xs
xsm
sm
md
lg

“บุญคูณลาน” สู่ขวัญข้าวชาวอีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคอีสานนอกจากจะเป็นแหล่งข้าวชั้นดีของไทยแล้ว ยังเป็นแหล่งสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับข้าวอันหลากหลาย โดยหนึ่งในนั้น คือ ประเพณี“บุญคูณลาน”หรือการสู่ขวัญข้าวของชาวอีสาน

คำว่า"คูณลาน" หมายถึง เพิ่ม หรือทำให้มากขึ้น ส่วนคำว่า"ลาน" คือ สถานที่สำหรับนวดข้าว ซึ่งการนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า "คูณลาน"

สำหรับประเพณีบุญคูณลานจัดขึ้นในเดือนยี่ตามปฏิทินอีสานของทุกปี ทำให้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่างาน“บุญเดือนยี่” ซึ่งการทำบุญคูณลานของแต่ละพื้นที่จะไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับการเก็บเกี่ยวข้าวว่าจะเสร็จเมื่อไร วันที่จะขนข้าวขึ้นเล้า (ฉางข้าว) จะเป็นวันทำบุญคูณลานและทำที่นานั่นเลย

แต่ก่อนที่จะทำการนวดข้าวนั้นให้ทำพิธีย้ายแม่ธรณีออกจากลานเสียก่อน และบอกกล่าวแม่โพสพโดยมีเครื่องประกอบพิธี อาทิ ใบคูณ ใบยอ ยาสูบ เขาควายหรือเขาวัว หมาก ไข่ ดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น

จากนั้นเมื่อพร้อมแล้วก็จะบรรจุลงในก่องข้าว(หรือกระติ๊บข้าว) ยกเว้นน้ำและเขาควาย ซึ่งเรียกว่า"ขวัญข้าว" ก่อนเชิญแม่ธรณีออกจากลานและบอกกล่าวแม่โพสพ แล้วจึงนำเครื่องประกอบพิธีบางส่วน ไปวางไว้ที่หน้าลอมข้าว(กองข้าว) เสร็จแล้วเจ้าของนาก็ตั้งอธิษฐาน

หลังอธิษฐานแล้วก็ดึงเอามัดข้าวที่ฐานลอมข้าวออกมานวดก่อน แล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้วห่อหุ้มก่องข้าวมัดให้ติดกัน เอาไม้คันหลาวเสียบฟาง เอาตาแหลวผูกติดมัดข้าวที่เกี่ยวมาจากนาตาแฮกเข้าไปด้วย แล้วนำไปปักไว้ที่ลอมข้าวเป็นอันว่าเสร็จพิธี ต่อไปก็ลงมือนวดข้าวทั้งลอมได้เลย

เมื่อนวดเสร็จก็ทำกองข้าวให้เป็นกองสูงสวยงาม เพื่อจะประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ข้าว โดยเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และตาแหลวไปปักไว้ข้างกองข้าวทั้ง 4 มุม นำตาแหลวและขวัญข้าวไปวางไว้ยอดกองข้าวพันด้วยด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าวแล้วโยงมายังพระพุทธรูป

ถึงวันงานก็บอกกล่าวญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญ นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วก็ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำมนต์ นำพระพุทธมนต์ไปรดกองข้าว วัว ควาย เมื่อเสร็จพิธีทางพระสงฆ์แล้วก็จะเป็นการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ข้าวซึ่งจะกระทำที่ลานนาหรือที่ลานบ้านก็ตามแต่จะสะดวก

หลังสู่ขวัญข้าวเสร็จก็จะเป็นการขนข้าวขึ้นยุ้ง ก่อนขนขึ้นยุ้งเจ้าของจะต้องไปเก็บเอาใบคูณและใบยอเสียบไว้ที่เสายุ้งข้าวทุกเสา ซึ่งถือเป็นเคล็ดว่าขอให้ค้ำคูณยอ ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และเชิญขวัญข้าวและแม่โพสพขึ้นไปยังเล้าด้วย

สำหรับประเพณี“บุญคูณลาน”ปัจจุบันสูญหายไปมาก แต่กระนั้นก็ยังคงมีบางพื้นที่ปฏิบัติสืบทอดประเพณีนี้กันอยู่ ซึ่งในงานเทศกาลเที่ยวอีสาน 2553 (Amazing I-San Fair 2010)ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 21 ก.พ. 53 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประเพณีบุญคูณลานเป็นหนึ่งในของดีอีสาน ที่ทางผู้จัดงานจะนำไปจัดแสดงเพื่อให้ผู้สนใจได้รับรู้ถึงประเพณีอันดีงาม
กำลังโหลดความคิดเห็น