โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
แม้ไม่มีผู้กอง“รพินทร์ ไพรวัลย์”กับ“แงซาย”ผู้ลึกลับแห่งเพชรพระอุมา มานำทาง แต่งานนี้ผมก็ได้ 2 เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามือฉมังแห่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์อย่าง“อาทิตย์ แสงจันทร์”หรือ“พี่ทิด” กับ“ไหนจ้อย แซ่เติ๋น” หรือ“พี่ตอน” มาเป็นสองผู้นำทาง นำสู่เส้นทางพิชิตยอดเขาที่ได้ชื่อว่างดงามชวนฝัน และหฤโหดไม่เป็นสองรองใครในสยามประเทศ
ยอดเขาที่ว่านั่นก็คือยอด“โมโกจู” ตำนานของนักเดินทางผู้รักความท้าทาย รุ่นแล้ว...รุ่นเล่า...
และรุ่นต่อๆไป
มอขี้แตก
โมโกจู เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า “คล้ายว่าฝนจะตก” เพราะยอดเขาแห่งนี้ส่วนใหญ่จะมีม่านเมฆแน่นหนาบัดเดี๋ยวเปิด บัดเดี๋ยวปิด ล่องลอยปกคลุม ในขณะที่ถ้าวันไหนโชคดีฟ้าเปิดก็จะสามารถมองเห็นยอดเขาโมโกจูตั้งตระหง่านได้อย่างชัดเจน เพียงแต่ว่านานๆทีถึงจะมีโอกาสได้เห็นภาพแบบนี้
ยอดเขาโมโกจู เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ฝั่งกำแพงเพชร การจะขึ้นไปพิชิตยอด ปัจจุบันทางอุทยานฯได้กำหนดเป็นเส้นทาง “เดินป่าระยะไกล” 5 วัน 4 คืน แบ่งเป็น ขาไป เดินขึ้น 3 วัน ขากลับ เดินลง 2 วัน ซึ่งทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานสุโขทัย(รับผิดชอบพื้นที่สุโขทัย กำแพงเพชร) ได้ผลักดันให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม สำหรับผู้นิยมไพร รักการเดินป่า(ไกลๆ) และบ่ยั่นต่ออุปสรรคความท้าทาย
เส้นทางสายนี้ตั้งต้นสตาร์ทกัน ณ บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ก่อนออกเดินทางพวกเราได้จัดแบ่งเสบียงที่ขนมากันเพียบ(จนต้องหยิบบางส่วนออก) กับสัมภาระส่วนใหญ่ไปให้กับ 5 ลูกหาบ แบบจัดเต็ม(ทางอุทยานฯกำหนดน้ำหนักให้ลูกหาบแบกเสบียง สัมภาระ ไว้ที่ 20 กิโลกรัมต่อคน) ส่วนของใช้ส่วนตัว น้ำดื่ม ข้าวเที่ยง ของกินเติมพลังเล็กๆน้อยๆและกล้องถ่ายรูป เป็นหน้าที่ที่นักท่องเที่ยวอย่างเราๆต้องแบกขึ้นไปเอง
งานนี้แม้จะคัดสรรสิ่งของขึ้นเขาให้เบาเบาที่สุดเลียนแบบเพลงดังของวงซิงกูล่า แต่สุดท้ายแล้วผมไม่ต่างอะไรจากนักมวยที่รีดน้ำหนักไม่ลง คือนอกจากไม่เบาแล้วยังออกไปทางหนักอีกด้วย เพราะมีกล้องถ่ายรูป 2 ตัวกับอุปกรณ์ที่หากเราไม่แบกขึ้นไปเองแล้ว แมวที่ไหนจะมาแบกหามไปให้
จากนั้นเมื่อทุกอย่างพร้อมสรรพ พี่ตอนกับพี่ทิดพาชาวคณะนักท่องเที่ยวทั้งหมด 8 ชีวิต เข้าไปรับฟังข้อมูลคร่าวๆที่เป็นประโยชน์ก่อนการเดินทาง เพื่อเตรียมพร้อม เตรียมใจ ทำใจ และสิ่งสำคัญก็คือไม่ลืมที่จะ“พกใจ” อันหาญกล้าพร้อมเผชิญหน้าฟันฝ่ากับอุปสรรคติดตัวไปด้วย
เพราะไม่ว่าเสบียง อาหาร สัมภาระ และอุปกรณ์ต่างๆจะเพียบพร้อมแค่ไหน แต่หากใจไม่พร้อม การเดินทางย่อมปราชัยไปกว่าครึ่ง
สำหรับการเดินเท้าสู่ยอดโมโกในจูทริปนี้ กำหนดให้พี่ทิดเป็นหน่วยหน้าเดินนำ(ลิ่ว)พาพวกเครื่องแรงออกเดินนำไปก่อน ส่วนพี่ตอนเป็นหน่วยหลังระวังหลังปิดท้าย คอยพาพวกเครื่องปกติย่างก้าวใส่เกียร์สโลว์ไปแบบไม่ช้าแต่สุขุม
วันแรกของการออกเดิน เราผ่านผืนป่าเกิดใหม่ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านมาก่อน ก่อนที่ทางการจะอพยพชาวบ้านออกไปในปี พ.ศ. 2525-2529 แล้วประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในปี 2530 ทางเดินป่าในช่วงนี้แม้จะเดินไม่ยากลำบาก เพราะเป็นถนนลูกรังรถขับเคลื่อน 4 ล้อวิ่งเข้าถึงได้ แต่ด้วยระยะทาง 16 กิโลเมตรจากศูนย์บริการฯสู่จุดหมายพักค้างที่แค้มป์แม่กระสา กอปรกับบนเส้นทางมี “มอขี้แตก”เป็นอุปสรรคสำคัญ มันก็ทำให้การเดินในวันแรกนี้ถูกบั่นทอนพลังไปมากโข
มอขี้แตก ฟังแค่ชื่อก็รู้สึกตะหงิดๆแล้ว ไม่รู้ใครหนอช่างคิดช่างตั้ง รู้แต่ว่ามันเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ดีแท้ เพราะมอหรือเนินแห่งนี้เป็นเนินขึ้นเขาชัน ยาวหลายกม. เดินไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ชนิดที่กว่าผมจะลากสังขารขึ้นมาถึงได้ก็เล่นเอาแทบอ้วกแตกอ้วกแตนบนเนินแห่งนี้
อย่างไรก็ดีในความสมบุกสมบันของมอขี้แตกที่เข้ามาทักทายนั้น บนเส้นทางสายนี้ยังมีของดีเบี้ยใบ้รายทางให้ได้สัมผัสกัน ไม่ว่าจะเป็น ดงทุ่งดอกหญ้างามๆ ดงมะขามป้อมที่พวกเราไล่เดินเก็บลูกใหญ่-น้อยมาขบกินเพิ่มพลังสร้างความชุ่มฉ่ำคอ สายน้ำลำธารอันชุ่มฉ่ำ นกจำนวนมากที่นอกจากจะขับขานส่งเสียงเป็นเพื่อนแล้ว บางครั้งมันยังเผลอไผลออกมาโชว์ตัวให้พวกเราได้ชื่นมื่นกัน
นอกจากนี้หากใครโชคดีได้เดินตามนักแกะรอยมือฉมังอย่างพี่ทิดเหมือนกับผม ก็จะได้ตื่นตะลึงกับร่องรอยของสัตว์ต่างๆ อาทิ รอยเท้า มูลสัตว์ ร่องรอยหากิน รอยขุดคุ้ยดิน รอยขูดขีดข่วน กลิ่นสเปรย์ ซากที่กินทิ้งไว้ทั้งบนพื้นดินและตามต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็น เก้ง กวาง หมูป่า แมวป่า หมาไน เม่น หมี กระทิง สมเสร็จ
รวมไปถึงรอย“เสือ” เจ้าพ่อแห่งผืนป่าที่มีให้พบเห็นกันตลอดทริป หลายร่องรอยของพวกมันทั้งเสือดาว เสือโคร่ง ผมเห็นแล้วอดเสียวสันหลังวาบไม่ได้ เพราะรอยที่พบยังดูสดใหม่ ชนิดที่ขี้และเยี่ยวของมันยังเปียกๆส่งกลิ่นเหม็นฉุย
ส่วนเจ้ารอยประหลาด 2-3 รอย ที่ผมเห็นแล้วเป็นต้องออกอาการตื่นเต้นปานถูกหวย พร้อมๆกับไม่ลืมที่จะลากพี่ทิดให้มาช่วยแกะรอยดูว่า มันคือรอยอะไร รอยเสือ รอยหมี หรือรอยไหม???
“มันเป็นรอยรองเท้าของลูกหาบที่เดินแซงเราไปนะครับ” พี่ทิดตอบเนิบๆด้วยสีหน้าตายด้าน เล่นเอาผมหน้าแตกปานถูกบ้องไม้ไผ่จากป่าไผ่ข้างทางฟาดหน้าชนิดหมอไม่รับเย็บ
แม่กระสา
บนรอยทางรอยเท้าที่ก้าวย่ำผ่าน ผ่านไปพร้อมๆกับเวลาที่ล่วงเลยปาเข้ามากว่า 6 ชั่วโมง คณะของเราหลังเดินๆพักๆ(+หยุดกินข้าวเที่ยง) สุดท้ายก็มาถึงยังจุดสิ้นสุดของเส้นทางรถยนต์และเป็นจุดสิ้นสุดของการเดินเท้าในวันแรกที่“แคมป์แม่กระสา”แบบคนเหน็ดเหนื่อย แต่ยังไม่หมดสภาพในเวลาประมาณ บ่าย 3 โมงกว่าๆ ซึ่งพี่ทิดบอกว่าทำเวลาได้ดีมาก
แต่ประทานโทษ งานนี้ผมไม่สามารถคุยโม้แบบสมรักษ์ได้ เพราะพี่ๆลูกหาบที่ไหนจะแบกของหนักอึ้ง ไหนจะเริ่มออกเดินหลังพวกเราตั้งนานนั้น มาถึงที่แคมป์นานแล้ว แถมยังจัดแจงกางเต็นท์ทำอาหารไว้รอท่าเสร็จสรรพ ชนิดที่พวกเราพอมาถึง สามารถนั่งล้อมวงหม่ำอาหารแล้วมุดเต็นท์เข้านอนได้เลย
อา...แต่ถ้าทำเช่นนั้น ถือว่าเป็นการพลาดของดีที่อยู่ริมแคมป์ไปอย่างร้ายกาจ เพราะที่นี่มี “ลำธารแม่กระสา”อันใสแจ๋วให้ลงไปแช่ตัว ทำสปาธรรมชาติ เดินนวดเท้ากับก้อนหินพื้นทราย และลงเล่นน้ำอย่างสะใจในความสดชื่นชุ่มฉ่ำที่ไม่มีให้สัมผัสในน้ำอ่างแถวรัชดา ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าในความเย็นเจี๊ยบ มันกลับช่วยลดทอนความปวดเมื่อยเหนื่อยล้าที่สะสมมาทั้งวันได้เป็นอย่างดี
เสร็จสรรพอิ่มสมอารมณ์หมายจากการอาบน้ำเย็นฉ่ำ ผมขึ้นมาอิ่มท้องกันต่อกับมื้อค่ำรอบกองไฟใน 3-4 เมนูง่ายๆแต่ชวนอร่อย
ค่ำนี้มีเมนูพิเศษเป็นหนูนาปิ้งไฟร้อนๆ ที่ผมบรรจงเลือกซื้อหนูนาย่างแห้งมาเป็นพิเศษจากในตลาดลาดยาว(นครสวรรค์) ก่อนนำมาอุ่นไฟร้อนๆอีกครั้ง หม่ำคู่กับยาแก้หนาว 28 ดีกรี อร่อยนักแล กับเมนูยอดผักกูดสดๆที่เก็บจากริมลำธารผัดน้ำมันหอย ซึ่งนับจากนี้เราจะต้องหม่ำเจ้าผักกูดนี้เป็นเมนูหลักไปอีกหลายมื้อจนถึงวันกลับ
หลังอิ่มข้าว พวกเรากับทีมนำทางและคณะลูกหาบทำความรู้จักกันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ก่อนล้อมวงสนทนากันด้วยเรื่องเล่ารอบกองไฟ แล้วจึงพร้อมใจกันมุดเต็นท์หนีหนาวเข้านอน ท่ามกลางบรรยากาศรอบข้างที่เต็มไปด้วยเสียงหรีดหริ่งเรไร และเสียงอะไรต่อมิอะไรในผืนป่าที่ผมไม่รู้ ดังประสานก้องระงมดุจดังออร์เคสตร้าป่าวงใหญ่ที่บรรเลงรับขับกล่อมอาคันตุกะต่างสายพันธุ์ ผู้เข้ามาเยี่ยมเยือนในผืนป่าของพวกเขาให้เข้านอนหลับฝันสู่นิทราในค่ำคืนที่มีราตรีประดับดาวระยิบระยับ
แม่เรวา
วันที่สองของทริป วัยรุ่นแถวบ้านผมเรียกว่า“โคตรชิลล์” เพราะจากแคมป์แม่กระสาไปยังจุดพักแรมที่แคมป์แม่เรวานั้น ห่างกันแค่ 4 กม. เป็นเส้นทางเดินเท้าสบายๆไม่ต้องขึ้นเนินสูงชันเหมือนกับมอขี้แตก ส่วนใหญ่เป็นป่าไผ่ผสมป่าเกิดใหม่เหมือนในวันแรก เราจึงเดินทางมาถึงยังจุดหมายได้ในเวลาอันรวดเร็วเพียงแค่ 1 ชั่วโมงกว่าๆ
จากนั้นหลังตั้งแคมป์ หม่ำมื้อเที่ยง พี่ทิดกับพี่ตอนพาลุยป่ามุ่งหน้าสู่น้ำตกแม่เรวาหรือแม่รีวาที่ใช้เวลาเดินเท้าสู่ตัวน้ำตก ไป-กลับประมาณ 3 ชั่วโมง
น้ำตกแม่เรวา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ต้นน้ำของคลองแม่เรวาที่ไหลลงไปเบื้องล่าง(คลองแม่เรวาเป็นต้นน้ำของแม่น้ำวง) และไหลผ่านไปยังบริเวณแคมป์แม่เรวาที่พัก ให้พวกเราได้ใช้อาบ ดื่ม กิน ประกอบอาหาร น้ำตกแม่เรวา มี 5 ชั้น มีความสูงร่วม 100 เมตร ไหลเป็นสายขาวยาวไขว้สลับเป็นรูปตัว S ตกลงมายังแอ่งกว้างขวางที่เบื้องล่าง ซึ่งพี่ตอนลึกเอาเรื่องไม่สมควรที่จะกระโดดลงไปเล่นน้ำ แต่อย่างว่าแหละ สายน้ำต่อให้ลึกแค่ไหนก็ไม่ลึกเท่าจิตใจมนุษย์ ที่มันช่างลึกล้ำแสนกำหนด
วันนั้นคณะเราถ่ายรูป ชื่นชมน้ำตกกันให้ตัวได้เปียกบ้างพอเหม็นปากเหม็นคอ ก่อนเดินทางกลับสู่ที่พักแคมป์แม่เรวา พักผ่อนเอาแรง เพื่อเตรียมลุยป่าแบบจัดหนักกันในวันรุ่งขึ้น ซึ่งในวันที่สามนี้พวกเรารีบทำเวลากันตั้งแต่เช้าตรู่เพราะเส้นทางของเป็นของจริงที่ธรรมชาติจัดโหดไว้ให้ โดยหลังกินข้าวเช้าเสร็จ พี่ทิดเดินแบกเป้มาบอกว่า “วันนี้ค่อยๆไป ไม่เร่ง ไม่รีบ ไปเรื่อยๆ”
แต่ประทานโทษ!?! พี่แกเดินดุ่ยๆไปโน่นแล้ว
เส้นทางในวันนี้แม้จะมีระยะทางจิ๊บๆแค่ 8 กิโลเมตร แต่เป็น 8 กิโลนรก ที่มีความชันเสมอต้นเสมอปลาย ตั้งแต่ 45 องศา ไปถึง 60-70 องศา ซึ่งหลังพี่ลูกหาบต่อให้เราเดินนำหน้าไปก่อน สักพักพวกเขาก็ค่อยๆเดินแถวแซงทิ้งไปแบบไม่เห็นฝุ่น ทิ้งพวกเราให้เป็นลูกหอบแฮ่กมองตามตาละห้อย ก่อนกัดฟันเดินหน้าขึ้นเขาต่อไป
ทางเดินป่าในวันนี้ เมื่อยิ่งเดินขึ้นสูง ผืนป่าก็ยิ่งเปลี่ยนสภาพไป โดยช่วงแรกค่อยๆเปลี่ยนจากป่าไผ่เข้าสู่ป่าเบญจพรรณ จากเมื่อเดินสูงขึ้นไปอีก ป่าก็ได้เปลี่ยนสภาพอีกครั้งเป็นป่าดิบเขาหรือ “ป่าเมฆ” ที่ตามลำต้น กิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ๆจะถูกปกคลุมไปด้วยไลเคน มอส ปานประหนึ่งพวกมันกำลังสวมเสื้อกันหนาวสีสดใสเขียวครึ้ม
ณ บริเวณ“เนิน 1700” ที่ตั้งชื่อตามระดับความสูง ท้องฟ้าเปิดโล่ง ทำให้ผมสามารถมองขึ้นไปเห็นเทือกเขาโมโกจูทอดตัวตั้งตระหง่าน เผยยอดเด่นมองเห็นลิบๆดูใกล้ตา ไกลตีน ที่เหมือนเป็นดังแรงฮึดให้เรากัดฟันออกเดินต่อไปอีกครั้ง
สำหรับการเดินทางในวันนี้และตลอดทั้งทริป ผมกับเพื่อนๆมีทริคง่ายๆในการเดินป่าว่า “เหนื่อยเท่าไหร่ไม่ว่า ขอเอาฮาไว้ก่อน” ซึ่งมันได้ผลชะงัดนัก เพราะเมื่อเราเดินไป ปล่อยมุขไป ฮาไป แป้กไป สุดท้ายความพยายามก็พาพวกเราเดินไต่ก้าวข้ามเส้นทางนรก มาสู่ปากประตูสวรรค์ที่ “แคมป์ตีนดอย”จุดพักในค่ำคืนนี้ ที่อยู่ห่างจากยอดเขาโมโกจูแค่ 1 กิโลเมตร
หลังจัดแจงเรื่องที่พัก เติมพลังด้วยของกินเล่นเล็กๆน้อยๆ พี่ทิดออกนำทางอีกครั้งพาสู่ยอดเขาโมโกจู เป้าหมายที่ทุกคนเฝ้ารอและดั้นด้นเดินทางฟันฝ่าความยากลำบากมาก็เพื่อสิ่งนี้
หินเรือใบ
ราวๆครึ่งชั่วโมงจากแคมป์ตีนดอย ผมเดินตามพี่ทิดขึ้นมาเป็นผู้พิชิตยอดโมโกจูตามหัวใจปรารถนา ในช่วงเย็นย่ำของวันที่ 3 เพื่อเฝ้ารอชมดวงตะวันลับฟ้าบนยอดแห่งนี้
ยอดเขาโมโกจู ตั้งอยู่บนบนระดับความสูง 1,964 เมตร จากระดับน้ำทะเล บนนี้ถือเป็นจุดชมวิวชั้นเยี่ยม สามารถมองลงไปเห็นวิวทิวทัศน์ได้รอบตัว 360 องศา พร้อมๆกับภาพอันชวนตื่นตาของทิวเขาน้อยใหญ่อันกว้างไกล มองเห็นเป็นแนวชั้นไล่มิติเฉดจากเข้มไปสู่จาง โดยมีวิวใกล้ตัวเป็นผืนป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์สุดๆ ไม่ริ้วรอยเว้าแหว่งของการตัดไม้ทำลายป่า ดูคล้ายแปลงบล็อคโคลี่ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์มาให้ชม แต่นำไปผัดน้ำมันกินไม่ได้
ของดีบนยอดโมโกจูยังไม่หมดเท่านี้ บนนี้ยังมีของดีกว่าเป็น“หินเรือใบ” ก้อนหินประหลาด เป็นเหลี่ยมมียอดมุมแหลมยื่นแยงแทงฟ้า กลายเป็นสัญลักษณ์อมตะของยอดเขาแห่งนี้ ที่ใครไปใครมาเป็นต้องมาชักภาพถ่ายรูปคู่กับยอดเขาแห่งนี้ ทั้งฝั่งด้านตะวันออกและตะวันตก ซึ่งถ้าไม่มีหินเรือใบก้อนนี้ ยอดโมโกจูจะดูด้อยเสน่ห์ลงไปมากโขเลยทีเดียว
สำหรับเย็นวันนั้น ท้องฟ้าดูแปลกตาด้วยชั้นของเมฆที่ลอยเรียบเนี๊ยบนิ่งเป็นเส้นตรงแหน่ว แบ่งท้องฟ้าออกเป็น 2 ซีก 2 ส่วน อย่างชัดเจน
ส่วนล่างเป็นชั้นของเมฆหมอก ส่วนบนเป็นชั้นของท้องฟ้า สีฟ้าสด ใสแจ๋ว ปราศจากริ้วรอยราคี ซึ่งเห็นแล้วชวนให้อดคิดไม่ได้ว่า หรือนี่เรากำลังยืนอยู่บนรอยต่อของสวรรค์ชั้นฟ้า ที่สูงเหนือขึ้นเป็นชั้นของเทพ เทวดา นางฟ้า ส่วนต่ำลงไปเป็นชั้นของมนุษย์ที่ผมเพิ่งเดินขึ้นมาหยกๆ และกำลังจะเดินกลับลงไปในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า หลังดวงตะวันสีแดงจ้าๆค่อยลาลับมุดหายเข้าไปในเส้นขอบเมฆ ทิ้งราตรีบนยอดโมโกจูให้กลับสู่ความมืดมิดอีกครั้ง
หมอกไหล
อากาศบนแคมป์ตีนดอย แม้หนาวระยับจับจิตเสียดแทงเข้าไปถึงตับ แต่คืนนั้นผมกลับใส่เสื้อแขนสั้นตัวเดียวมุดเต็นท์เข้านอนอย่างไม่สะทกสะท้าน ชนิดที่เมื่อกลับมาบอกใครๆ เป็นต้องได้ยินเสียงอุทาน ถามกลับอย่างไม่เชื่อมั่นว่า หนาวขนาดนั้น “พี่,มึง,คุณ ทำได้ไง?อ่ะ”
ครับ สำหรับเรื่องนี้ ผมไม่ได้มีดีอะไร ไม่ได้ฝึกพลังลมร้อน หรือพลังลมปราณไฟสวาท หากแต่ในค่ำคืนอันหนาวเหน็บสุดขั้วอย่างนั้น ก่อนเข้านอน ผมเพียงแค่เลือกใส่เสื้อแขนสั้นตัวเดียว ส่วนที่เหลือผมใส่เสื้อแขนยาวหนาๆ 2 ตัว และเสื้อกันหนาวอีก 1 ตัว เท่านั้นเอง ซึ่งมันได้ผลชะงัดนัก สามารถกันหนาวได้เป็นอย่างดี ช่วยให้หลับสบายรวดเร็ว มาตื่นอีกทีราวตี 4 กว่าๆเมื่อพี่ตอนมาปลุกให้ขึ้นไปบนยอดโมโกจูอีกครั้งเพื่อรอชมพระอาทิตย์ขึ้น
ยอดโมโกจู ยังคงมีหินเรือใบตั้งเด่นตระหง่านอยู่เหมือนเดิม แถมทองฟ้า ม่านเมฆยังคงเส้นตรงแบ่งเป็น 2 ส่วนไม่ต่างไปจากเย็นวันวาน แต่ที่ไม่เหมือนก็คือ มุมมองของหินเรือใบในวันนี้ของผมเปลี่ยนไป จากเมื่อวานที่มุ่งมองในมุมพระอาทิตย์ตกวันนี้เราเปลี่ยนมามองในมุมพระอาทิตย์ขึ้นในให้อารมณ์ ความสวยงาม และมนต์เสน่ห์แตกต่างออกไปอีกแบบ
เช้าวันนั้น แม้จะไม่มีภาพของท้องทะเลหมอกหนาแน่นทึบให้ชม ไม่มีภาพของดวงตะวันแย้มเบิกฟ้ากลมโตเป็นไข่แดงให้ชม แต่ผมได้เห็นภาพสายหมอกขาวโพลนจากฝั่งตะวันออก ค่อยๆไหลเป็นสายยาวผ่านเทือกเขายอดหนึ่งมายังฝั่งตะวันตกบนยอดโมโกจูอย่างสวยงามเพริศแพร้ว
และนี่ก็คืออีกหนึ่งเสน่ห์บนยอดโมโกจูที่หาดูที่ไหนไม่ได้ง่ายๆ
จากนั้นเมื่อตะวันเริ่มสายโด่ง พวกเราเดินกลับลงจากยอดเขา แวะกินข้าวเช้าเก็บสัมภาระที่แคมป์ตีนดอย ส่งใจล่ำลายอดโมโกจู แล้วถือคติขึ้นมาทางไหน กลับลงไปทางนั้น ค่อยๆเดินกลับลงสู่จุดเริ่มต้นด้วยระยะเวลา 2 วัน 1 คืน
สำหรับเส้นทางขาลงที่ใครคิดว่าเดินสบายนั้น มันหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะด้วยความอ่อนล้าจาก 3 วันกว่าที่เดินขึ้นมา บวกกับข้อเข่า ขาที่เริ่ม ตึง พัง งอข้อพับไม่ได้ มันนับเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินลงเป็นอย่างยิ่ง
แต่กระนั้น ถ้าให้เลือกระหว่างขาขึ้นกับขาลง ผมขอเลือกขาไหนก็ได้ที่เป็นทางเดินราบๆสบายๆ ซึ่งพบได้ไม่มากในเส้นทางพิชิตโมโกจู
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็น เส้นทางขาขึ้น ขาลง หรือขาราบเดินสบาย ผืนป่าก็ได้ให้บทเรียนกับเราว่า ไม่ควรประมาทด้วยประการทั้งปวง จงค่อยๆเดินขึ้นแบบไม่ฮึกเหิม ค่อยๆเดินลงด้วยความระมัดระวัง และก้าวเดินในเส้นทางราบอย่างคนมีสติ ตาคอยสอดส่องดูสิ่งละอันพันละน้อยรอบข้าง หูคอยสดับรับฟังสรรพสำเนียงเสียงจากธรรมชาติ ซึ่งหลังชาวคณะค่อยๆลง ค่อยๆเดิน ไปพร้อมๆกับ ค่อยๆฮา สุดท้ายพวกเราก็ฟันฝ่าความเหน็ดเหนื่อย เจ็บปวด เมื่อยล้า กลับมาสู่ยังจุดเริ่มต้นที่ศูนย์บริการฯอีกครั้ง ซึ่งตลอด 5 วัน 4 คืน ที่เข้าไปผจญป่าไพรในเส้นทางพิชิตยอดโมโกจูนั้น มันเหมือนกับว่าผมได้หลุดเข้ามาอยู่ในโลกอีกมิติหนึ่ง
โลกที่ดูเหมือนขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกและปราศจากซึ่งคลื่นความถี่ เทคโนโลยี แสงสีปรุงแต่ง
...ทว่าโลกในมิตินี้กลับมีตัวตนและจิตใจที่ถูกทอดทิ้งหลงลืมมานานให้เราได้เรียนรู้ทำความคุ้นเคยกับมันอีกครั้งหนึ่ง...
*****************************************
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ มีพื้นที่ 558,750 ไร่ ครอบคลุม 2 จังหวัดคือ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ภายในอุทยานฯนอกจากยอดเขาโมโกจูแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ อาทิ น้ำตกแม่กระสา น้ำตกแม่กี จุดชมวิวมออีหืด แก่งลานนกยูง กิจกรรมล่องแก่ง ปั่นจักรยาน และช่องเย็น สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี
การเดินทาง จากกรุงเทพ ฯ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ ถึงแยกโค้งวิไล ( กม.411+500) เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทาง 1242 (ผ่านอำเภอปางศิลาทอง) ประมาณ 40 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าเส้นทาง 1072 ไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร จะพบสี่แยกคลองลาน เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทาง 1117 ไปอีกประมาณ 19 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยาน ฯ
จากจังหวัดกำแพงเพชร ตามทางหลวงล่องสู่จังหวัดนครสวรรค์ กลับรถที่แยกคลองแม่ลาย เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทาง 1117 ไปอีกประมาณ 65 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยาน ฯ
สำหรับการขึ้นไปพิชิตยอดเขาโมโกจู ทางอุทยานฯได้จัดกิจกรรมเดินป่าระยะไกล 5 วัน 4 คืน ขึ้นในช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. ของทุกฤดูกาลท่องเที่ยว โดยกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ที่ 3 กลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 12 คน และไม่ต่ำกว่า 5 คน และมีอัตราค่าลูกหาบราคา 350 บาท/คน/วัน (ลูกหาบแบกสัมภาระไม่เกิน 20 กิโลกรัม/คน) ซึ่งผู้ที่ขึ้นไปพิชิตยอดเขาโมโกจูจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางอุทยานฯ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โทร. 0-5576-6024 หรือดูที่www.dnp.go.th
ส่วนเรื่องที่นักท่องเที่ยวต้องระวังเป็นพิเศษก็คือเรื่องของตัวคุ่นและเห็บลมที่จะพบมากในวันที่ 3-4 ดังนั้นจึงควรเตรียมยาทา สเปรย์กันแมลงไปป้องกัน(สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง) และควรสวมใส่เสื้อผ้าแขนขายาวปกคลุมให้มิดชิด
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ที่พัก ในจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร เชื่อมโยงกับอุทยานฯแม่วงก์ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานสุโขทัย(รับผิดชอบพื้นที่สุโขทัย,กำแพงเพชร) โทร. 0-5561-6228-9, 0-5561-6366
แม้ไม่มีผู้กอง“รพินทร์ ไพรวัลย์”กับ“แงซาย”ผู้ลึกลับแห่งเพชรพระอุมา มานำทาง แต่งานนี้ผมก็ได้ 2 เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามือฉมังแห่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์อย่าง“อาทิตย์ แสงจันทร์”หรือ“พี่ทิด” กับ“ไหนจ้อย แซ่เติ๋น” หรือ“พี่ตอน” มาเป็นสองผู้นำทาง นำสู่เส้นทางพิชิตยอดเขาที่ได้ชื่อว่างดงามชวนฝัน และหฤโหดไม่เป็นสองรองใครในสยามประเทศ
ยอดเขาที่ว่านั่นก็คือยอด“โมโกจู” ตำนานของนักเดินทางผู้รักความท้าทาย รุ่นแล้ว...รุ่นเล่า...
และรุ่นต่อๆไป
มอขี้แตก
โมโกจู เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า “คล้ายว่าฝนจะตก” เพราะยอดเขาแห่งนี้ส่วนใหญ่จะมีม่านเมฆแน่นหนาบัดเดี๋ยวเปิด บัดเดี๋ยวปิด ล่องลอยปกคลุม ในขณะที่ถ้าวันไหนโชคดีฟ้าเปิดก็จะสามารถมองเห็นยอดเขาโมโกจูตั้งตระหง่านได้อย่างชัดเจน เพียงแต่ว่านานๆทีถึงจะมีโอกาสได้เห็นภาพแบบนี้
ยอดเขาโมโกจู เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ฝั่งกำแพงเพชร การจะขึ้นไปพิชิตยอด ปัจจุบันทางอุทยานฯได้กำหนดเป็นเส้นทาง “เดินป่าระยะไกล” 5 วัน 4 คืน แบ่งเป็น ขาไป เดินขึ้น 3 วัน ขากลับ เดินลง 2 วัน ซึ่งทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานสุโขทัย(รับผิดชอบพื้นที่สุโขทัย กำแพงเพชร) ได้ผลักดันให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม สำหรับผู้นิยมไพร รักการเดินป่า(ไกลๆ) และบ่ยั่นต่ออุปสรรคความท้าทาย
เส้นทางสายนี้ตั้งต้นสตาร์ทกัน ณ บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ก่อนออกเดินทางพวกเราได้จัดแบ่งเสบียงที่ขนมากันเพียบ(จนต้องหยิบบางส่วนออก) กับสัมภาระส่วนใหญ่ไปให้กับ 5 ลูกหาบ แบบจัดเต็ม(ทางอุทยานฯกำหนดน้ำหนักให้ลูกหาบแบกเสบียง สัมภาระ ไว้ที่ 20 กิโลกรัมต่อคน) ส่วนของใช้ส่วนตัว น้ำดื่ม ข้าวเที่ยง ของกินเติมพลังเล็กๆน้อยๆและกล้องถ่ายรูป เป็นหน้าที่ที่นักท่องเที่ยวอย่างเราๆต้องแบกขึ้นไปเอง
งานนี้แม้จะคัดสรรสิ่งของขึ้นเขาให้เบาเบาที่สุดเลียนแบบเพลงดังของวงซิงกูล่า แต่สุดท้ายแล้วผมไม่ต่างอะไรจากนักมวยที่รีดน้ำหนักไม่ลง คือนอกจากไม่เบาแล้วยังออกไปทางหนักอีกด้วย เพราะมีกล้องถ่ายรูป 2 ตัวกับอุปกรณ์ที่หากเราไม่แบกขึ้นไปเองแล้ว แมวที่ไหนจะมาแบกหามไปให้
จากนั้นเมื่อทุกอย่างพร้อมสรรพ พี่ตอนกับพี่ทิดพาชาวคณะนักท่องเที่ยวทั้งหมด 8 ชีวิต เข้าไปรับฟังข้อมูลคร่าวๆที่เป็นประโยชน์ก่อนการเดินทาง เพื่อเตรียมพร้อม เตรียมใจ ทำใจ และสิ่งสำคัญก็คือไม่ลืมที่จะ“พกใจ” อันหาญกล้าพร้อมเผชิญหน้าฟันฝ่ากับอุปสรรคติดตัวไปด้วย
เพราะไม่ว่าเสบียง อาหาร สัมภาระ และอุปกรณ์ต่างๆจะเพียบพร้อมแค่ไหน แต่หากใจไม่พร้อม การเดินทางย่อมปราชัยไปกว่าครึ่ง
สำหรับการเดินเท้าสู่ยอดโมโกในจูทริปนี้ กำหนดให้พี่ทิดเป็นหน่วยหน้าเดินนำ(ลิ่ว)พาพวกเครื่องแรงออกเดินนำไปก่อน ส่วนพี่ตอนเป็นหน่วยหลังระวังหลังปิดท้าย คอยพาพวกเครื่องปกติย่างก้าวใส่เกียร์สโลว์ไปแบบไม่ช้าแต่สุขุม
วันแรกของการออกเดิน เราผ่านผืนป่าเกิดใหม่ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านมาก่อน ก่อนที่ทางการจะอพยพชาวบ้านออกไปในปี พ.ศ. 2525-2529 แล้วประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในปี 2530 ทางเดินป่าในช่วงนี้แม้จะเดินไม่ยากลำบาก เพราะเป็นถนนลูกรังรถขับเคลื่อน 4 ล้อวิ่งเข้าถึงได้ แต่ด้วยระยะทาง 16 กิโลเมตรจากศูนย์บริการฯสู่จุดหมายพักค้างที่แค้มป์แม่กระสา กอปรกับบนเส้นทางมี “มอขี้แตก”เป็นอุปสรรคสำคัญ มันก็ทำให้การเดินในวันแรกนี้ถูกบั่นทอนพลังไปมากโข
มอขี้แตก ฟังแค่ชื่อก็รู้สึกตะหงิดๆแล้ว ไม่รู้ใครหนอช่างคิดช่างตั้ง รู้แต่ว่ามันเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ดีแท้ เพราะมอหรือเนินแห่งนี้เป็นเนินขึ้นเขาชัน ยาวหลายกม. เดินไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ชนิดที่กว่าผมจะลากสังขารขึ้นมาถึงได้ก็เล่นเอาแทบอ้วกแตกอ้วกแตนบนเนินแห่งนี้
อย่างไรก็ดีในความสมบุกสมบันของมอขี้แตกที่เข้ามาทักทายนั้น บนเส้นทางสายนี้ยังมีของดีเบี้ยใบ้รายทางให้ได้สัมผัสกัน ไม่ว่าจะเป็น ดงทุ่งดอกหญ้างามๆ ดงมะขามป้อมที่พวกเราไล่เดินเก็บลูกใหญ่-น้อยมาขบกินเพิ่มพลังสร้างความชุ่มฉ่ำคอ สายน้ำลำธารอันชุ่มฉ่ำ นกจำนวนมากที่นอกจากจะขับขานส่งเสียงเป็นเพื่อนแล้ว บางครั้งมันยังเผลอไผลออกมาโชว์ตัวให้พวกเราได้ชื่นมื่นกัน
นอกจากนี้หากใครโชคดีได้เดินตามนักแกะรอยมือฉมังอย่างพี่ทิดเหมือนกับผม ก็จะได้ตื่นตะลึงกับร่องรอยของสัตว์ต่างๆ อาทิ รอยเท้า มูลสัตว์ ร่องรอยหากิน รอยขุดคุ้ยดิน รอยขูดขีดข่วน กลิ่นสเปรย์ ซากที่กินทิ้งไว้ทั้งบนพื้นดินและตามต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็น เก้ง กวาง หมูป่า แมวป่า หมาไน เม่น หมี กระทิง สมเสร็จ
รวมไปถึงรอย“เสือ” เจ้าพ่อแห่งผืนป่าที่มีให้พบเห็นกันตลอดทริป หลายร่องรอยของพวกมันทั้งเสือดาว เสือโคร่ง ผมเห็นแล้วอดเสียวสันหลังวาบไม่ได้ เพราะรอยที่พบยังดูสดใหม่ ชนิดที่ขี้และเยี่ยวของมันยังเปียกๆส่งกลิ่นเหม็นฉุย
ส่วนเจ้ารอยประหลาด 2-3 รอย ที่ผมเห็นแล้วเป็นต้องออกอาการตื่นเต้นปานถูกหวย พร้อมๆกับไม่ลืมที่จะลากพี่ทิดให้มาช่วยแกะรอยดูว่า มันคือรอยอะไร รอยเสือ รอยหมี หรือรอยไหม???
“มันเป็นรอยรองเท้าของลูกหาบที่เดินแซงเราไปนะครับ” พี่ทิดตอบเนิบๆด้วยสีหน้าตายด้าน เล่นเอาผมหน้าแตกปานถูกบ้องไม้ไผ่จากป่าไผ่ข้างทางฟาดหน้าชนิดหมอไม่รับเย็บ
แม่กระสา
บนรอยทางรอยเท้าที่ก้าวย่ำผ่าน ผ่านไปพร้อมๆกับเวลาที่ล่วงเลยปาเข้ามากว่า 6 ชั่วโมง คณะของเราหลังเดินๆพักๆ(+หยุดกินข้าวเที่ยง) สุดท้ายก็มาถึงยังจุดสิ้นสุดของเส้นทางรถยนต์และเป็นจุดสิ้นสุดของการเดินเท้าในวันแรกที่“แคมป์แม่กระสา”แบบคนเหน็ดเหนื่อย แต่ยังไม่หมดสภาพในเวลาประมาณ บ่าย 3 โมงกว่าๆ ซึ่งพี่ทิดบอกว่าทำเวลาได้ดีมาก
แต่ประทานโทษ งานนี้ผมไม่สามารถคุยโม้แบบสมรักษ์ได้ เพราะพี่ๆลูกหาบที่ไหนจะแบกของหนักอึ้ง ไหนจะเริ่มออกเดินหลังพวกเราตั้งนานนั้น มาถึงที่แคมป์นานแล้ว แถมยังจัดแจงกางเต็นท์ทำอาหารไว้รอท่าเสร็จสรรพ ชนิดที่พวกเราพอมาถึง สามารถนั่งล้อมวงหม่ำอาหารแล้วมุดเต็นท์เข้านอนได้เลย
อา...แต่ถ้าทำเช่นนั้น ถือว่าเป็นการพลาดของดีที่อยู่ริมแคมป์ไปอย่างร้ายกาจ เพราะที่นี่มี “ลำธารแม่กระสา”อันใสแจ๋วให้ลงไปแช่ตัว ทำสปาธรรมชาติ เดินนวดเท้ากับก้อนหินพื้นทราย และลงเล่นน้ำอย่างสะใจในความสดชื่นชุ่มฉ่ำที่ไม่มีให้สัมผัสในน้ำอ่างแถวรัชดา ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าในความเย็นเจี๊ยบ มันกลับช่วยลดทอนความปวดเมื่อยเหนื่อยล้าที่สะสมมาทั้งวันได้เป็นอย่างดี
เสร็จสรรพอิ่มสมอารมณ์หมายจากการอาบน้ำเย็นฉ่ำ ผมขึ้นมาอิ่มท้องกันต่อกับมื้อค่ำรอบกองไฟใน 3-4 เมนูง่ายๆแต่ชวนอร่อย
ค่ำนี้มีเมนูพิเศษเป็นหนูนาปิ้งไฟร้อนๆ ที่ผมบรรจงเลือกซื้อหนูนาย่างแห้งมาเป็นพิเศษจากในตลาดลาดยาว(นครสวรรค์) ก่อนนำมาอุ่นไฟร้อนๆอีกครั้ง หม่ำคู่กับยาแก้หนาว 28 ดีกรี อร่อยนักแล กับเมนูยอดผักกูดสดๆที่เก็บจากริมลำธารผัดน้ำมันหอย ซึ่งนับจากนี้เราจะต้องหม่ำเจ้าผักกูดนี้เป็นเมนูหลักไปอีกหลายมื้อจนถึงวันกลับ
หลังอิ่มข้าว พวกเรากับทีมนำทางและคณะลูกหาบทำความรู้จักกันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ก่อนล้อมวงสนทนากันด้วยเรื่องเล่ารอบกองไฟ แล้วจึงพร้อมใจกันมุดเต็นท์หนีหนาวเข้านอน ท่ามกลางบรรยากาศรอบข้างที่เต็มไปด้วยเสียงหรีดหริ่งเรไร และเสียงอะไรต่อมิอะไรในผืนป่าที่ผมไม่รู้ ดังประสานก้องระงมดุจดังออร์เคสตร้าป่าวงใหญ่ที่บรรเลงรับขับกล่อมอาคันตุกะต่างสายพันธุ์ ผู้เข้ามาเยี่ยมเยือนในผืนป่าของพวกเขาให้เข้านอนหลับฝันสู่นิทราในค่ำคืนที่มีราตรีประดับดาวระยิบระยับ
แม่เรวา
วันที่สองของทริป วัยรุ่นแถวบ้านผมเรียกว่า“โคตรชิลล์” เพราะจากแคมป์แม่กระสาไปยังจุดพักแรมที่แคมป์แม่เรวานั้น ห่างกันแค่ 4 กม. เป็นเส้นทางเดินเท้าสบายๆไม่ต้องขึ้นเนินสูงชันเหมือนกับมอขี้แตก ส่วนใหญ่เป็นป่าไผ่ผสมป่าเกิดใหม่เหมือนในวันแรก เราจึงเดินทางมาถึงยังจุดหมายได้ในเวลาอันรวดเร็วเพียงแค่ 1 ชั่วโมงกว่าๆ
จากนั้นหลังตั้งแคมป์ หม่ำมื้อเที่ยง พี่ทิดกับพี่ตอนพาลุยป่ามุ่งหน้าสู่น้ำตกแม่เรวาหรือแม่รีวาที่ใช้เวลาเดินเท้าสู่ตัวน้ำตก ไป-กลับประมาณ 3 ชั่วโมง
น้ำตกแม่เรวา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ต้นน้ำของคลองแม่เรวาที่ไหลลงไปเบื้องล่าง(คลองแม่เรวาเป็นต้นน้ำของแม่น้ำวง) และไหลผ่านไปยังบริเวณแคมป์แม่เรวาที่พัก ให้พวกเราได้ใช้อาบ ดื่ม กิน ประกอบอาหาร น้ำตกแม่เรวา มี 5 ชั้น มีความสูงร่วม 100 เมตร ไหลเป็นสายขาวยาวไขว้สลับเป็นรูปตัว S ตกลงมายังแอ่งกว้างขวางที่เบื้องล่าง ซึ่งพี่ตอนลึกเอาเรื่องไม่สมควรที่จะกระโดดลงไปเล่นน้ำ แต่อย่างว่าแหละ สายน้ำต่อให้ลึกแค่ไหนก็ไม่ลึกเท่าจิตใจมนุษย์ ที่มันช่างลึกล้ำแสนกำหนด
วันนั้นคณะเราถ่ายรูป ชื่นชมน้ำตกกันให้ตัวได้เปียกบ้างพอเหม็นปากเหม็นคอ ก่อนเดินทางกลับสู่ที่พักแคมป์แม่เรวา พักผ่อนเอาแรง เพื่อเตรียมลุยป่าแบบจัดหนักกันในวันรุ่งขึ้น ซึ่งในวันที่สามนี้พวกเรารีบทำเวลากันตั้งแต่เช้าตรู่เพราะเส้นทางของเป็นของจริงที่ธรรมชาติจัดโหดไว้ให้ โดยหลังกินข้าวเช้าเสร็จ พี่ทิดเดินแบกเป้มาบอกว่า “วันนี้ค่อยๆไป ไม่เร่ง ไม่รีบ ไปเรื่อยๆ”
แต่ประทานโทษ!?! พี่แกเดินดุ่ยๆไปโน่นแล้ว
เส้นทางในวันนี้แม้จะมีระยะทางจิ๊บๆแค่ 8 กิโลเมตร แต่เป็น 8 กิโลนรก ที่มีความชันเสมอต้นเสมอปลาย ตั้งแต่ 45 องศา ไปถึง 60-70 องศา ซึ่งหลังพี่ลูกหาบต่อให้เราเดินนำหน้าไปก่อน สักพักพวกเขาก็ค่อยๆเดินแถวแซงทิ้งไปแบบไม่เห็นฝุ่น ทิ้งพวกเราให้เป็นลูกหอบแฮ่กมองตามตาละห้อย ก่อนกัดฟันเดินหน้าขึ้นเขาต่อไป
ทางเดินป่าในวันนี้ เมื่อยิ่งเดินขึ้นสูง ผืนป่าก็ยิ่งเปลี่ยนสภาพไป โดยช่วงแรกค่อยๆเปลี่ยนจากป่าไผ่เข้าสู่ป่าเบญจพรรณ จากเมื่อเดินสูงขึ้นไปอีก ป่าก็ได้เปลี่ยนสภาพอีกครั้งเป็นป่าดิบเขาหรือ “ป่าเมฆ” ที่ตามลำต้น กิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ๆจะถูกปกคลุมไปด้วยไลเคน มอส ปานประหนึ่งพวกมันกำลังสวมเสื้อกันหนาวสีสดใสเขียวครึ้ม
ณ บริเวณ“เนิน 1700” ที่ตั้งชื่อตามระดับความสูง ท้องฟ้าเปิดโล่ง ทำให้ผมสามารถมองขึ้นไปเห็นเทือกเขาโมโกจูทอดตัวตั้งตระหง่าน เผยยอดเด่นมองเห็นลิบๆดูใกล้ตา ไกลตีน ที่เหมือนเป็นดังแรงฮึดให้เรากัดฟันออกเดินต่อไปอีกครั้ง
สำหรับการเดินทางในวันนี้และตลอดทั้งทริป ผมกับเพื่อนๆมีทริคง่ายๆในการเดินป่าว่า “เหนื่อยเท่าไหร่ไม่ว่า ขอเอาฮาไว้ก่อน” ซึ่งมันได้ผลชะงัดนัก เพราะเมื่อเราเดินไป ปล่อยมุขไป ฮาไป แป้กไป สุดท้ายความพยายามก็พาพวกเราเดินไต่ก้าวข้ามเส้นทางนรก มาสู่ปากประตูสวรรค์ที่ “แคมป์ตีนดอย”จุดพักในค่ำคืนนี้ ที่อยู่ห่างจากยอดเขาโมโกจูแค่ 1 กิโลเมตร
หลังจัดแจงเรื่องที่พัก เติมพลังด้วยของกินเล่นเล็กๆน้อยๆ พี่ทิดออกนำทางอีกครั้งพาสู่ยอดเขาโมโกจู เป้าหมายที่ทุกคนเฝ้ารอและดั้นด้นเดินทางฟันฝ่าความยากลำบากมาก็เพื่อสิ่งนี้
หินเรือใบ
ราวๆครึ่งชั่วโมงจากแคมป์ตีนดอย ผมเดินตามพี่ทิดขึ้นมาเป็นผู้พิชิตยอดโมโกจูตามหัวใจปรารถนา ในช่วงเย็นย่ำของวันที่ 3 เพื่อเฝ้ารอชมดวงตะวันลับฟ้าบนยอดแห่งนี้
ยอดเขาโมโกจู ตั้งอยู่บนบนระดับความสูง 1,964 เมตร จากระดับน้ำทะเล บนนี้ถือเป็นจุดชมวิวชั้นเยี่ยม สามารถมองลงไปเห็นวิวทิวทัศน์ได้รอบตัว 360 องศา พร้อมๆกับภาพอันชวนตื่นตาของทิวเขาน้อยใหญ่อันกว้างไกล มองเห็นเป็นแนวชั้นไล่มิติเฉดจากเข้มไปสู่จาง โดยมีวิวใกล้ตัวเป็นผืนป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์สุดๆ ไม่ริ้วรอยเว้าแหว่งของการตัดไม้ทำลายป่า ดูคล้ายแปลงบล็อคโคลี่ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์มาให้ชม แต่นำไปผัดน้ำมันกินไม่ได้
ของดีบนยอดโมโกจูยังไม่หมดเท่านี้ บนนี้ยังมีของดีกว่าเป็น“หินเรือใบ” ก้อนหินประหลาด เป็นเหลี่ยมมียอดมุมแหลมยื่นแยงแทงฟ้า กลายเป็นสัญลักษณ์อมตะของยอดเขาแห่งนี้ ที่ใครไปใครมาเป็นต้องมาชักภาพถ่ายรูปคู่กับยอดเขาแห่งนี้ ทั้งฝั่งด้านตะวันออกและตะวันตก ซึ่งถ้าไม่มีหินเรือใบก้อนนี้ ยอดโมโกจูจะดูด้อยเสน่ห์ลงไปมากโขเลยทีเดียว
สำหรับเย็นวันนั้น ท้องฟ้าดูแปลกตาด้วยชั้นของเมฆที่ลอยเรียบเนี๊ยบนิ่งเป็นเส้นตรงแหน่ว แบ่งท้องฟ้าออกเป็น 2 ซีก 2 ส่วน อย่างชัดเจน
ส่วนล่างเป็นชั้นของเมฆหมอก ส่วนบนเป็นชั้นของท้องฟ้า สีฟ้าสด ใสแจ๋ว ปราศจากริ้วรอยราคี ซึ่งเห็นแล้วชวนให้อดคิดไม่ได้ว่า หรือนี่เรากำลังยืนอยู่บนรอยต่อของสวรรค์ชั้นฟ้า ที่สูงเหนือขึ้นเป็นชั้นของเทพ เทวดา นางฟ้า ส่วนต่ำลงไปเป็นชั้นของมนุษย์ที่ผมเพิ่งเดินขึ้นมาหยกๆ และกำลังจะเดินกลับลงไปในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า หลังดวงตะวันสีแดงจ้าๆค่อยลาลับมุดหายเข้าไปในเส้นขอบเมฆ ทิ้งราตรีบนยอดโมโกจูให้กลับสู่ความมืดมิดอีกครั้ง
หมอกไหล
อากาศบนแคมป์ตีนดอย แม้หนาวระยับจับจิตเสียดแทงเข้าไปถึงตับ แต่คืนนั้นผมกลับใส่เสื้อแขนสั้นตัวเดียวมุดเต็นท์เข้านอนอย่างไม่สะทกสะท้าน ชนิดที่เมื่อกลับมาบอกใครๆ เป็นต้องได้ยินเสียงอุทาน ถามกลับอย่างไม่เชื่อมั่นว่า หนาวขนาดนั้น “พี่,มึง,คุณ ทำได้ไง?อ่ะ”
ครับ สำหรับเรื่องนี้ ผมไม่ได้มีดีอะไร ไม่ได้ฝึกพลังลมร้อน หรือพลังลมปราณไฟสวาท หากแต่ในค่ำคืนอันหนาวเหน็บสุดขั้วอย่างนั้น ก่อนเข้านอน ผมเพียงแค่เลือกใส่เสื้อแขนสั้นตัวเดียว ส่วนที่เหลือผมใส่เสื้อแขนยาวหนาๆ 2 ตัว และเสื้อกันหนาวอีก 1 ตัว เท่านั้นเอง ซึ่งมันได้ผลชะงัดนัก สามารถกันหนาวได้เป็นอย่างดี ช่วยให้หลับสบายรวดเร็ว มาตื่นอีกทีราวตี 4 กว่าๆเมื่อพี่ตอนมาปลุกให้ขึ้นไปบนยอดโมโกจูอีกครั้งเพื่อรอชมพระอาทิตย์ขึ้น
ยอดโมโกจู ยังคงมีหินเรือใบตั้งเด่นตระหง่านอยู่เหมือนเดิม แถมทองฟ้า ม่านเมฆยังคงเส้นตรงแบ่งเป็น 2 ส่วนไม่ต่างไปจากเย็นวันวาน แต่ที่ไม่เหมือนก็คือ มุมมองของหินเรือใบในวันนี้ของผมเปลี่ยนไป จากเมื่อวานที่มุ่งมองในมุมพระอาทิตย์ตกวันนี้เราเปลี่ยนมามองในมุมพระอาทิตย์ขึ้นในให้อารมณ์ ความสวยงาม และมนต์เสน่ห์แตกต่างออกไปอีกแบบ
เช้าวันนั้น แม้จะไม่มีภาพของท้องทะเลหมอกหนาแน่นทึบให้ชม ไม่มีภาพของดวงตะวันแย้มเบิกฟ้ากลมโตเป็นไข่แดงให้ชม แต่ผมได้เห็นภาพสายหมอกขาวโพลนจากฝั่งตะวันออก ค่อยๆไหลเป็นสายยาวผ่านเทือกเขายอดหนึ่งมายังฝั่งตะวันตกบนยอดโมโกจูอย่างสวยงามเพริศแพร้ว
และนี่ก็คืออีกหนึ่งเสน่ห์บนยอดโมโกจูที่หาดูที่ไหนไม่ได้ง่ายๆ
จากนั้นเมื่อตะวันเริ่มสายโด่ง พวกเราเดินกลับลงจากยอดเขา แวะกินข้าวเช้าเก็บสัมภาระที่แคมป์ตีนดอย ส่งใจล่ำลายอดโมโกจู แล้วถือคติขึ้นมาทางไหน กลับลงไปทางนั้น ค่อยๆเดินกลับลงสู่จุดเริ่มต้นด้วยระยะเวลา 2 วัน 1 คืน
สำหรับเส้นทางขาลงที่ใครคิดว่าเดินสบายนั้น มันหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะด้วยความอ่อนล้าจาก 3 วันกว่าที่เดินขึ้นมา บวกกับข้อเข่า ขาที่เริ่ม ตึง พัง งอข้อพับไม่ได้ มันนับเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินลงเป็นอย่างยิ่ง
แต่กระนั้น ถ้าให้เลือกระหว่างขาขึ้นกับขาลง ผมขอเลือกขาไหนก็ได้ที่เป็นทางเดินราบๆสบายๆ ซึ่งพบได้ไม่มากในเส้นทางพิชิตโมโกจู
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็น เส้นทางขาขึ้น ขาลง หรือขาราบเดินสบาย ผืนป่าก็ได้ให้บทเรียนกับเราว่า ไม่ควรประมาทด้วยประการทั้งปวง จงค่อยๆเดินขึ้นแบบไม่ฮึกเหิม ค่อยๆเดินลงด้วยความระมัดระวัง และก้าวเดินในเส้นทางราบอย่างคนมีสติ ตาคอยสอดส่องดูสิ่งละอันพันละน้อยรอบข้าง หูคอยสดับรับฟังสรรพสำเนียงเสียงจากธรรมชาติ ซึ่งหลังชาวคณะค่อยๆลง ค่อยๆเดิน ไปพร้อมๆกับ ค่อยๆฮา สุดท้ายพวกเราก็ฟันฝ่าความเหน็ดเหนื่อย เจ็บปวด เมื่อยล้า กลับมาสู่ยังจุดเริ่มต้นที่ศูนย์บริการฯอีกครั้ง ซึ่งตลอด 5 วัน 4 คืน ที่เข้าไปผจญป่าไพรในเส้นทางพิชิตยอดโมโกจูนั้น มันเหมือนกับว่าผมได้หลุดเข้ามาอยู่ในโลกอีกมิติหนึ่ง
โลกที่ดูเหมือนขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกและปราศจากซึ่งคลื่นความถี่ เทคโนโลยี แสงสีปรุงแต่ง
...ทว่าโลกในมิตินี้กลับมีตัวตนและจิตใจที่ถูกทอดทิ้งหลงลืมมานานให้เราได้เรียนรู้ทำความคุ้นเคยกับมันอีกครั้งหนึ่ง...
*****************************************
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ มีพื้นที่ 558,750 ไร่ ครอบคลุม 2 จังหวัดคือ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ภายในอุทยานฯนอกจากยอดเขาโมโกจูแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ อาทิ น้ำตกแม่กระสา น้ำตกแม่กี จุดชมวิวมออีหืด แก่งลานนกยูง กิจกรรมล่องแก่ง ปั่นจักรยาน และช่องเย็น สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี
การเดินทาง จากกรุงเทพ ฯ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ ถึงแยกโค้งวิไล ( กม.411+500) เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทาง 1242 (ผ่านอำเภอปางศิลาทอง) ประมาณ 40 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าเส้นทาง 1072 ไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร จะพบสี่แยกคลองลาน เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทาง 1117 ไปอีกประมาณ 19 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยาน ฯ
จากจังหวัดกำแพงเพชร ตามทางหลวงล่องสู่จังหวัดนครสวรรค์ กลับรถที่แยกคลองแม่ลาย เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทาง 1117 ไปอีกประมาณ 65 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยาน ฯ
สำหรับการขึ้นไปพิชิตยอดเขาโมโกจู ทางอุทยานฯได้จัดกิจกรรมเดินป่าระยะไกล 5 วัน 4 คืน ขึ้นในช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. ของทุกฤดูกาลท่องเที่ยว โดยกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ที่ 3 กลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 12 คน และไม่ต่ำกว่า 5 คน และมีอัตราค่าลูกหาบราคา 350 บาท/คน/วัน (ลูกหาบแบกสัมภาระไม่เกิน 20 กิโลกรัม/คน) ซึ่งผู้ที่ขึ้นไปพิชิตยอดเขาโมโกจูจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางอุทยานฯ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โทร. 0-5576-6024 หรือดูที่www.dnp.go.th
ส่วนเรื่องที่นักท่องเที่ยวต้องระวังเป็นพิเศษก็คือเรื่องของตัวคุ่นและเห็บลมที่จะพบมากในวันที่ 3-4 ดังนั้นจึงควรเตรียมยาทา สเปรย์กันแมลงไปป้องกัน(สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง) และควรสวมใส่เสื้อผ้าแขนขายาวปกคลุมให้มิดชิด
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ที่พัก ในจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร เชื่อมโยงกับอุทยานฯแม่วงก์ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานสุโขทัย(รับผิดชอบพื้นที่สุโขทัย,กำแพงเพชร) โทร. 0-5561-6228-9, 0-5561-6366