xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านผาชัน”มหัศจรรย์เสาเฉลียงยักษ์ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
อาทิตย์อัสดงบริเวณเสาเฉลียงคู่ ป่าดงนาทาม
นอกจากภาพเขียนสีโบราณก่อนประวัติศาสตร์แล้ว “อุทยานแห่งชาติผาแต้ม” จ.อุบลราชธานี ยังมี “เสาเฉลียง”เป็นอีกหนึ่งในสัญลักษณ์อันโดดเด่น

"เสาเฉลียง" ไม่ได้มาจากชื่อวงดนตรี หากแต่เป็นชื่อที่แผลงมาจากคำว่า "สะเลียง" ในภาษาส่วย หมายถึง "เสาหินที่มีลักษณะแปลกตา" ที่แม้จะพบมากมายในพื้นที่ผาแต้ม แต่ไฮไลท์สำคัญนั้นมี 3 เสาเฉลียงด้วยกัน คือ

"เสาเฉลียงเล็ก" ตั้งอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีความสูงประมาณ 5 เมตร เป็นกลุ่มหินที่มี 3 เสา บนยอดมีหินแบนวางทับดูคล้ายดอกเห็ด

"เสาเฉลียงคู่" ตั้งอยู่ในป่าดงนาทาม มีลักษณะเป็นเสาหิน 2 เสา ฐานกว้างด้านบนคอดมีแผ่นหินวางอยู่ข้างบนอย่างหวาดเสียว คล้ายดังจะตกไม่ตกแหล่(แต่ก็ไม่เคยตกสักที) เสาเฉลียงคู่ถือเป็นหนึ่งในจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดีของเมืองไทย เพราะยามอาทิตย์อัสดงจะเกิดภาพเงามืด(ซิลูเอท)เห็นเค้าโครงอันสวยงามแปลกตาของเสาเฉลียงคู่ ตัดกับสีสันของท้องฟ้ายามโพล้เพล้ได้เป็นอย่างดี

ส่วนเสาเฉลียงไฮไลท์ลำดับสุดท้ายคือ "เสาเฉลียงใหญ่" ที่นับเป็นเสาเฉลียงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีทำเลที่ตั้งอยู่ที่ “บ้านผาชัน” อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี หมู่บ้านที่นอกจากจะมีเสาเฉลียงใหญ่อันชวนทึ่งแล้ว ที่นี่ยังมีธรรมชาติเพิงผาริมโขงอันแปลกตาและวิถีชีวิตริมฝั่งโขงที่น่าสนใจยิ่ง
วิถีชีวิตชาวบ้านผาชันที่ผูกพันกับแม่น้ำโขง
“แอร์แว”ภูมิปัญญาแห่งบ้านผาชัน

บ้านผาชัน แม้จะเป็นชุมชนริมฝั่งโขง แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นหน้าผาหินตัดชันและพื้นอินที่ไม่อุ้มน้ำ ทำให้ในช่วงปี พ.ศ. 2535-2547 ทางหมู่บ้านต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนักจนถึงขั้นวิกฤติ ชนิดที่ยามหน้าแล้งในช่วงเช้าเด็กๆต้องหยุดเรียนเพื่อมาช่วยครอบครัวหาบน้ำจากลำโขงไปเก็บไว้ใช้สอย

แต่กระนั้นชาวบ้านที่นี่ก็ไม่ยอมงอมือย่อท้อต่ออุปสรรค พยายามสรรหาลู่ทางในการหาน้ำมาใช้จากหลากหลายทาง จนสุดท้ายมาตกผลึกลงตัวกับ 3-4 แนวทางจากภูมิปัญหาพื้นบ้าน ได้แก่ การสร้างระบบประปาภูเขาดึงน้ำจากธรรมชาติมาใช้ การสร้างฝายพื้นบ้านกักเก็บน้ำ รวมไปถึงการคิดค้นนวัตกรรม“แอร์แว” ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการฟื้นชีวิตให้กับชุมชนแห่งนี้

แอร์แว ชื่อนี้มาจากคำว่า "แอร์" (Air) คือ อากาศ และ "แว" คือ แวะ ซึ่งหมายถึง "อากาศมาแวะ" ในท่อแล้วทำให้เกิดแรงดันน้ำ

แอร์แว แม้เป็นชื่อภาษาฝรั่ง แต่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านผาชันล้วนๆ เกิดจากควมคิดอันหลักแหลมของ นายชรินทร์ อินทร์ทอง ที่นำหลักแรงดันอากาศมาช่วยให้สามารถสูบน้ำจากแม่น้ำโขงขึ้นมาใช้ ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาป่าชุมชนต้นน้ำและการใช้น้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งผลสำเร็จนี้ทำให้“แอร์แว” ได้รับรางวัลวิจัยดีเด่นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ในปี 50 และหมู่บ้านผาชันได้รับรางวัลชนะเลิศการบริหารจัดการน้ำในปี 51 อีกด้วย

เมื่อได้น้ำ ชุมชนก็ฟื้นลืมตาอ้าปากได้ ชาวบ้านที่นี่จึงเดินหน้าต่อด้วยการร่วมกันก่อตั้ง“กองทุนปลา”ขึ้นมาในปีเดียวกัน เพื่อกำหนดราคามาตรฐานในการซื้อ-ขาย ไม่ให้ชาวบ้านนายทุน พ่อค้าคนกลาง เอารัดเอาเปรียบ ซึ่งวิถีการหาปลาแบบพอเพียงตามภูมิด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่นี่ นับว่ามีเสน่ห์ไม่น้อย

เริ่มตั้งแต่เช้ามืดที่ชาวประมงพื้นบ้านจะออกเรือไปหาปลา ตกเบ็ด ทอดแห จากนั้นพอสายเห็นว่าได้ปลาพอกินพอขายแล้วก็จะนำมาขายยังกองทุนปลา ที่ผมมีโอกาสได้ไปดูเขาซื้อ-ขายปลากัน ก็อดทึ่งในปลาที่ชาวบ้านจับมาไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นพวกปลาหนังตัวโตๆกินอร่อยๆทั้งนั้น ชนิดที่เห็นแล้วอดนึกถึงผัดเผ็ด ต้มยำ ลวกจิ้ม ลาบ รสแซ่บๆ จนน้ำลายสอปากไม่ได้
ปลาแม่น้ำโขงตัวใหญ่ที่ชาวบ้านจับได้
“บ้านผาชัน” อัศจรรย์ธรรมชาติ

หลังชุมชนได้น้ำ ในปี 2548 นอกจากชาวบ้านผาชันจะตั้งกองทุนปลาขึ้นมาแล้ว พวกเขายังรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มบริหารจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขึ้นในปี 2548 เนื่องด้วยมองเห็นในศักยภาพที่มีอยู่

เป็นการดำเนินการท่องเที่ยวแบบชาวบ้านที่แม้จะดูดิบและเรียบง่าย ไม่ได้เนี๊ยบหรูเหมือนพวกเอกชนมืออาชีพ แต่นี่แหละคือเสน่ห์ของการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งมากไปด้วยมิ่งมิตรไมตรีและความจริงใจที่ชาวบ้านมีให้อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งการจะเที่ยวบ้านผาชันแบบให้ได้อรรถรสนั้น ควรมาพักแบบโฮมสเตย์อย่างน้อย 1 วัน 1 คืนขึ้นไป ในช่วงหน้าแล้งยามน้ำโขงน้ำลด

ทั้งนี้เพื่อจะได้สัมผัสกับสิ่งน่าสนใจต่างๆในหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น การไปเฝ้ารอชมพระอาทิตย์ขึ้นบริเวณมุมโค้งหน้าผา(ร่องน้ำโขง)พรมแดนไทย-ลาว การชมวิถีชีวิตชาวบ้านออกเรือหาปลายามเช้า-สาย การท่องเที่ยวเรียนรู้ในป่าชุมชน การเที่ยวถ้ำนางเข็ญฝ้าย การเที่ยวชมสวนหิน ชมหินรูปร่างประหลาดแปลกตาต่างๆ เป็นต้น
เสาเฉลียงใหญ่ บ้านผาชัน
และที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงก็คือ การไปชมความมหัศจรรย์ธรรมชาติของ“เสาเฉลียงใหญ่”หรือ “เสาเฉลียงยักษ์”ที่เกิดจากการกัดกร่อนของแดด ลม ฝน เป็นเวลานับหมื่นนับแสนปี เกิดเป็นเสาหินยักษ์ขนาดหลายสิบคนโอบตั้งเคียงคู่ชิดติดกัน สูงประมาณตึก 3-4 ชั้น มีแผ่นหินขนาดใหญ่ดูน่าเกรงขามตั้งวางอยู่ข้างบน แบบไม่ต้องเสียวว่าจะหล่นลงมาเหมือนกับเสาเฉลียงคู่ที่ป่าดงนาทาม

ชาวบ้านผาชันเชื่อว่าเสาเฉลียงใหญ่เป็นเสาหินศักดิ์สิทธิ์ มีเทพยดาสิงสถิตอยู่เพื่อคอยปกปักรักษาหมู่บ้านมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล หมู่บ้านนี้จึงมีพิธีบวงสรวงเสาหินอยู่เป็นประจำ
โลงศพโบราณถูกโรยแป้งขอหวย
ถัดจากเสาเฉลียงใหญ่ไปยังบริเวณลานหินกว้างที่อยู่ไม่ไกลกัน เป็นที่ตั้งของ“ถ้ำโลง” ที่มีลักษณะเป็นเพิงผาหิน มีโลง(ศพ)อายุกว่า 2 พันปีก่อนประวัติศาสตร์วางทอดยาวใต้เพิงผา

โลงศพนี้ทำจากไม้พยอมท่อนเดียว มีความยาวกว่า 8 ศอก ใช้บรรจุศพคนโบราณ(คน 8 ศอก)เพื่อนำศพไปเผาก่อนนำโลงกลับมาใช้งานต่อ ด้านหัวโลงทำเป็นแผ่นโค้งคล้ายเขาควายเพื่อใช้ในการจับยก ทำให้ชาวบ้านบางคนเรียกว่า“โลงเขาควาย” ด้านหน้าโลงมีบาตร ธูป เทียน มาลัย และเครื่องเซ่นสรวงที่ผู้ศรัทธามาบูชาไว้ รวมถึงรอยแป้งขาวโพลนที่มีคนจากภายนอกมาโรยไว้เพื่อขูดขอหวย(ชาวบ้านที่นี่เชื่อว่าเป็นโลงศักดิ์สิทธิ์จึงไม่กล้ายุ่งกับโลง) แสดงให้เห็นถึงวิถีความเชื่อแบบไทยๆของคนส่วนหนึ่ง ที่อดีตยังเป็นยังไงปัจจุบันก็ยังเป็นยังงั้นอยู่ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นที่ชาวบ้านผาชันจะต้องช่วยกันดูแลให้ดี เพราะฝีมือโรยแป้งกับฝีมือการขูดหาเลข อาจทำให้โลงศพที่ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นนี้ชำรุดเสียหายได้
ร่อง รู ธรรมชาติมากมาย ที่สามหมื่นรู
นอกจากเสาเฉลียงใหญ่แล้ว ที่ริมฝั่งโขงบ้านผาชันยังมี “สามหมื่นรู”(30,000 รู) เป็นอีกสิ่งไม่ควรพลาด ให้เราๆท่านๆล่องเรือไปยลโฉมเจ้ารูจำนวนมากกัน

สามหมื่นรู เกิดจากการที่กรวด-หิน ถูกกระแสน้ำไหลพัดพามาทำปฏิกิริยากับหน้าผาเป็นเวลายาวนานนับร้อยนับพันปี จนกลายเป็นร่องเป็นรูพรุนขึ้นจำนวนมากมายมหาศาลไปทั่วบริเวณ ทั้งเหนือน้ำและใต้น้ำ(เกินกว่า 30,000 รูตามชื่อที่ชาวบ้านตั้งมากนัก) ยิ่งน้ำลดมากยิ่งเห็นรูมากนับเป็นความมหัศจรรย์เล็กๆริมฝั่งโขงที่น่าชมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสำหรับแม่น้ำลำคลองหลายๆแห่ง อาจเหมาะสมกับภาษิตไทยอย่าง “น้ำลดตอผุด”

แต่สำหรับที่สามหมื่นรูบ้านผาชันนั้นยามน้ำโขงลด คงต้องใช้คำว่า“น้ำลดรูโผล่” แทน
กำลังโหลดความคิดเห็น