xs
xsm
sm
md
lg

อันซีน"ยโส" โบสถ์คริสต์สุดอลังการ ไหว้พระประธานหยกขาวใหญ่สุดในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขบวนแห่มาลัยข้าวตอกวันมาฆบูชา
เมื่อวันมาฆบูชาที่ผ่านมา"ตะลอนเที่ยว"ได้ไปทำบุญไกลถึงเมืองยโสธร ที่เขามี "ประเพณีแห่มาลัย" ซึ่งเป็นมาลัยข้าวตอกที่ชาวบ้านนำเอาข้าวเปลือก (ข้าวเหนียว) มาคั่วให้แตกเป็นข้าวตอก แล้วนำข้าวตอกนั้นมาร้อยเป็นสายยาวและร้อยเรียงเข้าด้วยกันทำเป็นมาลัยทั้งขนาดใหญ่และเล็กเพื่อเป็นพุทธบูชา แล้วจัดขบวนแห่มาลัยข้าวตอกนี้ไปถวายที่วัด และแขวนไว้ในวัดไว้ตลอดทั้งปี จนถึงวันมาฆบูชาครั้งใหม่

เมื่อได้ไปไกลถึงเมืองยโสฯ หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันดีในชื่อ "เมืองบั้งไฟ" ก็ไม่ให้เสียเที่ยวเพราะเรายังได้เดินทางไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดยโสธรด้วย และพบว่ามีหลายแห่งทีเดียวที่น่าสนใจน่าไปเที่ยวไม่น้อย อย่างเช่นในตัวเมืองยโสธร ที่ "บ้านสิงห์ท่า" ย่านเมืองเก่ามีเสน่ห์น่าเดินเล่น ที่ว่าเป็นเขตเมืองเก่านี้ก็ถือว่าเก่าจริงๆ เพราะบริเวณนี้ถือเป็นจุดที่สร้างบ้านสร้างเมืองยโสธรตั้งแต่ยุคแรกเริ่มเลยทีเดียว
บ้านเก่าแก่อิทธิพลศิลปกรรมยุโรปที่บ้านสิงห์ท่า
เมืองยโสธรนั้นมีความเป็นมาตั้งแต่สมัยทวารวดี มีบันทึกไว้ว่า พระเจ้าราชวงศา (พระวอ) เสนาบดีแห่งเมืองเวียงจันท์ รวมถึงขุนนางต่างๆและไพร่พล ได้อพยพไปอาศัยกับเจ้านครจำปาศักดิ์ เมื่อเดินทางมาถึงดงผีสิงก็เห็นว่ามีทำเลเหมาะที่จะตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน จึงสร้างเมืองขึ้นที่บ้านสิงห์ท่า และยกฐานะขึ้นเป็นเมืองยโสธร ต่อมาความสำคัญของเมืองยโสธรก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอีกหลายครั้ง จนล่าสุดในปี 2456 ยโสธรกลายเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนจะถูกยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดยโสธรในปี 2515 ถือเป็นจังหวัดที่ 71 ของประเทศ
ลวดลายอันมีเสน่ห์ของบ้านเก่าเมืองยโส
บรรยากาศของบ้านสิงห์ท่าในวันนี้ มีเสน่ห์ด้วยความงดงามของตึกแถวโบราณและบ้านเรือนในแบบสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสซึ่งมีให้เห็นอยู่หลายหลังด้วยกัน ยิ่งหากไปเยี่ยมชมชุมชนในตอนเช้าตรู่ ก็จะได้เห็นชาวบ้านออกมายืนรอพระสงฆ์เพื่อตักบาตรอยู่หน้าบ้านหลังเก่าสไตล์ยุโรปยุคอาณานิคม ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในช่วงเริ่มต้นวันใหม่ที่น่าชมมากทีเดียว

และในย่านเมืองเก่านี้ก็มีวัดที่น่าสนใจที่ไม่ควรพลาด อย่าง "วัดสิงห์ท่า" ที่เป็นวัดในยุคเริ่มแรกของการสร้างเมือง ต่อมามีการขุดพบสิงห์หินและพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ในดง จึงสถาปนาวัดนี้ขึ้นเป็นวัดสิงห์ท่า ส่วนพระพุทธรูปที่พบนั้นก็นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ
 พระธาตุพระอานนท์ที่วัดมหาธาตุ
วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งในย่านนี้ก็คือ "วัดมหาธาตุ" ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญอย่างพระพุทธบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนคู่บ้านคู่เมืองยโสธร อีกทั้งที่นี่ยังมีพระธาตุองค์สำคัญคือ "พระธาตุพระอานนท์"พระธาตุศิลปะลาวซึ่งภายในบรรจุอัฐิธาตุของพระอานนท์ ผู้เป็นพระอุปัฎฐากของพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังมีหอพระไตรปิฎกกลางน้ำ เป็นที่เก็บคัมภีร์โบราณและตู้เก็บพระคัมภีร์ลายรดน้ำเก่าแก่อีกด้วย

บริเวณคุ้มบ้านสิงห์ท่านี้ยังมีบ้านทำบั้งไฟ ผลิตบั้งไฟล้านสำหรับใช้จุดในงานประเพณีบุญบั้งไฟช่วงเดือนพฤษภาคม อีกทั้งยังมีร้านทำปลาส้ม ของกินขึ้นชื่อที่ไม่ควรพลาดชิม ใครที่อยากชมบรรยากาศก็ต้องลองมาเดินเล่นถ่ายรูปกัน หรือจะใช้บริการนั่งรถรางชมเมืองของทางเทศบาลก็ได้เช่นกัน
ธาตุก่องข้าวน้อยที่บ้านตาดทอง
พูดถึงยโสธร นอกจากเรื่องบั้งไฟแล้วหลายๆคนก็อาจจะนึกถึงตำนานเรื่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" ที่เป็นเรื่องราวลูกชายที่ฆ่าแม่ด้วยอารมณ์โมโหหิวเพียงวูบเดียว เมื่อสำนึกว่าได้ทำบาปอย่างมหันต์เสียแล้วจึงสร้างธาตุเพื่อเป็นการไถ่บาป คนส่วนมากเชื่อว่าธาตุองค์นั้นก็คือ "ธาตุก่องข้าวน้อย" หรือ "ธาตุตาดทอง" ที่บ้านตาดทอง ในอำเภอเมืองยโสธร ซึ่งเป็นธาตุสถาปัตยกรรมล้านช้าง มีเรือนธาตุเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม มีซุ้มจระนำอยู่ทั้งสี่ทิศ
ธาตุลูกฆ่าแม่ ที่วัดทุ่งสะเดา
แต่มีอีกเรื่องเล่าหนึ่งที่เล่าถึงที่มาอันแตกต่างกันว่า ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้นำเอาของมีค่าต่างๆ รวบรวมใส่ถาดทองคำเพื่อจะนำไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนม แต่องค์พระธาตุพนมสร้างเสร็จเสียก่อน ชาวบ้านจึงได้สร้างธาตุตาดทองและนำของมีค่ามาบรรจุไว้ในนี้แทน ส่วน "ธาตุลูกฆ่าแม่" ที่เชื่อว่าสร้างตามตำนานก่องข้าวน้อยฆ่าแม่นั้น จริงๆ น่าจะอยู่ที่ "วัดทุ่งสะเดา" ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 2 ก.ม. เป็นสถูปเจดีย์ 2 องค์ตั้งอยู่ใกล้กัน องค์หนึ่งเหลือแต่ฐานราก อีกองค์หนึ่งมีฐานและเรือนธาตุเป็นรูปแปดเหลี่ยมมียอดเรียวแหลม สันนิษฐานว่าสร้างมาแล้วกว่า 200 ปี
พระประธานหยกขาววัดพระพุทธบาทยโสธรขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
คราวนี้ออกนอกเมืองมาดูแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ กันบ้าง ที่ "วัดพระพุทธบาทยโสธร" ในอำเภอมหาชนะชัย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำหลักจากหินทราย พระพุทธรูปศิลาแลงปางนาคปรก และศิลาจารึกหินทรายซึ่งอักษรที่จารึกลบเลือนจนไม่สามารถอ่านได้ มีบันทึกไว้ว่าพระมหาอุตตปัญญาและสิทธิวิหาริก (ผู้ศรัทธาหรือลูกศิษย์) นำมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1378
เจดีย์ 8 เหลี่ยมในวัดพระพุทธบาทยโสธร
สิ่งก่อสร้างที่วัดพระพุทธบาทยโสธรนี้ มีความงดงามแบบศิลปะประยุกต์ เน้นความเรียบง่ายของสถาปัตยกรรม ตัวอาคารทุกหลังทาด้วยสีขาวล้วน "ตะลอนเที่ยว" เข้าไปภายในพระอุโบสถเพื่อไปกราบพระพุทธโลกนาถ ซึ่งเป็นพระประธานที่สร้างขึ้นจากหยกขาวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังได้เข้าไปในเจดีย์ 8 เหลี่ยมทรงระฆังคว่ำสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ที่ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหยกขาว หุ่นขี้ผึ้งพระเกจิอาจารย์สำคัญของทางอีสาน และพระบรมสารีริกธาตุไว้ให้กราบไหว้ ส่วนรอยพระพุทธบาทนั้นถูกนำไปประดิษฐานในมณฑปที่กำลังสร้างขึ้นใหม่ แต่ก็สามารถขึ้นไปกราบสักการะได้เช่นกัน
โบราณสถานดงเมืองเตย
ส่วนในอำเภอเขื่อนคำแก้ว ไม่ไกลกันนั้น ก็เป็นที่ตั้งของ "โบราณสถานดงเมืองเตย" เมืองโบราณซึ่งเป็นชุมชนยุคโลหะ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เรื่อยมาจนถึงสมัยทวารวดี ภายในเมืองมีพุทธสถานเนื่องในศิลปะทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 12 เห็นได้จากลายจำหลักอิฐที่ตัวโบราณสถานและหินทรายแดง นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลศิลปะลพบุรีเข้ามาเกี่ยวข้องในระยะเวลาใกล้เคียงกันด้วย
 โบสถ์คริสต์ซ่งแย้ โบสถ์ไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
คราวนี้เดินทางมายังแหล่งท่องเที่ยวที่สุดท้าย ถือเป็นการปิดท้ายที่น่าประทับใจ เพราะที่นี่ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ในจังหวัดยโสธร นั่นก็คือ "วัดอัครเทวดามิคาแอล" หรือ "โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้" ที่อำเภอไทยเจริญ ที่มีประวัติน่าสนใจ โดยในอดีตกว่า 100 ปีที่แล้วนี้ บ้านหนองซ่งแย้ยังเป็นหมู่บ้านเล็กๆกลางป่า เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ 5 ครอบครัวมาอยู่รวมกันที่นี่ จึงโดยชาวบ้านที่อยู่มาก่อนทำร้ายและขับไล่ออกจากหมู่บ้าน ดังนั้นพวกเขาจึงเดินทางไปหาบาทหลวงฝรั่งเศสเดชาแนลและออมโบรซีโอที่อำเภอป่าติ้วมาขับไล่ผีปอบที่สิงอยู่กับตนและครอบครัว บาทหลวงทั้งคู่จึงเดินทางมาช่วยเหลือชาวบ้านที่บ้านหนองซ่งแย้ หลังจากนั้นชาวบ้านที่นี่จึงเข้ารีตเป็นชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และต่อมามีคนอพยพมาอยู่มากขึ้นจนเป็นชุมชนชาวคริสต์ขนาดใหญ่
ความงดงามภายในโบสถ์คริสต์ ซ่งแย้
เมื่อมีบาทหลวงและชาวคริสต์ ก็ย่อมต้องมีโบสถ์คริสต์เป็นธรรมดา โบสถ์หลังแรกๆ ที่สร้างนั้นยังเป็นเรือนไม้ธรรมดาๆ ซึ่งต่อมาก็ได้ผุพังไป แต่โบสถ์หลังปัจจุบันซึ่งเป็นหลังที่ 4 นี้ ได้สร้างขึ้นอย่างงดงามและใหญ่โต จนถือเป็น "โบสถ์ไม้ใหญ่ที่สุดในประเทศ" ที่สร้างขึ้นมาด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชนที่ช่วยกันตัดไม้ ลากไม้มาสร้างขึ้นเป็นโบสถ์แบบศิลปะไทย มีความกว้าง 16 เมตร และยาวถึง 57 เมตร ใช้แผ่นไม้เป็นแป้นมุงหลังคามากถึง 80,000 แผ่น ใช้เสาขนาดต่างๆ กันถึง 360 ต้น ส่วนไม้ที่เหลือจากการสร้างวัดนั้นก็ยังได้นำไปใช้สร้างโรงเรียนบ้านซ่งแย้ทิพยาอีกด้วย


*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 


สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดยโสธรได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี (ดูแลพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ) โทร.0-4524-3770, 0-4525-0714
กำลังโหลดความคิดเห็น