xs
xsm
sm
md
lg

เวียนไหว้ “พระปฐมเจดีย์” เจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
องค์พระปฐมเจดีย์ ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
เวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่งแล้วสำหรับวันพระใหญ่ “วันวิสาขบูชา” เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์นั้นได้เกิดตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขมาส (ต่างปีกัน)

ชาวพุทธจึงถือว่าวันนี้เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน
พระร่วงโรจนฤทธิ์ พระพุทะรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวนครปฐม
ในครั้งนี้ฉันจึงอยากจะขอเชิญชวนพี่น้องชาวพุทธ ร่วมกันทำบุญเวียนเทียนเพิ่มบุญเพิ่มกุศลให้กับตนเอง ใครอยู่ใกล้วัดใดก็ไปวัดนั้น หรือถ้าไม่มีแผนจะไปที่ไหนจะไปร่วมเวียนเทียนกับฉันที่ “วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร” จังหวัดนครปฐม ก็ได้ไม่ว่ากัน

โดยที่ “วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร” แห่งนี้ ถือเป็นพระมหาเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เดิมเรียกว่า “พระธมเจดีย์” สร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราช เดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิก็เป็นได้ เพราะพระเจดีย์เดิมมีลักษณะสถูปกลมรูปทรงคล้ายบาตรคว่ำหรือทรงโอคว่ำ แบบเดียวกับพระสถูปสาญจีในประเทศอินเดีย ที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ แต่มียอดเป็นแบบปรางค์ สูงราว 2 เมตร
สถาปัตยกรรมต่างๆ
โดยมีตำนานเกี่ยวกับการกำเนิดพระปฐมเจดีย์อยู่หลายตำนานด้วยกัน เช่น ตำนานพระยากง-พระยาพาน ได้เล่าไว้ว่า พระมเหสีในพระยากงผู้ครองเมืองศรีวิชัยหรือนครชัยศรี ได้ประสูติพระกุมารพระองค์หนึ่ง โหรทำนายว่ากุมารเป็นผู้มีบุญญาธิการมากแต่จะทำปิตุฆาต พระยากงจึงรับสั่งให้นำกุมารไปทิ้ง

แต่มียายหอมมาเก็บกุมารไปเลี้ยง เมื่อเติบใหญ่กุมารจึงลายายหอมขึ้นไปเมืองเหนือถึงสุโขทัย บังเอิญไปพบช้างพระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยอาละวาดไล่แทงผู้คน กุมารจึงจับช้างกดลงกับดินคนทั้งปวงจึงจับช้างได้ ความทราบถึงพระเจ้าแผ่นดิน จึงชุบเลี้ยงกุมารเป็นบุตรบุญธรรม จนกระทั้งกุมารได้ยกทับมารบกับพระยากง โดยกระทำยุทธหัตถีกัน พระยากงเสียทีถูกกุมารฟันด้วยของ้าวคอขาด
หลวงพ่อประทานพรภายในพระอุโบสถ
หลังจากนั้นกุมารจึงยกรี้พลเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองและต้องการได้พระมเหสีพระยากงเป็นภรรยา แต่ก็มีเหตุดลใจให้ทราบว่าเป็นพระมารดา เมื่อแม่ลูกรู้จักกันแล้วและทราบว่าพระยากงเป็นพระบิดาก็เสียใจ และโกรธยายหอมมาก จึงจับยายหอมฆ่าเสียทันที ด้วยเหตุนี้เองคนทั้งปวงจึงเรียกกุมารนั้นว่าพระยาพาล

ครั้นเมื่อฆ่าพระบิดาและยายหอมแล้วก็เกิดความรู้สึกว่าจะเป็นเวรต่อกันจึงทำบุญให้ทานไม่ขาด ต่อมาเมื่อพระมเหสีของพระองค์ให้ประสูติพระโอรส พระยาพานจึงเกิดความรู้สึกถึงความรักที่พ่อมีต่อลูก และเกิดสำนึกในสิ่งที่กระทำไปจึงได้ถามถึงการแก้ไขสิ่งที่ตนได้ทำปิตุฆาตกับพระอรหันต์
องค์พระปฐมเจดีย์องค์เก่า
ซึ่งท่านได้ตอบว่าสิ่งนี้เป็นกรรมหนักนักต้องตกมหานรกอเวจี มีแต่ทางผ่อนหนักให้เป็นเบาได้เท่านั้นคือ สร้างพระเจดีย์สูงเท่ากับนกเขาเหิน กรรมอาจจะลดลงไปได้สัก 1 ใน10 ส่วน พระยาพานจึงสั่งให้สร้างเจดีย์ดั้งกล่าวแล้วบรรจุพระบรมธาตุพระเขี้ยวแก้วไว้ในเจดีย์ใหญ่นั้นด้วย

โดยมีผู้รู้หลายท่านได้สันนิษฐานว่า องค์พระปฐมเจดีย์มีการสร้างและปฏิสังขรณ์มาอย่างน้อย 3 ครั้งแล้ว นั้นคือในสมัยสุวรรณภูมิ คือ ระยะการสร้างครั้งแรก ราวพุทธศักราช 300-1000 ต่อมาในสมัยทวารวดี มีการสร้างเพิ่มเติม ประมาณช่วงพุทธศักราช 1000-1600 และครั้งที่ 3 ก็คือสมัยที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์
ภาพจิตกรรมฝาผนังอันวิจิตที่วิหารปัญจวัคคีย์
ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จธุดงค์ที่เมืองนครปฐมพร้อมด้วยคณะสงฆ์ และทรงปักกลดประทับ ณ โคนต้นตะคร้อ ได้สังเกตลักษณะขององค์พระเจดีย์ทรงเห็นว่า ไม่มีพระเจดีย์ใดที่เก่าแก่ และยิ่งใหญ่เท่าเจดีย์องค์นี้

จนเมื่อพระองค์ได้เสวยราชสมบัติแล้วในราว พ.ศ. 2396 ได้โปรดให้ก่อพระเจดีย์ใหม่ห่อหุ้มองค์เดิม เปลี่ยนจากบาตรคว่ำมีพุทธบัลลังก์ ฐานสี่เหลี่ยมซ้อนระฆัง มียอดนพศูลและมีพระมหามงกุฎสวมไว้บนยอดองค์พระเจดีย์ มีขนาดสูง 120.5 เมตร ฐานโดยรอบยาว 233 เมตร รอบฐานองค์ปฐมเจดีย์สร้างเป็นวิหารคตล้อมรอบเป็น 2 ชั้น ทั้ง 4 ทิศ
วิหารปัญจวัคคีย์อยู่ทางทิศใต้ขององค์พระฯ
แต่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จก็สวรรคต ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดให้ปฏิสังขรณ์จัดสร้างหอระฆัง และประดับกระเบื้องจนสำเร็จ เมื่อถึงรัชกาลที่ 6 ปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง เขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่าง ๆ ไว้ที่ผนัง รื้อมุขวิหารด้านทิศเหนือสร้างใหม่ เพื่อประดิษฐาน “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร” เป็นพระยืนปางห้ามญาติ หล่อด้วยโลหะ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้บรรจุพระอังคารของพระองค์ท่านไว้ในใต้ฐานพระนี้ด้วย

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 โปรดให้สร้างพระอุโบสถใหม่ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2509 ทางวัดพบว่าตัวองค์พระปฐมเจดีย์มีรอยร้าวแตกร้าวหลายแห่ง กระเบื้องที่ประดับหลุดร่วงลงมา จึงได้แจ้งเรื่องไปยังรัฐบาลสมัยนั้น และได้มีการสำรวจตรวจสอบอยู่ประมาณ 9 ปี ในที่สุดก็มีความเห็นว่าควรดำเนินการบูรณะเป็นการด่วน จึงได้ลงมือทำการซ่อมแซมบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2518 และแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ.2524
ศาสนสถานต่างๆภายในบริเวณองค์
นอกจากจะไปไหว้พระขอพรในวันพระใหญ่แล้ว ภายในวัดพระปฐมเจดีย์แห่งนี้ ยังมีสิ่งสำคัญอีกหลายอย่างด้วยกัน อาทิ “พระพุทธรูปศิลาขาว” หรือ “หลวงพ่อประทานพร” ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางประทานปฐมเทศนา สันนิฐานว่าน่าสร้างขึ้นมาในสมัยทวาราวดี

“วิหารปัญจวัคคีย์” ก็เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งภายในวัดแห่งนี้ โดยเพิ่งจะบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ และเปิดให้เข้าชม ภายในเป็นวิหารที่มีจิตรกรรมฝาผนังที่ประณีตและสวยสดงดงามเป็นอย่างมาก เป็นเรื่องราวประวัติความเป็นมาของศาสนาพุทธ ประวัติการสร้างองค์พระปฐมเจดีย์แห่งนี้ตั้งแต่เริ่มแรกจนปัจจุบัน และประวัติศาสตร์องค์พระปฐมเจดีย์ 3 สมัย ในยุครัตนโกสินทร์
ภาพองค์พระปฐมเจดีย์แบบผ่าครึ่งภายในวิหารหลวง
อีกทั้งภายในวัดแห่งนี้ยังมี “พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์” ตั้งอยู่บริเวณชั้นลดด้านทิศตะวันออกตรงข้าม พระอุโบสถ ภายในเก็บวัตถุโบราณที่ขุดพบได้จากสถานที่ต่างๆในนครปฐมทั้ง สมัยบ้านเชียง สมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูป หินบดยา ลูกประคำดินเผา กำไลข้อมือ เงินโบราณ ฯลฯ

และ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์” ตั้งอยู่ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ด้านทิศใต้เป็นอาคาร ทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น เป็นที่เก็บศิลปวัตถุและวัตถุโบราณซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปะสมัยทวารวดีที่ขุดพบ
องค์พระปฐมเจดีย์สีทองอร่ามตา
ใครที่มีโอกาสแวะเวียนไปยังเมืองนครปฐม ก็อย่าลืมไปไหว้พระขอพรชมความสวยงามที่วัดพระปฐมเจดีย์แห่งนี้ด้วย และในตอนเย็นย่ำภายในบริเวณวัดยังมีตลาดกลางคืนให้ได้อิ่มหนำสำราญกับอาหารอร่อยๆอีกด้วย รู้แบบนี้ ไม่ไปไม่ได้แล้ว!
กำลังโหลดความคิดเห็น