาฉันไปยังห้องพิพิธภัณฑ์ให้เราได้เห็นของจริงกันอย่างเต็มๆตา ภายในพิพิธภัณฑ์แมลงที่เป็นห้องไม่ใหญ่นัก แต่มากไปด้วยแมลงนับหมื่นๆตัวเลยทีเดียว หากแยกเป็นประเภทก็มีประมาณ 1200 ชนิด ซึ่งแมลงทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นแมลงที่บราเดอร์พบในประเทศไทยของเราทั้งสิ้น

บราเดอร์พาฉันไปดูยังส่วนของผีเสื้อก่อน โดยทางวิชาการได้แบ่งผีเสื้อเหล่านี้ออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ “ผีเสื้อกลางวัน” (Butterfly) และ “ผีเสื้อกลางคืน” (Moth)
บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์
สำหรับความแตกต่างของผีเสื้อทั้ง 2 ชนิดนั้น พอจะบอกได้คร่าวๆ คือ ผีเสื้อกลางวันจะหากินในเวลากลางวัน ส่วนผีเสื้อกลางคืนจะหากินในเวลากลางคืนเป็นส่วนมาก แต่ก็มีบางชนิดหากินในเวลากลางวันเช่นกัน ส่วนเวลาเกาะผีเสื้อกลางวันจะชูปีกขึ้นตั้งฉากกับพื้น จะมีบ้างที่กางปีกขนานกับพื้น ส่วนผีเสื้อกลางคืนเวลาเกาะจะกางปีกขนานกับพื้นแต่ปีกจะลู่ลงมากกว่า เป็นต้น

นี่เป็นความแตกต่างที่คนไม่ประสีประสาอย่างเราๆพอจะรู้ได้ แต่จริงๆแล้วผีเสื้อกลางวันและกลางคืนยังมีความแตกต่างกันอีกหลายอย่างที่หากเป็นคนที่ดูเป็นแล้วจึงจะรู้
แมลงปอชนิดที่มีปีกสวยที่สุด
ซึ่งผีเสื้อที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์มีมากมายพันกว่าชนิด บางชนิดก็มีสีสันที่สวยงามดึงดูดสายตา เช่น ตระกูล Papilionidae ผีเสื้อกลางคืนบางชนิดก็ดูน่ากลัวนิดๆ เช่น พวก Sphingidae มีรูปหัวกะโหลกที่ตัว ส่วนชนิดที่สวยที่สุดเป็นผีเสื้อกลางคืนชื่อ Zygaenidae โดยในแต่ละชนิดจะบอกชื่อชนิด และแหล่งที่มาไว้ให้เรารู้ด้วย เช่น ผีเสื้อกระท้อนบ้านเจอตามต้นกระท้อน เป็นผีเสื้อที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาผีเสื้อกลางคืน
 เหล่าด้วงนานาชนิด
นอกจากผีเสื้อปกติแล้ว บราเดอร์ยังหยิบกล่องพิเศษมาเปิดให้ดูแล้วบอกกับฉันว่า “นี่เป็นผีเสื้อกะเทย” เล่นเอาฉันอึ้งไปชั่วขณะ บราเดอร์เห็นอาการของฉันจึงได้อธิบายว่า “ผีเสื้อกะเทย” เป็นผีเสื้อที่มีลักษณะผสมระหว่างลักษณะของเพศผู้และเพศเมียในตัวเดียวกัน ซึ่งหายากมาก ใน 1 แสนตัวจะเจอสักครั้ง ช่างเป็นความบังเอิญที่โชคดีจริงๆ
จักจั่นงวง
สำหรับ “แมลงปอ” แมลงอีกหนึ่งชนิดที่จัดแสดงไว้ก็มีกว่า 200 ชนิด โดยแมลงปอ คือ แมลงที่มีตัวอ่อนอาศัยอยู่ในน้ำ เมื่อตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่บนบกมีปีกบินได้ เช่น Rhyothemis Variegata เป็นแมลงปอชนิดที่มีปีกสวยที่สุด

นอกจากนี้ภายในพิพิธภัณฑ์แมลงยังมีแมลงอีกหลายชนิด เช่น “ด้วง” แมลงที่ฉันคุ้นเคยอีกชนิดหนึ่งสมัยที่ฉันยังอยู่บ้านนอก ด้วง จัดเป็นแมลงปีกแข็งบางชนิดบินได้ บางชนิดบินไม่ได้ มักพบตามป่าดงดิบ เช่น ด้วงขี้ช้าง ด้วงขี้ม้า ด้วงกว่าง ด้วงต้นหวาย
ตั๊กแตนหมูตัวใหญ่สมชื่อ
และยังมี “ตั๊กแตน” เช่น ตั๊กแตนหมู ซึ่งเป็นชนิดที่ตัวใหญ่ที่สุด และด้วยความตัวใหญ่นี้เองชาวบ้านจึงเรียกว่าตั๊กแตนหมู ส่วนตั๊กแตนใบไม้และตั๊กแตนกิ่งไม้ ก็ดูแล้วเหมือนใบไม้และกิ่งไม้จริงๆ ส่วนเจ้า “จักจั่น” ก็มีเช่นกัน เช่น จักจั่นงวง จักจั่นสีต่างๆในป่า มักกินต้นปอเป็นอาหาร อีกทั้งยังมี “แมลงทับ” สีสวยงามให้เราได้ชมกันด้วย

บราเดอร์พาชมพร้อมอธิบายให้ฉันฟังว่าตัวไหนตัวผู้ ตัวไหนตัวเมีย ตัวไหนหายาก รวมถึงบอกที่มาว่าพบที่ไหนอย่างไรอย่างสนุกสนานและเพลิดเพลิน ซึ่งนอกจากบราเดอร์จะชื่นชอบการสะสมแมลงแล้ว ภารดา ดร.อำนวย ปิ่นรัตน์ ยังได้ค้นพบแมลงตัวใหม่ของโลกที่นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อใหม่ในนามของ “pinratani” และ “pinratanai” มีจำนวนถึง 25 ชนิดด้วยกัน อีกด้วย
แมลงทับสีสวยงาม
ใครสนใจเหล่าแมลงตัวน้อย ก็สามารถมาชมกันได้ที่ “พิพิธภัณฑ์แมลง” โรงเรียนเซนต์คาเบรียล แล้วเราจะรู้ว่าประเทศไทยของเรามีอะไรอีกเยอะให้เราได้ค้นหาและเรียนรู้
ภายในพิพิธภัณฑ์มีทั้งตู้โชว์และตู้จัดเก็บแมลง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“พิพิธภัณฑ์แมลง” ตั้งอยู่ที่ชั้น 5 อาคาร 90 ปี โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ เปิดทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 08.00-11.00 และ 13.00-16.00 น. ในช่วงแรกชมฟรี (ต่อไปอาจเก็บค่าเข้าชม 50 บาท/คน) กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชมได้ที่ภารดา ดร.อำนวย ปิ่นรัตน์ โทร.08-1376-3468 หรือที่ e-mail : pinratana@yahoo.co.th

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!!
กำลังโหลดความคิดเห็น