โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ไม่ได้ไปเยือนแถวเยาวราชเสียนาน เมื่อโฉบเฉี่ยวไปฉันก็ถึงกับตกตะลึงในความยิ่งใหญ่สวยงามของพระมหามณฑปของวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่บริเวณส่วนหัวของมังกรในความเชื่อเรื่องถนนสายมังกร โดยวัดนี้เดิมเป็นวัดโบราณชื่อว่า "วัดสามจีน" เนื่องจากเชื่อว่าผู้ที่สร้างวัดเป็นชาวจีนกลุ่มแรกๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย ในจำนวนนั้นมีชาวจีน 3 คนที่สร้างเนื้อสร้างตัวจนร่ำรวยเป็นเจ้าสัว มีจิตศรัทธาร่วมใจกันสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น จึงเรียกว่าวัดสามจีน แต่ภายหลังจากที่มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร”
แต่ก่อนที่ฉันจะขึ้นไปเยี่ยมชมพระมหามณฑปที่สวยเด่นเป็นสง่าหลังใหม่นี้ ฉันมุ่งหน้าไปยังพระอุโบสถที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2490 แทนพระอุโบสถเดิมที่เสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นพระอุโบสถทรงจัตุรมุข หลังคาสามชั้น มีชานรอบพระอุโบสถ บานประตู หน้าต่างเขียนลายรดน้ำสวยงาม ภายในประดิษฐาน "พระพุทธทศพลญาณ" พระประธานของวัดไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้นลงรักปิดทอง
เมื่อฉันกราบไหว้ขอพรแล้ว ก็มุ่งหน้าสู่พระมหามณฑปสีขาวสะอาด ยอดทองอร่ามสุกใส ที่ได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราช สมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549 และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80พรรษาในปี พ.ศ. 2550 และเมื่อแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2552จึงได้ชื่อว่า “พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติฯ”
ลักษณะของพระมหามณฑปถูกออกแบบโดยเน้นที่ความเรียบง่ายแต่สร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงความจำเป็น ประโยชน์ใช้สอย มีโครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดความรู้สึกสง่างาม น่าเกรงขาม ขณะเดียวกันก็รักษาคุณค่าทางสถาปัตยกรรมไว้ครบถ้วนทั้ง พุทธศิลป์ สถาปัตยศิลป์ และวิจิตรศิลป์ อีกทั้งยังคำนึงถึงอายุการใช้งาน โครงสร้างของอาคารจึงเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และคัดสรรวัสดุที่มีคุณสมบัติโดดเด่นเรื่องความคงทนถาวร อาทิ หินอ่อน มาใช้ในการก่อสร้างด้วย
รูปแบบสถาปัตยกรรมนั้นก็เป็นแบบไทยประยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนยอดพระมณฑปเป็นรูปทรงจตุรมุข ประดับด้วยตราสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ตัวอาคารพระมหามณฑปเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนบุด้วยหินอ่อน มีขนาดความกว้าง 30 เมตร สูง 60 เมตร ภายในแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ชั้นด้วยกัน ชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ และเป็นลานประทักษิณไว้สำหรับประกอบศาสนกิจต่างๆ
โดย “หลวงพ่อทองคำ” นี้เป็นพระพุทธรูปที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงของวัดไตรมิตร เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกของไทยที่ได้รับการบันทึกไว้ใน The Guinness Book of World Record ปี พ.ศ.2534ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยขนาดขององค์พระนั้นมีขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก 5 นิ้ว หรือมากกว่า 2.50 เมตร ความสูงจากพระเกตุมาลาถึงฐานทับเกษตร (ฐานที่รองรับพระพุทธรูป) 7 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว หรือประมาณ 3.04 เมตร 10 ฟุต น้ำหนักประมาณ 5.5 ตัน และที่สำคัญคือสร้างด้วยทองคำแท้ มีมูลค่าสูงกว่า 21 ล้านปอนด์ ตามที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือกินเนสส์บุ๊ค เมื่อปี พ.ศ.2533 ซึ่งในขณะนี้ที่ราคาทองพุ่งสูงกระฉูดทะลุฟ้ามูลค่าคงทับทวีคูณเลยทีเดียว
ตามตำนานเชื่อกันว่าหลวงพ่อทองคำเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เมื่ออาณาจักรเสื่อมอำนาจลง ชาวเมืองจึงได้ลงรักและพอกปูนทับเนื้อทองคำขององค์พระพุทธรูปไว้ให้รอดพ้นจากข้าศึกศัตรู ทำให้ไม่มีใครรู้เลยว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีเนื้อแท้เป็นทองคำ จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ชะลอพระพุทธรูปจากหัวเมืองมาประดิษฐานยังกรุงเทพฯ หลวงพ่อทองคำที่ถูกปูนพอกไว้ทั้งองค์ก็ถูกอัญเชิญมาด้วยเช่นกัน โดยตอนแรกได้ไปประดิษฐานอยู่ที่วัดพระยาไกรอยู่นาน จนเมื่อปี พ.ศ.2478 จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดไตรมิตรวิทยารามซึ่งในขณะนั้นชื่อว่าวัดสามจีน
กว่าที่คนทั่วไปจะได้รู้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นทองคำก็ต่อมาอีก 20 ปี เมื่อมีการประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานบน พระวิหาร ก็ได้เกิดอุบัติเหตุเชือกที่ยกองค์พระขาดลง ทำให้พระพุทธรูปตกลงมากระแทกพื้นอย่างแรงจนปูนที่พอกไว้กะเทาะออกบางส่วน และเมื่อกะเทาะปูนและล้างรักออก ทุกคนจึงได้ทราบว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปทองคำสุกปลั่ง อีกทั้งที่ใต้ฐานพระยังพบกุญแจที่ใช้ไของค์พระแยกออก เป็นส่วนๆ รวม 9 ส่วน ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายองค์พระได้อย่างสะดวกราบรื่นขึ้น และจากเหตุการณ์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ว่า "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร" ตามลักษณะของพระพุทธรูป
เมื่อกราบไหว้หลวงพ่อทองคำแล้ว เดินลงมายังชั้นที่ 3 เป็นทางเข้าพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อทองคำ ซึ่งเมื่อเดินเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์จะเริ่มต้นด้วยการฉายประวัติความเป็นมาของวัด ห้องถัดไปจะจัดเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงเรื่องราวประวัติหลวงพ่อทองคำ พระพุทธทศพลญาณพระประธานของวัด และความเป็นมาของวัดไตรมิตรแห่งนี้ ที่จัดแสดงรายละเอียดไว้อย่างครบถ้วน ติดแอร์เย็นฉ่ำเดินชมเดินอ่านความเป็นมาได้อย่างสะดวกสบาย
จากนั้นฉันเดินลงมายังชั้นที่ 2 ซึ่งในชั้นนี้ก็จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เช่นกัน นั่นก็คือ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเยาวราช” ที่ได้จัดแสดงเรื่องราวของชุมชนเยาวราช หรือไชน่าทาวน์เมืองไทย ตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน สำหรับห้องแรกเป็นห้องที่ฉายวีดีทัศน์เรื่องราวของชุมชนเยาวราช ห้องถัดไปจัดแสดงกำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บอกเล่าเรื่องจุดกำเนิดของชุมชนจีนที่สำเพ็ง
การอพยพเข้ามาของชาวจีนในช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเดินทางมาโดยเรือสำเภาหัวแดง ผู้เข้าชมจะได้บรรยากาศเสมือนจริงโดยจัดแสดงเป็นหุ่นจำลอง และบรรยากาศภายในเรือสำเภาหัวแดงที่เดินทางฝ่าพายุฝนฟ้าคะนอง ก่อนจะถึงท่าเรือเทียบเรือสำเพ็ง ย่านตลาดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ
ผู้โดยสารชาวจีนที่มากับเรือบรรทุกสินค้าจำนวนมากก้าวลงจากเรือสู่แผ่นดินใหม่ที่นี่ หลายคนเริ่มทำงานจากรับจ้างเป็นกรรมกรแบกหาม หรือขายของหาบเร่ ตั้งรกรากแล้วขยับขยายไปสู่อาชีพอื่นๆ ในส่วนนี้จัดแสดงเป็นหุ่นจำลองของร้านค้าต่างๆและวิถีชีวิตของชาวจีนในสมัยนั้น ทั้งร้านข้าวต้ม ร้านเครื่องกระเบื้องถ้วยชาม ร้านของชำ หาบก๋วยเตี๋ยว คนสานโคม เป็นต้น
ทางเดินเชื่อมต่อพาฉันไปถึงยุคทองของชุมชนชาวจีน ซึ่งเป็นยุคก้าวสู่สมัยใหม่ ตรงส่วนนี้จำลองบรรยากาศภายในสำนักงานบริษัทค้าข้าว ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นความเจริญรุ่งเรืองของย่านการค้าที่เยาวราช จนพัฒนาสู่ย่านธุรกิจที่ถนนเยาวราช โดยเมื่อมีการสร้างถนนเยาวราชขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์โปรดเกล้าฯให้ปลูกตึกสมัยใหม่สองข้างถนน และให้เช่าทำมาค้าขาย เปิดโอกาสให้ชาวจีนจำนวนมากได้เริ่มต้นกิจการของตนเองโดยมีห้างร้านถาวรทันสมัย เกิดเป็นย่านการค้าสมัยใหม่
และเมื่อชาวจีนมีฐานะที่ดีขึ้นก็หันมาให้ความสำคัญกับอาหารการกิน โดยมีค่านิยมว่าการกินของดีของอร่อยเป็นความสุขอย่างหนึ่งในชีวิต ตลาดที่เยาวราชจึงคัดสรรแต่ของดีมาจำหน่ายจนขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์รวมวัตถุดิบชั้นเยี่ยมในการประกอบอาหาร มีภัตตาคาร มีการสร้างวัดจีนแห่งแรกขึ้นคือวัดเล่งเน่ยยี่ รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามว่า วัดมังกรกมลาวาส มีโรงงิ้วที่สร้างอย่างใหญ่โตถาวรแบบโรงภาพยนตร์ โรงน้ำชา ร้านทอง โรงเรียนจีน หนังสือพิมพ์จีน โรงพยาบาลจีน ที่บ่งบอกถึงความเจริญของชุมชนเยาวราช
ห้องถัดมาเป็นห้องที่จัดแสดงเป็น Hall of Fame แสดงตำนานชีวิตของบุคคลชาวเยาวราชที่เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง โดยบอกเล่าเรื่องราวด้วยสื่อวีดิทัศน์ ถัดไปเป็นห้องที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นแกลอรี่ภาพถ่ายและวีดิทัศน์ เรื่องพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลปัจจุบันต่อชุมชนเยาวราช และพระราชกรณียกิจที่เชื่อมประสานความสัมพันธ์ไทย-จีนให้แนบแน่น
และสุดท้ายคือเยาวราชวันนี้ ซึ่งนำเสนอภาพลักษณ์ที่โดดเด่นใน 4 แง่มุมของเยาวราชที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ถนนสายทองคำ ย่านตลาดใหญ่ที่สุดของประเทศ แหล่งวัฒนธรรมประเพณีจีน และแหล่งรวมอาหารอร่อย อีกด้วย ส่วนชั้นล่างสุดของพระมหามณฑปถูกใช้เป็นพื้นที่จอดรถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร หรือวัดสามจีน ตั้งอยู่ที่ ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ การเดินทาง สามารถมาทางรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ไปยังสถานีหัวลำโพง แล้วเดินต่อมาทางถนนตรีมิตร หรือจะขึ้นรถประจำทางสาย 4, 53 มาลงที่วัดไตรมิตรวิทยารามก็ได้ สอบถามรายละเอียดโทร. 0-2222-7470
ผู้ที่มายังวัดไตรมิตรแล้วหากจะหาของกินอร่อยๆก็สามารถเดินไปยังซอยสุกรฝั่งตรงข้ามกับวัดซึ่งมีหมูสะเต๊ะ ข้าวหมูแดง หอยทอด หรือหากมีเวลาก็สามารถเดินเล่นย่านเยาวราชหาอาหารอร่อยกินได้ เช่น เกาลัด ซาลาเปา ขนมจีบ อาหารจีน อาหารทะเล หูฉลาม รังนก ผลไม้สดและแห้ง และร้านอาหารอร่อยๆมากมาย หรือหากชื่นชอบเพลงจีนหรือหนังจีนก็มีให้เลือกมากมาย
ไม่ได้ไปเยือนแถวเยาวราชเสียนาน เมื่อโฉบเฉี่ยวไปฉันก็ถึงกับตกตะลึงในความยิ่งใหญ่สวยงามของพระมหามณฑปของวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่บริเวณส่วนหัวของมังกรในความเชื่อเรื่องถนนสายมังกร โดยวัดนี้เดิมเป็นวัดโบราณชื่อว่า "วัดสามจีน" เนื่องจากเชื่อว่าผู้ที่สร้างวัดเป็นชาวจีนกลุ่มแรกๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย ในจำนวนนั้นมีชาวจีน 3 คนที่สร้างเนื้อสร้างตัวจนร่ำรวยเป็นเจ้าสัว มีจิตศรัทธาร่วมใจกันสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น จึงเรียกว่าวัดสามจีน แต่ภายหลังจากที่มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร”
แต่ก่อนที่ฉันจะขึ้นไปเยี่ยมชมพระมหามณฑปที่สวยเด่นเป็นสง่าหลังใหม่นี้ ฉันมุ่งหน้าไปยังพระอุโบสถที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2490 แทนพระอุโบสถเดิมที่เสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นพระอุโบสถทรงจัตุรมุข หลังคาสามชั้น มีชานรอบพระอุโบสถ บานประตู หน้าต่างเขียนลายรดน้ำสวยงาม ภายในประดิษฐาน "พระพุทธทศพลญาณ" พระประธานของวัดไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้นลงรักปิดทอง
เมื่อฉันกราบไหว้ขอพรแล้ว ก็มุ่งหน้าสู่พระมหามณฑปสีขาวสะอาด ยอดทองอร่ามสุกใส ที่ได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราช สมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549 และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80พรรษาในปี พ.ศ. 2550 และเมื่อแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2552จึงได้ชื่อว่า “พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติฯ”
ลักษณะของพระมหามณฑปถูกออกแบบโดยเน้นที่ความเรียบง่ายแต่สร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงความจำเป็น ประโยชน์ใช้สอย มีโครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดความรู้สึกสง่างาม น่าเกรงขาม ขณะเดียวกันก็รักษาคุณค่าทางสถาปัตยกรรมไว้ครบถ้วนทั้ง พุทธศิลป์ สถาปัตยศิลป์ และวิจิตรศิลป์ อีกทั้งยังคำนึงถึงอายุการใช้งาน โครงสร้างของอาคารจึงเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และคัดสรรวัสดุที่มีคุณสมบัติโดดเด่นเรื่องความคงทนถาวร อาทิ หินอ่อน มาใช้ในการก่อสร้างด้วย
รูปแบบสถาปัตยกรรมนั้นก็เป็นแบบไทยประยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนยอดพระมณฑปเป็นรูปทรงจตุรมุข ประดับด้วยตราสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ตัวอาคารพระมหามณฑปเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนบุด้วยหินอ่อน มีขนาดความกว้าง 30 เมตร สูง 60 เมตร ภายในแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ชั้นด้วยกัน ชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ และเป็นลานประทักษิณไว้สำหรับประกอบศาสนกิจต่างๆ
โดย “หลวงพ่อทองคำ” นี้เป็นพระพุทธรูปที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงของวัดไตรมิตร เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกของไทยที่ได้รับการบันทึกไว้ใน The Guinness Book of World Record ปี พ.ศ.2534ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยขนาดขององค์พระนั้นมีขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก 5 นิ้ว หรือมากกว่า 2.50 เมตร ความสูงจากพระเกตุมาลาถึงฐานทับเกษตร (ฐานที่รองรับพระพุทธรูป) 7 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว หรือประมาณ 3.04 เมตร 10 ฟุต น้ำหนักประมาณ 5.5 ตัน และที่สำคัญคือสร้างด้วยทองคำแท้ มีมูลค่าสูงกว่า 21 ล้านปอนด์ ตามที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือกินเนสส์บุ๊ค เมื่อปี พ.ศ.2533 ซึ่งในขณะนี้ที่ราคาทองพุ่งสูงกระฉูดทะลุฟ้ามูลค่าคงทับทวีคูณเลยทีเดียว
ตามตำนานเชื่อกันว่าหลวงพ่อทองคำเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เมื่ออาณาจักรเสื่อมอำนาจลง ชาวเมืองจึงได้ลงรักและพอกปูนทับเนื้อทองคำขององค์พระพุทธรูปไว้ให้รอดพ้นจากข้าศึกศัตรู ทำให้ไม่มีใครรู้เลยว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีเนื้อแท้เป็นทองคำ จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ชะลอพระพุทธรูปจากหัวเมืองมาประดิษฐานยังกรุงเทพฯ หลวงพ่อทองคำที่ถูกปูนพอกไว้ทั้งองค์ก็ถูกอัญเชิญมาด้วยเช่นกัน โดยตอนแรกได้ไปประดิษฐานอยู่ที่วัดพระยาไกรอยู่นาน จนเมื่อปี พ.ศ.2478 จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดไตรมิตรวิทยารามซึ่งในขณะนั้นชื่อว่าวัดสามจีน
กว่าที่คนทั่วไปจะได้รู้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นทองคำก็ต่อมาอีก 20 ปี เมื่อมีการประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานบน พระวิหาร ก็ได้เกิดอุบัติเหตุเชือกที่ยกองค์พระขาดลง ทำให้พระพุทธรูปตกลงมากระแทกพื้นอย่างแรงจนปูนที่พอกไว้กะเทาะออกบางส่วน และเมื่อกะเทาะปูนและล้างรักออก ทุกคนจึงได้ทราบว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปทองคำสุกปลั่ง อีกทั้งที่ใต้ฐานพระยังพบกุญแจที่ใช้ไของค์พระแยกออก เป็นส่วนๆ รวม 9 ส่วน ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายองค์พระได้อย่างสะดวกราบรื่นขึ้น และจากเหตุการณ์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ว่า "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร" ตามลักษณะของพระพุทธรูป
เมื่อกราบไหว้หลวงพ่อทองคำแล้ว เดินลงมายังชั้นที่ 3 เป็นทางเข้าพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อทองคำ ซึ่งเมื่อเดินเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์จะเริ่มต้นด้วยการฉายประวัติความเป็นมาของวัด ห้องถัดไปจะจัดเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงเรื่องราวประวัติหลวงพ่อทองคำ พระพุทธทศพลญาณพระประธานของวัด และความเป็นมาของวัดไตรมิตรแห่งนี้ ที่จัดแสดงรายละเอียดไว้อย่างครบถ้วน ติดแอร์เย็นฉ่ำเดินชมเดินอ่านความเป็นมาได้อย่างสะดวกสบาย
จากนั้นฉันเดินลงมายังชั้นที่ 2 ซึ่งในชั้นนี้ก็จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เช่นกัน นั่นก็คือ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเยาวราช” ที่ได้จัดแสดงเรื่องราวของชุมชนเยาวราช หรือไชน่าทาวน์เมืองไทย ตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน สำหรับห้องแรกเป็นห้องที่ฉายวีดีทัศน์เรื่องราวของชุมชนเยาวราช ห้องถัดไปจัดแสดงกำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บอกเล่าเรื่องจุดกำเนิดของชุมชนจีนที่สำเพ็ง
การอพยพเข้ามาของชาวจีนในช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเดินทางมาโดยเรือสำเภาหัวแดง ผู้เข้าชมจะได้บรรยากาศเสมือนจริงโดยจัดแสดงเป็นหุ่นจำลอง และบรรยากาศภายในเรือสำเภาหัวแดงที่เดินทางฝ่าพายุฝนฟ้าคะนอง ก่อนจะถึงท่าเรือเทียบเรือสำเพ็ง ย่านตลาดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ
ผู้โดยสารชาวจีนที่มากับเรือบรรทุกสินค้าจำนวนมากก้าวลงจากเรือสู่แผ่นดินใหม่ที่นี่ หลายคนเริ่มทำงานจากรับจ้างเป็นกรรมกรแบกหาม หรือขายของหาบเร่ ตั้งรกรากแล้วขยับขยายไปสู่อาชีพอื่นๆ ในส่วนนี้จัดแสดงเป็นหุ่นจำลองของร้านค้าต่างๆและวิถีชีวิตของชาวจีนในสมัยนั้น ทั้งร้านข้าวต้ม ร้านเครื่องกระเบื้องถ้วยชาม ร้านของชำ หาบก๋วยเตี๋ยว คนสานโคม เป็นต้น
ทางเดินเชื่อมต่อพาฉันไปถึงยุคทองของชุมชนชาวจีน ซึ่งเป็นยุคก้าวสู่สมัยใหม่ ตรงส่วนนี้จำลองบรรยากาศภายในสำนักงานบริษัทค้าข้าว ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นความเจริญรุ่งเรืองของย่านการค้าที่เยาวราช จนพัฒนาสู่ย่านธุรกิจที่ถนนเยาวราช โดยเมื่อมีการสร้างถนนเยาวราชขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์โปรดเกล้าฯให้ปลูกตึกสมัยใหม่สองข้างถนน และให้เช่าทำมาค้าขาย เปิดโอกาสให้ชาวจีนจำนวนมากได้เริ่มต้นกิจการของตนเองโดยมีห้างร้านถาวรทันสมัย เกิดเป็นย่านการค้าสมัยใหม่
และเมื่อชาวจีนมีฐานะที่ดีขึ้นก็หันมาให้ความสำคัญกับอาหารการกิน โดยมีค่านิยมว่าการกินของดีของอร่อยเป็นความสุขอย่างหนึ่งในชีวิต ตลาดที่เยาวราชจึงคัดสรรแต่ของดีมาจำหน่ายจนขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์รวมวัตถุดิบชั้นเยี่ยมในการประกอบอาหาร มีภัตตาคาร มีการสร้างวัดจีนแห่งแรกขึ้นคือวัดเล่งเน่ยยี่ รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามว่า วัดมังกรกมลาวาส มีโรงงิ้วที่สร้างอย่างใหญ่โตถาวรแบบโรงภาพยนตร์ โรงน้ำชา ร้านทอง โรงเรียนจีน หนังสือพิมพ์จีน โรงพยาบาลจีน ที่บ่งบอกถึงความเจริญของชุมชนเยาวราช
ห้องถัดมาเป็นห้องที่จัดแสดงเป็น Hall of Fame แสดงตำนานชีวิตของบุคคลชาวเยาวราชที่เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง โดยบอกเล่าเรื่องราวด้วยสื่อวีดิทัศน์ ถัดไปเป็นห้องที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นแกลอรี่ภาพถ่ายและวีดิทัศน์ เรื่องพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลปัจจุบันต่อชุมชนเยาวราช และพระราชกรณียกิจที่เชื่อมประสานความสัมพันธ์ไทย-จีนให้แนบแน่น
และสุดท้ายคือเยาวราชวันนี้ ซึ่งนำเสนอภาพลักษณ์ที่โดดเด่นใน 4 แง่มุมของเยาวราชที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ถนนสายทองคำ ย่านตลาดใหญ่ที่สุดของประเทศ แหล่งวัฒนธรรมประเพณีจีน และแหล่งรวมอาหารอร่อย อีกด้วย ส่วนชั้นล่างสุดของพระมหามณฑปถูกใช้เป็นพื้นที่จอดรถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร หรือวัดสามจีน ตั้งอยู่ที่ ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ การเดินทาง สามารถมาทางรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ไปยังสถานีหัวลำโพง แล้วเดินต่อมาทางถนนตรีมิตร หรือจะขึ้นรถประจำทางสาย 4, 53 มาลงที่วัดไตรมิตรวิทยารามก็ได้ สอบถามรายละเอียดโทร. 0-2222-7470
ผู้ที่มายังวัดไตรมิตรแล้วหากจะหาของกินอร่อยๆก็สามารถเดินไปยังซอยสุกรฝั่งตรงข้ามกับวัดซึ่งมีหมูสะเต๊ะ ข้าวหมูแดง หอยทอด หรือหากมีเวลาก็สามารถเดินเล่นย่านเยาวราชหาอาหารอร่อยกินได้ เช่น เกาลัด ซาลาเปา ขนมจีบ อาหารจีน อาหารทะเล หูฉลาม รังนก ผลไม้สดและแห้ง และร้านอาหารอร่อยๆมากมาย หรือหากชื่นชอบเพลงจีนหรือหนังจีนก็มีให้เลือกมากมาย