สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายไปในทางดี พร้อมกับที่ลมหนาวพัดผ่านมาเยือนประเทศไทย หลายๆ คนจึงมองหาสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนรับลมหนาว และแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่ติดอันดับความนิยมของนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวเสมอมาก็คือ “ปาย” อำเภอเล็กๆ กลางหุบเขาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ด้วยภูมิประเทศที่งดงามของเมืองกลางหุบเขาสลับซับซ้อน ภูมิอากาศที่เย็นสบาย รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่สงบเรียบง่ายไม่เร่งรีบ ทำให้อำเภอปายกลายเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวได้ไม่ยาก ในยุคเริ่มแรก นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภท Backpacker ที่ดั้นด้นฝ่าทางโค้งนับร้อยนับพันมาสัมผัสบรรยากาศของเมืองปาย
นับแต่ยุคแรกของการท่องเที่ยวในอำเภอปาย เพียงแค่ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เมืองเล็กๆ แห่งนี้ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในทางดีและร้ายอย่างมากมายและรวดเร็ว จากเมืองเล็กๆ เงียบสงบก็กลับพลุกพล่านด้วยนักท่องเที่ยว ชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น แต่วิถีชีวิตดั้งเดิมก็เปลี่ยนไป เกสต์เฮ้าส์มากมายผุดขึ้นที่ปาย ตามมาด้วยร้านอาหาร ผับ บาร์ นายทุนจากต่างถิ่นเข้ามาทำธุรกิจที่ปาย นำเอาความหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้ามามุ่งเน้นแต่สนองความต้องการของนักท่องเที่ยว จนมองข้ามความเป็นอยู่เดิมของชาวบ้าน จนนักท่องเที่ยวที่เคยมาสัมผัสปายเมื่อหลายปีก่อน เมื่อได้กลับมาเยือนอีกครั้งจึงรู้สึกว่าปายเปลี่ยนไป
กล่าวกันว่าความเปลี่ยนแปลงของปายนั้น แบ่งได้เป็น 4 ช่วง ในช่วงแรกคือก่อนปี 2540 ที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติแบกเป้เข้ามาท่องเที่ยวที่ปาย ส่วนหนึ่งใช้ปายเป็นจุดแวะพักระหว่างทางจะไปยังตัวเมืองแม่ฮ่องสอนหลังจากที่เมาโค้งมาถึง 1,864 โค้ง อีกส่วนหนึ่งมาพักผ่อนอยู่ที่ปายนานนับเดือน ช่วงที่สอง คือหลังปี 2540 หลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง พนักงานกินเงินเดือนที่โดนเลิกจ้างและเจ้าของธุรกิจที่ถูกพิษเศรษฐกิจเล่นงานต่างเบื่อชีวิตที่ต้องดิ้นรนแข่งขันกัน ส่วนหนึ่งจึงมาเปิดร้านทำธุรกิจเล็กๆ อยู่ที่ปาย ในจำนวนนี้มีศิลปินอยู่ไม่น้อย ทำให้บรรยากาศของปายกลายเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีความอาร์ตอยู่ในตัว นักท่องเที่ยวเริ่มบอกต่อกันถึงความน่าเที่ยวน่าอยู่ของปาย และเริ่มมีนายทุนเข้ามาสร้างรีสอร์ตหรูในปายด้วยเช่นกัน
สำหรับช่วงที่สาม ในช่วงปี 2548 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่เกิดความเปลี่ยนแปลงกับปายมากที่สุด เกสต์เฮ้าส์และโรงแรมหรูเกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะริมแม่น้ำปาย ในช่วงนี้เองที่เกิดเหตุอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากจนทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงักไประยะหนึ่ง แต่เพียงไม่นานนักปายก็กลับมาโด่งดังอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อภาพยนตร์เรื่อง “รักจัง” เข้ามาถ่ายทำที่ปาย นักท่องเที่ยวต่างก็อยากมาถ่ายรูปในฉากภาพยนตร์เหล่านั้น หากจะเรียกช่วงนี้ว่า “ปายยุคโรแมนติก” ก็คงไม่ผิด แต่ผิดตรงที่ไม่มีการจัดการด้านการท่องเที่ยวที่ดีพอจนทำให้ปายวุ่นวายไร้ระเบียบ
แต่มาถึงวันนี้ ปายได้เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ที่หลายภาคส่วน ทั้งประชาชนชาวปาย ผู้ประกอบการ และภาครัฐได้ร่วมมือกันในการพยายามสร้างปายให้กลับไปเป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นเมืองที่น่าอยู่ดังเดิม โดย วลัยพร เรืองนิติกุล ประธานชมรมการท่องเที่ยวอำเภอปาย กล่าวว่า
“คำพูดที่ว่าปายเปลี่ยนไป ปายเละแล้ว มันนานแล้วล่ะ คนไม่พูดถึงปายในแง่นี้แล้ว อาจจะเป็นเพราะสื่อที่เสนอออกไป แต่ก็จริงที่เราก็ต้องยอมรับเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงมันเร็วมาก คนเข้ามาทำธุรกิจ เข้ามาหาผลประโยชน์ที่ปายเยอะ แต่ในตอนนี้มันเริ่มนิ่งแล้ว ทุกคนรู้ว่าจะอยู่กับปายยังไง คนที่เข้ามากอบโกยระยะสั้น พี่คิดว่าเขาแพ้ภัยตัวเองไปแล้ว”
วลัยพร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ปายยังคงอยู่ได้เพราะว่าเป็นของจริง อากาศก็ดีจริง วิถีชนเผ่าก็ดีจริง ชนเผ่าจีนยูนนาน ก็ยังเป็นจีนยูนนาน ลีซูก็ยังแต่งตัวแบบลีซู มูเซอก็ยังทำมาหากินแบบชนเผ่า ยังอยู่ในหมู่บ้านของเขา ถ้าชุมชนแบบนั้นยังมีอยู่มากวิถีชีวิตแท้จริงก็ยังไม่หายไป ชีวิตชาวปายตื่นมาทำนา ทำไร่ ปลูกข้าว ปลูกกระเทียมก็ยังมีอยู่ แต่เราต้องยอมรับว่าปายเติบโตเร็วมากจนเราตั้งตัวไม่ทัน จนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราก็เริ่มตระหนักแล้วว่า ควรมาตั้งหลักกันใหม่”
“ยุคใหม่ของปายนั้นเป็นยุคของการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ เน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์มากขึ้น มันเป็นยุคที่เราจะต้องห่วงเรื่องของสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น หลังจากที่น้ำท่วมใหญ่ เราล้มลุกคลุกคลานกันมาถึงตอนนี้ พี่พยายามที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรมให้มากขึ้น เพราะว่าสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนไป มีโลกร้อน น้ำท่วมทั่วประเทศ เราน่าจะท่องเที่ยวกันแบบสโลว์สไตล์ (Slow Style) ไม่ต้องดิ้นรนมากมาย มาแล้วพักผ่อนสบายๆ เป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ”
คำว่า Slow Style นั้น นอกจากจะเป็นสไตล์การท่องเที่ยวที่วลัยพรอยากให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสแล้ว ก็ยังเป็นชื่อเว็บไซต์ของชมรมการท่องเที่ยวอำเภอปายด้วย (www.slowstylepai.com)
ความเปลี่ยนแปลงไปในทางดีของปายยุคใหม่นี้ที่เกิดขึ้นได้เพราะชุมชนเข้มแข็ง ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม ฝั่งชาวบ้านเองก็มีทั้งกลุ่มสตรี กลุ่มวัฒนธรรม ชุมชน กลุ่มอบต. ต่างๆ และแม้แต่ “สีเหลือง” กับ “สีแดง” ในปาย ที่แตกต่างกันด้านความคิดเห็นทางการเมือง หากเป็นเรื่องการแต่ในเรื่องของการท่องเที่ยวนั้น
“ชมรมการท่องเที่ยวอำเภอปายอาจจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ถ้าเทียบกับความเข้มแข็งของชุมชน ตอนนี้ชุมชนปายเข้มแข็งมาก ในแต่ละหมู่บ้านมีการรวมตัวกัน ผู้ที่มาประกอบธุรกิจที่ปายก็เริ่มตระหนักมากขึ้นว่าจะอยู่อย่างไร เริ่มตระหนักว่าจุดขายเราอยู่ที่ไหน และอย่างที่บอกว่าปายคือของจริง ทั้งอากาศ ภูเขา แม่น้ำ ก็ต้องช่วยกันดูแลรักษา รวมถึงวิถีชุมชนและชนเผ่าต่างๆ”
“ส่วนเรื่องสีเหลืองสีแดงที่ปายนั้นน่ารักมาก ความขัดแย้งมีน้อย ทุกคนเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน คนเสื้อเหลืองก็ไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวร้านคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงก็มาซื้อหนังสือร้านคนเสื้อเหลือง คือมันไม่มีอะไรรุนแรง ผู้นำเขาก็มีความคิดดี ไม่มีความขัดแย้ง นักท่องเที่ยวก็สบายใจ ไปที่ไหนก็ไม่มีการคุยเรื่องการเมืองที่รุนแรง” วลัยพร กล่าว
สำหรับชมรมท่องเที่ยวอำเภอปายนั้นมีสโลแกนคือ “เพราะปายเป็นอย่างที่ปายเป็น” เมื่อถามว่า แล้วปายเป็นอย่างไร? วลัยพรให้คำตอบว่า
“ปายเป็นเมือง artist มีชีวิตที่ผสมผสานกัน ศิลปินไปนั่งอยู่ในตลาด วาดรูปไปคุยกับแม่ค้าไป เป็นชีวิตที่ไม่เหมือนใคร และวัฒนธรรมของเราหลากหลาย เพราะเรามีอย่างน้อย 7 ชนเผ่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีคนไทย คนจีน คนมุสลิม มันก็เป็นอย่างนี้มานาน 20-30 ปีแล้ว มีการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ปายเป็นนิยามแห่งความหลากหลายจริงๆ คุณสามารถกินขนมพื้นเมืองกับกาแฟต่างชาติ มีความเอื้ออาทรกัน พึ่งพาอาศัยกัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่แอนตี้ใครถ้าไม่ทำให้ปายเดือดร้อน”
และสำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวปีนี้ วลัยพรฝากบอกนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวปายว่า “อยากให้นักท่องเที่ยวศึกษามาก่อนนิดหนึ่ง ว่าปายมีอะไรบ้างจะได้ไม่ผิดหวัง เพราะปายสามารถตอบสนองความต้องการของคุณได้ทุกอย่าง แม้แต่ค่ายชกมวยก็ยังมี เคยมีฝรั่งหาข้อมูลเพื่อมาฝึกมวยไทยที่ปาย ถ้าคุณศึกษาข้อมูลมาแล้วความคาดหวังของคุณก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง หากรู้ว่าปายมีถนนคนเดิน คุณจะได้เดินชอปปิ้งบนถนนคนเดินอย่างมีความสุข ไม่ต้องมาหงุดหงิดว่ามีแต่หลักกิโลเมตร หากคุณอยากไปอยู่ในหมู่บ้านชาวเขาคุณก็สามารถไปได้ คุณอยากจะผจญภัย ที่ปายก็มีล่องแก่ง ล่องแพ ขี่ช้าง ปีนน้ำตก ปีนภูเขา ชอบชีวิตที่หรูหรา กินกาแฟแพงๆ หรืออยากนั่งชมภูเขา อยู่บ้านกระต๊อบริมแม่น้ำ เอาขาจุ่มน้ำ ถ้าอยากอยู่กับธรรมชาติแต่ใช้ชีวิตบนถนนคนเดินทุกวัน คุณก็จะหงุดหงิด ถ้าคุณวางแผนมาคุณจะไม่ผิดหวังเลยกับการมาอยู่ที่ปาย” วลัยพรกล่าวปิดท้าย