xs
xsm
sm
md
lg

“บุรีรัมย์” ดินแดนปราสาทหิน เยือนสนามฟุตบอลทีมเจ้าถิ่น “ปราสาทสายฟ้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 พระอาทิตย์จะส่องแสงลอดซุ้มประตูทั้ง 15 ช่องของปราสาทหินพนมรุ้งเป็นแนวเดียวกัน
“เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม” คือคำขวัญจังหวัดบุรีรัมย์ ที่แม้จะสั้นแต่ก็เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจ

บุรีรัมย์ได้ชื่อว่า “เมืองปราสาทหิน” เพราะมีปราสาทหินสมัยขอมหลายแห่งด้วยกัน ปราสาทหินที่โด่งดังก็คือ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” ที่ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่าภูเขาใหญ่ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว
ไม่ควรพลาดชมปราสาทหินพนมรุ้ง หากได้มาเยือนบุรีรัมย์
ปราสาทหินพนมรุ้งมีการก่อสร้างและบูรณะต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-17 โดยเมื่อแรกสร้างนั้นก็เพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถานในช่วงนั้น

ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของปราสาทหินพนมรุ้งอยู่ในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (นับแบบไทย) หรือช่วงเดือนเมษายนของทุกปี โดยในวันดังกล่าว พระอาทิตย์ในยามเช้าจะสาดแสงลอดทะลุซุ้มประตูของตัวปราสาททั้ง 15 ช่อง เป็นแนวเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางเชิงช่างของชาวขอม และนับว่าเป็นอีกหนึ่งอันซีนไทยแลนด์ ในช่วงวันนั้นทางอุทยานฯ จึงมีการจัดประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เดินทางไปชมความงามนี้กัน
มุมหนึ่งที่สวยงามของปราสาทหินเมืองต่ำ
อีกหนึ่งปราสาทหินที่ไม่ควรพลาดชมของบุรีรีมย์คือ “ปราสาทหินเมืองต่ำ” ปราสาทหินศิลปะขอมแบบปาปวน สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูเพื่อบูชาพระศิวะเมื่อประมาณ 1,000 ปี มาแล้ว นับว่ามีอายุมากกว่าปราสาทหินพนมรุ้งและนครวัดประมาณ 100 ปี แต่มีอายุเท่าๆ กับปราสาทเขาพระวิหารเพราะสร้างในช่วงสมัยเดียวกัน ซึ่งตรงกับเวลาที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ครองราชย์อยู่ที่เมืองพระนครหลวง (เขมร) ในสมัยนั้น

ปราสาทหินเมืองต่ำแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็มีหลายสิ่งที่น่าสนใจ โดยแผนผังของปราสาทแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วความสูงเกือบ 3 เมตร เมื่อผ่านซุ้มประตูกำแพงแก้วเข้าไปจะพบกับระเบียงคดและซุ้มประตูอีกชั้นหนึ่ง ส่วนสิ่งก่อสร้างด้านในสุดคือบรรณาลัยและกลุ่มปรางค์ 5 องค์ เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ 5 ยอด ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
ปรางค์ทั้ง 5 ของปราสาทหินเมืองต่ำ แต่องค์กลางชำรุดเหลือเพียงฐาน
นอกจากนั้นก็ยังมีปราสาทหินอื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น ปราสาทโคกงิ้ว ในอำเภอปะคำ ศาสนสถานในศาสนาพุทธ ลัทธิมหายาน เชื่อว่าเป็นอโรคยาศาลหรือโรงพยาบาลในจำนวน 102 แห่งที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราสาทหนองหงส์ โบราณสถานขนาดเล็กประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ และบรรณาลัย 1 หลัง เป็นศิลปะเขมรแบบบาปวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 และปรางค์กู่สวนแตง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้น

เมื่อมีปราสาทหินหลายแห่งอย่างนี้แล้ว แน่นอนว่าในบริเวณใกล้เคียงย่อมต้องมีแหล่งหินตัดซึ่งนำมาสร้างปราสาทแต่ละหลัง โดยในอำเภอบ้านกรวด มี “แหล่งหินตัดบ้านกรวด” ซึ่งเป็นบริเวณที่ตัดหินไปสร้างปราสาท กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี 2539 มีพื้นที่ 810 ไร่ โดยจะมีทั้งศิลาแลงและหินทราย และเป็นหินทรายสีชมพูถึงร้อยละ 90
ร่องรอยของหินทรายที่ถูกเซาะเป็นร่องเพื่อตัดและขนย้ายไปสร้างปราสาท ที่แหล่งหินตัดบ้านกรวด
เมื่อได้เห็นร่องรอยของหินที่ถูกตัดแล้วก็แทบไม่น่าเชื่อว่า เพียงแค่เครื่องมือช่างธรรมดาๆ อย่าง สิ่ว ลิ่ม คานงัด เชือก และโซ่ แต่ช่างเมื่อยุคพันปีก่อนก็สามารถสกัดและเคลื่อนย้ายหินก้อนใหญ่ที่หนักเป็นตันๆ เพื่อมาสร้างปราสาทหินที่ยิ่งใหญ่อลังการและทนทานแข็งแรงจนกลายมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนยุคปัจจุบันได้อย่างน่าทึ่ง

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของเมืองบุรีรัมย์ก็คือแต่ก่อนพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นภูเขาไฟโบราณมาก่อน แต่ปัจจุบันได้ดับสนิทไปแล้ว นั่นก็คือที่ “วนอุทยานเขากระโดง” อำเภอเมือง ที่ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งอนุรักษ์ที่สำคัญของบุรีรัมย์ เขากระโดงมีลักษณะเป็นเนินเขาขนาดเล็ก 2 ลูกติดกัน สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ 60 ม. โดยเนินทางทิศใต้เรียกว่า “เขาใหญ่” ส่วนเนินทางทิศเหนือเรียกว่า "เขาน้อย” หรือ “เขากระโดง” โดยทั้งสองเนินเกิดจากการทับถมของเศษหินภูเขาไฟที่พ่นปะทุออกมา ซึ่งจากการสำรวจความหนาของชั้นลาวาพบว่า มีอายุประมาณ 3-9 แสนปี มีความหนามากกว่า 20 เมตร
ปากปล่องภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ที่เขากระโดง
บริเวณปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเป็นหลุมลึก มีทางเดินเท้าก่อด้วยหินและมีระเบียงให้ชมวิว อีกทั้งด้านบนของปากปล่องภูเขาไฟเป็นที่ประดิษฐานพระสุภัทรบพิตร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์ และมีมณฑปรอยพระพุทธบาทจำลองให้ผู้ที่ศรัทธาได้มากราบไหว้กัน

“เขาอังคาร” ก็เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วอีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดเขาอังคาร โดยภายในบริเวณวัดเคยมีการค้นพบโบราณสถานเก่าแก่และใบเสมาหินทรายสลักภาพบุคคล สถูป ดอกบัว และธรรมจักรสมัยทวารวดีหลายชิ้น มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14
เครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ภายในพิพิธภัณฑ์อำเภอบ้านกรวด
มาดูของเก่าโบราณที่แสดงถึงอารยธรรมอันยาวนานของบุรีรัมย์กันอีกสักนิด ที่ “พิพิธภัณฑ์อำเภอบ้านกรวด” ซึ่งเป็นแหล่งเก็บรวบรวมเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ตั้งอยู่ในศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาโบราณจากกลุ่มเตาเผาต่างๆ ที่พบในจังหวัดบุรีรัมย์ เช่น แหล่งเตาเผาบ้านถนนน้อย แหล่งเตาเผาบ้านสวาย เป็นต้น ผู้ที่สนใจด้านโบราณคดีและชื่นชอบของเก่าคงจะถูกใจไม่น้อย
ชมฟุตบอลในบรรยากาศเหมือนสโมสรระดับโลก
คราวนี้มาดูอะไรใหม่ๆ ทันสมัย และเป็นที่ภาคภูมิใจของคนบุรีรัมย์กันบ้าง นั่นก็คือ “สนามฟุตบอล นิว ไอ-โมบาย สเตเดี้ยม” สนามฟุตบอลเหย้าของทีม “ปราสาทสายฟ้า” หรือสโมสรบุรีรัมย์ พีอีเอ (ไทยพรีเมียร์ลีก) และสโมสรบุรีรัมย์ FC (ดิวิชั่น 1) ที่สร้างเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

เชื่อว่าคอบอลที่ได้มาชมการแข่งขันที่สนามแห่งนี้จะยิ่งเร้าใจกับเกมการแข่งขันเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า เพราะตัวสนามและอัฒจันทร์รวมไปถึงรายละเอียดต่างๆ นั้นสร้างได้บรรยากาศเหมือนสโมสรระดับโลก และถือได้ว่าเป็นสนามที่สวยและทันสมัยที่สุดของเมืองไทยตอนนี้ แม้แต่หญ้าในสนามก็ยังใช้หญ้าแบบเดียวกับสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของอังกฤษ ที่ทนร้อนแล้งได้ดี ยิ่งเมื่อเข้าไปในสนามแล้วได้เห็นแฟนบอลต่างใส่เสื้อทีมเข้ามาเชียร์ทีมของบ้านตัวเองด้วยความตั้งอกตั้งใจแล้ว ก็ยิ่งสร้างบรรยากาศให้ครึกครื้นยิ่งขึ้นไปอีก แนะนำว่าหากผ่านมาที่บุรีรัมย์แล้วไม่ควรพลาดที่จะลองชมฟุตบอลในสนามแห่งนี้สักนัดหนึ่ง
แฟนตัวยงมาเชียร์ทีมบุรีรัมย์ FC
ที่บุรีรัมย์ยังมีพื้นที่ป่าธรรมชาติอย่าง “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่” ป่าต้นน้ำที่สำคัญของบุรีรัมย์ อยู่ในอำเภอโนนดินแดง และอำเภอปะคำ ซึ่งมีแนวเขตป่าเชื่อมต่อกับอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ที่นี่มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตะเคียนหิน ตะเคียนทอง เคี่ยม ฯลฯ และมีสัตว์ป่าจำนวนมาก เหมาะกับผู้ที่จะมาทัศนศึกษาทางธรรมชาติด้วยการเดินป่า และกางเต็นท์พักแรม
ผ้าไหมนาโพธิ์ ของฝากขึ้นชื่อของบุรีรัมย์
และก่อนกลับบ้านหากอยากหาของฝากขึ้นชื่อของบุรีรัมย์กลับไปฝากคนทางบ้าน ก็ขอแนะนำ “ผ้าไหมนาโพธิ์” โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ซึ่งเป็นสินค้าโอทอปขึ้นชื่อของบุรีรัมย์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยลวดลายทอมือที่สวยงาม นอกจากผู้ซื้อจะได้ผ้าสวยๆกลับไปแล้ว ก็ยังเป็นการอุดหนุนสินค้าท้องถิ่นเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น