xs
xsm
sm
md
lg

ลัดดาแลนด์ : คุ้มไม่คุ้ม ต้องอ่าน!! (ไม่สปอยล์)

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


Facebook...teelao1979@hotmail.com

จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ผู้อยู่กับหนังผีสยองขวัญมาตั้งแต่เริ่มแนะนำตัวสู่วงการ ผมไม่รู้สึกแปลกใจที่นักทำหนังรุ่นใหญ่แห่งค่ายจีทีเอชอย่าง “เก้ง-จิระ มะลิกุล” จะแขวนเครดิตให้กับเขาคนนี้ในฐานะ “เซียนหนังผี” คนหนึ่ง ซึ่งฟังดูแล้ว อาจจะชวนให้หมั่นไส้ไปบ้างสำหรับบางคน แต่ถ้าประเมินจากผลงานที่ผ่านมาของจิม-โสภณ ผมคิดว่า ถ้อยคำซูฮกของคุณเก้ง-จิระ นั้น ไม่ถือว่า “โอเว่อร์” เกินไปนัก

เพราะถ้าไม่นับรวม “โปรแกรมหน้า...วิญญาณอาฆาต” ที่จิม-โสภณ เขียนบทเอง กำกับเอง ซึ่งผมมองว่าเป็นงานที่ด้อยที่สุดของเขา (ขณะที่ก็ยังมีหลายคนที่ชอบ) เพราะผมดูแล้วเฉยๆ ทุกวันนี้ก็แทบนึกไม่ออกแล้วว่าหนังมันเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ ไม่มีอะไรให้จดจำ แต่ถึงกระนั้น โปรแกรมหน้าฯ ก็ไม่อาจไปลดทอนหรือทำลายเครดิตดีๆ ที่จิม-โสภณ เคยสร้างไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำหน้าที่เขียนบทให้กับ “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” รวมไปจนถึง “แฝด” นั้น ก็ยังเป็นเสาเอกที่ค้ำยันชื่อชั้นของจิม-โสภณ ไว้ได้อย่างมั่นคง

ไม่แน่ใจนะครับว่า หลังจาก “โปรแกรมหน้า..วิญญาณอาฆาต” ไม่เข้าเป้าเท่าที่ควร คุณจิม-โสภณ เขารอเวลาที่จะได้แก้มือหรือเปล่า แต่ถ้าเขาเคยมีความรู้สึกแบบนั้น ผมคิดว่า “ลัดดาแลนด์” ก็บอกกล่าวเล่าแทนเขาได้เรียบร้อยแล้ว

เหมือนกับหลายๆ คน เหตุผลที่ผมชอบหนังสองเรื่องที่เขียนบทโดยจิม-โสภณ คือ “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” และ “แฝด” นั้น ก็ด้วยรู้สึกว่ามันไม่ใช่หนังผีในแบบที่เรามักจะพบเห็นได้ทั่วไป เพราะในขณะที่หนังตั้งใจจะหลอกจะหลอนคนดูแบบเอาเป็นเอาตายนั้น ในอีกหนึ่งด้าน ก็มีภาคของเนื้อหาสาระที่ตีคู่ขนานไปกับเรื่องผี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลแห่งกรรมและความอาฆาตพยาบาท (ผมพูดแบบกว้างๆ) ในเรื่องชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ หรือกระทั่งความรักความผูกพันที่มิอาจจะปล่อยวางอย่างในเรื่อง “แฝด”

การปลุกสร้างผีสักตัวขึ้นมาเขย่าขนหัวของคนดูให้ลุกชูชันนั้น มันไม่ยากเลยครับ (จะว่าไม่ยาก ก็ไม่เชิง เพราะน้อยนักที่คนทำหนังบ้านเราจะทำสำเร็จ) แต่การที่จะทำให้หนังผีมันมีเนื้อหาสาระหรือ “แก่นสาร” ที่จะบอกเล่าแล้วเขย่าให้มันออกมาลงตัวได้ด้วยนี่ ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย แต่เราจะสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้ในหนัง “ลัดดาแลนด์”

หนังเริ่มต้นที่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งซึ่งโยกย้ายจากเมืองใหญ่ไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ในหมู่บ้านจัดสรรที่มีชื่อว่า “ลัดดาแลนด์” ก็ดูเหมือนว่าจะไปได้ดีกับวิถีชีวิตที่นั่น เพราะผู้เป็นพ่อก็ได้งานที่เงินดี (ถึงขนาดผ่อนบ้านเดือนละสามหมื่นได้นี่ ไม่ธรรมดาเลยครับ) ซ้ำมิหนำ ยังต้องเลี้ยงดูภรรยาและลูกอีกสองคน แต่ใครเลยจะรู้? หมู่บ้านแห่งนั้น แทนที่จะเป็นนิวาสถานอันแสนสุขเหมือนอย่างที่มุ่งหวังตั้งใจ จะกลับกลายเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ไม่ผิดครับ ถ้าคุณคิดว่า สิ่งที่กำลังคุกคามกล้ำกรายบ้านหลังนี้ ก็คือ “ผี” ในหมู่บ้าน แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด และตั้งแต่ต้นๆ เรื่อง หนังก็เปิดปมไว้รูเบ้อเริ่มก่อนจะค่อยๆ เติมรายละเอียดลงไปจนเต็ม และทำให้ผู้ชมได้รู้เช่นเห็นชัดว่า หายนะที่แท้จริงของครอบครัวนี้ จู่โจมเข้ามาจากทิศทางไหนบ้าง

มองไกลๆ ไปถึงงานแจกรางวัลปีหน้าทุกเวที ต้องมีชื่อของ “ก้อง-สหรัถ สังคปรีชา” ติดอยู่ในลิสต์นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมอย่างแน่นอน เพราะบทของเขาจากหนังเรื่องนี้ในฐานะหัวหน้าครอบครัวผู้ต้องแบกรับความความหวังและบีบคั้นกดดันจนเคร่งเครียด คุณก้อง-สหรัถ โชว์ความเจนจัดในฐานะนักแสดงบิ๊กเนมคนหนึ่งได้แบบไร้ที่ติ ขณะที่ป๊อก-ปิยธิดา วรมุสิก” กับบทบาทแม่บ้านลูกสอง ก็สมควรได้รับเกียรติแห่งคำว่ามืออาชีพไปครองได้ ฉากสุดท้ายของคุณป๊อก-ปิยธิดา ในรถคันนั้น ยาวเพียงไม่กี่นาที แต่มันจะเป็น “ไม่กี่นาที” ที่จะอยู่ในใจคนดูไปอีกหลายร้อยหลายพันนาที

ส่วนนักแสดงหญิงวัยรุ่นที่เป็นฟันเฟืองตัวสำคัญอีกคนของเรื่องอย่าง “ปัน ปัน-สุทัตตา อุดมศิลป์” ที่รับบทคล้ายๆ ไม้เบื่อไม้เมาของผู้เป็นพ่อ ก็แจ้งเกิดได้กับบทนี้ หลายๆ ฉากที่เธอทุ่มเถียงกับพ่อคอเป็นเอ็นนั้น ก็สมจริงสมจังเกินกว่าจะคิดว่า นี่คือนักแสดงหน้าใหม่ เช่นเดียวกับเด็กชายก๊อบแก๊บ-อธิพิชญ์ ชุติวัฒน์ขจรชัย ก็เล่นได้ดีซะจนพ่อแม่หรือแม้แต่คนดูรู้สึกหลอนไปตามๆ กัน

ในขณะที่การแคสติ้งรวมไปจนถึงการไดเร็กเตอร์นักแสดง เป็นไปได้ด้วยดี หมัดเด็ดๆ ของหนังเรื่องนี้ก็อย่างที่บอกครับว่ามันคืออัตราความหลอนในระดับที่ต้องนั่งลุ้นจนตัวเกร็ง (ผมสังเกตเห็นหญิงสาวที่ไม่รู้จักคนหนึ่งซึ่งนั่งเก้าอี้ข้างๆ ยกมือปิดตาดูทั้งเรื่อง เดาว่า มองลอดนิ้ว แล้วพอจังหวะผีจะออก ก็คงปิด คือกลัวแต่ก็ยังอยากจะดู นี่แหละครับ คนเรา) ขณะเดียวกัน วิธีการจัดการกับความหลอนความระทึกของหนังก็เป็นไปแบบมีจังหวะ คือกระชับวงล้อมแห่งความหลอนให้งวดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เรียกว่า ค่อยๆ บิวท์ ค่อยๆ เร้าไปทีละนิด จากประปราย เริ่มมากมาย และสุดท้ายก็ระเบิดมันออกมาชนิดที่สามารถพูดได้ว่า 20 นาทีสุดท้ายของหนัง คนดูแทบจะถูกขังอยู่ในความขมึงเกร็งและลุ้นระทึกกันแทบไม่หยุดไม่หย่อน

วิธีการแบบนี้ มันคล้ายๆ กับที่เราดูหนังแอ็กชั่นดีๆ สักเรื่องนั่นแหละครับ เปิดเรื่องก็ประหมัดดวลปืนกันเบาะๆ พอหอมหอมคอ ถัดจากนั้นก็ปล่อยฉากต่อสู้ออกมาเป็นระยะๆ ตลอดการเดินเรื่อง แล้วค่อย “จัดหนัก” ในช่วงท้ายเรื่อง

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อยู่ในท่วงทีที่ลงตัว รู้จังหวะว่าจะเล่นประเด็นเนื้อหาเท่าไหร่ และความหลอนเท่าไหร่ตรงไหน แน่ล่ะว่า ในขณะที่จิตใจของเรากำลังกระเจิงไปถึงไหนต่อไหนกับฉากผีหลอกหลอน หนังก็กวาดต้อนเรากลับเข้ามาสู่ประเด็นเนื้อหาที่หนักอึ้งขึ้นทุกขณะนั้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นอย่างนี้ไปครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อนที่สุดท้าย หนังจะบีบให้ทั้งสองส่วน (ประเด็นเนื้อหา และ ผี) โคจรมาพบกันในบ้านหลังนั้น...

ผมชอบที่หนังพยายามจะเล่นกับประเด็นความเป็นบ้าน ความเป็นครอบครัว (ซึ่งก็ทำสำเร็จ) การกำหนดให้เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในหมู่บ้านจัดสรร ไม่ใช่เพียงเพราะว่าหมู่บ้านแห่งนั้นมีผีดุ หากแต่คำว่า “บ้าน” ถูกนำมาใช้ในเชิงสื่อความหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำว่า “บ้าน” ในภาษาอังกฤษ มีอยู่สองคำ คือ house กับ home คำแรกนั้น ความหมายของมันสื่อถึงบ้านที่เป็นอาคารบ้านช่อง ส่วนคำที่สองหมายถึงครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูก ดังนั้น สิ่งที่เราจะได้เห็นในหนังเรื่องนี้ก็คือว่า ในขณะที่ครอบครัวเล็กๆ ซึ่งเป็นตัวละครหลักของหนังย้ายเข้าไปอยู่ใน house แห่งใหม่ (ซึ่งก็คือหมู่บ้านลัดดาแลนด์) แต่ความเป็น home (ครอบครัว) ของพวกเขา กำลังถูกปลวกมอดกัดแทะทีละเล็กทีละน้อย โดยมีอดีตและปัจจุบันอันเกี่ยวกับตัวของ “ธีร์” (สหรัถ สังคปรีชา) เป็นตัวขับเร่งความปวดร้าวด้วยทางหนึ่ง

หนังนั้นฉลาดใช่ย่อยเลยนะครับที่เข้าใจหยิบจับเอาวิถีของคนยุคใหม่อย่างการอยู่บ้านจัดสรร ซึ่งต้องแบกรับภาระการผ่อน มาเป็นตัวจุดประเด็น มันเป็นทั้งความสุข ความฝัน และความกดดันไปด้วยในขณะเดียวกัน ตัวละครอย่าง “ธีร์” นั้น หาไม่ยากเลยครับในสังคมของเรายุคนี้ เขาก็คือคนที่มีความมุ่งมั่นถึงคืนที่ดีขึ้น ผ่อนบ้านมาหลังหนึ่งก็อยากจะรักษาไว้อย่างสุดชีวิต เพราะมันไม่ได้มีความหมายในแง่ของที่อยู่อาศัยอันเป็นหลักแหล่งมั่นคงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งซึ่งเขาใช้พิสูจน์ตัวเองด้วย ซึ่งคิดๆ ดูแล้ว มันก็น่าจะ “สวย” เป็นไปด้วยดี หากทั้งหมดนี้ไม่ได้มีครอบครัวเป็นตัวประกัน พูดง่ายๆ เดิมพันแห่งศักดิ์ศรีของเขา มันสูงไป

ด้วยเหตนี้ ในขณะที่ “ผี” เป็นปัจจัยในการสร้างความหลอนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามสไตล์ของหนังผี ผมขอชวนคิดต่อไปอีกว่า สภาพความเป็นไปในครอบครัวของธีร์นั้น ก็ชวนหลอนไม่แพ้กัน...มันเป็นความหลอนที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่ผมหรือคุณ แบบไม่ต้องมีผีมาหลอกให้เปลืองผี เอาง่ายๆ ผมว่า กลัวผีหลอกน่ะ มันกระจอกไปเลยนะครับ เมื่อเทียบกับเจอเจ้าหนี้มาทวงหนี้ แล้วไหนจะยังศักดิ์ศรีที่ต้องแบกรับ เรื่องนี้ ถามธีร์ก็คงจะรู้...

ส่วนที่ดีของหนังอีกอย่างหนึ่งซึ่งผมอยากพูดถึง คือการเล่นกับองค์ประกอบด้านภาพ ถ้าไม่นับรวมโปสเตอร์ที่แสดงใบหน้าครอบครัวสุขสันต์ร่าเริงหรรษา ซึ่งดูแล้วก็เสียดสีเย้ยหยันได้ใจ (เช่นเดียวกับภาพวาดของเด็กชายกอล์ฟที่เขียนคำ “ครอบครัวสุขสันต์” กำกำบไว้) เพราะมันช่างตรงกันข้ามกับความจริงในหนังสิ้นดี นอกจากนี้ การเล่นกับรูปบนผิวแก้วน้ำ ก็เป็นอีกสิ่งที่กล้องโฟกัสอยู่หลายครั้งอย่างมีความหมายที่อยากจะบอก...

น้องๆ บางคนในออฟฟิศย่านถนนพระอาทิตย์ ดูหนังเรื่องนี้มาแล้ว คุยกันด้วยความงุนงงว่า ตกลงแล้ว “ผีมะขิ่น” มันเป็นใครมาจากไหน ผมก็สงสัยเช่นเดียวกันว่าผีมะขิ่นนั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อเนื้อเรื่อง จู่ๆ ก็ออกมาหลอกชาวบ้าน แล้วสุดท้ายก็หายไปไร้บทสรุป

อดไม่ได้ ผมจึงลองเลียบๆ เคียงๆ ไปทางจีทีเอชแล้ว ได้คำตอบมาประมาณว่า ผีมะขิ่นซึ่งอยู่บ้านอีกหลังซึ่งไกลจากบ้านของธีร์ไปหลายหลังคานั้น มันเป็นภาพสะท้อนว่า บางที คนเราก็ชอบมองอะไรที่ไกลตัว หรือไปกลัวอะไรที่ไกลเกิน จนทำให้หลงลืมที่จะมองปัญหาซึ่งมันอยู่ใกล้ๆ ตัว เช่นเดียวกับธีร์ที่มัวแต่ไปกังวลสนใจอยู่แต่กับบ้านของมะขิ่น จนไม่นึกที่จะมองคนที่ชายคาติดกัน (ซึ่งก็คือบ้านของคุณสมเกียรติที่หนังคล้ายๆ จะใช้เป็นกระจกสะท้อนครอบครัวของธีร์ไปด้วยในขณะเดียวกัน)

ผมมานั่งคิดๆ ดู เหตุผลนี้ฟังแล้วก็เข้าท่าดีครับ แต่ผมก็ยังอยากจะคิดแบบนี้มากกว่าว่า ถ้าหากผีมะขิ่นจะมีบทบาทที่สำคัญอะไรต่อเนื้อหาเรื่องราวแล้ว สิ่งนั้นก็คงจะได้แก่ การที่เธอ (ผีมะขิ่น) เป็นเหมือนเหล็กง้างที่ฉีกถ่างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกให้เหินห่างมากขึ้น ร้าวฉานมากขึ้น หลายๆ ครั้งที่ธีร์เหมือนถูกลูกสาวตบหน้าทุกเวลาที่พูดถึงผีสาวชาวกะเหรี่ยงในบ้านหลังนั้น

แต่ก็ว่ากันไปแหละครับ ถ้าไม่คิดอะไรมาก ผีมะขิ่นก็เป็นหนึ่งในความหลอนที่หนังหยิบมาใช้หลอกคนดูเล่นๆ แต่ก็หลอนจริงอะไรจริง และในความเป็นจริง เธออาจจะเป็นเพียงผีธรรมดาๆ ที่ไม่ยอมไปผุดไปเกิด ตายเน่าตายเหม็นอยู่ในตู้เย็นเช่นนั้นนานเนิ่น รอออกมาหลอกผู้คนในหมู่บ้าน หญิงสาวชาวเชียงใหม่คนหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่ผีมะขิ่นเฮี้ยนนี่ ตู้เย็นมือสองขายไม่ออกกันเลยนะครับ

เนื้อที่หมด หมดเนื้อที่ พูดมาถึงขั้นนี้ คงพอจะรู้แล้วใช่ไหมว่า คุ้มหรือไม่คุ้ม ที่จะเข้าไปดาวน์ เอ๊ย ไปดูหมู่บ้านผีเฮี้ยนแห่งนี้...





กำลังโหลดความคิดเห็น