xs
xsm
sm
md
lg

ท่องโลกดึกดำบรรพ์กลางมหานคร ที่ “พิพิธภัณฑ์ Bio-Geo Path”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ครอบครัวมนุษย์ถ้ำ
ยังจำได้ว่า ตอนเด็กฉันเคยสงสัยว่าโลกเป็นมาอย่างไร และมนุษย์เราเกิดมาจากอะไร แต่เมื่อเข้าเรียนก็พอจะได้เรียนเรื่องเหล่านี้มาบ้าง แต่พูดตามตรงก็คือฉันแทบจะลืมไปหมดแล้ว เพราะมันเป็นการเรียนที่ผ่านการท่องจำเป็นหลัก

จนมาวันนี้ หลังจากที่ฉันได้นั่งรถผ่านเส้นทางถนนพระราม 6 ช่วงถนนสายวิทยาศาสตร์อยู่บ่อยครั้ง ทำให้เห็นว่าที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท มีสวนไม้ใหญ่เหมือนสวนป่าน่าเดินเล่นเป็นอย่างมาก เมื่อมีโอกาสได้มาต่อรถ ฉันจึงเดินเข้าไปชมอย่างที่เคยตั้งใจไว้
ยุคเดโวเนียน ยุคแห่งปลา
แล้วสิ่งที่ฉันเจอไม่ใช่แค่สวนไม้ใหญ่อันร่มรื่น แต่ยังได้ถูกจัดเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งไว้ด้วย ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ Bio-Geo Path” ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์ จัดสร้างในรูปแบบเส้นทางชีววิทยาและธรณีศาสตร์ อันเป็นเส้นทางวิวัฒนาการของธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเองจากของจริงและรูปแบบจำลอง

โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 บนเนื้อที่ของสวนไม้ใหญ่กลางกรุง พื้นที่จัดแสดงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยจะจัดแสดงเรื่องราวตั้งแต่การกำเนิดโลก ผ่านมหายุคและยุคทางธรณีกาลต่างๆเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน ระยะทางเดินเท้ายาวประมาณ 100 เมตร
จำลองต้นเลปิโดเดนดรอนซึ่งสูงกว่า 40 ม.
ฉันได้รับเกียรติจาก ดร. ศศิวิมล แสวงผล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ได้เล่าเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งนี้ว่า แหล่งเรียนรู้นี้เป็นที่รวบรวมวัตถุธรณีประเภทหินแร่ และซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นตัวอย่างมาตรฐานที่พบในประเทศไทยและภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงพันธุ์ไม้เด่นๆที่พบในช่วงธรณีกาลหนึ่งๆด้วย
กรามปลาฉลามขนาดเท่าจริงเมื่อ300ล้านปีที่แล้ว
เอาล่ะ เมื่อทุกคนพร้อมแล้วเราจะย้อนกลับไปในอดีตอันไกลโพ้นนนนนน ยังยุคที่โลกของเราถือกำเนิดพร้อมระบบสุริยจักรวาลเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีที่แล้ว โดยได้แบ่งเป็นยุคใหญ่ๆ 4 ยุคด้วยกัน เริ่มจาก “มหายุคพรีแคมเบรียน” นับตั้งแต่ก่อน 542 ล้านปีที่แล้ว หรือ 3,800 ล้านปีก่อนกำเนิดสิ่งมีชีวิต ในช่วงแรกเปลือกโลกยังไม่เสถียร เต็มไปด้วยภูเขาไฟพ่นก๊าซร้อน และกลุ่มหินที่มักพบอยู่ล่างสุดเป็นพวกหินแปร โดยตามทางเดินเราจะพบกับหินแปรที่ขุดค้นพบในสถานที่ต่างๆ
กิ้งก่าอีดาโพซอรัสสัตว์มีแผงหลังในยุคเพอร์เมียน
ทางเดินพาเรามาถึงยัง “มหายุคพาเลโอโซอิก” หรือเรียกอีกชื่อว่า “มหายุคเก่า” ระยะเวลาราว 542-250 ล้านปีมาแล้ว มหายุคนี้แบ่งได้เป็นอีก 6 ยุคย่อยๆ คือ ยุคแคมเบรียน ยุคออร์โดวิเชียน ยุคไซลูเรียน ยุคเดโวเนียน ยุคคาร์บอนิเฟอรัส และยุคเพอร์เมียน

โดยช่วงมหายุคนี้จะพบหินตะกอนและซากดึกดำบรรพ์ที่บ่งบอกการเป็นทะเลน้ำตื้น เช่น หินทรายยุคแคมเบรียนที่เกาะตะรุเตา โดยมีบางพื้นที่ในบางยุคเป็นทะเลลึก และทะเลน้ำแข็ง มีหินอัคนีเกิดขึ้นบ้าง และพบหินตะกอน พวกหินทราย หินดินดาน หินปูนชั้นบาง หินปูนชั้นหนา และหินเชิร์ต จากนั้นเมื่อเดินมาเรื่อย ๆ จะเป็นป่าโบราณในยุคคาร์บอนิเฟอรัสแบบป่าดิบร้อนชื้น หลากหลายไปด้วยพืชจำพวกเฟิร์น ปรง และพืชพวกสน รวมทั้งบรรพบุรุษของพวกสร้อยนางกรอง-ช้องนางคลี่ เช่น เลปิโดเดนดรอน สูงกว่า 40 เมตร ซึ่งย่อส่วนลงมาให้ดูกันในบริเวณนี้
แมลงปอตัวใหญ่ยักษ์ขนาดเท่าจริงในช่วงมหายุคพาเลโอโซอิก
ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณในยุคนี้เป็นต้นกำเนิดของน้ำมันดิบ ซึ่งเกิดจากการทับถมของซากพืชปริมาณมหาศาล และเมื่อเดินต่อมา จะพบกรามปลาฉลามขนาดใหญ่ ซึ่งจำลองมาให้มีขนาดเท่าจริง โดยนักบรรพชีวินวิทยาประมาณซากดึกดำบรรพ์นี้อาจมีอายุประมาณ 300 ล้านปี นอกจากนี้ยังมีแมลงปอตัวใหญ่ยักษ์ ถัดมาเป็นหินปูนชุดสระบุรี อายุประมาณ 300-400 ล้านปี และเป็นยุคที่พบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลื้อยคลานมีขนปีก ชื่อ อาคีออปเทอริกซ์ หรือ ปีกโบราณ ขนาดความสูงประมาณ 1 ฟุต ซึ่งเป็นหลักฐานว่านกมีวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลาน
อาร์คีออปเทอริกซ์ หลักฐานของนกที่มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลาน
มหายุคต่อมาคือ “มหายุคมีโซโซอิก” หรือ “มหายุคกลาง” อยู่ในช่วง 250-65ล้านปีที่แล้ว โดยแบ่งเป็น 3 ยุค คือ ยุคไตรแอสสิก ยุคจูแรสสิก และยุคครีเตเซียส ซึ่งในมหายุคนี้พบการสะสมตัวของหินปูนและหินตะกอนต่อเนื่องจากยุคไตรแอสสิกถึงยุคจูแรสสิก เช่น หินปูน หินดินดาน ที่ลำปาง ตาก และพบซากไดโนเสาร์ จระเข้ เต่า ปลาน้ำจืด ไม้กลายเป็นหิน ฯลฯ ในหินชั้นต่าง ๆ
เส้นทางเดินศึกษาชีววิทยาและธรณีศาสตร์
อีกทั้งมหายุคนี้ ยังพบหินอัคนีประเภทหินแกรนิต แทรกขึ้นมาเป็นแนวยาวเหนือ-ใต้ในประเทศไทย หินเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการเกิดแร่โลหะต่าง ๆ เช่น ทองคำ ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก ทังสเตน และแร่อโลหะ เช่น ฟลูออไรต์ แบไรต์ และเฟลด์สปาร์ จุดสิ้นสุดของมหายุคนี้คือการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว และยังมีการจำลองวิธีการเกิดฟอสซิลโดยการทับถมของตะกอนให้เราเข้าใจกันอย่างง่ายๆ ด้วย
จำลองวิธีการเกิดฟอสซิลโดยการทับถมของตะกอน
เดินท่องโลกกันมาหลายล้านปีแล้วก็มาถึงยังยุคสุดท้าย คือ “มหายุคซีโนโซอิก” หรือ “มหายุคใหม่” ซึ่งอยู่ในช่วง 65 ล้านปีที่แล้วถึงปัจจุบัน มหายุคนี้แบ่งเป็น 2 ยุค ยุคแรกคือ ยุคเทอร์เชียรี เป็นยุคที่มีการสะสมตัวของแอ่งตะกอนน้ำจืดระหว่างภูเขา ในแอ่งมีการสะสมตะกอนและซากพืชซากสัตว์มากมาย ทำให้เกิดถ่านหิน น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และดินเหนียวบอลเคลย์ ยุคนี้เป็นช่วงเวลาการกระจายพันธุ์ครั้งใหญ่ของพืชดอกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
 ไดโนเสาร์ขนาดเล็กจำลองในยุคก่อนสิ้นสุดมหายุคมีโซโซอิก
ต่อมาในยุคควอเทอร์นารี เมื่อ 2 ล้านปีที่แล้วยาวมาจนถึงปัจจุบัน เป็นยุคของมนุษย์ มีการระเบิดของภูเขาไฟตามแนวรอยแตกลึกลงไปจากพื้นผิวโลก มีการขุดค้นพบบรรพบุรุษของมนุษย์ และพบซากดึกดำบรรพ์ เช่น หอยต่าง ๆ เต่า แพนด้า ปลา เป็นต้น

ซึ่งไฮไลท์ของช่วงนี้คือ ช้างแมมมอธ ขนาดครึ่งเท่าความสูงของตัวจริง เยื้องย่างอยู่ใกล้ๆ กับมนุษย์ถ้ำ ซึ่งจำลองมาเป็นครอบครัวแบบจับต้องได้ และพืชกาฝากสกุลบัวผุด ซึ่งมีดอกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ยังพบได้ในป่าทางใต้ของประเทศไทย ถือเป็นดอกไม้ดึกดำบรรพ์ทีเดียว
ช้างแมมมอธ ขนาดครึ่งเท่าตัวจริง
ไม่น่าเชื่อว่าระยะทางประมาณ 100 เมตรนี้ จะทำให้เราได้รับความรู้มากมาย ฉันคิดว่าต้องถูกใจเด็กๆหลายต่อหลายคนเป็นแน่แท้ และการได้มาเยือนพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งนี้ อาจเป็นการจุดประกายและสร้างนักบรรพชีวินวิทยาในอนาคตผ่านการท่องโลกดึกดำบรรพ์ในอดีต ณ ใจกลางกรุงเทพมหานครแห่งนี้ก็เป็นได้
พืชกาฝากสกุลบัวผุดที่ยังมีจนปัจจุบัน

*  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *

“พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง Bio-Geo Path” ตั้งอยู่ที่ ถ.พระราม6 (ใกล้กับร.พ.รามาฯ) แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ หากมาเป็นหมู่คณะและต้องการเจ้าหน้าที่นำชม สามารถติดต่อล่วงหน้า(ประมาณ 1-2สัปดาห์)ที่งานประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2201-5032

กำลังโหลดความคิดเห็น