xs
xsm
sm
md
lg

ตะวันทองที่หนองหาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตะวันรอนที่หนองหาน ณ จุดชมวิวบ้านท่าแร่
แดดอัสดงค่ำลงที่ฝั่งหนองหาน
เฮาสองเคยเที่ยวด้วยกัน มนต์ฮักสายัณห์สวาทวาบหวาม
สายลมโชยชิ้วทิวสนลิ่วโอนสอดเสียงกังวาน
เหมือนเสียงใจเฮาสาบาน ให้หนองหานได้เป็นสักขี

เพลง : ตะวันรอนที่หนองหาน(ท่อน 2)

ตะวันรอนที่หนองหาน

“ตะวันรอนที่หนองหาน” ชื่อนี้หลายคนคงคุ้นหูเป็นอย่างดี เพราะในอดีตตะวันรอนที่หนองหานโด่งดังทั้งที่เป็นเพลงลูกทุ่ง(มีหลายคนคนนำมาร้อง)และเป็นภาพยนตร์(นำแสดงโดยสมบัติ เมทะนี,อรัญญา นามวงศ์) ในขณะที่หนองหานของจริงแห่งสกลนคร ยามตะวันรอนสวยใช่ย่อย โดยเฉพาะในวันที่ฟ้าเป็นใจอาทิตย์อัสดงกลางน้ำที่นี่สวยไม่เป็นรองใคร
รุ่งอรุณที่หนองหาน ณ จุดชมวิวบ้านท่าวัด
สำหรับจุดชมตะวันรอนที่สวยงามเหมาะสมนั้น “ตะลอนเที่ยว”ได้รับคำแนะนำจากกูรูชาวสกลว่าให้ไปดูที่บ้านท่าแร่ อ.เมือง ซึ่งเมื่อเราไปถึงในช่วงโพล้เพล้ แสงแดดช่วงปลายของวันค่อยๆลดดีกรีความร้อนแรง ทอแสงกระทบผืนแผ่นน้ำเป็นสีส้มเรื่อเรือง ก่อนที่พระอาทิตย์ดวงกลมแดงจะค่อยๆเคลื่อนคล้อยลอยต่ำหายลับไปในเทือกเขาภูพาน ไว้ลายความงามยามตะวันรอนที่หนองหานสมดังคำร่ำลือ

ตะวันทองที่หนองหาน

พระอาทิตย์เมื่อมีตกย่อมมีขึ้น สำหรับหนองหาน ด้วยความที่มีพื้นที่กว้างขวางทำให้สามารถชื่นชมได้ทั้งยามตะวันรอนและตะวันขึ้น ซึ่งกูรูชาวสกลคนเดิมขันอาสาพา“ตะลอนเที่ยว”ไปยลเสน่ห์พระอาทิตย์ขึ้นริมหนองหานกันที่ท่าน้ำชุมชนบ้านท่าวัด ต.เหล่าปอแดง อ.เมือง ในช่วงเช้ามืดของวันถัดไป
บรรยากาศยามเช้าที่ วัดเหนือ
หลังมาถึงจุดชมวิวบ้านท่าวัดได้สักพัก แสงแห่งความมืดค่อยๆเลือนหายไปพร้อมๆกับการมาแทนที่ของแสงแรกแห่งวันที่เริ่มทอทาบ จนหนองหานยามนี้ดูมลังเมลืองไปด้วยแสงสีทองที่ฉาบฉายโลมไล้ จากนั้นไม่นานพระอาทิตย์ดวงกลมโตสีเหลืองทองก็ค่อยๆเคลื่อนดวงโผล่จากแนวป่าที่เห็นลิบๆขึ้นมาโชนแสง โชว์สวยกลางหนองหาน โดยมีฉากหน้าเป็นโค้งแนวแผ่นดินที่ยืนเข้าไปในแผ่นน้ำเคียงคู่ไปกับเรือประมงของชาวบ้านที่ทยอยออกเรือหาปลาและหมู่นกที่โบยบินรับอรุณรุ่งในบางช่วง ท่ามกลางผืนแผ่นน้ำอันสงบนิ่งเรียบเกิดเป็นภาพตะวันทองที่หนองหานอันชวนประทับใจไม่แพ้กับตะวันรอนที่หนองหาน

ตะวันฉายที่หนองหาน

ดูเหมือนว่าช่วงเวลาที่พระอาทิตย์สุกแดงเป็นดวงกลมโตจะมาไวไปไวไม่น้อย เพราะหลังจากนี้แสงยามเช้าเริ่มจัดจ้ามากขึ้น ระหว่างนี้กูรูชาวสกลชวนเราไปไหว้พระใน“วัดมหาพรหมโพธิราช”หรือ“วัดเหนือ”ที่อยู่ติดกับท่าน้ำเอาฤกษ์เอาชัย
โครงกระดูกมนุษย์โบราณในพิพิธภัณฑ์วัดเหนือ
วัดเหนือเป็นวัดเก่าแก่ยุคทวาราวดี มีพระธาตุมหาพรหมและศาลหลวงปู่สอนเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของวัดที่ภายในมีสิ่งน่าสนใจ อาทิ ถ้วยโถโอชาม ไหปลาร้าอายุ 100 กว่าปี เครื่องมือประมงพื้นบ้าน และโครงกระดูกโบราณก่อนประวัติศาสตร์ พร้อมข้าวของเครื่องใช้ ที่จัดใส่อยู่ในตู้เดียวกัน

สิ่งต่างๆเหล่านี้นับเป็นความร่วมแรงร่วมใจระหว่างวัดกับชุมชนในพื้นที่หนองหานที่จะอนุรักษ์โบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตวัฒนธรรมไว้ให้อยู่คู่หนองหานผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับคนที่ชื่นชอบในแนวทางแบบนี้
น้ำใสสงบนิ่งจนบางคนอดใจไม่ไหว ต้องบันทึกภาพไว้ในความทรงจำ
ตะวันส่องที่หนองหาน

เสร็จสรรพจากการเที่ยววัดเหนือ ตะวันส่องแสงแรงมากขึ้น “ตะลอนเที่ยว”เดินกลับไปยังริมท่าน้ำบ้านท่าวัดอีกครั้ง เพื่อทำการล่องเรือลอยลำสัมผัสชื่นชมในความงามหนองหานกันอย่างใกล้ชิด

สำหรับหนองหาน จัดเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน เป็นแหล่งรับน้ำจากน้ำตก ลำห้วย แม่น้ำ จากเทือกเขาภูพาน และเป็นต้นน้ำของลำน้ำก่ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 123 ตารางกิโลเมตร มีหลักฐานว่ามีชุมชนโบราณอยู่อาศัยรอบๆบริเวณหนองหานมาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยเฉพาะหลักฐานยุคทวาราวดีมีค่อนข้างเด่นชัดมาก
ใบเสมาคู่ 8 ทิศยุคทวาราวดี หนึ่งในจุดเด่นแห่งวัดใต้
หลังจากเรือแล่นพาเราและคณะไปประมาณ 10 นาที ก็ไปจอดเทียบท่ายัง“วัดใต้” หรือ“วัดกลางศรีเชียงใหม่” ซึ่งมัคคุเทศน์ประจำวัดเล่าว่า วัดใต้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 1200 ต่อจากนั้นในปี พ.ศ.1275 พระธรรมมิกราชได้มาขยายวัดเพิ่มเติม โดยของดีที่วัดแห่งนี้ นอกจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ ศิลปวัตถุต่างๆ ดังเช่นที่วัดเหนือแล้ว ที่วัดใต้ยังมีศิลาจารึกเก่าแก่พร้อมคำแปลจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ และกลุ่มใบเสมาหินเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของวัด

กลุ่มใบเสมาหินตั้งอยู่บริเวณลานกลางแจ้ง เป็นใบเสมา 8 ทิศ ยุคทวารวดีที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน มีลักษณะเป็นใบเสมาคู่แบบเรียบง่าย(รุ่น 1) มีเส้นแกนเสมานูนเด่นขึ้นมา ถือเป็นกลุ่มเสมาที่หาชมได้ยากยิ่งในเมืองไทย
ชาวบ้านคนนี้ฉายเดี่ยวใช้มือตีปลา ใช้เท้าขับเรือ
ตะวันร้อนที่หนองหาน

สายแล้ว แสงตะวันร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ แต่นั่นหาได้เป็นอุปสรรคต่อการนั่งเรือเที่ยวของเราไม่ โดยหลังจากขึ้นฝั่งเที่ยวชมวัดใต้แล้ว เรากลับมาล่องเรืออีกครั้ง ทีนี้เป็นการล่องยาวชมวิวทิวทัศน์ใน 2 ฟากฝั่ง สำหรับสายน้ำช่วงนี้นอกจากจะใสแจ๋วแล้วยังสงบนิ่งราบเรียบ มองเห็นเงาสะท้อนชัดเจน ดูราวกระจกแผ่นยักษ์

ต่อจากนั้นเรือล่องพาไปยังแหล่งหาปลาสำคัญของชาวบ้าน เรามองเห็นเรือประมงพื้นบ้านลอยลำลงข่ายดักปลาอยู่หลายลำด้วยกัน ส่วนใหญ่จะมากันเป็นคู่ แต่ก็มีบางลำที่ฉายเดี่ยวโชว์ลูกเก๋าด้วยการใช้เท้าข้างหนึ่งบังคับหางเสือเรือ ส่วนมือนั้นคอยตีปลาให้ตกใจแล้วว่ายเข้าไปในตาข่ายที่วางดักไว้ นับเป็นความชำนาญของชาวบ้านที่แม้แต่แก๊ง 3 ช่าก็ยากที่จะทำตามได้
หมูป่าที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงบนเกาะหมูป่า
ระหว่างที่ดูชาวบ้านหาปลาอยู่นี้ คนขับเรือดับเครื่องพร้อมเล่าเรื่องเกี่ยวกับปลาให้ฟังว่า ปลาส่วนใหญ่ในหนองหานจะเป็นปลาเกล็ด เคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่จับปลาน้ำจืดได้มากที่สุดในเมืองไทย ในอดีตเคยพบปลาหายากอย่าง ปลาลาด(ปลาเสือตอ) ปลาผาไล(กระเบนน้ำจืด)

“ชาวบ้านที่นี่เขามีกฎ กติกา ร่วมกันในการจับปลา คือจะไม่จับปลาช่วงฤดูวางไข่ เพราะต้องการให้ปลาขยายแพร่พันธุ์ตามฤดูกาลได้มากขึ้น ถ้าเราจับกันไม่เว้นแม่แต่ฤดูวางไข่ อีกไม่นานเราคงไม่มีปลากิน”คนเรือบอกอย่างนั้น

สำหรับความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของหนองหานก็คือ เป็นทะเลสาบที่ประกอบด้วยเกาะมากกว่า 30 เกาะ มีเกาะเด่นๆ อาทิ เกาะแก้ว เกาะดอนสะคาม เกาะดอนสะพุงที่ช่วงกลางวันแสงแดดส่องมองเห็นสาหร่ายใต้น้ำเป็นสีเหลืองทองได้อย่างชัดเจน ส่วนเกาะหมูป่านี่ก็น่าสนใจไม่น้อย บนเกาะมีชาวบ้านนำหมูป่ามาเลี้ยงอยู่กับธรรมชาติราว 3-4 ร้อยตัว พอถึงเวลาให้อาหารหมู ชาวบ้านจะตีเกาะเคาะไม้เรียกหมูของตนด้วยสัญญาณเคาะที่เป็นเอกลักษณ์ ชนิดที่คนต่างถิ่นอย่างเราอดประหลาดใจไม่ได้ว่า หมูป่ามันจำสัญญาณเรียกของเจ้าของได้อย่างไร
โบสถ์วัดดอนสวรรค์
ตะวันจ้าที่หนองหาน

ใกล้เที่ยงแล้ว ตะวันบนฟ้าลอยเด่นเกือบกึ่งกลางศีรษะส่องแสงแผดจ้ากระทบแผ่นน้ำเป็นประกาย คนขับเรือค่อยๆบังคับเรือให้มาจอดเทียบท่ายัง “เกาะดอนสวรรค์" แหล่งท่องเที่ยวลำดับสุดท้ายในทริป ก่อนพาชาวคณะขึ้นไปเดินทอดน่องชมสิ่งน่าสนใจบนนั้น

ดอนสวรรค์เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในหนองหาน ดูร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย บนเกาะมีวัดดอนสวรรค์อันเก่าแก่ตั้งอยู่ ในวัดมีพระพุทธรูปรอยพระพุทธบาทให้สักการะบูชา
เรือนำเที่ยวมุ่งหน้าสู่ดอนสวรรค์ เกาะใหญ่ที่สุดในหนองหาน
ส่วนบริเวณหน้าวัดที่เป็นท่าเทียบเรือ พี่คนขับเรือได้เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนยามหน้าแล้งน้ำลด จะมองเห็นหาดทรายโผล่เป็นแนวสวยงาม แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีภาพอย่างนั้นแล้ว เพราะมีการสร้างฝายกักเก็บน้ำในหนองหาน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ

“ข้อดีของการสร้างฝายคือช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่มีการไหลเวียนของน้ำน้อยลง ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงลง พันธุ์ปลาบางชนิดในหนองหานที่เคยพบจึงหายไป” พี่คนขับเรือเล่า
ล่องเรือชมหนองหาน กิจกรรมท่องเที่ยวที่ชาวบ้านร่วมกันจัดขึ้น
นอกจากปลาบางพันธุ์แล้วสิ่งที่หายไปมากจากหนองหานก็คือนก เพราะถูกคนล่าจับไปกินไปขายเป็นจำนวนมากทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ

นับเป็นบทเรียนสำคัญที่ธรรมชาติสอนให้รู้ว่า การทำลายทรัพยากรธรรมชาติแบบเกินตัวนั้นไม่เป็นผลดีแต่อย่างใด ซึ่งถ้ามนุษย์ทุกวันนี้ยังคงไม่บันยะบันยังต่อการทำร้าย ทำลายธรรมชาติ ผลร้ายที่มนุษย์ก่อนั้นจะคืนสนองกลับมาสู่มวลหมู่มนุษย์ด้วยกันเอง อย่างไม่สามารถที่จะโทษใครได้
กลุ่มชาวบ้านออกเรือหาปลาในหนองหาน
*****************************************

หนองหาน ตั้งอยู่ในตัวเมืองสกลนคร มีขนาดกว้างใหญ่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ สำหรับชื่อหนองหานนั้นมี การเขียนอีกแบบหนึ่ง“หนองหาร” แต่จากการสอบถามผู้รู้หลายคนในภาคอีสาน ให้ข้อมูลว่า หนองหานน่าจะมาจากคำว่าห้วยละหานอันกว้างใหญ่ จึงควรสะกดด้วย ตัว น. มากกว่าตัว ร. นอกจากสถานที่ที่กล่าวมาแล้ว ริมหนองหาน(ต.ธาตุเชิงชุม) ยังมีสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อน อันน่าสนใจ

สำหรับผู้ต้องการเที่ยวหนองหานในรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ บ้านท่าวัดเหนือ โทร.087-221-2501, 087-972-9633 บ้านท่าวัดใต้ โทร.087-244-2501,089-186-6514 และสามารถสอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับหนองหานใน จ.สกลนครได้ที่ ททท.นครพนม(สกลนคร มุกดาหาร) โทร.0-42 51-3490-1

กำลังโหลดความคิดเห็น