ปลัดท่องเที่ยวหนุนพัฒนามาตรฐานธุรกิจทัวร์และไก๊ด์ หวังเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวโลก เน้นความพร้อมด้านบุคลากร บริการประทับใจ ภาษาดี ส่วนอธิบดีท่องเที่ยวประกาศเดินหน้าพัฒนามาตรฐานทัวร์-ไก๊ด์ เน้นความรู้ ทักษะและจรรยาบรรณ
นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาผลักดันให้มีการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศ พัฒนามาตรฐานบริการท่องเที่ยว นับจากมาตรฐานธุรกิจนำเที่ยว มาตรฐานการเดินทาง มาตรฐานที่พักและโรงแรม รวมทั้งมาตรฐานบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น พนักงานบริษัทนำเที่ยว มัคคุเทศก์ พนักงานในโรงแรม พนักงานร้านค้า พนักงานรถนำเที่ยว
ทั้งนี้รัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตั้งเป้านักท่องเที่ยวในปีนี้ทั้งสิ้น 15.5 ล้านคน ประมาณการรายได้ 600,000 ล้านบาท สร้างรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ส่วนตลาดในประเทศ ประมาณการนักท่องเที่ยว 91 ล้านคน รายได้ไม่น้อยกว่า 432,000 ล้านบาท โดยขยายมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและกระตุ้นการท่องเที่ยว นับจาก การยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่านักท่องเที่ยว การประกันภัยคุ้มครองชาวต่างชาติ และช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กด้านการท่องเที่ยว และผู้ประกอบการจะต้องมีความพร้อมด้านบุคลากร การให้บริการที่น่าประทับใจ การประสานงานที่ดี ความพร้อมด้านภาษา และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์เน้นจุดเด่น
นายสุพล ศรีพันธ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า กรมการท่องเที่ยวดำเนินการประเมินบริษัทนำเที่ยว และมัคคุเทศก์นับจากปี 2550 เป็นต้นมา โดยปี 2550 มีบริษัททัวร์ผ่านการประเมิน 6 บริษัท มัคคุเทศก์ 7 คน ปี 2551 มีบริษัททัวร์ผ่านประเมิน 41 บริษัท มัคคุเทศก์ 112 คน ปี 2552 มีบริษัททัวร์ผ่านประเมิน 64 แห่ง มัคคุเทศก์ 127 คน และปี 2553 มีบริษัททัวร์ผ่านประเมิน 68 บริษัท มัคคุเทศก์ 115 คน ซึ่งทางกรมการท่องเที่ยวเชิญธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ เข้ารับการตรวจประเมินตามความสมัครใจ ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา และกรุงเทพมหานคร ในส่วนของบริษัททัวร์จะพิจารณาองค์ประกอบด้านองค์กรและการจัดการ ด้านการดำเนินธุรกิจนำเที่ยว และด้านจริยธรรมในวิชาชีพ ขณะที่มัคคุเทศก์พิจารณาจากความรู้ ทักษะการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ และด้านจรรยาบรรณ ในปี 2553 ในจำนวน 68 บริษัทนำเที่ยวที่ผ่านการประเมินมาจากเชียงใหม่ 5 บริษัท ภูเก็ต 10 บริษัท นครราชสีมา 6 บริษัทและกรุงเทพมหานคร 47 บริษัท ส่วนมัคคุเทศก์ 115 คนมาจาก เชียงใหม่ 24 คน ภูเก็ต 5 คน นครราชสีมา 7 คนและกรุงเทพมหานคร 79 คน
จนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 กรมการท่องเที่ยว โดยสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ มีบริษัทนำเที่ยวจดทะเบียนทั้งสิ้น 9,142 บริษัท จำแนกเป็น ต่างประเทศ (Out Bound) 2,306 บริษัท ในประเทศ 1,131 บริษัท เฉพาะพื้นที่ 4,061 บริษัท และต่างประเทศ (In Bound) 1,644 บริษัท ขณะที่มัคคุเทศก์ประเภททั่วไป มัคคุเทศก์เฉพาะ และอื่นๆมีทั้งสิ้น 43,057 คน
การตรวจประเมินบริษัทนำเที่ยวครั้งนี้ พิจารณาจาก 3 องค์ประกอบ คือ ด้านองค์กรและการจัดการโดยมองจากการนำนโยบายและแผนงานของบริษัทไปปฏิบัติ ระเบียบข้อบังคับของบริษัท ผู้บริหารมีภาวะผู้นำและบริหารจัดการโดยยึดหลักโปร่งใส มีบุคลากรที่มีความรู้ เชี่ยวชาญด้านกฎหมายท่องเที่ยว มีสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์พร้อม มีระบบข้อมูลและสารสนเทศด้านท่องเที่ยว ส่งเสริมให้บุคลากรมีความมั่นคงและก้าวหน้าในการทำงาน เจ้าของไม่มีธุรกิจอื่นแอบแฝงและบริษัทมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมสังคม ด้านการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว พิจารณาจากโปรแกรมการท่องเที่ยวน่าสนใจ ส่งเสริมการขาย ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งก่อนและระหว่างนำเที่ยว มีมัคคุเทศก์และทีมงานแต่ละโปรแกรมตรงกับกลุ่มท่องเที่ยวและรายการเที่ยว มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เน้นความปลอดภัย ไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยและเน้นส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ส่วนจริยธรรมพิจารณาจากการบริการจัดการโดยยึดหลักศีลธรรมของสังคม ปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวด้วยจิตสำนึก
การตรวจประเมินมัคคุเทศก์ พิจารณา 3 องค์ประกอบคือ ด้านความรู้ที่มองการใช้ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ความรู้เกี่ยวกับไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย ท่องเที่ยวยั่งยืน พรบ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบและจรรยาบรรณ และความปลอดภัย ส่วนด้านทักษะพิจารณาจากการปฏิบัตินับจากรับและส่ง ระหว่างเดินทาง และสิ้นสุดการเดินทาง การอำนวยความสะดวก และดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัย และด้านจรรยาบรรณพิจารณาจากการเทิดทูน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่ลบหลู่ศาสนาอื่น กิริยามารยาทและแต่งกายเหมาะสม ตระหนักหน้าที่และความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต รู้จักประมาณตน เข้าใจเพื่อนมนุษย์ ต้องการให้คนอื่นมีความสุข รักและศรัทธาวิชาชีพมัคคุเทศก์และยึดมั่นใน พรบ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์