xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวท้องถิ่น “ย่านดินแดง” ตื่นตากับศาสนสถาน 3 ศาสนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นฯเขตดินแดง
ชื่อของแต่ละเขตในบ้านเรานั้นล้วนมีที่มาที่ไปทั้งสิ้น อย่างเขตดินแดง แค่ฟังชื่อก็พอจะรู้แล้วว่าเหตุใดย่านนี้จึงได้ชื่อว่า“ดินแดง” ตำนานความเป็นมาของเขตดินแดงมีอยู่ว่า แต่เดิมพื้นที่เขตดินแดงส่วนใหญ่เป็นท้องทุ่งนา ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูล-สงคราม ได้มีการสร้างทางด้วยดินลูกรังจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และสร้างต่อไปจนถึงบริเวณโรงเรียนพร้อมพรรณในปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อรถวิ่งผ่านจึงเกิดฝุ่นสีแดงกระจายไปทั่ว ประชาชนจึงเรียกถนนสายนี้ว่า “ถนนดินแดง”
ข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อน
และเนื่องจากเป็นถนนสายหลักที่ประชาชนใช้สัญจรในสมัยนั้น จึงได้ตั้งชื่อเขตให้สอดคล้องกับพื้นที่เดิมที่เรียกขานกันจนติดปากว่า “เขตดินแดง” ซึ่งเรื่องราวความเป็นมาของเขตดินแดงนั้นสามารถศึกษาได้จาก “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง” ที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนวิชากร

ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นห้องเล็กๆ แต่สามารถทำให้เรารู้เรื่องราวของเขตดินแดงทั้งเขต โดยจัดเป็นนิทรรศการบอกเล่าประวัติความเป็นมา ภูมิปัญญาด้านอาชีพของบุคคลที่เป็นสมบัติของชาติ และของดีของเด่น รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่น เมื่อฉันรู้เรื่องราวความเป็นมาและสถานที่ท่องเที่ยวของย่านนี้เป็นฐานข้อมูลแล้ว ก็ออกเดินทางไปยังสถานที่นั้นๆกันเลย
ความบันเทิงใกล้ตัวในสมัยก่อน
เริ่มกันที่ “สวนป่าวิภาวดีรังสิต” ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนวิภาวดี เป็นสวนสาธารณะสีเขียวขจีในเขตชุมชนที่นอกจากจะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นปอดของกรุงเทพฯแห่งหนึ่งแล้ว ยังเป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมและงานรื่นเริงของประชาชนในเขตนี้ด้วย

จากนั้นไปต่อที่ “วัดพรหมวงศาราม” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดหลวงพ่อเณร” ตั้งอยู่ในซอยประชาสงเคราะห์ 27 (ซอยเพิ่มสิน) สร้างขึ้นมาในปี พ.ศ.2513 โดยมีลักษณะเด่นของวัดแห่งนี้อยู่ที่บริเวณอุโบสถซึ่งเป็นแบบไทย แต่ดูไปดูมา ฉันเห็นเสาหงส์อยู่ด้านหน้าอุโบสถ 2 ต้น จากคำบอกเล่าบอกไว้ว่าวัดนี้เป็นวัดไทยแต่ช่างที่สร้างเป็นมอญจึงได้สร้างเสาหงส์ไว้ที่วัดแห่งนี้ด้วย ทำให้วัดพรหมฯ ดูเป็นวัดไทยที่มีความแปลกตาไม่น้อยเลย
เสาหงส์ในวัดไทยที่วัดพรหมวงศาราม
ขณะที่ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานนามว่า “พระพุทธรัชดาภิเษกนุสรณ์” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลงรักปิดทองมีพุทธลักษณะที่งดงามมาก และเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนในละแวกนี้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสังเวชนียสถาน อันเป็นสถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 และสถานที่ปรินิพพาน
สังเวชนียสถานแสดงสถานที่ประสูติ
ถัดไปเป็นศาสนสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของย่านดินแดง ได้แก่ “วัดกุนนทีรุทธาราม” เดิมชื่อ “วัดห้วยขวาง” ตั้งอยู่ในซอยอินทามระ 59 วันแห่งนี้สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ประมาณว่าไม่ต่ำกว่าปี พ.ศ.2428 ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ.2457

อุโบสถสร้างขึ้นราว พ.ศ.2512 หลังคาลดหลั่นกัน 3 ชั้น มีช่อฟ้าใบระกาประดับกระจก หน้าบันประตูหน้าต่างลงรักปิดทอง พื้นปูด้วยหินอ่อน ส่วนลักษณะเด่นของวัดแห่งนี้อยู่ที่อุโบสถทรงไทยที่เสาทำด้วยไม้ แต่กำแพงก่ออิฐถือปูน เครื่องบนใช้ไม้ทำทั้งหลัง เล่ากันว่าการก่อสร้างอาศัยฝีมือของชาวบ้านร่วมกันสร้าง ทำให้รูปแบบการก่อสร้าง เช่น ประตู หน้าต่าง หน้าบันมีความแตกต่างกัน
สังเวชนียสถานในวัดพรหมฯ
ภายในวัดยังมี รูปหล่อพระพุทธโสธรจำลอง รูปหล่อพระสังกัจจายน์ รูปหล่อหลวงพ่อเหลือที่นำทองที่เหลือจากหล่อพระประธานมาเทหล่อ รูปหล่อหลวงปู่ปั้นผู้สร้างอุโบสถหลังแรก รอยพระพุทธบาทจำลอง และเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีต้นตะเคียนใหญ่ 2 ต้น คือเจ้าแม่ตะเคียนเงินที่มีความยาวประมาณ 14 เมตร เส้นรอบวง 2 เมตร และเจ้าแม่ตะเคียนทองที่มียาวประมาณ 30 เมตร เส้นรอบวง 6 เมตร ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดึงดูดผู้คนที่เลื่อมใสให้มาบนบานศาลกล่าวอย่างไม่ขาดสายเลยทีเดียว
วัดกุนนทีรุทธาราม
จากวัดไทยแล้วไปยังศาสนสถานของชาวคริสตชนกันบ้าง โดยโบสถ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังก็คือ “โบสถ์แม่พระฟาติมา” ที่ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2498 คุณพ่ออาแมสตอยเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ ได้ขออนุญาตพระสังฆราชหลุยส์โชแรงสร้างวัดโดยในเวลานั้นที่ดินแถบดินแดงนี้ถือว่าอยู่เขตชานเมือง แต่ดูว่ากำลังจะเจริญแม้จะยังไม่มีถนนตัดผ่านก็ตาม

ที่ดินบริเวณนี้มีเนื้อที่กว้างพอที่จะสามารถสร้างได้ทั้งวัด โรงเรียน รวมทั้งหมู่บ้านคริสตัง คุณพ่อจึงตัดสินใจซื้อที่แห่งนี้รวมเนื้อที่ทั้งหมด 37 ไร่ 16 วา โดยพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ และถวายนามว่า "วัดแม่พระฟาติมา" เพื่อถวายเป็นเกียรติแด่แม่พระฟาติมา ที่ถือว่าเป็นแม่พระผู้เสนอวิงวอนต่อพระเจ้าให้เป็นไปตามคำขอ
เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ภายในโบสถ์แม่พระฟาติมา มีบรรยากาศของความสว่างและสงบ มีรูปปั้นพระเยซูถูกตรึงกางเขนอยู่ตรงกลางของโบสถ์ และรูปพระแม่ฟาติมาที่แห่มาจากวัดกาลหว่าร์อยู่บริเวณด้านซ้ายมือ ภายในโบสถ์ทาด้วยสีขาวและสีครีมทำให้ภายในไม่มืดทึม อีกทั้งยังมีกระจกสีเป็นเรื่องราวในคริสต์ศาสนาและรูปพระแม่ต่างๆ งดงามเป็นอย่างยิ่ง

โบสถ์อีกแห่งในเขตนี้คือ “คริสตจักรร่มเกล้า” ซึ่งเป็นคริสตจักรอิสระ ไม่สังกัดอยู่ในนิกายใด พระเจ้าทรงนำให้เริ่มต้นโดยความเชื่อและดำเนินงานโดยอาศัยพระคุณและฤทธิ์เดชของพระเจ้า ส่วนอีกแห่งคือ “คริสตจักรประชาคม” ก่อตั้งโดยมิชชันนารีที่เดินทางมาจากเมืองซัวเถา ประเทศจีน
โบสถ์แม่พระฟาติมา
สำหรับศาสนสถานที่สำคัญในย่านดินแดงสำหรับชาวอิสลามคือ “มัสยิดมูฮายีรีน” และ”มัสยิดดารุ้ลมู่ฮาญีรีน” เรียกได้ว่าที่ย่านดินแดงนี้แม้ประชาชนจะนับถือศาสนาต่างกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ส่วนสถานที่

สุดท้ายถือเป็นแหล่งรวมตัวของผู้คนทุกเพศทุกวัยก็คือ “ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร” หรือเรียกกันว่า “ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่นดินแดง” สถานที่แห่งนี้เป็นของขวัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นมอบให้ประเทศไทย เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพักผ่อนหย่อนใจและส่งเสริมด้านกีฬาแก่เยาวชน

วันหยุดนี้ถ้าไม่อยากไปไหนไกลๆ ดินแดงถือเป็นอีกหนึ่งเขตน่าสนใจที่มีอะไรชวนให้ค้นหากันไม่น้อยเลย
กระจกสีจุดเด่นอย่างหนึ่งของโบสถ์แม่พระฯ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ เขตดินแดง เปิดบริการทุกวันเวลาราชการเช่นเดียวกับโรงเรียน สอบถามโทร.0-2248-1733 สำนักงานเขตดินแดง โทร.0-2245-1612
กำลังโหลดความคิดเห็น