xs
xsm
sm
md
lg

วิถีแห่งสันโดษ ที่ “ไฮ่อุ๊ยต๋าคำปาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บ้านพักกลางทุ่งนา
เคยคิดไหมว่า เราจะอยู่อย่างไร หากวันหนึ่งไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่มีอาหารให้ซื้อตามซูเปอร์มาเก็ต... คนเมืองอย่างเราๆ ท่านๆ คงจะต้องพบกับความยากลำบากในการดำรงชีวิตไม่น้อย แต่คนที่ชื่อ “สันโดษ” แห่งเมืองปาย สามารถอยู่ได้อย่างสันโดษสมชื่อ แม้ไม่มีสิ่งเหล่านี้

สันโดษ สุขแก้ว คือเจ้าของฉายา “ผีบ้าแห่งเมืองปาย” ชื่อที่ได้มาจากการคิดอะไรแปลกๆ ทำอะไรแปลกๆ จนชาวบ้านใกล้เคียงต่างเรียกเขาด้วยชื่อนี้ ทั้งยังเป็นเจ้าของ “ไฮ่อุ๊ยต๋าคำปาย” โฮมสเตย์ที่ตั้งอยู่ในตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ห่างตัวอำเภอไปไม่ไกลนัก ซึ่งคำว่าไฮ่อุ๊ยต๋าคำปาย นั้น “ไฮ่” ก็คือไร่ “อุ๊ย” ก็คือคนแก่ในภาษาเหนือ ส่วน “ต๋าคำ” ก็คือชื่อพ่อของสันโดษนั่นเอง

ที่นี่ไม่เพียงเป็นโฮมสเตย์สำหรับให้นักท่องเที่ยวมาพัก แต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติ ไม่พึ่งพาเทคโนโลยี มีการปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง สร้างบ้านด้วยตัวเองจากวัสดุธรรมชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ได้จากประสบการณ์จริง ด้วยความคิดและความตั้งใจของสันโดษ สุขแก้วคนนี้
เฮือนญาง บ้านพักโฮมสเตย์ชนเผ่าในไฮ่อุ๊ยต๋าคำปาย
แม้จะเคยได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัสโลกกว้างจากการไปทำงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่ประเทศแถบอาหรับ แต่สันโดษก็เลือกที่จะกลับมาเป็นเกษตรกร ทำเกษตรกรรมในพื้นที่บ้านเกิดของตน

“ตอนที่กลับมาจากเมืองนอกแรกๆ นี่ คิดว่าประเทศไทยทำไมถึงอยากเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรม ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่พึ่งพาตนเองได้ ทำไมจะต้องขายนาไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานปัญหามันเยอะ เมืองนอกมาตั้งโรงงานผลิตสินค้าไปขายต่างประเทศ แต่วันไหนที่มันเบื่อประเทศไทย มันอยากจะกลับ วันนั้นเราเดือดร้อน อย่างญี่ปุ่นขยับตัวอยากจะย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น เราก็ต้องไปง้อน่าดู ต้องสร้างภาพลักษณ์ต้องอะไรมากมาย สิ่งนี้แหละทำให้ต้องย้อนกลับมาคิด” สันโดษ กล่าว

พื้นที่กว่า 40 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่ตกทอดจากปู่มาถึงพ่อ จากพ่อมาถึงตัวเขา เป็นที่ดินแห้งแล้งเนื่องจากป่าถูกทำลายด้วยการทำสัมปทานป่าไม้ แต่จากความทรงจำวัยเด็กที่เกิดและเติบโตในป่า ได้ช่วยพ่อทำนา ได้เห็นป่า และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ทำให้จำได้ว่าเมื่อก่อนนี้ที่ดินผืนนี้เคยมีตาน้ำ เคยมีต้นไม้เยอะแค่ไหน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นตัวสอนและเป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะเห็นผืนป่าและทุ่งนากลับมาเขียวขจีอีกครั้ง สันโดษจึงค่อยๆ ปลูกต้นไม้ทีละต้นๆ จนความชุ่มชื้นในดินเริ่มกลับมา และต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เขาเลือกปลูกก็คือ “มะม่วง" ไม้ผลที่ปลูกได้ทุกที่ มีความแข็งแรง อีกทั้งใบมะม่วงที่ร่วงหล่นก็ยังช่วยสร้างหน้าดินได้อีกด้วย
ห้องน้ำในบ้านพักโฮมสเตย์ที่ได้บรรยากาศไม่เหมือนใคร
“ตอนแรกก็ปลูกมะม่วงแล้วก็พยายามทำในเรื่องของการตลาดเต็มรูปแบบ คิดว่าทำเกษตรก็น่าจะเป็นธุรกิจได้ มีเงินมีทองได้ แต่มันไม่ใช่ ระบบเกษตรก็ยังมีทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง เราแบกผลิตผลไปขายแต่ไม่มีคนซื้อ มะม่วงเราสวยมาก แต่ไม่มีคนซื้อ เราขายแพงกว่าคนอื่นเพราะต้นทุนเราแพงกว่า แต่เขาก็บอกว่าก็เหมือนๆ กับของคนอื่น ทำไมต้องขายแพงกว่า”

เมื่อผิดหวังกับระบบตลาดอีกหลายครั้ง สันโดษจึงเปลี่ยนมุมมองใหม่ “เมื่อลองไปอีกสักระยะ จากนั้นก็เลยเลิก แล้วกลับมามองความจริงของชีวิต มามองดูว่าชีวิตต้องการอะไร ต้องการข้าวเหรอ ก็ปลูกข้าว ต้องการเสื้อผ้า ก็ปลูกฝ้าย ต้องการใช้ไม้ไผ่ก็ปลูกไผ่ ต้องการอะไรก็ทำอันนั้น ทำให้ท้องอิ่มมีพลังงานที่จะคิดจะทำก่อน พอเริ่มทำกินให้อิ่มแล้วที่เหลือมันจะเป็นผลพลอยได้ที่ตามมา แล้วจะเกิดความรู้สึกที่อิ่มเอม เป็นความรู้สึกที่ไม่ต้องต่อสู้มากมาย ไม่ต้องมีความคิดฟุ้งซ่านออกไปไกลเกิน พอเริ่มที่จะเป็นแบบนี้ชีวิตเริ่มมีความสุข ต้นมะม่วง 1,200 ต้น ไม่ต้องดูแล ไม่ต้องตัดหญ้า ธรรมชาติมีเยอะแยะให้เราเลือกมากมาย ระหว่างมะม่วงยังไม่ออก พี่ก็รอกระถิน ต้นกระถินก็เอามาเผาถ่าน เตาถ่านมีความร้อนพอสร้างบ้านครอบไว้ก็กลายเป็นซาวน่า ใช้พลังงานให้พอ เลี้ยงควายมีควายก็ทำไบโอแก๊สไปด้วย” สันโดษ กล่าว

ในช่วงแรกที่คิดเพียงแต่จะทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงตัวเอง แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านมาเห็น และสนใจในสิ่งที่สันโดษกำลังทำ ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้ที่สนใจในวิถีชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติ และเมื่อได้รับการบอกต่อแบบปากต่อปาก ทำให้มีคนสนใจอยากเข้ามาเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ไม่เคยสัมผัสชีวิตแบบนี้มาก่อน
สันโดษ สุขแก้ว
“การเปิดเป็นโฮมสเตย์เป็นแหล่งเรียนรู้ มันเป็นผลพลอยได้ระหว่างที่ทำเกษตรอยู่ ตอนนั้นมีเรือนโญน (ชนเผ่าหนึ่งของเมืองล้านนา) เป็นบ้านของพี่เองที่รื้อย้ายจากที่เก่ามาสร้างใหม่ให้เป็นแบบเดิม แล้วมีฝรั่งเขาจะไปโป่งน้ำร้อนแล้วหลงเข้ามาทางนี้ ก็เลยได้นั่งคุยกัน เขาก็ถามว่าทำอะไรอยู่ พี่ก็เล่าให้เขาฟัง เขาก็บอกว่านี่แหละ ที่เขามาทางโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะเขาต้องการจะเห็นอะไรแบบนี้แหละ แล้วเขาก็มาเรียนรู้กับเราและไปบอกเพื่อนๆ แบบปากต่อปาก”

“ฝรั่งที่มาเรียนรู้ก็แล้วแต่เขาว่าสนใจเรื่องอะไร ลึกขนาดไหน บางคนมาอยู่ไม่นาน แต่บางคนมาอยู่เป็นปี คนที่อยู่นานที่สุดคือ 2 ปี ช่วงหลังๆ ก็จะมีนักศึกษาที่ทางมหาวิทยาลัยส่งมาทำวิจัยก็มี เขามาอยู่กับเราก็ได้เรียนรู้ตั้งแต่ตอนเข้าโรงครัว เขาได้รู้เรื่องการก่อไฟ ถามว่าพวกคุณมีกี่คนที่ก่อไฟเองได้ มันมีน้อยลงไปเรื่อยๆ นี่คือปัญหา ฝรั่งมันกำลังจะบอกว่า ที่คุณเดินตามฉันมามันผิดหมดเลย ผิดมหันต์เลย”

“อย่างพี่เคยสังเกตลูกชายและตาดำ (คนที่มาช่วยงานในไร่) ลูกชายชอบเล่นคอมพิวเตอร์ เล่นอยู่ 2 ชั่วโมง ในขณะที่ตาดำลงไปทุ่งนา 2 ชั่วโมงเท่ากัน ตาดำได้อะไรมาเยอะแยะเลย ทั้งผัก ทั้งอาหาร ทั้งเรื่องที่จะมาคุยกัน ไปเจอนู่นเจอนี่มา ส่วนลูกชายนั่งเล่นคอมทั้งวันไม่มีอาหารกิน นี่คือการเปรียบเทียบที่ง่ายมาก ตาดำปลูกเป็น เก็บเป็น กินเป็น เลือกเป็น แต่คนที่เล่นแต่คอมยังเลี้ยงหมูใน Farmville อยู่เลย ทั้งที่จริงๆ แล้วหมูอยู่ยังไงก็ยังไม่รู้ จะก่อไฟยังไงหุงข้าวยังไงก็ไม่รู้ อันนี้แหละคือการเรียนของที่นี่
หุงหาอาหารกันด้วยครัวแบบดั้งเดิม
สันโดษยังกล่าวต่อว่า “มาอยู่ที่นี่การสอนคือการคุยกันเรื่องป่าเรื่องธรรมชาติ ลึกลงไปคือการปลูก ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ปลูกกล้วย ทำยังไง การตอนกิ่ง ทาบกิ่ง สอนทุกอย่าง สมุนไพรอะไรกินได้ ใช้มีดยังไง ถ้าบาดเจ็บทำอย่างไร สอนเรื่องการปลูกไม้ไผ่ เรื่องการใช้ไม้ไผ่ สอนจักสาน มาตอนหลังๆ เริ่มมีการสอนเป็นคอร์ส อย่างการสอนทำบ้านดิน เพราะหลังๆเริ่มมีคนมาแบบเฉพาะเจาะจงเป็นเรื่องๆ มากขึ้น การสร้างบ้านดินเราก็สอนตั้งแต่โครงสร้าง และรายละเอียดต่างๆ เลือกดินยังไง ผสมแกลบผสมดินยังไง”

“เรื่องการปลูกข้าว ถึงเวลาเก็บเกี่ยวเราก็ช่วยกัน ใช้แต่แรงคนแรงควายทั้งหมด แรงคนก็ใช้แรงงานต่างด้าวทั้งนั้น ฝรั่งเสียเงินค่าเครื่องบินเป็นหมื่นมาปลูกข้าวเกี่ยวข้าวให้พี่กิน แถมยังจ่ายตังค์ให้อีก” สันโดษกล่าวติดตลก

คอร์สเรียนต่างๆ นอกจากที่สันโดษกล่าวมาแล้ว ก็ยังมีการสอนเกี่ยวกับการเรียนรู้อยู่อย่างยั่งยืนกับธรรมชาติปลอดสารพิษ เรื่องน้ำ การจัดหาและการใช้ เรื่องดิน การจัดวางพื้นที่ การปลูกพืชในป่า การอนุรักษ์พลังงาน คอร์สเรียนเหล่านี้ชาวต่างชาติต้องเสียเงินค่าเล่าเรียนในหลักพันปลายๆ แต่สำหรับคนไทยและเอ็นจีโอ สันโดษให้เรียนฟรี!! เสียเพียงค่าที่พักกับค่าอาหารเท่านั้น และสำหรับที่พัก สันโดษก็ได้สร้างบ้านแบบง่ายๆ เป็นบ้านของชนเผ่าในภาคเหนือ ทั้งเฮือนโญน (คนเมืองล้านนา) เฮือนไต เฮือนญาง ฯลฯ สำหรับให้แขกพักในบรรยากาศแบบเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติอันบริสุทธิ์ เสียค่าที่พักเพียงคนละ 100 บาท/คืน ค่าอาหารแล้วแต่ศรัทธา เพียงแค่ช่วยกันหา ช่วยกันทำ ช่วยกันกินเท่านั้น
แดเมียน โบห์เลอร์ หนุ่มต่างชาติที่หลงเสน่ห์วิถีชีวิตแบบธรรมชาติ
จากที่แต่ก่อนชาวบ้านเคยเรียกสันโดษว่าเป็นผีบ้า แต่ในตอนนี้หลายๆ คนได้ให้ความสนใจกับการอนุรักษ์ป่า ทำการเกษตรแบบพึ่งพิงธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี และเมื่อถามว่า ในอนาคตอยากจะทำอะไรในไฮ่อุ๊ยต๋าคำปายอีกบ้าง สันโดษตอบว่า

“คงไม่มีอะไรแล้ว อยากจะให้ความรู้กับชาวบ้านมากที่สุด ตอนนี้มีปัญหาตรงที่ป่าถูกทำลาย น้ำหายไปหมด ไม่มีใครให้ความรู้กับชาวบ้านว่าทำไมน้ำมันหายไป พอเรามีปัญหาเรื่องน้ำก็ไปฟ้องประปา มีปัญหาถนน ก็ฟ้องกรมทางหลวง ตัวเราเองไม่มีความรับผิดชอบ เราไม่ได้คิดว่าทำไมถึงหาย ป่าถูกทำลายไหม เราโทษอย่างอื่นไปหมด พอเป็นไข้ก็ไปหาหมอ เราไม่ได้ถามตัวเราเองว่าเราไม่ได้ออกกำลัง หรือเรากินแต่ไขมันหรือเปล่า เพราะเราไม่ได้พึ่งตัวเองหรือเปล่า” สันโดษ กล่าวปิดท้าย

ด้านฝรั่งต่างชาติที่มาเรียนรู้ในไฮ่อุ๊ยต๋าคำปายอย่าง แดเมียน โบห์เลอร์ (Damien Bohler) หนุ่มชาวออสเตรเลียที่มาอยู่เมืองไทยได้ 5 ปี เคยเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นประถมที่โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ แดเมียนได้เล่าให้ฟังว่า รู้จักไฮ่อุ๊ยต๋าคำปายจากเพื่อนที่เคยเจอกันเมื่อปีก่อน แล้วก็รู้สึกสนใจ จึงมาที่นี่
ชาวต่างชาติหลายคนมาเรียนรู้เรื่องการจักสานไม้ไผ่ที่ไฮ่อุ๊ยต๋าคำปาย
“ได้มาเจอกับพี่สันโดษและมาเช่าบ้านอยู่ที่นี่ ได้เห็นการใช้มีดใช้ชีวิตแบบคนสมัยก่อน เมื่อเห็นก็คิดว่าน่าสนใจ คิดว่าถ้ามีโอกาสก็จะมาอีก เวลาผ่านไปไม่ถึง1 ปี ตอนนั้นเป็นครูอยู่แต่รู้สึกว่าไม่อยากสอนแล้ว จึงลาออกและคิดว่าจะมาที่นี่ มาเรียนใช้มีด มาเรียนปลูกข้าว ใช้ชีวิตในป่า ดำรงชีวิตในป่า”
“มาอยู่ที่นี่ได้ประมาณ 6 เดือน ได้เรียนใช้มีดฟันไม้ไผ่ ทำเครื่องมือจากไม้ไผ่ เรียนก่อไฟ เรียนหาเห็ด เรียนสร้างบ้าน เรียนปลูกข้าว ชอบที่มาอยู่ที่นี่ เพราะแดเมียนเป็นคนเมือง เป็นคนซิดนี่ย์ ที่ซิดนี่ย์ไม่มีอะไรแบบนี้เลย” แดเมียน กล่าว

การดำรงชีวิตแบบวิถีดั้งเดิมอาจเป็นเรื่องไม่ไกลตัวแล้วในสมัยนี้ที่ภัยพิบัติเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก หากเราหันกลับมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากขึ้น เตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ นั่นก็คือความไม่ประมาทอันจะนำไปสู่ทางรอดได้ในที่สุด

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ไฮ่อุ๊ยต๋าคำปาย ตั้งอยู่ที่ 101 หมู่ 9 บ้านตีนธาตุ ต.ทุ่งยาว อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับที่พักได้ที่ 08 6112 3504 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.tacomepai.com
กำลังโหลดความคิดเห็น