“กอร์ปศักดิ์” สั่งตั้งทีมเฉพาะกิจสอบทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง ลั่น หากพบ จนท.มีส่วนรู้เห็นจะลงดาบจัดการตาม กม.เผยที่ผ่านมาโครงการคืบหน้าแค่ 40% แจงตรวจสอบ-คัดกรองคุณภาพโครงการ ทำให้เดินหน้าล่าช้า
วันนี้ (17 ก.ค.) นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการชุมชนพอเพียง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการชุมชนพอเพียง ได้มีมติให้จัดตั้งทีมพิเศษ โดยมี พล.อ.ชัชวาล ทัตตานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานชุมชนพอเพียง เป็นประธาน เพื่อเข้าไปตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของโครงการชุมชนพอเพียงที่มีหลายร้อยเรื่อง โดยเฉพาะการทุจริต ดังนั้น เพื่อความถูกต้อง จึงต้องดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งได้มีการขอความร่วมมือให้ฝ่ายค้านจัดส่งข้อมูลให้พิจารณา ถ้าหากพบว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจจะดำเนินตามกฎหมายจัดการทันที
นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือไปยังท้องถิ่นเพื่อกำชับให้นายอำเภอ นายกเทศมนตรี และผู้อำนวยการเขต เร่งตรวจสอบโดยเฉพาะการทำประชาคมและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทำรายงานให้สำนักงานฯ ทราบ เพื่อให้โครงการดำเนินไปอย่างมีคุณภาพมากที่สุด
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ลดสัดส่วนประชาชนในการทำประชาคมในแต่ละหมู่บ้านเหลือเพียง 50% ของจำนวนประชาชนในชุมชน ซึ่งจากเดิมกำหนดไว้ที่ 70% โดยจุดประสงค์ของการลดจำนวนลงนั้น เพื่อจะเกิดความคล่องตัวในการทำประชาคม รวมทั้งเพื่อคัดเลือกโครงการพอเพียงที่ต้องการ จะได้ไม่ต้องเกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าการทำประชาคมแต่ละครั้งบางทีผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่เข้าร่วมทำประชาคม จึงทำให้การเสนอโครงการดำเนินการไปอย่างล่าช้า
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเป็นกลางในการจัดซื้อจัดจ้างของชุมชนที่อาจไม่มีความรู้ดีพอ จะขอให้สำนักงบประมาณจัดทำราคากลางสำหรับสินค้าหรือเครื่องจักรที่ชุมชนต้องการ ประมาณ 20 รายการ เพื่อจะได้ตรวจสอบราคากลางให้ชัดเจนต่อไป อาทิ เครื่องผลิตปุ๋ย เครื่องสีข้าว เครื่องผลิตน้ำดื่ม เครื่องสูบน้ำ เครื่องนวดข้าว เป็นต้น
ส่วนความคืบหน้าของโครงการชุมชนพอเพียง ล่าสุด คณะกรรมการได้พิจารณาเห็นชอบโครงการ 9,538 ชุมชน ภายใต้วงเงิน 2,206 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อนำไปรวมกับโครงการที่อนุมัติไปก่อนหน้านี้ จะมีโครงการที่ได้รับอนุมัติไปแล้วทั้งสิ้น 31,582 ชุมชน คิดเป็นวงเงินทั้งหมด 8,432 ล้านบาท โดยชุมชนเบิกเงินไปใช้ได้จริงประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30%
“ต้องยอมรับว่า การดำเนินโครงการชุมชนพอเพียงค่อนข้างล่าช้า เพราะต้องตรวจสอบให้มีการดำเนินการอย่างถูกต้อง และเป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจสอบและคัดกรองที่ใช้เวลา เพราะต้องการให้ได้โครงการที่มีคุณภาพ จริงๆ ซึ่งปัจจุบันถือว่าโครงการมีความคืบหน้าไปประมาณ 40%”
สำหรับโครงการที่ได้รับการอนุมัติทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นโครงการประเภทอุปกรณ์ประกอบอาชีพทางการเกษตร ประมาณ 35.44% รองลงมา คือ สาธารณูปโภค 22.74% อันดับสาม กลุ่มอาชีพ 21.51% ส่วนที่เหลือจะเป็นการผลิตปุ๋ย พลังงานทดแทน พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและต้นน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว เป็นต้น