โดย : ปิ่น บุตรี
อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นอกจากจะมีหาดทรายชายทะเลใกล้กรุงอันสวยงามแล้ว อำเภอนี้ยังมี “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน”เป็นอีกหนึ่งสิ่งเชิดหน้าชูตาและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสโลแกนร่วม“เมืองงามสามวัง” ของเมืองเพชร ที่เป็นที่คุ้นหูบรรดาขาเที่ยวกันเป็นอย่างดี
พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน สร้างขึ้นจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ให้เป็นที่ประทับสำหรับการเสด็จแปรพระราชฐานฤดูร้อน โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่ ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2467 พร้อมพระราชทานชื่อว่า “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ที่มีความหมายว่า “สวนกวาง”
ในการก่อสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวันนั้น ว่ากันว่าพระองค์ท่านทรงร่างแบบเองบนผืนทราย แล้วจึงให้สถาปนิกชาวอิตาลีเขียนแบบขึ้นมาแล้วนำไปก่อสร้างจริงอีกทีหนึ่ง
พระราชวังแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็น“พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง” ตามเรื่องราวที่มีการเล่าขานสืบกันมาว่า
...เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี ทรงพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเกษมสำราญยิ่ง แต่ความหวังนั้นก็สิ้นไปเมื่อสมเด็จฯ ไม่สามารถมีพระประสูติกาลได้ พระองค์ได้ทรงอภิบาลพระมเหสีด้วยน้ำพระทัยเป็นห่วงและเศร้าสร้อย ด้วยทรงหวังว่าจะมีพระราชโอรสไว้สืบราชสันตติวงศ์ จึงเกิดเป็นที่มาของพระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวังขึ้น
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน รับการเสด็จมาประทับของรัชกาลที่ 6 ครั้งสุดท้าย ในวันที่ 12 เมษายน - 20 มิถุนายน 2468 จากนั้นเมื่อเสด็จกลับสู่พระนคร อีกไม่นานพระองค์ท่านก็เสด็จสวรรคตเมื่อเวลา 01.45 น.ของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ยังความโศกเศร้าต่อพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง
หลังการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 6 พระราชนิเวศน์มฤคทายวันก็ถูกทิ้งร้างเป็นเวลากว่า 60 ปี กระทั่งในปีพ.ศ.2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบันทรงโปรดเกล้าฯ ให้กองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนที่บริเวณนี้เป็นที่ฝึกอบรม ให้ทำการบูรณะซ่อมแซมอาคารแห่งนี้ พร้อมจัดตั้งมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันขึ้น เพื่อสืบทอดมรดกของชาติให้คงอยู่ต่อไป
สถาปัตยกรรมทรงคุณค่า
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน สร้างด้วยไม้สักทอง เป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ผสมยุโรป เปิดโล่งสองชั้น ใต้ถุนสูงโล่งโปร่ง หลังคาเป็นทรงปั้นหยาแบบไทยมุงกระเบื้องว่าว หันหน้าออกสู่ทะเลรับลมธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาคนรุ่นก่อนที่รู้จักนำประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้ได้เป็นอย่างดี
พระราชวังแห่งนี้ มีการนำเทคนิค “ระบบพิกัด”(Modular System)มาใช้ในการรับน้ำหนัก ไม่ใช่เสาใหญ่แต่จะใช้เสาขนาดเล็กจำนวนมากถึง 1,080 ต้น วางในระยะห่างเท่ากันทุกตัวเพื่อความสวยงามของอาคาร พร้อมกับทำ “บัวขอบ” ที่เป็นการยกขอบเสาขึ้นเป็นรางหล่อ เพื่อหล่อน้ำกันมดและแมลง ทำให้เสาที่นี่ดูมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน มีอาคาร 16 หลัง มีระเบียงทางเดินเชื่อมต่อถึงกัน แบ่งเป็นหมู่พระที่นั่งใหญ่ 3 องค์ มีชื่อคล้องจองไพเราะเสนาะหู ได้แก่ “พระที่นั่งสมุทรพิมาน” “พระที่นั่งพิศาลสาคร” และ “พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์”
พระที่นั่งทั้ง 3 องค์ ต่างก็มีจุดเด่นน่าสนใจแตกต่างกันออกไป โดยพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ที่ตั้งอยู่ในส่วนหน้าสุดที่เป็นอาคารสองชั้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เปรียบได้กับท้องพระโรง สถานที่ว่าราชการ ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นเวทีการแสดงละครอีกด้วย
ชั้นบนของหมู่พระที่นั่งองค์นี้เชื่อมกับหมู่พระที่นั่งพิศาลสาคร สถานที่ประทับของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีอาคารเป็นบริวารอยู่หลายหลังด้วยกัน อาทิ ห้องพระบรรทม ห้องพระอักษร ห้องแต่งพระองค์และห้องสรง
บริเวณพระที่นั่งพิศาลสาคร มองออกไปจะพบระเบียงทอดยาวตรงไปยังศาลาลงสรงริมทะเลอันโรแมนติกสวยงาม บนหลังคาศาลาลงสรงมีเสาไม้เป็นรูปกากบาทตั้งโดดเด่นอยู่ ซึ่งใครหลายคนมักตีความผิดเป็นไม้กางเขน แต่อันที่จริงแล้วนี่คือ เสาไม้สำหรับชักโคมไฟในยามค่ำคืนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ข้าราชบริพารในที่นี่รับรู้ในสัญญาณต่างๆ อาทิ ถ้าหากชักโคมไฟสีเหลืองขึ้นจะหมายถึงเวลาที่พระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงฉลองพระองค์ เพื่อเสด็จออกเสวยพระกระยาหารค่ำ หรือหากชักโคมไฟสีเขียวหมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประกอบพระราชกรณียกิจแล้ว ไม่สมควรที่ผู้ใดจะเข้ามาในเขตพระราชฐานที่ประทับอีก
จากพระที่นั่งพิศาลสาคร เมื่อเดินต่อไปบนระเบียงเชื่อมจะพบกับหมู่พระที่นั่งสมุทรพิมาน ซึ่งเป็นที่ประทับฝ่ายใน มีห้องรับแขก ห้องบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องสรง มีหอเสวย(ฝ่ายใน) เป็นห้องในหมู่พระที่นั่งหลังนี้
สำหรับผมแล้วแม้นี่จะไม่ใช่การมาเยือนพระราชนิเวศน์มฤคทายวันครั้งแรก แต่เมื่อมาทีไรก็ยังคงประทับใจในความงามของที่นี่ พร้อมกับมักหวนลำรึกความหลังเมื่อครั้งมีโอกาสได้สัมผัสกับสถานที่แห่งนี้อยู่เสมอ
ความทรงจำ
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ผมคุ้นเคยกับสถานที่แห่งนี้มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนอยู่ ม.ต้น ตั้งแต่ยังไม่ได้ปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สมัยนั้นผมมาเข้าค่ายลูกเสือที่หน่วยกองร้อยตระเวนชายแดน“ค่ายพระรามหก” ซึ่งพี่ๆตชด. โหด มัน ฮา พาผมกับเพื่อนเดินทางไกลกันแบบลากเลือดผ่านมายังพระราชวังแห่งนี้
สมัยนั้นแม้ตัวอาคารพระราชวังยังไม่ได้รับการบูรณะซ่อมอย่างเต็มที่ ตัวอาคารจึงดูเก่าและทรุดโทรม แต่ทว่าก็ยังคงไว้ซึ่งความคลาสสิคสวยสง่า เมื่อมองแล้วช่วยลดทอนความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไกลได้มากโข หลังจากนั้นผมก็มีโอกาสเดินทางมายังพระราชนิเวศน์มฤคทายวันอยู่เรื่อย ได้เห็นถึงวิวัฒนาการบูรณะซ่อมแซมและการบริหารจัดการที่นี่ โดยจากเดิมที่เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบให้คนขึ้นไปเดินดูโน่นดูนี่ตามใจชอบ ก็มีมูลนิธิเข้ามาปรับปรุงบริหาร จัดระเบียบการเที่ยวชม ใครแต่งกายไม่เรียบร้อยโดยเฉพาะสาวๆที่นุ่งสั้น ใส่เสื้อสายเดี่ยว ที่นี่เขาจะมีผ้าเตรียมไว้ให้เปลี่ยน
ขณะที่เจ้าหน้าที่นำชมให้ความรู้ และเฝ้าดูตามจุดต่างๆของที่นี่ เขาจะแต่งกายกันด้วยชุดไทยในสมัย รัชกาลที่ 6 สีสันเปลี่ยนไปตามวัน แต่เน้นที่โทนอ่อนกลมกลืนกันตามความนิยมของยุคนั้น
พิธีบูชาต้นไม้
นอกจากความงดงามของตัวสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าเป็นเอกลักษณ์ของพระราชนิเวศน์มฤคทายวันแล้ว ภายในพระราชวังแห่งนี้ยังดูเขียวชอุ่มชุ่มชื่นสบายตาจากความเขียวสดของสนามหญ้า สวนต่างๆ และมวลหมู่แมกไม้นานาพันธุ์ โดยเฉพาะกับต้นไม้ใหญ่ที่แผ่สยายกิ่งก้านให้ความร่มรื่น ซึ่งตามความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยเชื่อว่าต้นไม้ใหญ่เหล่านี้มีเทวดา อารักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เจ้าที่ อาศัยอยู่
ดังนั้นทางพระราชนิเวศน์มฤคทายวันจึงได้จัดพิธีบูชาต้นไม้ สักการะหมู่พระที่นั่งขึ้น เพื่อเป็นการสักการะเทพ เทวดา ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในต้นไม้ที่ปกปักรักษาบริเวณ และเป็นการขอขมาลาโทษที่ในปีที่ผ่านมาได้ล่วงเกิน ต่อมวลหมู่ต้นไม้ต่างๆ
พิธีบูชาต้นไม้ สักการะหมู่พระที่นั่ง เป็นประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยข้าราชการในพระบรมมหาราชวังฝ่ายใน และเดิมกำหนดให้เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งคนภายนอกทั่วไปไม่มีโอกาสได้รับรู้ถึงประเพณีอันทรงคุณค่าเหล่านี้
แต่หลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริต่อบุคคลใกล้ชิดให้ช่วยกันอนุรักษ์ สืบสานประเพณีไทยอันดีงามที่ใกล้จะสูญหายให้คงอยู่ ทางพระราชนิเวศน์มฤคทายวันจึงสืบสานแนวพระราชดำริด้วยการจัดประเพณีบูชาต้นไม้ขึ้น พร้อมเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมในพิธีนี้
สำหรับพิธีบูชาต้นไม้ในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมีคุณหญิงเสริมศรี บุนนาค มาเป็นประธานในพิธี นำสวด และนำผูกไถ้เงินไถ้ทอง
ในส่วนของเครื่องบวงสรวงนั้น ประกอบด้วย เครื่องคาว เครื่องหวาน ที่ยึดตามอย่างของวังฝ่ายใน ผลไม้ เครื่องพิธี อาทิ บายศรี ธูปเทียน ดอกไม้ ซึ่งดอกไม้จะเน้นดอกดาวเรืองเป็นหลัก ตามชื่อที่เป็นมงคล ร่วมด้วยดอกเข้าพรรษาที่ออกตามฤดูกาลในช่วงเข้าพรรษาของทุกๆปี
ทั้งนี้หลังพิธีผ่านพ้น พิพัฒน์พงษ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้แทนพิเศษสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า พิธีบูชาต้นไม้ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ถือฤกษ์ 1 สัปดาห์ก่อนเข้าพรรษา ซึ่งในฤดูฝนโดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา ต้นไม้จะเจริญงอกงามดี จึงไม่ควรตัดแต่งกิ่งก้านต้นไม้ในช่วงนี้
นั่นจึงทำให้เห็นว่า พิธีบูชาต้นไม้ สักการะหมู่พระที่นั่งของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณีเก่าแก่ทรงคุณค่าให้คงอยู่แล้ว ยังเป็นการร่วมอนุรักษ์ต้นไม้ให้คงอยู่คู่โลกอีกทางหนึ่งด้วย
อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นอกจากจะมีหาดทรายชายทะเลใกล้กรุงอันสวยงามแล้ว อำเภอนี้ยังมี “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน”เป็นอีกหนึ่งสิ่งเชิดหน้าชูตาและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสโลแกนร่วม“เมืองงามสามวัง” ของเมืองเพชร ที่เป็นที่คุ้นหูบรรดาขาเที่ยวกันเป็นอย่างดี
พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน สร้างขึ้นจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ให้เป็นที่ประทับสำหรับการเสด็จแปรพระราชฐานฤดูร้อน โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่ ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2467 พร้อมพระราชทานชื่อว่า “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ที่มีความหมายว่า “สวนกวาง”
ในการก่อสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวันนั้น ว่ากันว่าพระองค์ท่านทรงร่างแบบเองบนผืนทราย แล้วจึงให้สถาปนิกชาวอิตาลีเขียนแบบขึ้นมาแล้วนำไปก่อสร้างจริงอีกทีหนึ่ง
พระราชวังแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็น“พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง” ตามเรื่องราวที่มีการเล่าขานสืบกันมาว่า
...เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี ทรงพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเกษมสำราญยิ่ง แต่ความหวังนั้นก็สิ้นไปเมื่อสมเด็จฯ ไม่สามารถมีพระประสูติกาลได้ พระองค์ได้ทรงอภิบาลพระมเหสีด้วยน้ำพระทัยเป็นห่วงและเศร้าสร้อย ด้วยทรงหวังว่าจะมีพระราชโอรสไว้สืบราชสันตติวงศ์ จึงเกิดเป็นที่มาของพระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวังขึ้น
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน รับการเสด็จมาประทับของรัชกาลที่ 6 ครั้งสุดท้าย ในวันที่ 12 เมษายน - 20 มิถุนายน 2468 จากนั้นเมื่อเสด็จกลับสู่พระนคร อีกไม่นานพระองค์ท่านก็เสด็จสวรรคตเมื่อเวลา 01.45 น.ของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ยังความโศกเศร้าต่อพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง
หลังการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 6 พระราชนิเวศน์มฤคทายวันก็ถูกทิ้งร้างเป็นเวลากว่า 60 ปี กระทั่งในปีพ.ศ.2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบันทรงโปรดเกล้าฯ ให้กองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนที่บริเวณนี้เป็นที่ฝึกอบรม ให้ทำการบูรณะซ่อมแซมอาคารแห่งนี้ พร้อมจัดตั้งมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันขึ้น เพื่อสืบทอดมรดกของชาติให้คงอยู่ต่อไป
สถาปัตยกรรมทรงคุณค่า
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน สร้างด้วยไม้สักทอง เป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ผสมยุโรป เปิดโล่งสองชั้น ใต้ถุนสูงโล่งโปร่ง หลังคาเป็นทรงปั้นหยาแบบไทยมุงกระเบื้องว่าว หันหน้าออกสู่ทะเลรับลมธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาคนรุ่นก่อนที่รู้จักนำประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้ได้เป็นอย่างดี
พระราชวังแห่งนี้ มีการนำเทคนิค “ระบบพิกัด”(Modular System)มาใช้ในการรับน้ำหนัก ไม่ใช่เสาใหญ่แต่จะใช้เสาขนาดเล็กจำนวนมากถึง 1,080 ต้น วางในระยะห่างเท่ากันทุกตัวเพื่อความสวยงามของอาคาร พร้อมกับทำ “บัวขอบ” ที่เป็นการยกขอบเสาขึ้นเป็นรางหล่อ เพื่อหล่อน้ำกันมดและแมลง ทำให้เสาที่นี่ดูมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน มีอาคาร 16 หลัง มีระเบียงทางเดินเชื่อมต่อถึงกัน แบ่งเป็นหมู่พระที่นั่งใหญ่ 3 องค์ มีชื่อคล้องจองไพเราะเสนาะหู ได้แก่ “พระที่นั่งสมุทรพิมาน” “พระที่นั่งพิศาลสาคร” และ “พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์”
พระที่นั่งทั้ง 3 องค์ ต่างก็มีจุดเด่นน่าสนใจแตกต่างกันออกไป โดยพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ที่ตั้งอยู่ในส่วนหน้าสุดที่เป็นอาคารสองชั้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เปรียบได้กับท้องพระโรง สถานที่ว่าราชการ ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นเวทีการแสดงละครอีกด้วย
ชั้นบนของหมู่พระที่นั่งองค์นี้เชื่อมกับหมู่พระที่นั่งพิศาลสาคร สถานที่ประทับของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีอาคารเป็นบริวารอยู่หลายหลังด้วยกัน อาทิ ห้องพระบรรทม ห้องพระอักษร ห้องแต่งพระองค์และห้องสรง
บริเวณพระที่นั่งพิศาลสาคร มองออกไปจะพบระเบียงทอดยาวตรงไปยังศาลาลงสรงริมทะเลอันโรแมนติกสวยงาม บนหลังคาศาลาลงสรงมีเสาไม้เป็นรูปกากบาทตั้งโดดเด่นอยู่ ซึ่งใครหลายคนมักตีความผิดเป็นไม้กางเขน แต่อันที่จริงแล้วนี่คือ เสาไม้สำหรับชักโคมไฟในยามค่ำคืนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ข้าราชบริพารในที่นี่รับรู้ในสัญญาณต่างๆ อาทิ ถ้าหากชักโคมไฟสีเหลืองขึ้นจะหมายถึงเวลาที่พระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงฉลองพระองค์ เพื่อเสด็จออกเสวยพระกระยาหารค่ำ หรือหากชักโคมไฟสีเขียวหมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประกอบพระราชกรณียกิจแล้ว ไม่สมควรที่ผู้ใดจะเข้ามาในเขตพระราชฐานที่ประทับอีก
จากพระที่นั่งพิศาลสาคร เมื่อเดินต่อไปบนระเบียงเชื่อมจะพบกับหมู่พระที่นั่งสมุทรพิมาน ซึ่งเป็นที่ประทับฝ่ายใน มีห้องรับแขก ห้องบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องสรง มีหอเสวย(ฝ่ายใน) เป็นห้องในหมู่พระที่นั่งหลังนี้
สำหรับผมแล้วแม้นี่จะไม่ใช่การมาเยือนพระราชนิเวศน์มฤคทายวันครั้งแรก แต่เมื่อมาทีไรก็ยังคงประทับใจในความงามของที่นี่ พร้อมกับมักหวนลำรึกความหลังเมื่อครั้งมีโอกาสได้สัมผัสกับสถานที่แห่งนี้อยู่เสมอ
ความทรงจำ
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ผมคุ้นเคยกับสถานที่แห่งนี้มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนอยู่ ม.ต้น ตั้งแต่ยังไม่ได้ปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สมัยนั้นผมมาเข้าค่ายลูกเสือที่หน่วยกองร้อยตระเวนชายแดน“ค่ายพระรามหก” ซึ่งพี่ๆตชด. โหด มัน ฮา พาผมกับเพื่อนเดินทางไกลกันแบบลากเลือดผ่านมายังพระราชวังแห่งนี้
สมัยนั้นแม้ตัวอาคารพระราชวังยังไม่ได้รับการบูรณะซ่อมอย่างเต็มที่ ตัวอาคารจึงดูเก่าและทรุดโทรม แต่ทว่าก็ยังคงไว้ซึ่งความคลาสสิคสวยสง่า เมื่อมองแล้วช่วยลดทอนความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไกลได้มากโข หลังจากนั้นผมก็มีโอกาสเดินทางมายังพระราชนิเวศน์มฤคทายวันอยู่เรื่อย ได้เห็นถึงวิวัฒนาการบูรณะซ่อมแซมและการบริหารจัดการที่นี่ โดยจากเดิมที่เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบให้คนขึ้นไปเดินดูโน่นดูนี่ตามใจชอบ ก็มีมูลนิธิเข้ามาปรับปรุงบริหาร จัดระเบียบการเที่ยวชม ใครแต่งกายไม่เรียบร้อยโดยเฉพาะสาวๆที่นุ่งสั้น ใส่เสื้อสายเดี่ยว ที่นี่เขาจะมีผ้าเตรียมไว้ให้เปลี่ยน
ขณะที่เจ้าหน้าที่นำชมให้ความรู้ และเฝ้าดูตามจุดต่างๆของที่นี่ เขาจะแต่งกายกันด้วยชุดไทยในสมัย รัชกาลที่ 6 สีสันเปลี่ยนไปตามวัน แต่เน้นที่โทนอ่อนกลมกลืนกันตามความนิยมของยุคนั้น
พิธีบูชาต้นไม้
นอกจากความงดงามของตัวสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าเป็นเอกลักษณ์ของพระราชนิเวศน์มฤคทายวันแล้ว ภายในพระราชวังแห่งนี้ยังดูเขียวชอุ่มชุ่มชื่นสบายตาจากความเขียวสดของสนามหญ้า สวนต่างๆ และมวลหมู่แมกไม้นานาพันธุ์ โดยเฉพาะกับต้นไม้ใหญ่ที่แผ่สยายกิ่งก้านให้ความร่มรื่น ซึ่งตามความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยเชื่อว่าต้นไม้ใหญ่เหล่านี้มีเทวดา อารักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เจ้าที่ อาศัยอยู่
ดังนั้นทางพระราชนิเวศน์มฤคทายวันจึงได้จัดพิธีบูชาต้นไม้ สักการะหมู่พระที่นั่งขึ้น เพื่อเป็นการสักการะเทพ เทวดา ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในต้นไม้ที่ปกปักรักษาบริเวณ และเป็นการขอขมาลาโทษที่ในปีที่ผ่านมาได้ล่วงเกิน ต่อมวลหมู่ต้นไม้ต่างๆ
พิธีบูชาต้นไม้ สักการะหมู่พระที่นั่ง เป็นประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยข้าราชการในพระบรมมหาราชวังฝ่ายใน และเดิมกำหนดให้เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งคนภายนอกทั่วไปไม่มีโอกาสได้รับรู้ถึงประเพณีอันทรงคุณค่าเหล่านี้
แต่หลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริต่อบุคคลใกล้ชิดให้ช่วยกันอนุรักษ์ สืบสานประเพณีไทยอันดีงามที่ใกล้จะสูญหายให้คงอยู่ ทางพระราชนิเวศน์มฤคทายวันจึงสืบสานแนวพระราชดำริด้วยการจัดประเพณีบูชาต้นไม้ขึ้น พร้อมเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมในพิธีนี้
สำหรับพิธีบูชาต้นไม้ในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมีคุณหญิงเสริมศรี บุนนาค มาเป็นประธานในพิธี นำสวด และนำผูกไถ้เงินไถ้ทอง
ในส่วนของเครื่องบวงสรวงนั้น ประกอบด้วย เครื่องคาว เครื่องหวาน ที่ยึดตามอย่างของวังฝ่ายใน ผลไม้ เครื่องพิธี อาทิ บายศรี ธูปเทียน ดอกไม้ ซึ่งดอกไม้จะเน้นดอกดาวเรืองเป็นหลัก ตามชื่อที่เป็นมงคล ร่วมด้วยดอกเข้าพรรษาที่ออกตามฤดูกาลในช่วงเข้าพรรษาของทุกๆปี
ทั้งนี้หลังพิธีผ่านพ้น พิพัฒน์พงษ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้แทนพิเศษสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า พิธีบูชาต้นไม้ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ถือฤกษ์ 1 สัปดาห์ก่อนเข้าพรรษา ซึ่งในฤดูฝนโดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา ต้นไม้จะเจริญงอกงามดี จึงไม่ควรตัดแต่งกิ่งก้านต้นไม้ในช่วงนี้
นั่นจึงทำให้เห็นว่า พิธีบูชาต้นไม้ สักการะหมู่พระที่นั่งของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณีเก่าแก่ทรงคุณค่าให้คงอยู่แล้ว ยังเป็นการร่วมอนุรักษ์ต้นไม้ให้คงอยู่คู่โลกอีกทางหนึ่งด้วย