xs
xsm
sm
md
lg

รร.สุวรรณภูมิ ดิ้นสู้น้ำท่วม วอนเว้นภาษี ททท.เตรียมเสนอทางเยียวยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงแรมสุวรรณภูมิ เตรียมรับมือน้ำท่วม เอกชนวอนรัฐออกมาตรการยกเว้นภาษีช่วยเอกชน ด้าน ททท.ร่วมเอกชน เตรียมเสนอ 4 แนวทางต่อรัฐบาล เยียวยาและฟื้นฟูท่องเที่ยวหลังน้ำลด

นายพีรินทร์ พยุงเวช ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมเบสเวสเทิร์น พรีเมียร์ อมารันธ์ สุวรรณภูมิ กล่าวว่า ทางโรงแรม ได้จัดทำแนวกำแพงยาว 50 เมตร สูง 160 เซนติเมตรกั้นแนวคลองด้านหลัง และเตรียมแผนอำนวยความสะดวกลูกค้าแล้ว เช่น เตรียมเครื่องปั่นไฟสำรอง และสำรองอาหารไว้รับรองลูกค้าได้ 300 คน หากสนามบินสุวรรณภูมิน้ำท่วม ก็จะสามารรถอยู่ได้อย่างน้อย 10 วัน ซึ่งยอมรับว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงหากสนามบินสุวรรณภูมิเกิดปัญหาน้ำท่วม รับผู้โดยสารไม่ได้ จะกระทบโดยตรงต่อโรงแรมเพราะลูกค้า 80% เป็นกลุ่มที่มาแวะเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ผลกระทบขณะนี้ กลุ่มประชุมยกเลิกแล้ว 5 งาน รวมกว่า 600-700 คน อัตราเข้าพักเฉลี่ยเดือนตุลาคมอยู่ที่ราว 40% ซึ่งหากเป็นช่วงปรกติน่าจะดีกว่านี้ ลูกค้ากว่า 70% ที่จองห้องพักแล้วเริ่มสอบถามสถานการณ์เข้ามา โดยกลุ่มที่แสดงความกังวลมากที่สุดคือ นักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น

****วอนรัฐออกมาตรการยกเว้นภาษีช่วยเอกชน

นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ โรงแรมบัดดี้ กรุ๊ป กล่าวว่า ทางโรงแรม ได้ปิดโรงแรมบัดดี้ กรุ๊ป ที่อำเภอปากเกร็ดชั่วคราว เพราะอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทั้งที่โรงแรมเพิ่มเปิดให้บริการได้เพียง 2 สัปดาห์ คาดว่า หลังน้ำลดต้องจัดงบประมาณปรับปรุงอีกไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท เพราะพื้นที่ส่วนร้านอาหาร และสนามเทนนิส ที่ได้รับผลกระทบ จึงต้องการเสนอภาครัฐขอมาตรการยกเว้นภาษี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่สถานประกอบการน้ำท่วม ส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ที่ผ่านมา มีปัญหาขั้นตอนที่ยุ่งยากจึงไม่คาดหวังกับโครงการนี้มากนัก

***เร่งจัด 4 แนวทางฟื้นเที่ยวหลังน้ำลด
วานนี้ (19 ต.ค.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดย นายธวัชชัย อรัญญิก รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ เป็นประธาน การประชุมร่วมกับภาคอกชน หาแนวทาง ฟื้นฟูท่องเที่ยวภายหลังน้ำลด นางสาวมัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศหรือ สทน.กล่าวว่า ททท.เห็นชอบร่วมกับภาคเอกชน เตรียมเสนอ 4 แนวทางต่อรัฐบาลในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

ได้แก่ 1.แนวทางเยียวยา ด้วยการเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน ในแต่ละสมาคมท่องเที่ยว ถึงสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ และสิ่งที่กรมการท่องเที่ยวจะช่วยเหลือ 2.แนวทางการฟื้นฟู เสนอให้หลังน้ำลด ภาครัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปรับปรุงถนนที่เสียหายจากน้ำท่วม เพื่อให้การเดินทางได้เข้าถึงชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว ได้สะดวก จะได้ใช้ภาคการท่องเที่ยวเข้าไปฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน

3.แนวทางการพัฒนาและการตลาด ซึ่งจะต้องทำควบคู่ไปพร้อมกัน สทน. เสนอให้ ททท.จัดโครงการ “เที่ยวเพื่อช่วย” รูปแบบการเดินทางเที่ยวพร้อมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ โดยเสนอให้เริ่มประชาสัมพันธ์ช่วยปลายเดือนธันวาคม เพื่อเดินทางในเดือนมกราคม เพราะเป็นเวลาที่เหมาะสมสุด เพราะเชื่อว่าสถานการณ์น้ำท่วมกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติคงราวต้นเดือนธันวาคม และ4.หลังน้ำลดให้ททท.จัดเมกกะแฟมทริป เชิญภาคเอกชนบริษัทนำเที่ยวจากทุกภาคทั่วประเทศร่วมเดินทางสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ และริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทำความเข้าใจกับแหล่งท่องเที่ยว พร้อมพูดคุยเจรจาธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ททท.ยังเห็นด้วยกับแนวคิดของเอกชน ในเรื่องการประชาสัมพันธ์ ข้อมูล 2 ด้าน ด้วยการนำภาพ และข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ขึ้นประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของททท.และเว็บไซต์ คือ แหล่งท่องเที่ยวที่น้ำท่วม เดินทางไม่ได้ และแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และยังสามารถเที่ยวได้ เช่น ทางจังหวัดภาคใต้ และ จังหวัดแถบชายทะเล

สำหรับโครงการทั้งหมดที่กล่าวมา ททท.แจ้งว่า จะแบ่งงบประมาณจากงบประจำปีใช้ดำเนินการ เพราะขณะนี้ต้องเห็นใจรัฐบาล ซึ่งต้องใช้งบจำนวนมากฟื้นฟูประเทศ ช่วงนี้ภาคเอกชน และททท. คงต้องชะลอแผนประชาสัมพันธ์ เพราะจิตใจประชาชนคนไทย ยังไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะเดินทางท่องเที่ยว ล่าสุด วันนี้ (20 ต.ค.) สทน.จัดคาราวาน นำเรือ และเวชภัณฑ์ยาไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กำลังโหลดความคิดเห็น