ปีใหม่นี้ “วาไรตี้ท่องเที่ยว” ขอต้อนรับเข้าสู่ปีเสือ(ขาล) อย่างเป็นทางการ ในสัปดาห์แรกหลังจากวันพักผ่อน ท่องเที่ยวอันแสนสุขีได้ผ่านพ้นไป หลายๆ คนก็คงต้องกลับมาตั้งหน้าตั้งตาทำงาน โดยใช้ฤกษ์ดีปีใหม่สากลนี้เป็นจุดเริ่มต้นสิ่งดีๆ ต่างๆ แก่ชีวิต
และเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของปีเสือที่ได้ก้าวเข้ามาในชีวิตของพวกเรา ขอแนะนำหลากสถานที่มงคลแบบเสือๆ ไว้ให้เผื่อใครสนใจอยากไปทำบุญ กราบไหว้ขอพรกัน
สถานที่แรกที่จะพาไปเบิกศักราชปีขาลกันคือ ที่ “วัดพระธาตุช่อแฮ” ที่ จ.แพร่ วัดที่เป็นที่ตั้งของพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีขาล ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา วัดพระธาตุช่อแฮ ตั้งอยู่ที่ ถ.ช่อแฮ ต.ช่อแฮ อ.เมือง จังหวัดแพร่ จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เป็นโบราณสถานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแพร่
พระธาตุช่อแฮ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายและพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารอบองค์พระธาตุประดับบูชาด้วยผ้าแพรอย่างดี ลักษณะองค์พระธาตุ เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสองศิลปะแบบเชียงแสนสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูน หุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองลงรักปิดทอง
เชื่อกันว่าหากนำผ้าแพรสามสีไปถวาย จะทำให้ชีวิตมีความผาสุก มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต หน้าที่การงาน มีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้ นอกจากองค์พระธาตุช่อแฮแล้วภายในวัดยังมี หลวงพ่อช่อแฮเป็นพระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถ ศิลปะล้านนาเชียงแสน สุโขทัย อายุหลายร้อยปี พระเจ้าทันใจและไม้เสี่ยงทาย ตลอดจนธรรมมาสน์โบราณ กรุอัฐิครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ที่ได้มาเป็นประธานบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุช่อแฮ เมื่อปี พ.ศ.2467
สถานที่ต่อไปตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นที่รู้จักกันดีที่ “ศาสเจ้าพ่อเสือ” บริเวณถนนตะนาว ตัดกับถนนอุณากรรณ เขตพระนคร จัดเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ปีเสือนี้ไม่ควรพลาดแก่การสักการะ ศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นศาลเจ้าเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2377 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยชาวจีนแต้จิ๋ว เดิมตั้งอยู่ถนนบำรุงเมือง เมื่อมีการขยายถนนในสมัยรัชกาลที่5 จึงย้ายมาสร้างใหม่ ที่บริเวณทางสามแพร่ง ถนนตะนาว เขตพระนคร
เป็นที่เลื่องชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ มักมีผู้นิยมมาแก้ดวง ขอบุตร และเรื่องการเงิน ตลอดจนการเสี่ยงเซียมซี ศาลเจ้าแห่งนี้ยังมีความงามด้านสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในอีกด้วย โดยเฉพาะโบราณวัตถุที่ประดับอยู่ภายในศาลเจ้านั้นมีความเก่าแก่ร่วมร้อยปี สำหรับสิ่งโปรดปรานของเจ้าพ่อเสือที่มักมีผู้นำมาถวาย ได้แก่ ไข่สด ข้าวสาร และหมูสามชั้นมาถวาย เป็นต้น
อีกหนึ่งศาลคือ “ศาลเจ้าพ่อเสือย่านรามอินทรา” ตั้งอยู่ที่บริเวณสี่แยกถนนรามอินทราซอย 5 ตัดกับพหลโยธิน 48 มักมีผู้นิยมมากราบไหว้เพื่อขอเรื่องโชคลาภ การแก้บนนิยมเอาเนื้อหมูเนื้อวัวสดๆ มาวางไว้ที่หน้าศาล รวมทั้งภาพยนตร์ และหุ่นรูปเสือมาวางไว้ หรือเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ หลายรูปแบบตามที่บนบานศาลกล่าว
มีศาลเจ้าพ่อเสือแล้วก็ต้องมี “ศาลเจ้าแม่เสือ” ตั้งอยู่ที่ปากซอยรามอินทรา 67/1 เขตคันนายาว เป็นศาลเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ริมถนน ห่างจากป้ายรถเมล์ตลาดรามอินทรากม.7 (หมู่บ้านรามอินทรานิเวศน์) เพียงเล็กน้อย ภายในศาลแห่งนี้ รูปปั้นเสือไม่ใหญ่มากนัก นั่งขัดสมาธิ นุ่งผ้าสไบเฉียง บ่งบอกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นี่เป็นเพศหญิง ประวัติความเป็นมาของศาลเจ้าแม่เสือ
ประวัติก็มีแตกต่างกันไป อาทิ ที่ว่าแถวนั้นในสมัยก่อนยังเป็นป่าทุ่ง เคยมีเสือปลาอาศัยอยู่ชุกชุม แล้วพอเมืองและชุมชนขยายตัวมีการทำถนนตัดผ่าน มีคนไปจับลูกเสือปลาเอาไปเลี้ยง สร้างความตื่นตระหนกให้แม่เสือยิ่งนัก ออกเดินมาตามหาลูกด้วยความห่วงใย สุดท้ายถูกรถชนตายริมถนนหลวงนั่นเอง ชาวบ้านเลยตั้งศาลให้ตั้งแต่นั้นมา
อีกตำนานหนึ่งก็ระบุว่าที่เรียกว่า “ศาลเจ้าแม่เสือ” หมายถึงเป็นคู่รักของ “เจ้าพ่อเสือ” ย่านรามอินทรา ก่อนหน้านั้นทั้งคู่พลัดพรากจากกัน ชาวบ้านจึงตั้งศาลไว้เป็นอนุสรณ์ให้เคียงคู่กัน ที่ศาลเจ้าแม่เสือมักมีผู้นิยมมาขอพรเรื่องแคล้วคลาดจากอุบัติเหตุ ขอโชคลาภ ใครสมหวังโชคดีก็มักจะนำเครื่องเซ่นไหว้ ที่นิยมคือ รูปปั้นลูกเสือ ลูกม้าลาย มาแก้บนให้เป็นบริวารเจ้าแม่เสือ
ย้ายฟากไปที่ย่าน “จอมทอง” เขตชานเมืองของกรุงเทพฯทางฝั่งธนบุรี ก่อนอื่นจะพาไปดูความเกี่ยวข้องของคลองสายสำคัญ คือ “คลองสนามชัย” หรือ “คลองด่าน” ที่เรียกได้ว่าเป็นคลองสายประวัติศาสตร์ คลองสายนี้ขุดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยาหรือ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “พระเจ้าเสือ” จุดเริ่มต้นของคลองอยู่ต่อจากคลองด่าน บริเวณแยกคลองบางขุนเทียน ในเขตจอมทอง แล้วไปออกแม่น้ำท่าจีนที่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร บ้างก็เรียกคลองสายนี้ในแถบจังหวัดสมุทรสาครว่าคลองมหาชัย
แล้วไล่เรียงกันไปหยุดที่ “วัดไทร” ผู้ที่มาเยือนไม่ควรพลาดชม “ตำหนักทองวัดไทร” หรือ “ตำหนักพระเจ้าเสือ” สถาปัตยกรรมไม้สมัยอยุธยาที่หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่หลัง โดยเชื่อว่าเป็นตำหนักของพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้เมื่อพระองค์เสด็จประพาสทางทะเล โดยใช้เส้นทางคลองด่านเป็นทางพระราชดำเนิน
ตัวตำหนักเป็นอาคารไม้ทรงไทยขนาดสามห้อง ภายในอาคารมีการตกแต่งด้วยลวดลายเขียนสีทั้งฝาและโครงหลังคา หลังบานประตูภายในห้องบรรทมเขียนเป็นรูปทวารบาล ส่วนฝาภายนอกก็มีการลงรักเขียนลายรดน้ำไว้อย่างงดงาม และใกล้ๆกันนั้นก็มีศาลพระเจ้าเสือ ซึ่งมีพระรูปหล่อของพระเจ้าเสือ และรูปหล่อของพันท้ายนรสิงห์ไว้ภายในศาลนี้ด้วย
อีกหนึ่งที่ “หลวงพ่อเสือ วัดบางแวก” วัดบางแวก ตั้งอยู่ที่เลขที่ 923 ซ.จรัญสนิทวงศ์ 13 ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ตามประวัติวัดแห่งนี้ ได้สร้างขึ้นเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่เดิมชื่อว่า วัดบางแหวก เหตุที่ชื่อนี้เพราะว่าสมัยก่อนนิยมการสัญจรทางน้ำจะเข้าคลองบางแวกได้ ก็ต้องแหวกผักตบชวาเพราะมีมากจนปิดทางสัญจรไปมา
เป็นวัดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของย่าน ในคราวหนึ่งเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” ได้ชลมารคผ่านมาทางคลองบางแวกพอมาถึงวัดเรือพระที่นั่งก็เกิดอุปสรรค ไม่สามารถไปต่อได้จึงขึ้นมาชมบริเวณรอบๆ วัดบางแวก เข้าไปกราบพระในพระวิหาร เห็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง (หลวงพ่อเสือ วัดบางแวก) ดำไม่สุกใส เหมือนองค์อื่นๆ
ต่อมาจึงได้สั่งให้ทำพิธีเททองทับหลวงพ่อเสือ วัดบางแวกก็ไม่สุกดังตั้งใจ จึงสั่งให้เททองทับหลวงพ่อเสือ อีกสองครั้งก็ไม่สุกอีก ทรงขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธรูปหลวงพ่อเสือ” พระวิหารหลวงพ่อเสือ
ปัจจุบันหลวงพ่อเสือประดิษฐานอยู่ภายใน ศาลาการเปรียญ เป็นสถาปัตยกรรมแบบทรงไทย หน้าบันเป็นลายแกะสลักทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ไม้สักทองด้านบนมีรูปภาพจิตรกรรมฝาผนังทศชาติ เป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภายในมีบุษบกยาว 12 เมตร ซึ่งกรมศิลปากรได้อนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติ อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปศิลาแลง ซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถเก่ามาก่อน และมีพระพุทธรูปสมัยอยุธยาพร้อมด้วยพระพุทธรูปปางนาคปรกสมัยลพบุรี ประดิษฐานไว้ให้สักการะอีกด้วย
ลงใต้ไปที่ จ.กระบี่ กันบ้าง ที่ “วัดถ้ำเสือ” (เขาแก้ว) อยู่ห่างจากตัวเมืองกระบี่ประมาณ 9 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านถ้ำเสือ ตำบลกระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่ ชื่อวัดนั้นมีข้อสันนิษฐานว่าเนื่องจากในอดีตเคยมีเสืออาศัยอยู่ และภายในถ้ำยังปรากฏหินธรรมชาติเป็นรูปแบบของอุ้งเท้าเสือ ภายในวัดร่มครื้มด้วยแมกไม้และถ้ำเล็กถ้ำน้อยอยู่มากมาย ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พระตำหนักเจ้าแม่กวนอิม พระพุทธรูปหยกขาว ศิลปะพม่าอายุนับร้อยปี รวมไปถึงฝูงลิงป่ามากมายภายในเขตวัด
แต่ถ้าอยากทำบุญกับสัตว์แบบเสือๆ ก็ต้องแวะไป “วัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน” อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี พระอาจารย์ภูสิต (จันทร์) เจ้าอาวาส ได้ใช้พื้นที่ 30 ไร่ ในอาณาเขตของวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน เพื่อจะปล่อยให้เสือที่อาศัยในวัดแห่งนี้ ได้อย่างอิสระไร้กรงขัง จากเดิมที่เริ่มต้นด้วยการรับเลี้ยงลูกเสือที่มีชาวบ้านนำมาให้ เสือในวัดเป็นเสือโคร่งอินโดจีน
นำมาซึ่งจุกหักเหกลายเป็นเขตอภัยทานสัตว์ใหญ่ชนิดนี้ ด้วยวัตถุประสงค์ส่งเสริมและดำเนินการอนุรักษ์และขยายพันธุ์เสืออย่างเหมาะสม เพื่อดำเนินการคืนเสือสู่ป่าธรรมชาติหรือสถานที่ที่อนุรักษ์แหล่งต่างๆ รวมทั้งการศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้ในเรื่องเสือและการอนุรักษ์เสือ เป็นศูนย์ช่วยเหลือ บำบัดและฟื้นฟูเสือที่บาดเจ็บหรือกำพร้า ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกแห่งการอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่าและน้ำ
เลือกเสริมสิริมงคล “ปีเสือ” กับสถานที่แบบเสือๆ ก็แลดูเข้าทีไม่น้อย