xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวคลองสาน ครบตำนาน 100 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
วัดพิชัยญาติ
พูดถึงถิ่น“บางลำพูล่าง” หลายคนอาจงงว่าคือที่ไหน? เพราะที่ผ่านมารู้จักแต่ย่าน“บางลำภู(บน)” ที่ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นบางลำพู ตามหลักฐานใหม่ คือ“ต้นลำพู”ต้นสุดท้าย(ในยุคนั้น ปัจจุบันมีลูกหลานลำพูออกมาอีกหลายต้น) ที่ค้นพบโดย อ.สมปอง ดวงไสว นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

สำหรับถิ่นบางลำพูล่างที่ฉันเกริ่นนำมานั้นก็คือชื่อเดิมของเขตคลองสาน ที่เพิ่งฉลองอายุครบ 100 ปี ไปหมาดๆ

เขตคลองสานเดิม เรียกว่า “อำเภอปุบผาราม” ตั้งที่ว่าการที่หน้าวัดทองธรรมชาติ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2454 ต่อมาในปี 2458 ได้ย้ายที่ว่าการมาตั้งที่หน้าวัดทองนพคุณ
หินสลัก 3 ก๊ก ที่วัดพิชัยญาติ
จากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น“อำเภอบางลำพูล่าง” จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าพระราชทานนามอำเภอว่า "อำเภอคลองสาน" จังหวัดธนบุรี

ต่อมาในปีพ.ศ.2514 มีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ได้รวมพระนครและธนบุรีเป็นจังหวัดเดียวกัน เรียกว่านครหลวงกรุงเทพธนบุรี ทำให้อำเภอคลองสาน ขึ้นกับนครหลวงกรุงเทพธนบุรี

ในปีพ.ศ. 2515 มีประกาศคณะปฏิวัติให้เปลี่ยนนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เป็นกรุงเทพมหานครและแบ่งพื้นที่กรุงเทพมหานครออกเป็นเขต และในปีพ.ศ.2516 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งกรุงเทพมหานครออกเป็น 24 เขต อำเภอคลองสานจึงเปลี่ยนเป็น "เขตคลองสาน" และขึ้นกับกรุงเทพมหานครแต่นั้นมา

จากประวัติการก่อตั้งสำนักงานเขตคลองสานจนถึงปัจจุบัน ทำให้ในปัจจุบันนี้เขตคลองสานมีอายุครบ 100 ปีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในครั้งนี้ฉันจะแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆของเขตคลองสาน 12 แห่งด้วยกัน เริ่มกันที่ “วัดพิชยญาติการามวรวิหาร” หรือ “วัดพิชัยญาติ”

วัดแห่งนี้ เดิมเป็นวัดร้าง จนมาในปี พ.ศ. 2384 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ(ทัต บุนนาค)ได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ แล้วน้อมถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในเป็นศิลปะแบบจีน หลังคาส่วนหน้าของพระอุโบสถเป็นแบบเก๋งจีน ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย พระนามว่า พระสิทธารถพุทธเจ้า หรือหลวงพ่อสมปรารถนา
วัดอนงคาราม
ที่ฐานพาไลพระอุโบสถโดยรอบมีแผ่นหินแกะสลักเป็นเรื่องราวในวรรณกรรมสามก๊ก ด้านหลังพระอุโบสถประดิษฐานพระปรางค์ขนาดใหญ่สามองค์ องค์กลางประดิษฐานพระพุทธเจ้าในอดีตและปัจจุบันสี่พระองค์ องค์ทางด้านซ้ายประดิษฐานพระศรีอาริยะ และองค์ทางด้านขวาประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง4รอย

ถัดไปเป็น “วัดอนงคารามวรวิหาร” ท่านผู้หญิงน้อยภริยาในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเป็นผู้อุทิศที่สวนกาแฟสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นให้คู่กับวัดพิชัยญาติ และน้อมถวายเป็นพระอารามหลวง ภายในมีพระวิหารขนาดย่อมรูปทรงแบบประเพณีนิยมในต้นรัตนโกสินทร์ ที่ซุ้มประตู หน้าต่างเป็นลวดลายปูนปั้นรูปพันธุ์พฤกษาต่างๆผสมผสานกันอย่างลงตัวจนได้รับการยกย่องว่างดงามมาก ภายในประดิษฐานพระจุลนาค พระพุทธรูปสุโขทัย
ศาลเจ้ากวนอู
สถานที่ต่อมาได้แก่ “ศาลเจ้ากวนอู” สร้างขึ้นโดยพ่อค้าชาวฮกเกี้ยนที่ล่องสำเภาเข้ามาค้าขายในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมเป็นศาลไม้เล็กๆประดิษฐานเทพเจ้ากวนอูที่อัญเชิญมาจากประเทศจีน ต่อมามีการขยายและบูรณะศาลขึ้นใหม่ตามลำดับ โดยศาลที่เห็นในปัจจุบันเป็นตัวอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ตามสถาปัตยกรรมจีนโบราณ ภายในประดิษฐานเทพเจ้ากวนอูถึง3องค์ ด้านหน้าของศาลเจ้าติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาก่อสร้างเป็นเก๋งจีนขนาดใหญ่สูง3ชั้น แต่ละชั้นประดิษฐานเทพเจ้าตามความเชื่อของชาวจีนตามลำดับ
ร่มรื่นในสวนสมเด็จย่า
ใกล้ๆกันมีสวนสวยก็คือ “อุทยานสมเด็จย่า” สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่ออนุรักษ์ย่านนิวาสสถานเดิมครั้งทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายในมีอาคารเก่าใกล้เคียงกับบ้านที่สมเด็จย่าเคยประทับ และยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งจัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระองค์ขณะยังทรงพระชนม์อยู่ นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้และไม้ยืนต้นจำนวนมากที่มีอายุยาวนาน
มัสยิดกูวติลอิสลาม
ไม่ไกลกันเป็นที่ตั้งของ “มัสยิดกูวติลอิสลาม” หรือ “มัสยิดตึกแดง” ก่อตั้งขึ้นโดยพ่อค้าชาวมุสลิมจากเมืองสุรัต ประเทศอินเดีย และจากเมืองไทรบุรีที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำการค้าในที่ดินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เมื่อชาวมุสลิมมีจำนวนมากขึ้นท่านได้ยกตึกอิฐแดงที่เคยเป็นสำนักงานพระคลังสินค้าริมน้ำ ให้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ โดยตัวอาคารมัสยิดยกพื้นสองชั้นสร้างเสร็จในปีพ.ศ.2403
พระประธานวัดทองธรรมชาติวรวิหาร
สถานที่ต่อไปคือ “วัดทองธรรมชาติวรวิหาร” เดิมเป็นวัดโบราณสมัยอยุธยาเรียกกันว่าวัดทองบน คู่กับวัดทองนพคุณซึ่งนิยมเรียกกันว่าวัดทองล่าง ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สิ่งที่น่าสนใจคือภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ เขียนขึ้นเมื่อครั้งรัตนโกสินทร์คล้ายรูปแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย
ซุ้มหน้าต่างแปลกตาที่วัดทองนพคุณ
ส่วนอีกวัดทองที่อยู่ใกล้กันคือ “วัดทองนพคุณ” นั้น เข้าใจว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย บูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระอุโบสถมีรูปทรงแปลกตา ด้านหน้าพระอุโบสถมีเรือสำเภาจำลองก่ออิฐถือปูนซึ่งสร้างถวายโดยเจ้าสัวจีนในละแวกนี้ ซึ่งมีสำเภาไปค้าขายยังประเทศจีนในอดีต ซุ้มหน้าต่างด้านข้างทำเป็นรูปมงกุฎและตาลปัตรพัดยศอย่างงดงาม ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝีมือพระครูกสินสังวร(มี) ศิษย์ของขรัวอินโข่ง
บ้านหวั่งหลี
ละแวกนี้ยังมี “บ้านหวั่งหลีและท่าเรือกลไฟฮ่วยจุ่งโล่ง” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยต้นตระกูลพิศาลบุตร เป็นอาคารแบบจีนขนาดใหญ่ มีลานกว้างอยู่ตรงกลางด้านติดริมแม่น้ำเป็นท่าเรือ ซึ่งในอดีตเป็นสถานที่รวมกลุ่มของเรือสินค้าของพ่อค้าจีนที่ทำการค้าขายทางท้องทะเล ด้านในสุดของตัวอาคารเป็นที่ประดิษฐานเจ้าแม่ทับทิมหรือชาวจีนเรียกว่า หม่าโจ้ว ซึ่งเคารพนับถือกันว่าเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองในการเดินทางทางท้องทะเล
พระธาตุมหาเจดีย์พระจอมชาตรีไทย-จีนเฉลิม
ใกล้กันคือ “มูลนิธิเผยแพร่คุณธรรม(เต็กก่า)จีจินเกาะ” ภายในเป็นที่ทำการและเทววิหารต่างๆ ออกแบบและจัดสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีน ที่วางตามหลักฮวงจุ้ยอย่างงดงาม นอกจากนี้ยังมีพระธาตุมหาเจดีย์พระจอมชาตรีไทย-จีนเฉลิม ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2542เป็นเจดีย์แบบจีนสูง8ชั้น โดยชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
อุโบสถวัดสุวรรณ
เดินทางต่อมาอีกหน่อยจะเจอกับ “วัดสุวรรณ” เดิมบริเวณนี้เชื่อว่าเป็นศาลเจ้าของชาวจีนมาก่อน ต่อมาจึงสร้างเป็นวัดขึ้นพร้อมๆกับกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยมีพุทธลักษณะงดงามมาก นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าแม่กวนอิมประดิษฐานอยู่ในบริเวณวัดให้ผู้ศรัทธาได้กราบสักการะด้วย
พระนอนองค์ใหญ่วัดเศวตฉัตร
ถัดไปเป็น “วัดเศวตฉัตรวรวิหาร” สร้างมาแต่อยุธยา จนในสมัยรัชกาลที่3 พระองค์เจ้าฉัตร ต้นราชสกุลฉัตรกุลทรงมีพระศรัทธาสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ภายในวิหารหลวงพ่อโบสถ์บน ประดิษฐานพระประธานองค์เก่าที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ส่วนพระอุโบสถหลังปัจจุบันเป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันเป็นลวดลายปูนปั้นและกระเบื้องเคลือบศิลปะแบบจีนที่งดงาม ด้านหลังพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์พระนามว่าพระพุทธบัณฑูลพูลประดิษฐ์สถิตไสยาสน์
ภายในวิหารหลวงพ่อฉิม วัดสุทธาราม
สำหรับสถานที่แห่งสุดท้ายคือ “วัดสุทธาราม” เดิมเป็นวัดที่ประชาชนชาวสวนบริเวณใกล้เคียงได้ร่วมใจกันสร้างขึ้น ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.2470 ถัดมาในปีพ.ศ.2509 พระมหาโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดจังหวัดธนบุรีในขณะนั้น ได้เพิ่มตัว “ท” ให้เป็นวัดสุทธารามเพื่อให้ความหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่นามว่าหลวงพ่อฉิม เป็นที่นับถือของชาวบ้านทั่วไป

และนั่นก็คือเสน่ห์ของเขตคลองสานที่มาเขตเที่ยวสามารถเที่ยวได้หลากหลายให้หายอยากกันไปเลย
 

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สายรถประจำทางที่ผ่านย่านคลองสาน รถเมล์สาย 3, 4, 6, 7, 9, 19, 37, 40, 42, 43, 57, 85, 88, 89, 105, 111, 149 และ ปอ.6, 8, 89, 167

คลิกเพื่ออ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

เที่ยวไปช้อปไป ใกล้ริมเจ้าพระยา
 
สะอาดกาย-ใจ ไหว้เทพเจ้ารับเจ ที่“จีจินเกาะ”

เที่ยว 4 วัดทอง ที่คลองสาน

รำลึกสมเด็จย่าในถิ่นนิวาสสถานเดิม ณ วัดอนงคาราม

มากกว่าสวนสาธารณะ ที่ "อุทยานฯ สมเด็จย่า"

 
กำลังโหลดความคิดเห็น