เมื่ออยากสัมผัสความหนาว หลายคนเลือกเดินทางขึ้นเหนือเพื่อไปสูดอากาศเย็นๆ บนยอดดอย แต่ถ้าอยากได้ความหนาวแบบสุดขั้ว หนาวสุดในสยามประเทศ คงต้องเดินทางมาที่ภาคอีสาน มายังจังหวัดเลย ตามคำขวัญของจังหวัดที่มีอยู่ว่า “เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู”
ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองแห่งทะเลภูเขา” ก็แสดงว่าที่นี่ต้องมีภูสวยน่าเที่ยวอยู่มากมาย ซึ่งภูเด่นดังที่สุดของจังหวัดเลยนั้นก็คือ “ภูกระดึง” ในอำเภอภูกระดึง อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตตลอดกาลของเมืองไทย ที่แม้ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเดินเท้ากว่า 7 ก.ม. ขึ้นไปยังยอดภู ซึ่งมีความสูง 1,288 ม. จากระดับน้ำทะเล แต่ก็มีนักท่องเที่ยวที่ยินดีที่จะเหนื่อย เพราะบนภูกระดึงนั้นยังมีความสวยงามของธรรมชาติอีกมากมาย ตั้งแต่ที่ “หลังแป” ที่ราบท่ามกลางทุ่งหญ้าป่าสนเขาอันกว้างใหญ่บนยอดภูกระดึง ส่วน “ผานกแอ่น” ก็เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงาม และ “ผาหล่มสัก” ซึ่งเป็นดังสัญลักษณ์ของภูกระดึง ด้วยองค์ประกอบของความงามยามพระอาทิตย์ตกกับต้นสนที่ยืนอยู่เดียวดายริมชะง่อนผา ก็เป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวที่ชอบเดินป่าและชมความงามของธรรมชาติเดินทางมายังภูกระดึงแห่งนี้
มาวันนี้ความโด่งดังค้างฟ้าของภูกระดึงก็เป็นที่มาของโครงการปัดฝุ่นเรื่องการสร้างหระเช้าขึ้นภูกระดึงอีกครั้ง ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่คัดค้าน แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มหลังจะมีมากกว่ากันอยู่พอตัวเดียว
ส่วนที่ “ภูเรือ” ในอุทยานแห่งชาติภูเรือ อำเภอภูเรือ ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดของจังหวัดเลย ที่นี่ได้ชื่อว่าภูเรือเพราะมีรูปพรรณสันฐานเหมือนเรือใหญ่อยู่บนยอดดอยสูง ที่สำคัญอากาศบนภูเรือยังหนาวเย็นตลอดทั้งปี และหนาวจัดในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค. ซึ่งมักจะได้เห็นแม่คะนิ้งบนยอดหญ้าบนภูเรือแทบทุกปี นอกจากนั้น ทิวทัศน์บนภูเรือก็นับว่าสวยงามอย่างยิ่ง ที่นี่ถือเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นชั้นดี แถมยังมองเห็นทิวทัศน์กว้างไกลสุดสายตา มีทะเลหมอกลอยในหุบเขาสลับซับซ้อน
ภูเรือยังได้ชื่อว่าเป็นดินแดนดอกไม้งามสามฤดู เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี สามารถปลูกไม้ดอกเมืองหนาวได้หลายชนิด ที่นี่จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชม+ช้อปกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ แหล่งค้นคว้าทดลองไม้ดอกไม้ผลเมืองหนาว พืชท้องถิ่น และยังมีสวนของเอกชนอีกหลายๆ แห่งที่สามารถไปชมและซื้อพรรณไม้สวยๆ ก็ได้เช่นกัน ส่วนแหล่งซื้อขายไม้ดอกไม้ประดับแหล่งใหญ่ที่ภูเรือนี้ก็คือ ตลาดไม้ดอกเมืองหนาวบ้านหนองบง ที่นอกจากจะมากไปด้วยพืชพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับแล้ว ที่นี่ยังมี “เทอร์โมมิเตอร์ยักษ์” ตั้งโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปและดูอุณหภูมิความหนาวในแต่ละวันอีกด้วย
“ภูหลวง” เป็นอีกหนึ่งภูมีชื่อของเมืองเลย ที่นี่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อำเภอภูหลวง ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ที่สูงที่อุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะกล้วยไม้ป่าที่ทยอยบานหมุนเวียนกันไปทั้งปี เช่น ครั่งแสด เอื้องสิงโตสยาม ฯลฯ อีกทั้งยังมีทิวทัศน์ที่สวยงามและมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติที่มีพรรณไม้ที่หาได้ยากหลายชนิด ความโดดเด่นของภูหลวงอีกอย่างหนึ่งก็คือรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่พบบริเวณผาเตลิ่น เป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองขา อายุประมาณ 120-130 ล้านปี พบทั้งหมด 15 รอย แสดงให้เห็นว่าป่าภูหลวงในยุคหลายล้านปีมานั้นก็ยังเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ดึกดำบรรพ์ด้วย
อีกหนึ่งภูที่อยากจะแนะนำกันก็คือ “ภูสวนทราย” ในอำเภอนาแห้ว ที่หลายๆ คนอาจยังไม่คุ้นหู โดยอุทยานแห่งชาติภูสวนทรายนั้นแต่เดิมชื่ออุทยานแห่งชาตินาแห้ว เพิ่งเปลี่ยนชื่อเมื่อปี 2549 เพื่อเน้นให้เห็นถึงความโดดเด่นของภูสวนทราย ซึ่งเป็นภูเขาสำคัญในพื้นที่อุทยาน โดยพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ เพราะเคยเป็นฐานที่มั่นของทหารไทยศึกยุทธภูมิร่มเกล้า ปี พ.ศ. 2530 ปัจจุบันปรากฏร่องรอยของหลุมหลบภัย บังเกอร์ แต่ปัจจุบันกลายเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งไปแล้ว อีกทั้งภูสวนทรายยังอยู่ติดกับชายแดนประเทศลาว ทำให้มีน้ำตกรอยต่อ 2 แผ่นดิน หรือ “น้ำตกตาดเหือง” ที่ไหลคร่อมแผ่นดินไทย-ลาว สวยงามไม่น้อยเลยทีเดียว
อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงามระดับอันซีนไทยแลนด์อย่าง “สวนผาหินงาม” ใน ตำบลปวนพุ กิ่งอำเภอหนองหินก็น่าสนใจไม่น้อย ที่นี่เป็นเทือกเขาหินปูนที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลระหว่าง 500-750 เมตร มีเนื้อที่กว่า 9 พันไร่ แต่ว่าเปิดให้คนเที่ยว 30% เมื่อราว 225 ล้านปีที่แล้วสวนหินแห่งนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน เพราะปรากฏซากฟอสซิลของสัตว์ทะเลให้เห็น แต่ความสวยงามของที่นี่คือภูเขาหินปูนรูปร่างแปลกตาคล้ายกับภูเขาที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน จนได้สมญานามว่า “คุนหมิงเมืองเลย”
ภูเขาหินภายในสวนผาหินงามแห่งนี้อยู่กระจายเป็นลูกๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง สลับกันไป มีชื่อเรียกต่างกันตามลักษณะรูปร่าง เช่น หินไดโนเสาร์ หน้าผาท้อแท้ ซุ้มคารวะ ถ้ำอรทัย เขาวงกต เจดีย์หิน กรอบรูปธรรมชาติ กำแพงเมืองจีน ฯลฯ และยังมีต้นไม้หลากหลายพันธุ์ รวมถึงต้นไม้หายากและต้นไม้ยักษ์อย่างปรงเขาที่มีอายุหลายร้อยปีอีกด้วย
พักจากแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติมาที่แหล่งท่องเที่ยวมาแรงและฮิตติดลมบนไม่น้อยกว่าที่ไหนๆ คือที่ “เชียงคาน” ในอำเภอเชียงคาน เมืองเล็กๆ ริมน้ำโขงที่หลายคนหลงเสน่ห์ในความสงบของบ้านเมืองและวิถีชีวิตที่เรียบง่าย โดยเฉพาะบนถนนชายโขงซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนริมโขงหนึ่งในเอกลักษณ์สุดคลาสสิคแห่งเชียงคาน ที่วันนี้บ้านเก่าเรือนเก่าหลายหลังแปรสภาพเป็น โรงแรม เกสต์เฮาส์ และที่พักราคาเยา เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติจำนวนมาก จนหลายคนอดหวั่นไม่ได้ว่า ถ้าเมืองเชียงคานไม่ทำอะไรสักอย่างอาจเละจนกู่ไม่กลับก็เป็นได้
นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเชียงคานก็มักจะไปพลาดไปชมแก่งคุดคู้ แก่งหินขนาดใหญ่ในฝั่งลาวที่ยื่นออกมาขวางกลางลำน้ำโขงในช่วงคดโค้งที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก มีเพียงช่องน้ำแคบๆใกล้ฝั่งไทยเรือแล่นผ่าน ในช่วงเดือน ก.พ.- พ.ค.ของทุกปีที่น้ำโขงลดระดับแก่งคุดคู้จะดูสวยงามมองเห็นแก่งหินชัดเจน ส่วนยามหน้าฝนน้ำโขงไหลหลากนั้น แก่งคุดคู้จะถูกสายน้ำกลืนกินหายกลายเป็นเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ ที่พิเศษก็คือพื้นที่ริมโขงฝั่งไทยนั้นจะเกิดหาดทรายน้ำจืดกว้างไกลโค้งยาวสวยงาม แซมด้วยโขดหินในบางช่วง
หากมาเที่ยวเมืองเลยแล้วไม่พูดถึงเอกลักษณ์ของเมืองเลยอย่าง “ผีตาโขน” ของอำเภอด่านซ้ายก็คงจะไม่ได้ ผีตาโขนเป็นการละเล่นในงานประเพณีบุญหลวง ที่รวมเอางานบุญพระเวสและงานบุญบั้งไฟเข้าไว้เป็นงานบุญเดียวกัน เหตุที่มีขบวนแห่ผีตาโขนเพราะมีความเชื่อว่าเมื่อพระเจ้ากรุงสัญชัยกับพระนางผุสดีไปเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับเมือง ขบวนแห่แหนเข้าเมือง มีคนป่าหรือผีป่าที่เคยปรนนิบัติและเคารพรักพระเวสสันดรร่วมขบวนมาส่งด้วย
ความโดดเด่นของผีตาโขนอยู่ที่หน้ากากที่ทำจากโคนของก้านมะพร้าวและหวดนึ่งข้าวเหนียวนำมาเย็บติดกันแล้วเขียนหน้าตา ทำจมูกแหลมโค้งงอเหมือนผี สวมชุดแต่งกายสีฉูดฉาดบาดตา ส่วนสำคัญคือต้องมีหมากกะแหล่ง (เครื่องดนตรีรูปร่างคล้ายกระดิ่งหรือกระดึงแขวนคอวัว) และดาบไม้ถือคู่กาย ที่ปลายดาบนั้นแกะสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชายแถมทาสีแดงให้เห็นอย่างเด่นชัด แต่อย่ามองว่าเป็นเรื่องหยาบหรือลามก เพราะสิ่งเหล่านี้สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และการกำเนิดสิ่งมีชีวิต อีกทั้งจะทำให้พญาแถนพอใจ ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์
ไม่เพียงผีตาโขนเท่านั้น แต่ที่เลยยังมีอีกหนึ่งผี คือ “ผีขนน้ำ” ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวบ้านนาซ่าว อ.เชียงคาน ซึ่งจะเล่นกันระหว่างเดือนหกในงานบุญบั้งไฟประจำปี โดยชาวบ้านนาซ่าวเชื่อกันว่าผีขนน้ำเป็นวิญญาณของสัตว์จำพวกวัว ควายที่ตายไป และยังล่องลอยวนเวียนอยู่ตามที่เคยอาศัย เช่น ห้วย หนอง แม่น้ำ เมื่อชาวบ้านไปตักน้ำอาบ วิญญาณสัตว์เหล่านั้นจะตามคนเข้าหมู่บ้าน ชาวบ้านได้ยินแต่เสียงกระดึงหรือกระดิ่ง พบแต่ขนไม่เห็นตัวตน จึงเรียกว่า "ผีขนวัว ผีขนควาย" หรืออีกนัยหนึ่ง เชื่อว่าการเล่นผีขนน้ำเป็นประจำในเดือนหกเป็นการขอฝน จึงเรียกว่าผีขนน้ำ เพราะขนน้ำจากฟ้ามานั่นเอง
การแต่งกายของผีขนน้ำ ชาวบ้านจะนำไม้เนื้ออ่อนอย่างไม้งิ้ว ไม้ต้นตีนเป็ด (พญาสัตบรรณ) มาถากเป็นหน้ากาก ทำลวดลาย เป็นหน้าผี แต่งแต้มลวดลาย ให้ดูน่ากลัว เน้นการใช้โทนสีเข้ม แต่งหน้าผีออกมาอย่างไรก็ได้จะยิ้มแยกเขี้ยวแลบลิ้นปลิ้นตาไม่ว่ากัน แต่มีกฎข้อบังคับของการวาดหน้ากากว่าต้องมีลายผักแว่นกับดอกบัวเครือวาดอยู่บนหน้ากากด้วย เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งผีที่มีเอกลักษณ์และสวยงามไม่แพ้ผีตาโขนเลยทีเดียว
จังหวัดเลยยังมีพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองที่หากใครได้ไปเยือนก็ไม่ควรพลาดที่จะไปกราบไหว้ นั่นก็คือ “พระธาตุศรีสองรัก” ปูชนียสถานที่สำคัญในอำเภอด่านซ้ายที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2103 ตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยในช่วงเวลานั้นตรงกับสมัยที่พม่ากำลังเรืองอำนาจ และได้ยกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยาและกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) หลายคราว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต จึงมีไมตรีกันเพื่อร่วมกันต่อสู้กับพม่า และเพื่อเป็นที่ระลึกในไมตรีจิตครั้งนี้ ทั้งสองพระองค์ได้ทรงร่วมกันสร้างพระธาตุขึ้นเพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างกัน และยังเป็นสักขีพยานว่าจะไม่มีการสู้รบให้เลือดตกต้องแผ่นดินกันอีกต่อไป เป็นที่มาของพระธาตุศรีสองรักนั่นเอง
และด้วยเหตุนี้ พระธาตุองค์นี้จึงถือเป็นพระธาตุแห่ง “สัจจะและไมตรี” ทำให้มีการขอร้องและห้ามมิให้ใช้สีแดง (ซึ่งถือว่าเป็นสีเลือด) ในพื้นที่บริเวณพระธาตุศรีสองรัก ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ เครื่องประดับ ของใช้ หรือแม้แต่เครื่องแต่งกายของผู้ที่เข้ามาสักการะเองก็ตาม