วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เป็นวันออกพรรษา หรือวันปวารณาออกพรรษา ภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลา 3 เดือนของพระสงฆ์ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดทำบุญตักบาตร เพื่อความเป็นสิริมงคลของตนเอง โดยในปีนี้ วันออกพรรษาตรงกับวันที่ 12 ต.ค. ที่จะถึงนี้
ในวันดังกล่าวหลายๆจังหวัดในเมืองไทยต่างมีการจัดงานบุญออกพรรษาขึ้น ตามประเพณีและความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น โดยแต่ละแห่งนั้นก็มีเอกลักษณ์และความน่าสนใจแตกต่างกันไป ซึ่ง “ตะลอนเที่ยว” ก็ได้รวบรวมเอาประเพณีเด่นๆ ของแต่ละภาคมานำเสนอ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายเลือกไปกันได้ตามความสะดวก
ภาคเหนือ ปอยเหลินสิบเอ็ด-ผีตลก
เริ่มต้นด้วยประเพณีที่มีชื่อเสียงของ จ.แม่ฮ่องสอน “ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด” ที่ในภาษาไทยใหญ่ คำว่า “ปอยเหลินสิบเอ็ด” แปลว่า “งานบุญเดือนสิบเอ็ด” ซึ่งงานนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำเดือน 11 ถึงวันแรม 8 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 8-20 ต.ค. และจัดขึ้นบริเวณเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน
ในประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด จะมีประเพณีจองพาราเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลออกพรรษา โดยคำว่า “จองพารา” หมายถึง “ปราสาทพระ” การบูชาจองพาราเกิดขึ้นตามความเชื่อของชาวไทยใหญ่ที่สืบทอดต่อกันมาว่า ในวันออกพรรษานั้นจะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับลงมาจากสวรรค์หลังขึ้นไปแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระมารดา ชาวบ้านจึงได้สร้างปราสาทจำลองหรือจองพาราขึ้นเพื่อรับเสด็จ
จองพาราสร้างขึ้นจากโครงไม้ไผ่ ประดับประดาด้วยกระดาษสาและกระดาษแก้วหลากสีสัน รวมไปถึงหน่อกล้วย ต้นอ้อย ติดประดับโคมไฟ ตกแต่งให้สวยงาม แล้วจึงยกไปตั้งไว้ที่นอกชายคาบ้านหรือกลางลานวัด จนกระทั่งถึงวันออกพรรษา ในช่วงเช้าก็จะมีการทำบุญตามวัด ตลอดระยะเวลาการจัดงานตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ จนถึง แรม 8 ค่ำ จะมีการถวายข้าวที่จองพาราวันละครั้ง และจุดเทียนหรือโคมไฟไว้ตลอดเทศกาล มีการละเล่นเฉลิมฉลองหลายชนิด เช่น การฟ้อนโต ฟ้อนนกกิงกะหล่า เป็นต้น
ส่วนที่ จ.อุตรดิตถ์ ก็มีการจัด “ประเพณีแห่ผีตลก” ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมากว่า 200 ปี ตามความเชื่อเรื่องการทำบุญทำทานให้แก่ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตแล้ว หรือผีเปรต ผีนรก ที่ต้องการมาขอส่วนบุญ การเตรียมงานแห่ผีตลกเริ่มจากการสานหัวผีตลก ซึ่งอาจจะทำด้วยเข่ง หวด หรือชะลอมที่สานจากไม้ไผ่ ตกแต่งด้วยสีสันต่างๆ ให้ดูน่าเกลียดเหมือนเปรตตามจินตนาการ และให้คนสวมผ้าคล้ายกับว่าเป็นผี
ในขบวนแห่จะประกอบด้วยต้นกัณฑ์เทศน์ซึ่งจะมีปัจจัยไทยทาน อาหารแห้ง เครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์ ดอกไม้ ต้นกล้วย ต้นอ้อย เพื่อนำไปวัด นอกจากนี้ยังมีการแต่งตัวเป็นกัณหา ชาลี และชูชก ร่วมในขบวนด้วย และจะมีการตีฆ้อง กลองเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ผีตลกจะทำท่าทางให้ดูตลกขบขันและน่ากลัว เมื่อแห่เสร็จแล้วก็ถอดหัวผีตลกออกไปแขวนทิ้งไว้ในป่าช้าหรือเผาทิ้ง ส่วนผู้ที่สวมหัวผีตลกนั้นต้องอาบน้ำมนต์ธรณีสารเพื่อชำระล้างสิ่งอัปมงคลแล้วจึงเสร็จสิ้นพิธีการแห่ผีตลก ก่อนที่ชาวบ้านจะพร้อมใจกันไปร่วมฟังการเทศน์มหาชาติ ซึ่งในปีนี้ ประเพณีแห่ผีตลก จะจัดขึ้นในวันที่ 12 ต.ค. บริเวณเทศบาลตำบลท่าปลา
ภาคอีสาน แห่ปราสาทผึ้ง-บั้งไฟพญานาค-ไหลเรือไฟ-ลอยผาสาด
ในภาคอีสาน พื้นที่ที่มีความเชื่อหลากหลาย ก็มีการฉลองเทศกาลออกพรรษาที่แตกต่างกันไป อย่างเช่นที่ จ.สกลนคร ก็มีการสร้างปราสาทผึ้งเพื่อเป็นพุทธบูชา และมีความเชื่อว่าเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว การทำปราสาทผึ้งจะใช้กาบกล้วยมาทำเป็นโครง จากนั้นนำดอกผึ้งที่ทำจากขี้ผึ้ง มาตกแต่งปราสาท ประดับประดาให้สวยงาม ส่วนรูปทรงของปราสาทผึ้งก็มีหลากหลาย เช่น ทรงตะลุ่ม ทรงหอมียอดประดับหลังคา ทรงสิมหรืออุโบสถแบบอีสาน เป็นต้น
“ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง” ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 ต.ค. บริเวณสนามมิ่งเมืองสกลนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ และวัดพระธาตุเชิงชุม โดยมีกิจกรรมการแข่งขันเรือยาว ประกวดพานบายศรี มีขบวนแห่ปราสาทผึ้งในวันที่ 11 ต.ค. และในวันที่ 12 ก็จะมีการทำบุญตักบาตรเนื่องในวันออกพรรษาด้วย
ส่วนอีกหนึ่งงานเทศกาลที่ผู้คนพากันหลั่งไหลไปชมก็คือ “เทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาค” ที่ จ.หนองคาย ความน่าอัศจรรย์ใจอยู่ที่ปรากฏการณ์ลูกไฟประหลาดที่พุ่งขึ้นจากลำน้ำโขง โดยเฉพาะที่ จ.หนองคาย บริเวณริมแม่น้ำฝั่งโขง รวมไปถึงบริเวณจังหวัดใกล้เคียง เช่นที่ จ.บึงกาฬ โดยจะปรากฏลูกไฟให้เห็นในคืนวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี ซึ่งก็คือวันออกพรรษานั่นเอง
ที่ จ.นครพนม มี “ประเพณีไหลเรือไฟ” เป็นประเพณีลอยกระทงตามแบบอีสานจะจัดขึ้นในเทศกาลออกพรรษา เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ และยังเป็นการแสดงความเคารพต่อพญานาคที่สถิตอยู่ในลำน้ำโขง เรือไฟคือเรือที่ทำด้วยท่อนกล้วยและไม้ไผ่ ข้างในบรรจุขนม ข้าวต้มผัด หรือสิ่งที่ต้องการบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูปเทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวในยามค่ำคืนก่อนจะปล่อยเรือไฟ สำหรับปีนี้ งานไหลเรือไฟจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-13 ต.ค. บริเวณริมแม่น้ำโขงเทศบาลเมืองนครพนม โดยภายในงานจะมีพิธีอัญเชิญไฟพระฤกษ์ การประกวดเรือไฟ การลอยกระทงสาย เป็นต้น
ส่วนที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ก็มี “ประเพณีลอยผาสาด” ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวเชียงคาน เป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ เสริมดวงชะตา และระลึกถึงบุญคุณของลำน้ำโขง โดยผาสาดนี้มีลักษณะคล้ายกระทง ตกแต่งด้วยดอกผึ้งเทียน ดอกไม้ ของคาวหวาน นำลงไปลอยในน้ำโขงเพื่อนำสิ่งโชคร้ายปล่อยไป สำหรับปีนี้ งานลอยผาสาดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-13 ต.ค. บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงคาน โดยมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งลอยผาสาด แห่ปราสาทผึ้ง การไหลเรือไฟ แข่งขันเรือยาว และการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน
ภาคกลาง ตักบาตรเทโว-รับบัวโยนบัว
สำหรับในภาคกลาง ประเพณีที่นับว่าเป็นที่รู้จักกันมากก็คือ “ประเพณีตักบาตรเทโว” ที่ จัดขึ้น ณ วัดสังกัสรัตนคีรี จ.อุทัยธานี ตามความเชื่อที่ว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ภายหลังขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ โดยเสด็จลงมาทางบันไดทิพย์ ซึ่งที่วัดสังกัสรัตนคีรี มีบันไดทอดยาวลงมาจากยอดเขาสะแกกรังลงมาสู่เบื้องล่างรวม 499 ขั้น ที่ถือว่าเป็นบันไดจากสรวงสวรรค์
ประเพณีตักบาตรเทโวจะจัดขึ้นในวันแรม 1 และ 2 ค่ำเดือน 11 ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 13-14 ต.ค. ในวันตักบาตรเทโวนั้นพระสงฆ์จำนวน 500 รูป จะเดินลงมาจากยอดเขาสะแกกรังโดยที่ต้นขบวนนั้นนำด้วยพระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ และผู้ที่แต่งตัวเป็นพระอินทร์ พรหม และเทวดา เมื่อขบวนลงมาถึงลานวัดสังกัสรัตนคีรีที่เชิงเขา ประชาชนที่มาเข้าร่วมพิธีกันอย่างเนืองแน่นก็จะพากันใส่บาตรด้วยข้าวสารอาหารแห้งและข้าวต้มลูกโยน
ส่วนที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ มี “ประเพณีรับบัวโยนบัว” ที่สืบทอดกันมายาวนานของชาวบางพลี จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 และช่วงเช้าตรู่ของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 สำหรับในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 ต.ค. โดยเฉพาะในวันที่ 11 ตุลาคม ตั้งแต่เช้าตรู่เป็นต้นไป มีการจัดขบวนแห่ทางเรือของหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน เพื่อให้ผู้คนสักการะบูชาด้วยดอกบัว ซึ่งจะเป็นการโยนดอกบัวลงในเรือขบวนแห่พระพุทธรูปจำลองของหลวงพ่อโต และในขณะเดียวกันชาวบางพลีก็จะโยนบัวให้กับคนต่างบ้านที่พายเรือมาเที่ยวด้วย เพื่อเป็นการทำบุญร่วมกัน
ภาคใต้ ขึ้นโขนชิงธง-แข่งโพนลากพระ
ส่วนของภาคใต้นั้น ในช่วงเทศกาลออกพรรษาก็จะนิยมจัดการแข่งเรือขึ้น ซึ่งมักจะพ่วงประเพณีแห่พระและแข่งเรือ เช่นที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร “ประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง” ซึ่งในปีนี้ งานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-16 ต.ค. บริเวณลุ่มน้ำหลังสวน เป็นงานประเพณีเก่าแก่ของ อ.หลังสวน ที่มีมานานกว่า 100 ปี โดยมีความเชื่อว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จกลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาสู่เมืองสังกัสสะในชมพูทวีป พุทธศาสนิกชนจึงเดินทางไปรับเสด็จเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเดินทางที่สะดวกในสมัยนั้นคือทางน้ำ จึงมีโอกาสได้พบปะสังสรรค์กัน และต่อมาจึงเกิดเป็นประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้น
การขึ้นโขนชิงธงแตกต่างจากการแข่งเรือที่อื่นๆ คือ การแข่งขันเรือยาวโดยทั่วๆ ไปจะเป็นแข่งขันกันด้วยความเร็ว เรือลำใดพายเข้าเส้นชัยก่อนก็จะเป็นฝ่ายชนะ แต่การแข่งเรือยาวของชาวลุ่มน้ำหลังสวนนั้น นอกจากจะใช้ความเร็วเป็นเครื่องประกอบแล้ว สิ่งสำคัญที่แตกต่างจากการแข่งขันในถิ่นอื่นๆ ก็คือ การขึ้นโขนชิงธง เมื่อเรือถึงช่วงสุดท้าย นายหัวเรือก็จะโยนไม้พายทิ้งเพื่อจะขึ้นไปชักธง ผู้ที่ชิงได้ก่อนถือว่าเป็นผู้ชนะ
อีกประเพณีหนึ่งที่นิยมทำกันในภาคใต้ช่วงเดือน 11 ก็คือ ประเพณีลากพระ ซึ่งการลากพระนั้นมีอยู่ 2 ลักษณะ ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ คือ ลากพระทางบกและลากพระทางน้ำ สำหรับที่ จ.พัทลุง เป็นการลากพระทางบก ซึ่งจะมีการตีโพน (กลอง) เพื่อควบคุมจังหวะในการลากพระ ขบวนพระลากของแต่ละวัดก็จะมีผู้ตีโพนอยู่บนขบวน และเมื่อผ่านวัดต่างๆ ก็จะมีการตีโพนท้าทายกัน ทำให้มีการแข่งขันตีโพนเกิดขึ้น จนเกิดเป็น “ประเพณีแข่งโพนลากพระ”
ในปีนี้ งานแข่งโพนลากพระจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-13 ต.ค. บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองพัทลุง ภายในงานก็จะมีกิจกรรมประเพณีลากพระหรือชักพระ การตีโพนลากพระ การแข่งขันตีโพนชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ พิธีตักบาตรเทโว การแสดงพื้นบ้าน ขบวนแห่เรือพระ และการประกวดธิดาโพน
งานบุญในเทศกาลออกพรรษาของแต่ละพื้นที่นั้นก็ต่างมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำบุญในวันพระใหญ่ เพื่อให้เป็นสิริมงคลกับตัวเองและคนรอบข้างแล้ว ก็ยังเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น และยังถือเป็นกิจกรรมสนุกสนานที่มีผู้คนมารวมตัวกัน สร้างความสมัครสมานสามัคคีได้เป็นอย่างดี