ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.- จริงหรือหิ่งห้อยเรืองแสงตอนกลางวัน? การเรืองแสงของหิ่งห้อยนำไปใช้ตรวจคราบเลือดได้อย่างไร? ส่วนประกอบจากต้นกล้วยใช้แยกน้ำกับน้ำมันได้จริงหรือไม่? สุดเจ๋ง!ใช้ปลาเป็นต้นแบบสร้างหุ่นยนต์สอดแนม?
ทั้งหมดนั้นคือบางส่วนของกิจกรรมที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์และคณะครูกว่า 600 ชีวิต จาก 15 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ 1 เขตเศรษฐกิจรับเชิญได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันใน “เทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4 (The 4th APEC Youth Science Festival: 4th AYSF 2011) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-26 ส.ค.54 ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานร่วมการจัดงาน
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวว่า เทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4 นี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “จากธรรมชาติสู่เทคโนโลยี – From Nature to Technology” โดยหวังจะให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากความอัจฉริยะของธรรมชาติ ใช้ธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ และสร้างความสมดุลกับสิ่งแวดล้อม
“รูปแบบของกิจกรรมในครั้งนี้มีความพิเศษกว่าครั้งก่อนๆ คือ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ สวทช. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และวิทยากรจากมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง ได้ร่วมมือกันจัดค่ายวิทยาศาสตร์ถึง 9 ค่าย ได้แก่ ค่ายบัว ค่ายกล้วย ค่ายหุ่นยนต์ปลา ค่ายนักสืบสิ่งมีชีวิตเปล่งแสง ค่ายความหลากหลายทางชีวภาพ ค่ายมหัศจรรย์พลังงานปรมาณู ค่ายโอริงามิ ค่ายจรวดขวดน้ำ ค่ายสร้างกล้องดูดาว” ดร.อ้อมใจกล่าว
เนื้อหาในค่ายส่วนใหญ่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ถึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการทดลองและลงมือทำ รวมทั้งยังมีการสอดแทรกด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนไทยไว้ด้วย สำหรับตัวอย่างกิจกรรม เช่น ค่ายกล้วย เด็กๆ ได้รู้จักกับต้นกล้วยชนิดต่างๆ การใช้ประโยชน์จากกล้วย อาทิ การนำใบตองมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร สนุกกับการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยการใช้ส่วนประกอบจากต้นกล้วยแยกน้ำมันออกจากน้ำ ค่ายนักสืบสิ่งมีชีวิตเปล่งแสง เด็กๆ ได้ทดลองสวมบทบาทการเป็นนักสืบ และใช้สารเรืองแสงติดตามรอยคราบเลือดเพื่อหาผู้ร้าย ซึ่งครั้งนี้เราได้รับความร่วมมือกับจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่เข้ามาจำลองสถานการณ์การฆาตกรรมให้เด็กๆ ร่วมสืบค้น ผจญภัยกัน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเรียนรู้นอกสถานที่ เช่น ค่ายหุ่นยนต์ปลา เด็กๆ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสยามโอเชี่ยนเวิลด์ เพื่อศึกษาลักษณะรูปร่าง การเคลื่อนไหว และความโดดเด่น ของปลา เพื่อนำมาประยุกต์ต่อยอดทางด้านเทคโนโลยีประดิษฐ์หุ่นยนต์ปลาที่เคลื่อนไหวได้จริง พร้อมกันนี้ยังมีค่ายความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เด็กๆ ได้ออกไปศึกษาธรรมชาติจากผืนป่าดิบแล้ง ที่อุดมสมบูรณ์ ณ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา เป็นต้น
“ท้ายที่สุดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กๆ จะสนุก ได้เพิ่มพูนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และพบเจอเพื่อนใหม่ๆ เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานวิจัยในอนาคต ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้แสดงถึงความพร้อมและศักยภาพในการจัดงานด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลกด้วย” ดร.อ้อมใจกล่าว
จุน ฮา ปาร์ก (Mr. Jun Ha Park) นักเรียนจากสถาบันวิทยาศาสตร์เกาหลี (Korea Science Academy of KAIST) จากสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวว่า การได้เข้ามาร่วมงานครั้งนี้รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก นอกจากจะพบเจอเพื่อนใหม่ๆ จากหลายประเทศแล้ว ยังทำให้ค้นพบว่าวิทยาศาสตร์สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร
“กิจกรรมที่ประทับใจมาก คือ นักสืบสิ่งมีชีวิตเปล่งแสง ที่ได้สวมบทบาทนักสืบนิติวิทยาศาสตร์ ได้ใช้สารลูมินอล ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีกระบวนการทำงานเช่นเดียวกับโปรตีนเรืองแสงในสิ่งมีชีวิต มาติดตามพิสูจน์รอยคราบเลือด โดยสารดังกล่าวเป็นสารที่ตำรวจใช้ในการตามหาร่องรอยในคดีการฆาตกรรมจริงๆ ซึ่งน่าอัศจรรย์มาก ทำให้เราเห็นจริงๆ ว่าวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงกับชีวิตของเราได้อย่างไร เป็นไอเดียใหม่ๆ ให้เรานำไปใช้พัฒนาต่อยอดงานวิจัยที่ทำอยู่” จุน ฮา ปาร์กกล่าว
ด้าน แคโรลีน ลีช (Ms.Caroline Leach) นักเรียนจาก วิทยาลัยนิวราแองลิแคน (Nowra Anglican College) ออสเตรเลีย กล่าวว่า การเดินทางมาร่วมงานครั้งนี้คุ้มค่ามาก ได้ทำกิจกรรมหลายอย่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น ค่ายกล้วย ทึ่งมาก เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีกล้วยหลากหลายสายพันธุ์ขนาดนี้ และทุกส่วนของต้นกล้วยนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะนำการกาบกล้วยมาใช้แยกน้ำมันกับน้ำสีแดงออกจากกัน
“ตอนทดลองสนุกมาก ครั้งแรกที่ได้โจทย์มาไม่คิดว่าจะเอามาใช้ได้ แต่พอทดลองทำให้รู้ว่าเมื่อนำกาบกล้วยมาบดแล้วจะใช้เป็นตัวกรองน้ำมันได้ เพราะว่าในกาบกล้วยมีสารคิวตินและมีสารที่มีขั้วเดียวกับน้ำมัน จึงทำให้จับกับน้ำมันได้ เป็นความรู้ใหม่ที่เยี่ยมมมาก เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเลยทีเดียว” ลีชกล่าว
ส่วน มินูโอชา จันทราโมหัน (Ms.Minuoja Chandramohan) นักเรียนจาก โรงเรียนเอคอล แมร์กูเร-เดอ ลาชองเมอเร (Ecole Marguerite-De Lajemmerais) แคนาดา กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้ ได้พบเห็นหลายสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ค่ายนักสืบสิ่งมีชีวิตเปล่งแสง ประทับใจมากเพราะไม่เคยเห็นหิ่งห้อยมาก่อน แต่งานนี้ ดร.อัญชนา ท่านเจริญ ได้นำหิ่งห้อยจริงๆ มาให้ดู ก็รู้สึกตื่นเต้นมาก ชอบ เวลากะพริบแสงสวย น่ารัก และที่รู้สึกทึ่งมากๆ คือ ปกติหิ่งห้อยจะกะพริบแสงตอนกลางคืน แต่นักวิทยาศาสตร์ท่านนี้สามารถปรับเวลา หลอกพวกมันให้เปลี่ยนมากะพริบแสงในช่วงกลางวันได้ น่าสนใจมากว่าพวกมันเปล่งแสงออกมาได้อย่างไร และทำไมจึงปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการกะพริบแสงได้เช่นนี้
น.ส.ภาราดา พีรชัยเดโช นักเรียนจากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า การได้มาร่วมงานนี้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ ด้านวิทยาศาสตร์อย่างมาก ได้ฝึกภาษา และเรียนรู้วัฒนธรรมจากเพื่อนต่างชาติ และรู้สึกดีที่ได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านในการดูแลและทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ด้วย มีหลายกิจกรรมที่ชอบ โดยเฉพาะค่ายจรวดขวดน้ำ ได้เรียนรู้เรื่องการสร้างจรวด การปล่อยจรวดที่ได้ทดลองปล่อยจรวดขวดน้ำ ซึ่งบินไปได้สูงมาก
“รู้สึกดีมากค่ะ สนุกมากค่ะ และชอบค่ายโอริงามิ เมื่อก่อนพับกระดาษได้แค่ 2 มิติ เป็นเครื่องบิน เป็นเรือ ไม่ได้เอามาใช้งานได้ แต่ครั้งนี้ได้ลองพับเป็นกล่องที่นำมาใช้งานได้หลายรูปแบบ และยังมีพี่ปอม (นายเอกสิทธิ์ เข้มงวด) นักพับกระดาษชื่อดัง มาสอนพับไดโนเสาร์ ซึ่งทำให้เรารู้จักวิธีการที่จะสร้างสรรค์การพับกระดาษรูปแบบใหม่ๆ และระหว่างการพับก็ได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ เช่นการพับกระดาษให้เท่ากันแบบสมมาตรด้วย” น.ส.ภาราดากล่าว