xs
xsm
sm
md
lg

ตรึงตรา “3 พระราชวัง” ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณ “พระมหาธีรราชเจ้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระที่นั่งพิมานปฐม และ พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี
เนื่องในวโรกาสครบรอบ 100 ปี พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงเป็นโอกาสอันดีในการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสถาปัตยกรรม ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดจากพระราชวังทั้ง 3 แห่ง ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ซึ่งในทุกวันนี้ก็ยังปรากฏความงดงามให้ได้ชื่นชมกันอยู่
พระที่นั่งวัชรีรมยา และ พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์
พระราชวังสนามจันทร์ แปรพระราชฐาน ณ นครปฐม
พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ใน จ.นครปฐม ในอาณาบริเวณที่แต่เดิมเรียกว่า “เนินปราสาท” ซึ่งได้รับการสันนิษฐานว่าน่าจะเคยเป็นพระราชวังของกษัตริย์ในสมัยโบราณ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างที่ประทับสำหรับแปรพระราชฐาน และได้ทรงเลือกพื้นที่บริเวณเนินปราสาทแห่งนี้เป็นสถานที่ก่อสร้าง

การก่อสร้างพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2454 และได้รับพระราชทานนามว่า “พระราชวังสนามจันทร์” ซึ่งนอกจากจะเป็นที่แปรพระราชฐานแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชดำริในการสร้างพระราชวังสนามจันทร์ไว้เป็นที่มั่น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตการณ์ของประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และเนื่องจากตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสม จึงทรงใช้พระราชวังสนามจันทร์เป็นสถานที่ซ้อมรบสำหรับเสือป่าอีกด้วย
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และ อนุสาวรีย์ย่าเหล
ภายในพระราชวังสนามจันทร์ประกอบด้วยพระที่นั่งและพระตำหนักองค์ต่างๆ คือ พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น แบบตะวันตก แต่ระเบียงลูกกรงโดยรอบฉลุ สลักเป็นลวดลายแบบไทย พระที่นั่งวัชรีรมยา สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมไทย มีหลังคาซ้อนลดหลั่นกันลงมา มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี มีคันทวย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และมีชานชาลาเชื่อมต่อไปยังพระที่นั่งพิมานปฐมและพระที่นั่งอภิรมย์ฤดี

พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เป็นท้องพระโรงทรงไทยแบบศาลาโถงองค์ใหญ่ อยู่ติดกับพระที่นั่งวัชรีรมยาทางทิศเหนือ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ลักษณะคล้ายปราสาทขนาดย่อม สถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์ของฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาล์ฟทิมเบอร์ของอังกฤษ เป็นพระตำหนักที่ประทับในฐานะที่ทรงเป็นผู้บัญชาการเสือป่า ณ พระราชวังสนามจันทร์ และยังทรงโปรดที่จะประทับตลอดปลายรัชกาล เมื่อเสด็จมายังพระราชวังสนามจันทร์
สะพานเชื่อมต่อพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นเรือนไม้สีแดง 2 ชั้น ด้านหลังพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ โดยมีสะพานเชื่อมต่อ และที่ใต้สะพานเป็นคลอง ในปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระตำหนักทับแก้ว มีลักษณะเป็นบ้านแบบตะวันตก พระตำหนักทับขวัญ เป็นเรือนไทยหมู่ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อรักษาสถาปัตยกรรมแบบบ้านไทยโบราณ

นอกจากนี้ บริเวณสนามหน้าพระที่นั่งต่างๆ ยังเป็นที่สถิตของพระพิฆเนศวร ที่เรียกกันว่า เทวาลัยคเณศ ซึ่งทรงโรปดเกล้าให้สร้างขึ้นเป็นศาลเทพารักษ์สำหรับพระราชวังสนามจันทร์ ส่วนบริเวณด้านหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ก็มี อนุสาวรีย์ย่าเหล ซึ่งเป็นสุนัขทรงเลี้ยงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรด
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่ ณ พื้นที่ที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าชุกชุม ซึ่งแล้วเสร็จลงในปี พ.ศ.2467 ทรงประกาศให้พื้นที่นี้เป็นเขตอภัยทาน และพระราชทานชื่อว่า “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ที่มีความหมายว่า “สวนกวาง”

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน สร้างด้วยไม้สักทอง ตามสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก โดยหันหน้าออกสู่ทะเล ประกอบด้วยพระที่นั่ง 3 องค์ มีระเบียงเชื่อมต่อถึงกัน คือ พระที่นั่งสมุทรพิมาน พระที่นั่งพิศาลสาคร และ พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ ถึงแม้ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตก แต่ก็ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของไทย สังเกตจากใต้ถุนโปร่งโล่ง เปิดรับลมทะเลให้ความเย็นสบายตลอดทั้งวัน
ระเบียงทอดยาวสู่ทะเล
มีการเล่าขานสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี ทรงพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเกษมสำราญยิ่ง แต่ความหวังนั้นก็สิ้นไปเมื่อสมเด็จฯ ไม่สามารถมีพระประสูติกาลได้ พระองค์ได้ทรงอภิบาลพระมเหสีด้วยน้ำพระทัยเป็นห่วงและเศร้าสร้อย ตำนานนี้จึงเป็นที่มาของชื่อพระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับ ณ พระราชนิเวศน์แห่งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 12 เมษายน – 20 มิถุนายน 2468 และเมื่อเสด็จกลับสู่พระนครแล้ว ต่อมาไม่นานก็เสด็จสวรรคต
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์
พระราชวังพญาไท ที่ประทับ ณ ทุ่งพญาไท
พระราชวังพญาไทแห่งนี้ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งแต่เดิมนั้นได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “พระตำหนักพญาไท” ต่อมาเมื่อโปรดที่จะเสด็จประพาสบ่อยขึ้น จึงได้พระราชทานนามใหม่คือ “วังพญาไท”

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้สร้างพระตำหนักขึ้นที่ริมคลองพญาไท เป็นเรือนไม้สัก 2 ชั้น และพระราชทานนามว่า “พระตำหนักเมขลารูจี” และยังพระราชทานนามให้แก่วังพญาไทให้ใหม่ว่า “พระราชวังพญาไท”

ภายในพระราชวังพญาไท จะเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งจำนวน 5 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งไวกูณฐเทพสถาน, พระที่นั่งพิมานจักรี, พระที่นั่งศรีสุทธวาส, พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และ พระที่นั่งอุดมวราภรณ์ ทางด้านหลังของพระที่นั่งจะมีสวนซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์ เรียกว่า “สวนโรมัน”
สวนโรมัน
นอกจากจะเป็นพระราชวังที่ประทับแล้ว พระราชวังพญาไทยังมีความสำคัญทางด้านการเมืองการปกครองของไทยอีกด้วย คือ เป็นเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทางโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อทดลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในปัจจุบันไม่มีเมืองจำลองเหลือให้เห็นแล้ว

จากสถาปัตยกรรมที่เห็นได้จากพระราชวังทั้ง 3 แห่ง เป็นเพียงส่วนหนึ่งในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สังเกตจากพระราชกรณียกิจในหลายด้าน ทั้งด้านการศึกษา การเมืองการปกครอง ด้านวรรณกรรม เป็นต้น นับได้ว่าพระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ในหลายๆ ด้าน สมกับพระราชสมัญญา “พระมหาธีรราชเจ้า”
กำลังโหลดความคิดเห็น