พะเยา - พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพระดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เมืองกว๊านพะเยา พร้อมทรงร่วมบันทึกเทปแถบวิดีทัศน์โครงการพิเศษ รายการ “เที่ยวละไมไทยแลนด์เวิลด์” ตอน “อิ่มบุญอิ่มใจ สายใยครอบครัว”
รายงานข่าวจากจังหวัดพะเยาแจ้งว่า ระหว่าง 20-30 มี.ค.54 นี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี ได้เสด็จมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่จังหวัดพะเยา โดยเมื่อ 21 มี.ค.ได้เสด็จพร้อมด้วยท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร และหม่อมหลวงสราลี กิติยากร ไปยังวัดพระนั่งดิน ม.7 ต.เวียง อ.เชียงคำ จ.พะเยา
ในการนี้ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระเจ้านั่งดิน พระประธานประจำอุโบสถ และทรงประเคนเครื่องสังฆทานแก่พระสงฆ์ วัดพระนั่งดินเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง อ.เชียงคำมาช้านาน ภายในอุโบสถมีการตกแต่งประดับประดา “ตุง” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะชาวเหนือมาเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระประทานซึ่งแตกต่างจากพระพุทธรูปทั่วไป คือ ไม่มีฐานชุกชีหรือแท่นรองรับ พระพุทธรูปจึงประทับอยู่บนพื้น โดยชาวบ้านเคยสร้างฐานชุกชี แล้วอันเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวขึ้นประดิษฐาน แต่เกิดฟ้าฝ่าลงมาถึง 3 ครั้ง ชาวบ้านจึงอาราธนามานั่งพื้นดินดังเดิมจนถึงปัจจุบัน และเรียกขานสืบต่อกันมาว่า “พระนั่งดิน” หรือ “พระเจ้านั่งดิน”
จากนั้นเสด็จไปยังวัดแสนเมืองมา ต.หย่วน อ.เชียงคำ ทรงจุดธุปเทียนพระประธานในอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐ หรือ ปูน ลงรักปิดทอง มีลักษณะเด่นคือ สร้างตามคติพุทธศิลป์ ซึ่งเป็นจารีตนิยมของชาวไทยลื้อ ที่นิยมสร้างพระพุทธรูปที่มีสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ การแสดงถึงปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณ และพระวิสุทธิคุณ ในการนี้ทรงประเคนเครื่องสังฆทานแด่พระสงค์ 6 รูป
สำหรับวัดแสนเมืองมา เดิมชื่อวัด “มาง” สันนิฐานว่าสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 ราว พ.ศ.2351 โดยชาวเมืองมาง มลฑลยูนาน ที่อพยพมาจากสิบสองปันนาทางตอนใต้ของจีน สถาปัตยกรรมของวัดสร้างแบบไทยลือ ลักษณะเด่นของอุโบสถมีความแปลก และสวยงามคือ มีหลังคาซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้นประดับด้วยช่อฟ้าเป็นรูปหงษ์ แกะสลัก และตัวนาคคาบแก้วตามผนังอุโบสถด้านใน มีภาพวาดเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวไทยลือ ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่ควรอนุรักษ์ให้คงอยู่ และให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
ในช่างบ่ายได้เสด็จไปยังวัดนันตาราม ต.หย่วน อ.เชียงคำ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระประจำวิหาร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักจากไม้สักทองทั้งต้น ลงรักปิดทอง ทรงเครื่องแบบไทยใหญ่ มีขนาดหน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดเกศาประมาณ 9 ศอก ประดิษฐานสิงหบัลลังก์ไม้ มีแผงไม้กันด้านหลัง ประดับด้วยกระจกสี มีพุทธอัครสาวก คือ พระสารีบุตร และพระโมคลานะ
วัดแห่งนี้ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด วิหารปัจจุบันพ่อเฒ่านันตา วงศ์อนันต์ คหบดีชาวไทยใหญ่ได้บริจาคทรัพย์ปฏิสังขร โดยสร้างเป็นวิหารไม้ทั้งหลัง รูปทรงแบบไทยใหญ่ หลังคาหน้าจั่วยกเป็นช่อชั้นลดหลั่นกันสวยงาม มุงด้วยกานเกล็ดหรือกระเบื้องไม้ เสาวิหารรวม 68 ต้น โดยลงรักปิดทอง 40 ต้น เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดี และเป็นอนุสรณ์แด่พ่อเฒ่านันตา จึงได้เปลี่ยนชื่อจากวัดจองคา เป็นวัดนันตาราม
ต่อจากนั้น ได้เสด็จไปยังวัดหย่วน ต.หย่วน อ.เชียงคำ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระประจำวิหารซึ่งเป็นพระพุทธรูปแกะสลักจากไม่ซ้อ ชาวบ้านเรียกว่า “พระเจ้าไม้ซ้อ” มีพระพุทธรูปองค์เล็กประดิษฐานรอบองค์พระประธาน และประดับด้วยเครื่องสูง และตุงทั้งสองข้าง
ทั้งนี้ วัดหย่วน เป็นศูนย์กลางแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยลื้อ ตลอดจนเป็นศูนย์ฝึกอาชีพของชาวไทยลื้อ ซึ่งมีลวดลายสีสันสวยงาม และมีเอกลักษณ์เฉพาะ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมชาวไทยลื้อ ที่สามารถศึกษาได้จากชีวิตจริง เช่น การแต่งกาย การย้อมผ้าหม้อห้อม การทอผ้าพื้นเมือง ตุง และย่ามเป็นต้น
โอกาสนี้ได้ทอดพระเนตร กาดมั้วครัวฮอม ซึ่งเป็นการแสดงตลาดล้านนาโบราณ อาทิ ศิลปะหัตกรรม อาหารคาวหวาน และเครื่องแต่งกาย ซึ่งเป็นการแสดงวิถีชีวิตพื้นบ้านของชุมชนที่มีการอนุรักษ์ไว้จนถึงปัจจุบัน
ในการนี้เสด็จครั้งนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงร่วมบันทึกเทปแถบวิดิทัศน์โครงการพิเศษ รายการ “เที่ยวละไมไทยแลนด์เวิลด์” ตอน “อิ่มบุญอิ่มใจ สายใยครอบครัว” ซึ่งจะออกอากาศในช่วงเทศกาลวันแห่งครอบครัว ปี 2554 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เวลา 06.25-06.50น.