xs
xsm
sm
md
lg

“ด่านซ้าย” เสน่ห์เมืองเลย...ที่ไม่น่าเลยผ่าน/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ผีตาโขน ประเพณีชื่อดังแห่งเมืองเลย
ผมเป็นคนไม่กลัวผี แต่ก็ไม่อยากเจอผี และไม่อยากสาระแนเห็นผีแต่อย่างใด ไม่ยกเว้นแม้แต่ผีสาว ผีสวย เพราะผีย่อมเป็นผีวันยังค่ำ

แต่ถ้าเป็นงานเทศกาลประเพณีที่เกี่ยวกับ“ผีๆ”นี่ ผมไม่ขอปฏิเสธด้วยประการทั้งปวง โดยเฉพาะกับประเพณี “ผีตาโขน” ที่ถือว่ามีความโด่งดังไม่น้อย

ผีตาโขนเป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาว อ.ด่านซ้าย จ.เลย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในงาน“บุญหลวง”(งานบุญใหญ่ประจำปี) ที่รวมเอา“งานบุญพระเวส”(ฮีตเดือนสี่) และ“งานบุญบั้งไฟ”(ฮีตเดือนหก)เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งชาวบ้านสมัยก่อนเชื่อว่า หากปีใดไม่จัดงานผีตาโขน ปีนั้นจะเกิดภัยพิบัติ ทำชาวบ้านเดือดร้อนทุกข์ยาก

งานประเพณีผีตาโขน มีพิธีการน่าสนใจ อาทิ พิธีเบิกพระอุปคุต พิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าพ่อกวน-เจ้าแม่นางเทียม พิธีแห่ขบวนแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง ขบวนแห่บั้งไฟขอฝนบูชาพญาแถน เป็นต้น
ผีตาโขนกับอาวุธคู่กาย
นอกจากนี้ยังมีขบวนแห่เหล่าผีตาโขนที่ถือเป็นไฮไลท์เด็ดของงาน เพราะเต็มไปด้วยสีสันความคึกคักสนุกสนาน นำโดยผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก

ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นผีรูปร่างใหญ่โตกว่าคนธรรมดาประมาณ 2 เท่า แต่ทำกันมาเพียงไม่กี่ตัวในแต่ละปี

ส่วนผีตาโขนเล็กหรือผีตาโขนทั่วไป ถือเป็นผีตาโขนที่เราๆท่านๆคุ้นเคยกันดี เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่นำหวดนึ่งข้าวเหนียว มาเขียนหน้าเขียนตาตกแต่งทำเป็นหน้ากากผี พร้อมด้วยชุดประจำตัวผีที่ปกปิดร่างกายอย่างมิดชิดด้วยผ้าสีสันฉูดฉาดบาดตา ร่วมด้วยอาวุธคู่กายผีอย่าง “หมากกะแหล่ง”ที่ดูคล้ายกระดึงผูกคอวัว และดาบหรือกระบองที่มองดูคล้ายอวัยวะเพศชายเป็นอาวุธติดตัวเหล่าผีตาโขนชายทั้งหลาย

เมื่อผีเจ้าชายเจ้าชู้ เจอเหล่าสาว(สวย)ที่มาเที่ยวชมงาน ก็มักจะนำกระบองไปแหย่ล้อเล่นเป็นที่ครื้นเครง สาวจริงๆส่วนใหญ่เมื่อเจอแบบนี้มักจะอายม้วนกันไป ส่วนสาวไม่จริงนี่พอเจอแบบนี้ถึงกับกรี๊ด ทำตาโต แล้ววิ่งเข้าใส่ ซะอย่างงั้น

เดิมการจัดงานงานผีตาโขนมักจะตกอยู่ในช่วงเดือน 7 ไทย ส่วนจะเป็นวันไหนนั้นไม่แน่นอน
ขึ้นอยู่กับการกำหนดวันของร่างทรง “เจ้าพ่อกวน”หรือ “เจ้ากวน”ที่ชาวบ้านนับถือเป็นหลัก
แต่ตอนหลังเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว เมื่อการท่องเที่ยวบูม ภาครัฐได้นำแนวคิดจริตราชการนิยมไปใส่ในงานผีตาโขน ปรับเปลี่ยนรูปแบบงานให้กลายเป็นกึ่งราชการ ทำให้เสน่ห์สีสันแห่งความเป็นพื้นบ้านหลายอย่างเลือนหายไป กลายเป็นงานประเพณีผีตาโขนรูปแบบใหม่มาจนถึงทุกวันนี้

ขณะที่ฤกษ์ยามการจัดงานของเจ้าพ่อกวนนั้นก็ลดความสำคัญลงไป กลายเป็นการกำหนดวันตามฤกษ์ยามใหม่ ที่อิงกับวันหยุดศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เพื่อตอบโจทย์ทางการท่องเที่ยวเป็นหลักแทน

อย่างไรก็ตามงานประเพณีผีตาโขนยุคใหม่ในวันนี้ยังคงมีเสน่ห์ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก โดยงานประเพณีผีตาโขนในปีนี้ ทางจังหวัดเลยกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 1-3 ก.ค. ซึ่งฤกษ์งานวันสุดท้ายตรงกับฤกษ์วันเลือกตั้งพอดี เลยไม่รู้ว่าปีนี้จะมีคนไปเที่ยวงานผีตาโขนมากน้อยแค่ไหน
พระธาตุศรีสองรัก พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเลย
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปงานผีตาโขน แต่หากผ่านไปยัง อ.ด่านซ้าย ผมก็ขอแนะนำให้เที่ยวชมสิ่งน่าสนใจในอำเภอนี้กันเสียหน่อย ใครที่มีเวลาน้อยก็เที่ยวกันแบบกระชับไปไหว้ “พระธาตุศรีสองรัก”แล้วเดินทางต่อ ส่วนใครที่มีเวลามากพอก็สามารถเลือกเที่ยวในสถานที่เด่นๆของอำเภอได้ตามอัธยาศัย

ปกติเวลาผมไปเที่ยวอำเภอด่านซ้าย จุดแรกที่มักไปแวะเป็นประจำก็คือที่“วัดพระธาตุศรีสองรัก” สถานที่ประดิษฐานพระธาตุศรีสองรัก พระธาตุศักดิ์คู่บ้านคู่เมืองเลย

พระธาตุศรีสองรัก สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2103 สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นมาจากความรักและสัจจะไมตรีของ 2 กษัตริย์แห่งสยาม(ไทย)และล้านช้าง ด้วยจุดประสงค์เพื่อเป็นสักขีพยานในการช่วยเหลือกันระหว่างพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง เนื่องจากยุคนั้นกรุงศรีอยุธยาถูกพม่ารุกรานบ่อยครั้ง กษัตริย์ทั้งสองจึงเห็นว่าควรจับมือกันเพื่อความมั่นคง โดยได้กระทำสัตยาธิษฐานว่าจะไม่ล่วงล้ำดินแดนของกันและกัน

องค์พระธาตุศรีสองรัก ตั้งอยู่บนเนินกลางวัด มีบันไดนาคไร้หงอนรูปร่างแปลก ทอดตัวเลื้อยรับราวบันไดนำสู่องค์พระธาตุสีขาวเด่น ที่สร้างด้วยศิลปกรรมแบบล้านช้าง ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง องค์ระฆังทรงคล้ายพระธาตุพนม ด้านหน้าองค์พระธาตุมีศาลาเป็นที่จุดดอกไม้ ธูปเทียน เพื่อบูชาแด่องค์พระธาตุ
ต้นผึ้งที่ชาวบ้านนำมาบูชาองค์พระธาตุศรีสองรัก
ทุกๆปีในวันวิสาขบูชา(ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6) ชาวอำเภอด่านซ้ายจะจัดงานสมโภชพระธาตุศรีสองรักขึ้น ด้วยการนำต้นผึ้งที่ทำจากไม้ไผ่ทรงสามเหลี่ยม กรุด้วยลวดลายการแทงหยวก ประดับด้วยดอกผึ้ง(ทำจากเทียน)และดอกไม้ มาถวายองค์พระธาตุ นับเป็นประเพณีที่เห็นแล้วช่างเปี่ยมไปด้วยความศรัทธายิ่งนัก

อนึ่งหากใครมาสักการะพระธาตุศรีสองรัก ที่นี่มีกฎข้อห้ามในการขึ้นไปไหว้พระธาตุ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน นั่นก็คือ ไม่ควรแต่งกายด้วยชุดสีแดงขึ้นไปนมัสการ ไม่ควรนำสิ่งของหรือดอกไม้สีแดงขึ้นบูชา เพราะนี่คือพระธาตุแห่งความรักและสัจจะไมตรี แต่สีแดงถือเป็นสัญลักษณ์ของเลือดและความรุนแรง ดังนั้นผู้ที่จะเข้าไปไหว้พระธาตุ ควรเคารพในความเชื่อและกฎ กติกา ประเพณีปฏิบัติด้วย

นอกจากองค์พระธาตุแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น(อยู่ด้านขวามือของลานทางขึ้นพระธาตุ)รวบรวมโบราณวัตถุ พระพุทธรูป และข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านให้ผู้สนใจได้เข้าไปชมกัน แต่เท่าที่ผมเห็น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมักถูกนักท่องเที่ยว ละเลย มองข้ามผ่านไปอย่างน่าเสียดาย
วัดเนรมิตวิปัสสนา อันสงบ สะอาด
สำหรับผู้มีเวลาพออย่างที่ผมบอกไว้ข้างต้นว่าน่าจะเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆอื่นๆของ อ.ด่านซ้ายด้วย โดยจากพระธาตุศรีสองรัก จุดน่าสนใจต่อไปก็ไม่ใช่อื่นไกลที่ไหน หากแต่ตั้งอยู่ใกล้ๆกัน นั่นก็คือ “วัดเนรมิตวิปัสสนา”หรือ“วัดหัวนายูง” ซึ่งเป็นวัดที่มีความสวยงามและมีความน่าสนใจไม่น้อยเลย

วัดเนรมิตฯ มีเสน่ห์ตรงที่สิ่งก่อสร้างทั้งหมดในวัดตั้งแต่กำแพงประตูทางเข้า โบสถ์ มณฑป ซุ้มประตู หอระฆัง ล้วนสร้างด้วยศิลาแลงทั้งสิ้น ซึ่งในเมืองไทยผมเคยพบเห็นที่วัดนี้เพียงที่เดียวเท่านั้น

วัดเนรมิตฯ สร้างโดยพระครูภาวนาวิสุทธิญาน(หลวงพ่อมหาพัน) หนึ่งในเกจิแห่งภาคอีสานที่คนนับถือกันมาก หลังจากท่านมรณภาพ ทางวัดได้สร้างมณฑปอาคารอนุสรณ์ขึ้นเพื่อรำลึกถึงท่าน ภายในมีหุ่นขี้ผึ้ง รูปหล่อ และรูปถ่ายของท่านจัดแสดงไว้ให้ญาติโยมได้สักการะบูชา
ดอกสาละเบ่งบานที่หน้าโบสถ์
ส่วนสิ่งที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของวัดแห่งนี้ย่อมหนีไม่พ้น โบสถ์ที่สร้างจากศิลาแลงอันสวยงาม

เมื่อเดินเข้าไป บริเวณด้านหน้าโบสถ์จะพบกับ“ต้นสาละ” ต้นไม้สำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งหากใครไปในถูกจังหวะถูกช่วงเวลาก็จะพบต้นสาละออกดอกชูช่อสวยงาม

ในขณะที่บริเวณภายในโบสถ์ดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธาไปด้วยองค์พระประธานที่ตั้งเด่นเป็นสง่าสร้างเป็นองค์“พระพุทธชินราช”จำลอง ขนาดย่อมให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา ส่วนใน 2 ฟากของผนังภายในนั้นก็น่าชมไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติ ซึ่งช่างได้วาดถ่ายทอดออกมาอย่างประณีตสวยงาม นอกจากนี้ภายในโบสถ์ยังมีหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อมหาพันประดิษฐานอยู่อีกด้วย

เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของวัดเนรมิตวิปัสสนาที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษก็คือความสงบ ความสะอาด ร่มรื่น และความเป็นระเบียบเรียบร้อย ที่เมื่อเข้าไปแล้วจะช่วยก่อให้เกิดความงามขึ้นในจิตใจได้เป็นอย่างดี
หุ่นผีตาโขนในพิพิธภัณฑ์
นอกจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 2 แห่งที่กล่าวมาแล้ว ในอำเภอด่านซ้ายยังมี “วัดโพนชัย” เป็นอีกหนึ่งจุดน่าสนใจ เพราะวัดแห่งนี้ในช่วงมีงานประเพณีผีตาโขน ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ประกอบพิธีสำคัญ
หน้ากากผีตาโขน ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียว
ส่วนในยามปกติที่วัดแห่งนี้มี พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นผีตาโขน จัดแสดงเรื่องราวหลากหลายเกี่ยวกับผีตาโขนให้ผู้สนใจได้สัมผัสชื่นชมกัน ซึ่งหากใครที่ไม่ได้มาอ.ด่านซ้ายในช่วงงานผีตาโขน แต่อยากจะดูผีตาโขน(หุ่น) ก็สามารถมาดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ผีตาโขนแห่งนี้

และนี่ก็คือเสน่ห์สีสันของ อ.ด่านซ้ายแห่งเมืองเลยที่ไม่ควรเลยผ่านด้วยประการทั้งปวง
กำลังโหลดความคิดเห็น