xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมใหญ่ ท่องเที่ยวไทยวูบ เม็ดเงินสูญหายไปกับสายน้ำนับแสนล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำท่วมโบราณสถานใน จ.พระนครศรีอยุธยา
เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเมืองไทยตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้ประชาชนนับแสนคนในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร รวมถึงจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งการที่น้ำท่วมพื้นที่อุตสาหกรรมหลายๆ แห่ง ก็สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ประเทศอย่างมหาศาล

อุทกภัยในครั้งนี้ยังสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายนที่ใกล้เข้ามาถึงนี้ถือเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว หรือช่วงไฮซีซั่น ที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แต่แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งถูกน้ำท่วมไม่สามารถเข้าถึงได้

ทั้งนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ได้ประเมินผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวตลาดในประเทศจากเหตุอุทกภัยครั้งนี้ว่า มีพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด 30 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด และภาคตะวันออก 2 จังหวัด โดยแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมาก คือ ภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีแหล่งท่องเที่ยวที่น้ำท่วมรวม 17 แห่ง อาทิ ตลาดน้ำอยุธยาคลองสระบัว ตลาดน้ำวัดท่าการ้อง ตลาดโก้งโค้ง วัดไชยวัฒนาราม พระราชวังบางปะอิน เป็นต้น

สำหรับมูลค่าความเสียหายด้านการท่องเที่ยวนั้น นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานฝ่ายนโยบาย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท. ได้ประเมินความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม ที่มีผลต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เบื้องต้นคาดว่าจะสูญเสียรายได้ราว 50,000 ล้านบาท คำนวณจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเข้ามาท่องเที่ยวในเดือน ต.ค.-ธ.ค. อยู่ที่ 5 ล้านคน แต่ผลจากน้ำท่วมจำนวนจะลดลงราว 20% หรือ 1 ล้านคน คิดเป็นรายได้ 40,000 ล้านบาท คำนวณจากค่าใช้จ่ายที่ 40,000 บาทต่อหัวทริป โดยสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางของชาวต่างชาติมาก เพราะนักท่องเหล่านั้นเดินทางผ่านเข้ามาทางสนามบินสุวรรณภูมิกว่า 75% ซึ่งหากกรุงเทพฯ ส่อจะมีปัญหาน้ำท่วมอีกเป็นเดือน ก็จะมีผลต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

ในส่วนส่วนนักท่องเที่ยวไทย คาดลดลงราว 30% คิดเป็นรายได้ที่สูญไปวันละ 350 ล้านบาท หรือรวม 3 เดือนเป็นเงิน 10,000 ล้านบาท เหตุผลหลักมาจากสองปัจจัย คือการคมนาคมขนส่งไม่สะดวก โดยเฉพาะทางบก และคนในกรุงเทพมหานครเริ่มได้รับผลกระทบ ทั้งยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำ ทำให้ไม่มีบรรยากาศด้านท่องเที่ยว

ด้านนายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า อัตราเข้าพักโรงแรมในกรุงเทพฯ เดือนนี้ ภาพรวมยังอยู่ที่ 60-70% แต่บางแห่งเริ่มมีสัญญาณการเลื่อนและยกเลิกการเดินทางแล้ว ทำให้อัตราเข้าพักเหลือ 40-50% จากปกติช่วงนี้จะอยู่ที่ 75-80% ซึ่งเป็นผลจากการคาดการณ์ว่า กรุงเทพฯ จะต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม นานกว่า 1 เดือน

ส่วน น.ส.มัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ หรือ สทน.ระบุว่า หากรวมผลกระทบจากการปิดนิคมอุตสาหกรรมบางแห่ง น่าจะทำให้ภาพรวมตลาดได้รับผลกระทบ ร้อยละ 50 เนื่องจากบริษัท หรือโรงงานเหล่านี้ อาจลดการจัดกิจกรรมสัมมนา และการจัดเลี้ยง ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีต่อเนื่องไตรมาสแรกปีหน้า ซึ่งจะกระทบผู้ประกอบการโรงแรม ทั้งในและนอกพื้นที่ประสบภัย อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวในพื้นที่ไม่ประสบภัยน้ำท่วม เช่น ภาคใต้ ยังคงมีนักท่องเที่ยววางแผนท่องเที่ยวล่วงหน้า ทำให้การจองตั๋วเครื่องบินค่อนข้างเต็มไปจนถึงสิ้นปี

ทางด้านนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัวหรือลดลงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10-20% รายได้หายไปราว 1 แสนล้านบาท หรือมีรายได้รวมถึงสิ้นปีเพียง 5 แสนล้านบาท จากเป้าหมายที่วางไว้จะทำให้ได้ 6 แสนล้านบาท แต่ทั้งนี้ผลกระทบดังกล่าวจะเป็นเพียงระยะสั้น เมื่อสถานการณ์สู่ภาวะปกรติ นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาตามเดิม จึงยังไม่กระทบต่อเป้าหมาย รายได้ 2 ล้านล้านบาท ในอีก 4 ปีนับจากนี้

สำหรับแนวทางการฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังน้ำลด ที่ ททท. ร่วมกับภาคเอกชน ร่วมกันหาแนวทางนั้น มีข้อเสนอ 4 แนวทางด้วยกัน ได้แก่ แนวทางเยียวยา ด้วยการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนถึงสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ แนวทางการฟื้นฟู ให้ภาครัฐเร่งปรับปรุงถนนที่เสียหายจากเพื่อให้การเดินทางได้เข้าถึงชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวได้สะดวก แนวทางการพัฒนาและการตลาด สทน. เสนอให้ ททท.จัดโครงการ “เที่ยวเพื่อช่วย” ซึ่งเป็นการเดินทางเที่ยวพร้อมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ โดยเสนอให้เริ่มประชาสัมพันธ์ช่วยปลายเดือนธันวาคม เพื่อเดินทางในเดือนมกราคม และหลังน้ำลดให้ ททท.จัดเมกกะแฟมทริป เชิญภาคเอกชนบริษัทนำเที่ยวจากทุกภาคทั่วประเทศร่วมเดินทางสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ และริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทำความเข้าใจกับแหล่งท่องเที่ยว พร้อมพูดคุยเจรจาธุรกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น