xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรสกลฯเร่งอัดฟางตุนเป็นอาหารสัตว์รับมือภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สกลนคร-เกษตรกรเมืองสกลนคร เตรียมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ด้วยการเตรียมอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ ไว้แต่เนิ่นๆ เนื่องจากเดือนหน้าหญ้าเริ่มขาดแคลน เร่งอัดฟางข้าวที่ยังเหลือตุนไว้ และยังสามารถนำไปขายสร้างรายได้เป็นอย่างดี

จากการที่สถานการณ์ภัยแล้ง กำลังจะก้าวเข้ามาในพื้นที่อีกครั้ง ตามวัฏจักรที่เคยเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบตามมาหลายอย่าง อาทิ ราษฎรขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค การขาดแคลนน้ำในการเกษตรเช่นการปลูกพืชผักฤดูแล้ง น้ำสำหรับการปศุสัตว์ นอกจากนี้ในแต่ละปีเกษตรกรชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรังก็ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำทำนา

รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงขาดแคลนหญ้า เนื่องจากสภาพความแห้งแล้งของผืนดินที่มีผลมาจากแสงแดดที่แผดเผา หลายแห่งที่สัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ ของเกษตรกรต้องเกิดการผอมโซเพราะขาดอาหาร ดังนั้นจึงนับว่าภัยแล้งของจังหวัดสกลนครในแต่ละปี กระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์โลกไม่น้อย

สำหรับพื้นที่จังหวัดสกลนคร ในขณะนี้แม้ว่าจะผ่านพ้นฤดูเก็บเกี่ยวไปนานกว่า 2 เดือนแล้ว แต่สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในทุ่งนาก็คือเศษฟางข้าวที่ได้จากการสีข้าวของเครื่องจักรประเภทเครื่องนวดข้าว ซึ่งเศษฟางข้าวเหล่านี้ เจ้าของที่นาบางรายก็ปล่อยทิ้งให้ย่อยสลายไปตามกาลเวลา แต่บางรายก็เห็นความสำคัญและพยายามเก็บรักษาไว้เพื่อจะได้เป็นอาหารของโคกระบือจนกว่าจะถึงฤดูฝน ทั้งนี้เพราะในอีกไม่กี่วันข้างหน้า สภาพของผืนนาก็จะมีความแห้งแล้ง

ดังนั้น ในช่วงนี้ในทุ่งนายังมีต้นหญ้าที่งอกออกมาใหม่หลงเหลืออยู่บ้าง แม้ว่าจะน้อยนิดก็ตาม โดยโคกระบือก็พยายามที่จะใช้จมูกและปากดุนตอซังข้าวที่ปกคลุมหญ้าออก เพื่อลิ้มรสชาดของหญ้าที่กำลังแทงยอดออกมาใหม่ เพื่อการดำรงชีวิตตนเองของสัตว์โลก

อย่างไรก็ตาม เศษฟางข้าวในทุ่งนาเหล่านี้ กลับเป็นสิ่งมีค่าขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเจ้าของเครื่องอัดฟาง ได้เดินสายติดต่อกับเจ้าของที่นา และลงมือใช้เครื่องจักรทำการอัดฟางข้าวให้เป็นฟ่อน จึงทำให้เศษฟางข้าวมีความสำคัญและมีคุณค่าขึ้นมาใหม่ และเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของที่นาและเจ้าของเครื่องจักรอีกด้วย

นายสมพร นนท์ไพวัลย์ อดีตผู้ใหญ่บ้านงิ้วด่อน ตำบลงิ้วด่อน อำเภอเมืองสกลนคร บอกว่า ฟางข้าวของตนนั้นเมื่อก่อนนี้คิดว่าจะทิ้งไปแล้ว แต่เมื่อมีผู้มาขออัดเป็นฟ่อนให้ตนก็ไม่ขัดข้อง ยังดีกว่าทิ้งให้ย่อยสลายไปเอง ซึ่งข้อตกลงระหว่างตนกับเจ้าของเครื่องจักรคือ เมื่ออัดขึ้นมาเป็นก้อนแล้วก็จะแบ่งกัน โดยเจ้าของเครื่องจักรได้ร้อยละ 70 ส่วนตนได้ร้อยละ 30 ฟ่อน

ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะตนก็จะได้ฟางข้าวไว้ให้โคกระบือกินไปตลอดทั้งปีอย่างเพียงพอ ส่วนเจ้าของเครื่องก็นำไปขายซึ่งขณะนี้ราคาฟ่อนละ 35-40 บาท ก็ถือสูงพอสมควร


กำลังโหลดความคิดเห็น