ย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ อย่าง “หน้าพระลาน” หรือบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร ฝั่งตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว ถือเป็นย่านคลาสสิคอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ซึ่งยังคงมีกลิ่นอายของบรรยากาศเก่าๆ ที่หาชมได้ยาก อีกทั้งในบริเวณนี้ยังมีตึกแถวสไตล์ยุโรปเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นโบราณสถาน
ความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ มิใช่เพียงการเป็นตึกแถวเก่าแก่เพียงเท่านั้น แต่ในบริเวณนี้ยังถือเป็นสถานที่สำคัญในอดีต โดยในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังขึ้นในบริเวณนี้รวม 3 วัง ได้แก่ “วังตะวันตก” เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น) “วังกลาง” เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรุโณทัย ภายหลังทรงสถาปนาขึ้นเป็นกรมหมื่นศักดิพลเสพ (กรมพระราชวังบวรสถาน หรือวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3) และ “วังตะวันออก” เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอภัยทัต ซึ่งทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นเทพพลภักดิ์
วังตะวันตกต่อมาเรียกชื่อว่า ”วังท่าพระ” ตามชื่อของประตูพระนครฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 1 อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากเมืองสุโขทัยล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามายังกรุงเทพฯ เพื่อมาประดิษฐานที่วัดสุทัศน์เทพวราราม แต่องค์พระมีขนาดใหญ่ไม่สามารถผ่านประตูพระนครเข้ามาได้ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อประตูและกำแพงเมืองทางฝั่งท่าช้างออกจึงสามารถนำองค์พระพุทธรูปเข้ามาได้ ต่อมาชาวเมืองจึงเรียกประตูนี้ว่าประตูท่าพระ และเรียกวังทางฝั่งตะวันตกนี้ว่าวังท่าพระต่อมา
วังแห่งนี้ยังเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ใกล้ชิดและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเป็นวังที่อยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังมาก และยังตั้งอยู่ในทางเสด็จพระราชดำเนินอีกด้วย เช่น พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ทรงพระนามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) ได้มาประทับที่วังท่าพระในสมัยรัชกาลที่ 2 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ก็ได้มาประทับที่วังท่าพระในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนจะทรงย้ายไปประทับที่ตำหนักปลายเนิน คลองเตย วังท่าพระจึงถูกปล่อยให้รกร้างไปชั่วคราว
ในส่วนของตึกแถวริมถนนหน้าพระลานนั้น ได้มีการก่อสร้างในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 โดยได้เปลี่ยนพื้นที่วังเป็นสถานที่ราชการ มีการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ของวังออก และเปลี่ยนเป็นที่ทำการของกรมช่างสิบหมู่ หรือกรมศิลปากร ส่วนพื้นที่ริมถนนหน้าพระลานซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ริมกำแพงวัง ได้มีการก่อสร้างอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น จำนวน 29 ห้อง ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2452 เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับเป็นที่พักแขกเมือง รวมทั้งใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ตึกแถวหน้าพระลานเป็นอาคารสถาปัตยกรรมยุโรปแบบนีโอคลาสสิคซึ่งเป็นที่นิยมในทวีปยุโรปช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 18 จุดเด่นของอาคารกลุ่มนี้คือมุขยื่นที่คูหาหัวมุมและคูหากลาง มีหน้าบันโค้งกลม ที่ปลายหน้าบันทั้งสองข้างเป็นปูนปั้นรูปผอบ บริเวณทับหลังตกแต่งด้วยลวดลายพวงดอกไม้ เสาระเบียงชั้นบนเป็นแบบไอโอนิค ส่วนเสารองรับเฉลียงชั้นล่างเป็นแบบดอริก ซุ้มหน้าต่างเป็นรูปครึ่งวงกลม ช่องแสงเป็นลายรูปพัด กรุกระจก บานหน้าต่างเป็นบานเฟี้ยมไม้ 4 บาน ยาวถึงพื้น ส่วนคูหาที่ไม่มีมุข ซุ้มหน้าต่างก็เป็นครึ่งวงกลมแต่บานหน้าต่างเป็นบานเปิดแยกเป็นสองชุด ที่ช่องลมเหนือหน้าต่างเป็นไม้แกะสลักลวดลายสวยงาม บานประตูชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยม 6 บาน บานกรอบและลูกฟักเป็นไม้ มีช่องลมเหนือบานประตูเป็นรูปโค้ง ส่วนผนังอาคารเซาะร่องให้ดูคล้ายหิน หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
นับได้ว่าตึกแถวหน้าพระลานเป็นอาคารพาณิชย์ในยุคแรกๆ ของสยามที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตก และด้วยความสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์นี้ กรมศิลปากรจึงขึ้นทะเบียนตึกแถวริมถนนหน้าพระลานเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2543 ซึ่งรวมถึงตึกแถวท่าช้างและตึกแถวท่าเตียน อันเป็นกลุ่มอาคารโบราณสถานที่ตั้งอยู่โดยรอบพระบรมมหาราชวัง
และนอกจากความงดงามแล้ว การสร้างตึกแถวเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคนไทย ที่แต่เดิมมีการค้าขายริมน้ำ มาเป็นการค้าขายบนบกในตึกแถวที่กระจายตัวไปตามเส้นทางถนนแทนแม่น้ำลำคลอง ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็ยังแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าขายแบบเสรีของสยาม อันเป็นผลจากสนธิสัญญาเบาวริ่ง รวมถึงการเจริญเติบโตของระบบทุนนิยมในขณะนั้น
เป็นเวลานับ 100 ปี แล้วที่อาคารตึกแถวริมถนนหน้าพระลานได้ต้อนรับผู้คนที่แวะเวียนผ่านมา โดยในช่วงหลังได้มีผู้มาเช่าตึกทำการค้าขาย โดยเปิดเป็นร้านค้า ร้านอาหารหลากหลายชนิด รวมถึงไปรษณีย์ ร้านถ่ายรูป ฯลฯ โดยที่นี่มีร้านอาหารในตำนานอย่าง “ร้านมิ่งหลี” ซึ่งเป็นร้านอาหารที่อยู่คู่กับมหาวิทยาลัยศิลปากรและศิลปินรุ่นเก๋ามานานหลายสิบปี ร้านนี้ถือเป็นจุดนัดพบของศิลปินรุ่นใหญ่มากมาย ว่ากันว่าถ้าไม่ใช่ขาประจำหรือศิลปินรุ่นใหญ่ ก็อาจไม่มีโอกาสได้ชิมอาหารรสเยี่ยมของร้านนี้
ด้วยระยะเวลาและการใช้งานตัวอาคาร 100 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ตัวตึกเสื่อมสภาพ ระบบสาธารณูปโภคภายในอาคาร ทั้งระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้า และระบบบำบัดน้ำเสียล้วนแต่ล้าสมัย และอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้อาคาร ทั้งในด้านสุขอนามัยและอัคคีภัย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ดูแลตึกแถวถนนหน้าพระลาน จึงได้จัดทำโครงการบูรณะตึกแถวถนนหน้าพระลานขึ้นใน พ.ศ. 2551 และเริ่มดำเนินงานซ่อมแซมในเดือนกรกฎาคม 2553 จนแล้วเสร็จในช่วงเดือนมีนาคม 2554 รวมระยะเวลาในการบูรณะ 8 เดือน
เนื่องจากองค์ประกอบต่างๆ ของสถาปัตยกรรมยังคงอยู่ในสภาพดี อาทิ มุขยื่นที่คูหาหัวมุมและคูหาช่วงกลาง หน้าบัน รูปปูนปั้น และเสาระเบียง การซ่อมแซมจึงเป็นการบูรณะให้คงสภาพเดิมไว้ทั้งหมด เพียงแต่ซ่อมแซมส่วนที่หายไปให้กลับคืนอย่างที่เคยเป็น ไม่มีการต่อเติมส่วนประกอบใดๆ ส่วนด้านหลังอาคารที่มีการต่อเติมหลายครั้ง ได้ซ่อมแซมและเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงแยกส่วนจากโครงสร้างดั้งเดิม พร้อมทั้งปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคในอาคารให้ทันสมัย เพื่อให้สามารถใช้สอยอาคารได้ในระยะยาว
เมื่อการบูรณะเสร็จสิ้นลง ผู้เช่าตึกรายเดิมต่างเริ่มขนย้ายข้าวของกลับเข้ามาเพื่อเปิดทำการอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงนี้คนที่ผ่านไปแถวหน้าพระลานจึงจะได้พบกับบรรยากาศเดิมๆ ในตึกแถวเก่าแก่ที่ถูกแต่งหน้าตาใหม่ให้สวยสดใส รับกับความงดงามของพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติอีกด้วย