xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นแล้ว “เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ” ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เย็นวันนี้ 27 กรกฎาคม 2554 ท้องฟ้าเหนือกรุงเทพมืดครึ้มเหมือนฝนกำลังตั้งเค้า ประหนึ่งเป็นการอาลัยครั้งสุดท้ายต่อการสิ้นพระชนม์ของ “เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ” พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ตลอดพระชนม์ชีพ 85 พรรษา พระองค์ทรงเป็นราชนารีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ มิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง ตราบจนถึงวาระสุดท้ายของพระองค์

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2468 เวลา 12.52 น. ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง ก่อนที่สมเด็จพระบรมชนกนาถจะเสด็จสวรรคตในอีกหนึ่งวันต่อมา

ขณะที่ประสูตินั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรอย่างหนักอยู่บนพระแท่น ทรงทอดพระเนตรพระราชธิดาเป็นครั้งสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ เพราะในคืนนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต

พระนม (แม่นม) ของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 คือ คุณบุปผา พนมวัน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นพระนมโดยตำแหน่ง เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในรัชกาลที่ 6 เสวยพระกษิรธาราจากพระชนนี มีคณะพยาบาลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถวายอภิบาลในเบื้องต้น จากนั้นจึงมีคณะพระอภิบาลจำนวน 12 คน ซึ่งเป็นอดีตคุณพนักงานในรัชกาลที่ 6 โดยผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าอภิบาลจนทรงเจริญพระวัยพอสมควร

พระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั้นได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2468 และมีคำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ (ภาติกา หมายถึงหลานสาวที่เป็นลูกสาวของพี่ชาย) โดยก่อนหน้านี้มีการสมโภชน์ ได้มีการคิดพระนามไว้ 3 พระนาม ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชอรสา สิริโสภาพัณณวดี, สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนจุฬิน สิริโสภิณพัณณวดี และสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ท้ายที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเลือกพระนามสุดท้ายพระราชทาน

เมื่อทรงพระเยาว์หลังจากประสูติแล้วไม่นาน สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้ทรงย้ายไปประทับ ณ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงเจริญวัยขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงว่าสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ จะไม่มีสถานที่ทรงวิ่งเล่นเพราะในพระบรมมหาราชวังมีบริเวณคับแคบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายออกมาประทับ ณ พระตำหนักสวนหงษ์ พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นที่กว้างขวางร่มรื่น แวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เหมาะแก่การสำราญพระอิริยาบถของสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ

ขณะสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงพระเมตตาเอาพระราชหฤทัยใส่ดูแลทั้งด้านพระอนามัยและความเป็นอยู่มาโดยตลอด ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงพระประชวรหนักนั้น ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าว่า “ขอฝากลูกด้วย” ต่อมา สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้ายังได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เจ้าฟ้านี่ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้”

หลังจากความวุ่นวายทางการเมือง เมื่อเกิดเหตุการกบฎบวรเดชและการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ผ่านพ้นไป พระนางเจ้าสุวัทนาฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างตำหนักที่ประทับ สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯขึ้น บนที่ดินริมถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัยแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2477 พร้อมกับพระราชทานนามตำหนักแห่งนี้ว่า สวนรื่นฤดี

เมื่อประทับในสวนรื่นฤดีได้ระยะหนึ่ง พระนางเจ้าสุวัทนาทรงสังเกตได้ว่า พระอนามัยของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มีลักษณะพิเศษ เช่น ทรงมีความสามารถทางด้านการคำนวณ การจดจำทิศทางและความสนใจจดจ่อต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ที่ผิดแผกจากเด็กสามัญทั่วไป จึงมีพระดำริจะทรงพาสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯไปทรงศึกษาต่อ และไปประทับรักษาพระองค์ ณ ประเทศอังกฤษ โดยทรงประทับ ณ ตำหนัก แฟร์ฮิลล์ เมืองแคมเบอร์เลย์

ครั้นเมื่อพระอนามัยของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ดีขึ้น และสภาวะการในประเทศไทยเป็นปกติสุขเรียบร้อย กอปรกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรแล้วระยะหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ จึงเสด็จกลับมาประทับในประเทศไทยเป็นการถาวร เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนพ.ศ. 2502

พระราชกรณียกิจสำคัญที่ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติด้วยพระวิริยภาพมาโดยตลอด ที่สำคัญคือ การปฏิบัตพระราชกรณียกิจแทนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในโอกาสต่างๆ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงรับสถาบันและองค์กรต่างๆ ไว้ในพระอุปถัมภ์เป็นจำนวนกว่า 30 แห่ง

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจ ดังปรากฏในพระดำรัสที่พระราชทานในงานฉลองพระชนมายุ 61 พรรษา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ณ วชิราวุธวิทยาลัย ความตอนหนึ่งว่า

“ฉันขอกล่าวต่อท่านทั้งปวงว่า จะพยายามบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง ด้วยความจงรักภักดีต่อบ้านเกิดและต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระประมุขของชาติ ทั้งจะได้รักษาเกียรติศักดิ์แห่งความเป็นราชนารีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ไว้ชั่วชีวิต”











กำลังโหลดความคิดเห็น