xs
xsm
sm
md
lg

อันซีน“บุปผาราม” วัดงามเมืองตราด/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
วัดบุปผาราม อันสะอาดสะอ้าน เป็นระเบียบเรียบร้อย
“ระยอง’ฮิ’สั้น จันท์’ฮิ’ยาว แล้วตราดล่ะ’ฮิ’ อะไร?”

“ตราดก็‘ฮิ’ใหญ่ไง”

เวลาไปเยือน 3 จังหวัดตะวันออกอย่าง ระยอง จันท์ ตราด ผมมักจะได้ยินคำพูดขำๆนี้อยู่บ่อยๆ ซึ่งจะว่าไปสำเนียงการพูดภาษาถิ่นของคนใน 3 จังหวัดนี้มีเอกลักษณ์ไม่น้อยเลย โดยเฉพาะสำเนียงแบบตราดนี่ ผมชอบมาก ฟังดูจริงใจ มีเสน่ห์เหลือหลาย

เช่นเดียวกับจังหวัดตราด ที่มีเสน่ห์เหลือหลายไม่แพ้กัน เพียงแต่ว่าที่ผ่านมามักถูกนักท่องเที่ยวมองข้ามเลยไปลงทะเลเที่ยวหมู่เกาะช้างกันหมด

นั่นจึงทำให้ของดีเมืองตราดบางอย่างถูกมองข้ามไป ดังเช่น “วัดบุปผาราม” ที่ตั้งอยู่ที่ถนนพัฒนาการ บ้านปลายคลอง ต.วังกระแจะ อ.เมือง

วัดบุปผาราม ได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดในเมืองตราด ตามประวัติเล่าว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในยุคของพระเจ้าปราสาททอง ราวๆ พ.ศ. 2195 ก่อนสร้างวัด "หลวงเมือง" คหบดีชาวบ้านเกาะกันเกรา ผู้คิดสร้างวัด ได้ร่วมมือกับชาวบ้านเสาะหาพื้นที่ พวกเขาเมื่อสำรวจเรื่อยมาจนถึงตรงบริเวณนี้(ที่สร้างวัดในปัจจุบัน) ต่างพากันได้กลิ่นดอกไม้หอมตลบอลอวล แต่ว่าหาต้นไม้แหล่งกำเนิดกลิ่นไม่พบ จึงตกลงปลงใจที่จะสร้างวัดขึ้นในบริเวณนี้ เพราะเชื่อว่านี่คือนิมิตหลายอันดี และพื้นที่สร้างวัดก็ตั้งอยู่บนเนิน เมื่อสร้างวัดขึ้นมาจะดูโดดเด่น จึงทำการสร้างวัดขึ้นมาพร้อมกับตั้งชื่อว่า “วัดบุปผาราม” ที่หมายถึงสวนดอกไม้ หรืออารามแห่งดอกไม้

แม้จะชื่อวัดบุปผาราม แต่สมัยก่อนชาวบ้านที่นี่ต่างก็เรียกขานกันหลากหลายชื่อ ตามสภาพพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น “วัดปากทาง” เพราะเป็นช่วงต้นของเส้นทางไปทำสวนพริกไทย(อาชีพที่นิยมกันมากในสมัยโบราณ) “วัดเนินหย่อง” เพราะเดิมใกล้ๆวัดมีต้นหย่องขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก และ“วัดปลายคลอง” เพราะตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านปลายคลอง ซึ่งชื่อหลังนี้ได้รับความนิยมเรียกขานสูงพอดู
กลุ่มเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง
วัดบุปผาราม ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านฝน มาอย่างยาวนาน มีหลักฐานสำคัญบันทึกไว้ อาทิ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.2225 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านเจ้าอาวาสคือ พระครูคุณสารพิสุทธิ์(หลวงพ่อโห) ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ และในปี พ.ศ.2521 ท่านพระครูสุวรรณสารวิบูล เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้ร่วมแรงร่วมใจกับชาวบ้านบูรณะ ซ่อมแซมโบราณสถานต่างๆ เช่น พระอุโบสถ วิหารพระนอน หอระฆัง เป็นต้น

นอกจากนี้ท่านยังได้จัดภูมิทัศน์ของวัดใหม่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมทั้งจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่อเก็บรวบรวมศิลปวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่วัดบุปผารามมีกระจัดกระจายอยู่มากมายให้มารวมกันไว้ที่เดียว ซึ่งถือเป็นการหนุนส่งให้วัดแห่งนี้ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น

ใครที่เข้ามาในวัดบุปผารามจะพบว่าสภาพบรรยากาศของวัดแห่งนี้เป็นระเบียบ สวยงาม ร่มรื่น และสะอาดสะอ้านมาก ตอนที่ผมเข้าไปวัดเป็นช่วงเย็นๆ เห็นพระ-เณรช่วยกันหวาดสนามหญ้าเขียวสด ดูน่าอภิรมย์ยิ่งนัก

ในวัดบุปผาราม มีแผนผังวัดให้ดูชัดเจน พร้อมข้อมูลประกอบแสดงให้เห็นถึงสิ่งสำคัญต่างๆภายในบริเวณวัด ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มโบราณสถานในเขตสังฆาวาส อาทิ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ กุฏิราย รวมถึงของดีหาดูยากอย่าง ศาลาอกแตก ที่เป็นศาลาพักผ่อนสร้างคร่อมทางเดิน สามารถเดินทะลุผ่านด้านหน้าและด้านหลังได้ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มโบราณสถานในเขตบรรพชิตนี้ ถ้าไม่ได้รับอนุญาตเราไม่ควรเข้าไปยุ่มย่ามด้วยประการทั้งปวง เพราะวัดแห่งนี้ยังมีของดีที่เปิดให้ฆราวาสเข้าไปชมได้อีกหลายจุดด้วยกัน

ดังนั้นใครที่อยากชม“ศาลาอกแตก” แต่พลาด งานนี้คงต้องเลี่ยงไปหาชม“ศาลาอกหัก” “ศาลาพักใจ” หรือ“ศาลาคนเศร้า” แทนก็แล้วกัน
พระอุโบสถ
จากโบราณสถานในเขตสงฆ์ มาถึงกลุ่มโบราณสถานในเขตพุทธาวาส ที่แม้ทางวัดจะเปิดให้เราๆท่านๆเข้าไปเที่ยวชมได้ แต่ยังไงๆก็ต้องสำรวมกายวาจาใจไว้ เพราะที่นี่คือวัดไม่ใช่สถานบันเทิง

สำหรับโบราณสถานในเขตพุทธาวาสที่น่าสนใจก็มี

-วิหารพระพุทธไสยาสน์ วิหารศิลาแลงชั้นเดียว หน้าบันและซุ้มหน้าต่างประดับเครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยยุโรป ด้านในเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

-วิหารฝากระดาน อาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ ลักษณะโค้งเป็นรูปเรือสำเภาสวยงาม

-เจดีย์ เป็นแถวเจดีย์ขนาดเล็ก ย่อมุมไม้สิบสองตั้งอยู่ใกล้ๆกับวิหารฝากระดาน

-มณฑป เป็นหลังคาทรงกระโจม มีอยู่ 3 หลัง หลังแรกประดิษฐานพระพุทธบาท 4 รอย หลังที่สองประดิษฐานพระพุทธบาทมงคล 108 หลังที่สามสร้างทับซ้อนรากฐานของเจดีย์พระปางเดิมที่พังทลายลงไป

และพระอุโบสถ ที่ถือเป็นโบราณสถานสำคัญ(มาก)ในวัดแห่งนี้ ซึ่งหลวงพี่ที่พาผมชมวัดบุปผาราม ท่านเรียกโบสถ์หลังนี้ว่า “โบสถ์ 2 ชั้น”
ลวดลายจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์
หะแรกที่ได้ยินชื่อนี้ ผมนึกว่าโบสถ์ 2 ชั้น แบ่งเป็น ชั้นล่างกับชั้นบน(ชั้น 1 กับชั้น 2 ) แต่ที่ไหนได้กลับเป็น โบสถ์ชั้นนอกกับชั้นใน

โบสถ์ชั้นในเป็นของเก่าดั้งเดิม ผนังฉาบปูนโบราณตำจากเปลือกหอยนับว่าคลาสสิกมาก แต่ด้วยความที่โบสถ์เดิมเก่าแก่ทรุดโทรมมาก ทางกรมศิลป์จึงสร้างโบสถ์ชั้นนอกครอบโบสถ์เก่าอีกทีในการบูรณะเมื่อปี 2526

แต่ประทานโทษ โบสถ์ชั้นนอกที่สร้างครอบนั้นทางผู้รับเหมากรมศิลป์ไม่รู้ไอเดียกระฉูดอีท่าไหน ฉาบผนังเป็นทรายล้าง ดูประดักประเดิดไม่กลมกลืน ไม่เข้าพวกกับของเดิม ชนิดที่หลวงพี่ที่นำชมวัดท่านบ่นอุบ บอกว่าเสียดายจริงๆ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะตอนบูรณะ ทางกรมศิลป์เขากันพระออกมาไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยว งานที่ออกมาเลยดูไม่จืดแบบนี้

ผิดกับภายในโบสถ์ที่ดูสุดแสนจะคลาสสิกขรึมขลัง โดยผนังภายในเป็นงานจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฝีมือช่างพื้นบ้านที่แม้ลายเส้น ลายสี จะไม่ได้สวยเนี๊ยบนิ้ง แต่ว่ากลับดูมีชีวิตชีวามากเสน่ห์ไปด้วยภาพน่าสนใจ อาทิ ภาพพระพุทธเจ้าแสดงธรรม ภาพกระตั้วแทงเสือ ภาพต้นไม้ ดอกไม้ และนกกระเรียนในลายเส้นแบบจีน ขณะที่เพดานใช้แผ่นกระดานตีปิดวาดลวดลายดาวเพดานดูเรียบง่าย แต่มีชีวิตชีวาไม่ต่างจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง
หลวงพ่อโต
สำหรับพระประธานภายในโบสถ์ ผู้คนเรียกขานกันมาช้านานว่า“หลวงพ่อโต” เป็นพระพุทธรูปางมารวิชัย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา องค์พระทำจากทรายแดงฉาบปูน พระพักตร์อมยิ้มละไมเห็นชัดเจน

หลวงพ่อโต หากดูเผินๆท่านไม่ต่างจากพระพุทธรูปทั่วไป แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ท่านเป็นพระพุทธรูปที่พุทธลักษณะพิเศษในระดับอันซีนไทยแลนด์เลยทีเดียว นั่นก็คือที่นิ้วมือนิ้วเท้าของท่าน ช่างได้สร้างให้มีลักษณะต่างจากพระพุทธรูปทั่วไป คือมี“เล็บมือ-เล็บเท้า" เป็นสีขาวขุ่น เหมือนมนุษย์เราดีๆนี่เอง นับเป็นความแปลกที่น่าสนใจยิ่ง
นิ้วมือนิ้วเท้าหลวงพ่อโต ช่างสร้างให้มีเล็บเหมือนกับมนุษย์
ส่วนด้านความศักดิ์สิทธิ์นั้น หลวงพ่อโตท่านเป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองตราดมาช้านาน หลวงพี่ที่นำชมวัดท่านบอกว่า ชาวตราดเคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตไม่ต่างจาก หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อวัดไร่ขิง หรือพระพุทธชินราชเลยทีเดียว

นอกจากสิ่งน่าสนใจของโบราณสถานในเขตพุทธาวาสแล้ว วัดบุปผารามยังมีศิลปวัตถุเก่าแก่มากมาย ถึงขนาดต้องจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ถึง 2 หลังด้วยกัน
การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หลังใหญ่
พิพิธภัณฑ์หลังแรกเป็นหลังใหญ่ มีการทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2535 ภายในจัดเก็บศิลปะวัตถุดูเป็นทางการ จัดแสง จัดแสดงในตู้อย่างดี โดดเด่นไปด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆ พร้อมด้วยเครื่องถ้วยจากจีน จากยุโรป

ส่วนพิพิธภัณฑ์หลังที่สองเป็นการนำศิลปะวัตถุทรงคุณค่าที่เหลืออยู่มาจัดแสดงอย่างเรียบง่ายในลักษณะพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน โดยการปรับปรุงกุฏิพระหลังเดิมมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ แล้วเปิดให้เข้าชมในปี 2550
พระบรมสาทิสลักษณ์ ร. 5
ในพิพิธภัณฑ์หลังที่สองนี้ มีสิ่งน่าสนใจ อาทิ พระพุทธรูป ถ้วยโถโอชาม เครื่องปั้นดินเผาโบราณ คัมภีร์โบราณ บุษบก พระบรมสารีริกธาตุ และศิลปวัตถุอื่นๆอีกมากมาย โดยสิ่งที่สำคัญและถือเป็นไฮไลท์ในพิพิธภัณฑ์หลังนี้ก็คือ พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ได้รับการพระราชทานจากพระองค์ท่าน ซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 5 ทรงเครื่องต้นอันงดงาม

พระบรมสาทิสลักษณ์องค์นี้ รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้กับ พระยาพิพิธไสยสุนทรการ เจ้าเมืองตราด เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นเยือนเมืองตราดครั้งที่ 7 ในปี พ.ศ. 2427(รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองตราดทั้งหมด 12 ครั้ง)

นับเป็นหนึ่งในสิ่งล้ำค่าแห่งวัดบุปผารามที่หากใครไปชม ผมขอความกรุณาว่าต้องดูเฉยๆ อย่าไปแตะต้องสัมผัส เพราะนี่คือภาพเก่าแก่ที่ทรงคุณค่ายิ่ง
พระพุทธรูปเก่าแก่ในพิพิธภัณฑ์
และนั่นก็เป็นเสน่ห์ความน่าสนใจของวัดบุปผาราม วัดงามแห่งเมืองตราดที่อาจถูกใครหลายๆคนมองข้าม ถูกใครหลายๆคนหลงลืม ละเลย แต่งานนี้ถ้ามองอีกมุมก็ถือเป็นเรื่องดีไม่น้อยที่วัดแห่งนี้มีคนไปเที่ยวชมกันไม่มากไม่มาย เฉพาะผู้ที่สนใจจริงๆ เพราะนั่นช่วยทำให้ให้วัดแห่งนี้ยังคงความสงบงาม คงความขลึมขลังเปี่ยมศรัทธา สมคุณค่าความเป็นศาสนสถานได้อย่างน่ายกย่อง

เรียกว่าผิดกับวัดวาอารามหลายๆแห่ง ที่แม้จะสมบูรณ์พูนพร้อมไปด้วยวัตถุ สิ่งปลูกสร้าง สิ่งอลังการมากอภินิหาร และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วทุกสารทิศ มีคนเดินทางมาทำบุญ ไหว้พระ ขอเครื่องรางของขลัง ขอหวย ขอเลข ขอสิ่งอื่นๆอีกสารพัดสารพันเป็นที่คับคั่งในทุกๆวัน แต่ทว่าเมื่อได้เข้าไปแล้ว...

ผมกลับไม่รู้สึกถึงบรรยากาศแห่งความเป็นวัดแต่อย่างใด
*****************************************

หมายเหตุ : พิพิธภัณฑ์วัดบุปผาราม เปิดทุกวันเวลา 8.00 -17.00 น. แต่ในช่วงที่ไม่นักท่องเที่ยวทางวัดจะปิดไว้ ซึ่งหากต้องการเข้าชมขอให้ติดต่อกับท่านเจ้าอาวาส หรือเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล
กำลังโหลดความคิดเห็น