“โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย” หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆว่า(โรงเรียน)“สวนกุหลาบ” ถือเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของเมืองไทย ก่อตั้งในราวปี 2425 นับถึงปัจจุบันมีอายุถึง 129 ปีแล้ว
โรงเรียนแห่งนี้นอกจากจะมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน สร้างบุคลากรสำคัญๆให้กับประเทศในหลากหลายวงการแล้ว สวนกุหลาบยังมีสิ่งก่อสร้างในโรงเรียนที่ถือเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติอีกด้วย นั่นก็คือ “อาคารสวนกุหลาบ” หรือ “ตึกยาว” อาคารเรียนเก่าแก่ที่เป็นดังศูนย์รวมความผูกพันของชาวชมพู-ฟ้า ซึ่งจะมีอายุครบ 100 ปี ในวันที่ 25 มิ.ย. 54 นี้
กำเนิดตึกยาว
เดิมโรงเรียนสวนกุหลาบมีชื่อว่า “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” ตั้งอยู่ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ให้เลือกสรรราชนิกูลและลูกผู้ดีมาฝึกหัดเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และศึกษาหาความรู้ในราชสำนักสำหรับรับราชการ กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก จึงทรงดำริที่จะจัดตั้งโรงเรียนขึ้นแห่งหนึ่งเพื่อฝึกหัดหม่อมเจ้าและหม่อมราชวงศ์โดยเฉพาะเพื่อให้เป็นทหารมหาดเล็ก พระองค์จึงนำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและได้รับความเห็นชอบ ต่อมาพระองค์จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในพระตำหนักสวนกุหลาบ
ต่อมาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น สถานที่เรียนเริ่มคับแคบแออัด ต่อมาจึงได้ย้ายออกจากพระบรมมหาราชวังไปเรียนตามที่ต่างๆ เช่น วัดมหาธาตุ โรงเรียนสตรีสุนันทาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ เป็นต้น จนกระทั่ง เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ และศิษย์เก่าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งมีความปรารถนาที่จะรวบรวมโรงเรียนสวนกุหลาบที่กระจัดกระจายมารวมอยู่ในที่เดียวกัน ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อรัชกาลที่ 5 เพื่อขอจัดตั้งโรงเรียนและทูลเสนอแนวคิดในการสร้างอาคารเรียนโดยที่ไม่ต้องใช้เงินของทางราชการ ด้วยการใช้งบประมาณของวัดราชบูรณะซึ่งจะสร้างอาคารพาณิชย์ให้ประชาชนเช่าทำการค้าขาย ให้สร้างเป็นอาคารเรียนแทน และเก็บค่าเล่าเรียนจากนักเรียนเป็นค่าเช่า จากนั้นจึงได้ทำการย้ายโรงเรียนออกมายังบริเวณถนนตรีเพชร ใกล้กับวัดราชบูรณะ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย” ดังในปัจจุบัน
“ม.ล.เปีย มาลากุล ท่านเห็นว่าทางวัดราชบูรณะจะสร้างตึกให้พ่อค้าแม่ค้าเช่าทำการค้าขายอยู่แล้ว หากเอาค่าเล่าเรียนจากนักเรียนมาจ่ายค่าเช่าตึก รัฐบาลก็จะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย รัชกาลที่ 5 โปรดความคิดนี้ และทรงรับสั่งว่าถ้าจะสร้างตึกให้สร้างอย่างดี เป็นศรีสง่าของพระนคร กรมโยธาธิการเป็นผู้ออกแบบ และสร้างเสร็จในปี 2454 เหตุที่สร้างเป็นตึกยาวขนาดนี้เพราะได้แนวความคิดมาจากการสร้างตึกแถวนั่นเอง” อ. นพมณี ทองธรรมชาติ อาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบและอาจารย์ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์การศึกษา อธิบายให้ฟัง
อาคารเรียนที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
สำหรับรูปแบบสถาปัตยกรรมของตึกยาว ดร.พีรศรี โพวาทอง ได้กล่าวไว้ในเอกสาร “ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมตึกยาว” สรุปความว่า ตึกยาวเมื่อแรกสร้างนั้น เป็นอาคารเครื่องก่อสูง 2 ชั้น มีผังแบบเรียบง่าย ทำเป็นห้องเรียนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่สลับกับห้องเรียนขนาดเล็ก มีระเบียงทางเดินยาวตลอดอาคารทั้งชั้นบนและชั้นล่าง
นอกจากนี้ตึกยาวยัง มีลวดลายปูนปั้น มีเสาอิง มีคูหาโค้ง และมีการประดับตกแต่งอื่นๆอีกอย่างสวยงาม สมส่วน
“ตึกยาวถือเป็นอาคารเรียนที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาวถึง 198.35 เมตร มีห้องทั้งหมด 37 ห้อง ปัจจุบันตึกยาวชั้นบนใช้เป็นห้องเรียนของนักเรียนชั้น ม.1ซึ่งเป็นเหมือนการสร้างความภาคภูมิใจให้นักเรียนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ว่าเรียนอยู่บนตึกอันเป็นโบราณสถาน ต้องให้ความเคารพ ส่วนชั้นล่างจัดเป็นพิพิธภัณฑ์การศึกษา นักเรียนและบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาชมได้”
อ.นพมณี เล่าให้ฟัง พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อครั้งที่จะสร้างสะพานพุทธยอดฟ้าในปี 2475 จึงต้องทุบรั้วกำแพงบริเวณตึกยาวเป็นระยะทางกว่า 400 เมตร เพื่อทำถนน ตัวตึกยาวต้องกลายเป็นรั้วแทนในช่วงหนึ่ง และหลังจากนั้นได้มีการบูรณะตึกยาวอีกหลายครั้งด้วยกัน เช่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2488 ตึกยาวได้ถูกลูกระเบิดเสียหายบริเวณ 2 ห้องสุดท้ายใกล้โรงเรียนเพาะช่าง จึงต้องบูรณะให้คงสภาพเดิม และในปี 2540 มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยได้รับงบประมาณของชาติมาบูรณะ และได้ปูฐานรากใหม่ ดีดตัวตึกขึ้นพร้อมทั้งอัดคอนกรีตใต้ฐานรากให้แข็งแรง
100 ปีตึกยาว คนสร้างตึก ตึกสร้างคน คนสร้างชาติ
หลังผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านฝน เป็นแหล่งให้การศึกษากับนักเรียนสวนกุหลาบมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ในปี พ.ศ. 2530 ตึกยาวได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากร และได้รับยกย่องให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อปี 2543
ตึกยาวจึงไม่เพียงเป็นความภาคภูมิใจและเป็นสมบัติอันล้ำค่าของโรงเรียนสวนกุหลาบเท่านั้น แต่ยังถือเป็นมรดกของชาติที่คนไทยทุกคนควรภาคภูมิใจ และในวันที่ 25 มิถุนายน 2554 จะเป็นวันที่ตึกยาวมีอายุครบ 100 ปี และจะเป็นวันรวมตัวเด็กสวนกุหลาบครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในงาน “มหัศจรรย์รำลึก ตึกยาวร้อยปี คนสร้างตึก ตึกสร้างคน คนสร้างชาติ”
ในวันดังกล่าวจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย ตั้งแต่หกโมงเช้าจะมีการตักบาตรพระสงฆ์ 101 รูป ที่หน้าตึกยาวริมถนนตรีเพชร และจะมีพิธีบวงสรวง แสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณที่มีส่วนในการสร้างตึกยาว ส่วนช่วงบ่ายที่อาคาร 123 ปี จะมีกิจกรรมของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่จะบอกเล่าเรื่องราวความผูกพันของโรงเรียนสวนกุหลาบผ่านภาพและสิ่งของที่นำมาจัดแสดง นอกจากนั้นยังมีการแสดงจากนักเรียนและการจัดแสดงผลงานของโรงเรียน
ส่วนที่ตึกสามัคคยาจารย์จะมีการบริการชุมชนโดยแพทย์ซึ่งเป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบจะมาตรวจรักษาให้ประชาชนฟรี และในช่วงหกโมงเย็นเป็นต้นไปจะมีการแสดงแสงสีเสียงประกอบการแสดงที่บริเวณสนามฟุตบอล โดยจะจัดอัฒจรรย์ให้นั่งชมกัน
เลือดชมพู-ฟ้า ชั่วชีวิตข้าฯไม่ลืม
กว่า 100 ปี แล้วที่ตึกยาวได้เป็นแหล่งเล่าเรียนและผลิตบุคคลากรอันมีค่าออกมาพัฒนาประเทศชาติหลายต่อหลายคนด้วยกัน นักเรียนสวนกุหลาบเหล่านั้นต่างไม่เคยลืมเลือนความสุขและความภาคภูมิใจต่อโรงเรียน ยังคงมีความผูกพันที่เหนียวแน่นต่อโรงเรียนและเพื่อนพี่น้องร่วมสถาบันตลอดมา
“อัตลักษณ์ของเด็กสวนที่ไม่เหมือนใคร คือต้องเป็นผู้นำ รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อแม่ ดูแลน้อง กระบวนการสร้างความผูกพันมีตั้งแต่แรกเข้าจนเรียนจบ จนมีคนพูดว่า ถ้าคนไทยรักและภาคภูมิใจในชาติ เหมือนกับเด็กสวนกุหลาบรักและภาคภูมิใจในโรงเรียน ชาติเราจะเจริญรุ่งเรืองแน่นอน” อ.นพมณีกล่าว
จากทัศนะของอาจารย์มาฟังทัศนะของ “เด็กสวน” กันบ้าง
ด.ช.กอบธรรม พิริยะนนท์ธนา นักเรียนชั้น ม.1 ที่เพิ่งเข้ามาเป็นลูกสวนกุหลาบสดๆ ร้อนๆ กล่าวว่า รู้สึกสนุกสนานกับการเรียนในโรงเรียน และภาคภูมิใจที่ได้เข้ามาเรียนที่สวนกุหลาบวิทยาลัย มีเพื่อนและรุ่นพี่ที่ดี และภูมิใจที่ได้เข้ามาเรียนในตึกยาวที่เป็นโบราณสถานแห่งนี้
ด้านศิษย์เก่าอย่าง “ตุ้ย : ธีรภัทร์ สัจจกุล” ดารานักแสดงชื่อดัง นักเรียนสวนกุหลาบรุ่น 109 (OSK 109) ได้เล่าถึงช่วงเวลาดีๆ ตอนที่เป็นเด็กนักเรียนว่า ได้มีโอกาสเรียนในตึกยาวมาตลอด ห้องสมุดก็ตั้งอยู่ในตึกยาว รวมถึงห้องชมรมลูกเสือกองร้อยพิเศษซึ่งตนเองเป็นสมาชิกก็อยู่ในตึกยาวเช่นกัน จึงทั้งเรียนและทำกิจกรรมที่ตึกยาวมาตลอด แต่ในช่วงที่เรียนอยู่นั้นเป็นช่วงที่ตึกยาวทรุด เพราะด้วยความมีอายุการใช้งานมายาวนาน สภาพเดิมเป็นโครงไม้ คานไม้ค่อนข้างผุ ตรงช่วงกลางตึกยาวจึงแอ่นลงและทรุดลงตรงกลาง บางช่วงเดินผ่านไม่ได้และต้องปิดซ่อมแซมพักหนึ่งเพื่อบูรณะ
“สำหรับนักเรียนสวนกุหลาบแล้ว ตึกยาวเรียกว่าเป็นมาสค็อตก็ว่าได้ จำได้ว่าตอนเรียนศิลปะต้องทำงานแกะสลักลงรัก ก็เลือกแกะสลักเป็นรูปตึกยาว สำหรับเด็กสวนฯ ทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าจะรู้สึกผูกพันกับตึกยาว เวลาเราแตะตัวตึกจะรู้สึกว่าตึกนี้สร้างมาเป็นร้อยปีแล้วยังอยู่ยั้งยืนยงมาได้นานขนาดนี้ วิศวกรรมสมัยก่อนสามารถสร้างตึกได้ยาวและแข็งแรงได้ขนาดนี้ เรียนตึกนี้ทุกวันเห็นตึกนี้ทุกวันจนแทบจะจำเป็นภาพติดตา และนักเรียนสวนกุหลาบยังมีความผูกพันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องอย่างเหนียวแน่น เวลาไปงานโรงเรียนพร้อมกับพ่อ (บิ๊กหอย วนัสธนา หรือ ธวัชชัย สัจจกุล ศิษย์เก่าสวนกุหลาบรุ่น 72) ก่อนเข้าไปก็เป็นพ่อลูกกัน แต่พอเดินเข้าไปในโรงเรียนก็เป็นพี่น้องกันหมด” ตุ้ย ธีรภัทร์ กล่าว
ในโอกาสที่ตึกยาวครบ 100 ปี ครั้งนี้ ตุ้ย ธีรภัทร์ ฝากถึงพี่น้องสวนกุหลาบทุกคนว่า “งานในครั้งนี้มีหลายๆ กิจกรรม และหนึ่งในนั้นคือการหาทุนเพื่อบูรณะตึกยาว จึงอยากถึงพี่น้องครอบครัวสวนกุหลาบให้ร่วมบริจาคเพื่อรวบรวมทุนทรัพย์ตั้งเป็นกองทุนเพื่อบูรณะตึกยาวที่เป็นโบราณสถานของเรา และในส่วนของเด็กสวนกุหลาบรุ่น 109 ในปีนี้เป็นปีที่เราต้องรับผิดชอบในการจัดงานมุทิตาจิตให้กับอาจารย์ที่เกษียณอายุ ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติต่อๆ กันมา จึงอยากฝากให้เพื่อนร่วมรุ่นมาระดมความคิดกันว่าจะจัดอะไรอย่างไรบ้างเพื่ออาจารย์ของเรา” ตุ้ย ธีรภัทร์ กล่าวทิ้งท้าย