ททท.เปิดให้บริการ ห้องสมุดท่องเที่ยว “Tourism Library” ในรูปแบบใหม่ ทันสมัยรับยุคดิจิตอล เปิดคลังสมองเปิดมุมมองท่องเที่ยวไทย
ปัจจุบันพื้นที่ทางกายภาพที่เรียกว่า “ห้องสมุด” เริ่มมีบุคลิกภาพเป็นของตัวเอง โดยเริ่มจากการมีพัฒนาการให้เป็นห้องสมุดเฉพาะ เช่น ห้องสมุดดนตรี ห้องสมุดด้านการออกแบบ ฯลฯ ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจ คือ การประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า “ห้องสมุดสมัยใหม่” คือ ห้องสมุดที่ไร้หนังสือและกระดาษ บรรณารักษ์ หรือ Librarian ถูกเรียกขานในชื่อ Cybrarian ภายใต้บุคลิกภาพใหม่ที่ว่องไว ทันสมัย รักในงานบริการเท่าทันการเปลี่ยนแปลง บทบาทของห้องสมุดจึงเริ่มเปลี่ยนจากการสืบค้นข้อมูลเป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนแบ่งบันเป็นห้องสมุดที่มีชีวิตเป็นห้องสมุดที่สร้างความสุข ซึ่งมีการพัฒนาจาก web 2.0 ถึง Library 2.0 จาก Modern Marketing ถึง Modern Library จาก E-Commerce ถึง E Library
ด้วยเหตุนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ในฐานะหน่วยงานหลักของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จึงได้เปิด “ห้องสมุดท่องเที่ยว” โดยได้พัฒนาห้องสมุดท่องเที่ยวเดิมให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น โดยห้องสมุดท่องเที่ยวเป็นห้องสมุดเฉพาะตั้งอยู่ที่อาคารททท.สำนักงานใหญ่ เปิดให้บริการแก่พนักงานททท.และบุคคลภายนอก นักเรียน นักศึกษา ในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น.
นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า “ห้องสมุดท่องเที่ยว” ถือเป็นแหล่งรวมความรู้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ที่สุดโดยมีทั้งข้อมูลแบบเป็นเล่ม และทั้งสามารถสืบค้นผ่านระบบอินเตอร์เน็ต http://tourismlibrary.tat.or.th โดยการให้บริการของห้องสมุดท่องเที่ยวจะครอบคลุมเรื่องเอกสารวิจัย วารสารเชิงวิชาการ นิตยสาร สารคดีท่องเที่ยว เอกสารแนวโน้มโลก พฤติกรรมผู้บริโภค โดยข้อมูลดังกล่าวมีทั้งในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ โดยห้องสมุดท่องเที่ยวแห่งนี้จะเป็นเหมือนขุมทรัพย์ทางปัญญาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
“บรรยากาศของห้องสมุดท่องเที่ยวจะแตกต่างจากห้องสมุดทั่วไปที่ได้เห็นกัน มีการออกแบบให้บรรยากาศสดใสตามยุคสมัย เพื่อเปิดกว้างสำหรับบุคลภายนอก นักเรียน นักศึกษาให้เข้ามาใช้บริการค้นคว้าข้อมูล”
นอกเหนือจากเอกสารแล้ว ททท. ยังเตรียมจัดกิจกรรมเสริมอื่นๆ ต่อเนื่อง อาทิ การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับงานเสวนา โดยในปี 2555 กำหนดจัดในหัวข้อต่างๆดังนี้ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ปรากฏการณ์ Popular Culture ที่ขับเคลื่อนกระแสการท่องเที่ยว โรงแรมศักดิ์สิทธิ์ (Hospitel) การทำโรงแรมให้เป็นวัด การทำโรงพยาบาลให้เป็นโรงแรม จากมุมมองของสถาปนิก และ Health Me เน้นเรื่องอาหาร เป็นหลัก โดยวิเคราะห์กระแสหนังสือที่เกี่ยวกับอาหาร ที่ดูจะเปิดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ