xs
xsm
sm
md
lg

“ปอน”ไม่เหมือน“ปาย”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ชุมชนบ้านเมืองปอนเรียบง่ายแต่ทรงเสน่ห์
...และแล้วมาเจอคนแบบปอนปอนเหมือนกัน

ตัวฉันจึงมีคนรู้ใจ ไปไหนก็ไปกัน ต่างก็รู้ในใจกัน เรามั่นใจ...


ท่อนหนึ่งของเพลง “รักปอนปอน” : วงไมโคร

เพลงรักปอนปอนแม้จะดังมาชั่วนาตาปี แต่เวลาฟังเพลงนี้คราใด ผมมักอดสงสัยไม่ได้ว่า “คนปอน(ปอน)” เป็นคนประเภทไหน??? เซอร์ โทรม ติ๊ส หรือพวกนิยมยกมือขวาตามวงดนตรีเจ้าของเพลง(แต่คงไม่ใช่ประเภท เนี๊ยบ เฉียบ หล่อทะลุแป้งแบบพี่เคน ธีรเดช แน่ๆ) เรื่องนี้ถามใครหลายคนก็ได้คำตอบกลับมาว่า “คนปอนปอน” ก็คือ“คนปอนปอน”นั่นแหละ

เรียกว่าไม่กระจ่าง สู้การมาเที่ยวที่“บ้านเมืองปอน”จ.แม่ฮ่องสอน ไม่ได้ เพราะเพียงมาถึงที่นี่ปุ๊บ ถามไถ่แค่เพียงแป๊บ จากผู้ทรงความรู้ในหมู่บ้าน ก็ได้ความกระจ่างปั๊บ ว่า เมืองปอน มาจาก“เมืองพร”นั่นเอง
โบราณสถานในโรงเรียนชุมชนบ้านเมืองปอน
และก็ดูเหมือนว่าเมืองนี้จะได้พรมาสมชื่อ เพราะเป็นเมืองอันสงบงาม ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมของขุนเขา สายน้ำ เป็นเมืองอากาศดี บรรยกาศเนิบนาบ นิ่งๆเย็นๆ มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่(ไต)ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายทำนา เพาะปลูก ทำไร่ทำสวน ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ที่แม้ว่าบางสิ่งบางอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์บ้าง แต่ในภาพรวมนั้นพวกเขายังเหนียวแน่นในขนบและคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นไทยใหญ่อยู่ไม่น้อยเลย

ด้วยความที่เหมือนมีพรดี ผู้คนหัวก้าวหน้าในเมืองปอนกลุ่มหนึ่งจึงผลักดันเมืองนี้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเล็กๆของเมืองสามหมอก มีโฮมสเตย์บ้านไม้ใหญ่โตได้มาตรฐานกระทรวงการท่องเที่ยวฯของชาวชุมชนให้พักค้างได้ร่วม 100 คนต่อคืน มีสถานที่น่าสนใจให้เที่ยวชมกัน อาทิ วัดเมืองปอนอันสวยงามเคร่งขรึมด้วยศิลปะไทยใหญ่ ซากโบราณสถานที่มีกระจัดกระจายอยู่ตามจุดจ่างๆ ศาลหลักใจบ้านกับศาลเจ้าเมืองปอนอันเป็นเรียบง่ายเป็นเอกลักษณ์ มีอาคารบ้านเรือนไม้หลายหลังที่โดดเด่นสวยงามไปด้วยเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรือนที่มีหลังคาสองหลัง ต่อเชื่อมกันด้วยรางรินตรงกลาง(ชาวไทยใหญ่เรียก“เฮินโหลงสองส่อง”) หรือเรือนที่มีหลังคาเพียงหลังเดียวมีชานหรือครัวแยกออกมาต่างหาก( ชาวไทยใหญ่เรียก“เฮินโหลงตอยเหลียว”)
วิถีชีวิต-การคัดแยกถั่ว
นอกจากนี้ในบ้านเมืองปอนยังมีวิถีชีวิตชาวชุมชนอันเรียบง่ายแต่ทรงเสน่ห์ให้ทัศนาเรียนรู้ ได้เห็นผู้เฒ่าผู้แก่สวนชุดไทยใหญ่ นุ่งผ้าซิ่นลายสวย ใส่เสื้อไทยใหญ่ สีสด สวมหมวกกุบไต ทำกิจวัตรต่างๆอยู่ทั่วไปในหมู่บ้าน ยามเช้ามีตลาดเช้ากับบรรยากาศซื้อขายแบบอบอุ่นเปี่ยมรอยยิ้มพร้อมอาหารและขนมไทยใหญ่หลากหลายชนิด หากใครไปช่วงนาหน้าก็จะได้เห็นต้นข้าวทุ่งนาเขียวขจีหรือไม่ก็เหลืองสะพรั่งดังทุ่งรวงทอง ส่วนถ้าใครไปช่วงเทศกาลงานประเพณีก็จะได้ซึมซับกับบรรยากาศเปี่ยมเสน่ห์แบบไทยใหญ่เต็มๆ แต่หากใครไปไม่ตรงช่วงทางชุมชนก็มีการแสดงทางวัฒนธรรมของชาวบ้าน เด็กๆ เยาวชน จัดเตรียมไว้ให้สำหรับผู้สนใจ

เรียกได้ว่าบ้านเมืองปอนมีมนต์เสน่ห์หลายอย่างให้ผู้ไปเยือนได้สัมผัสกัน ขณะเดียวกันก็ไม่มีบางสิ่งบางอย่างให้ใครบางคนได้สัมผัส อาทิ แสงสี สถานบันเทิง ผับบาร์ ร้านคาราโอเกะ ซึ่งใครที่ชอบเที่ยวแบบนี้คงต้องไปเสาะหาที่อื่นที่ไม่ใช่ในบ้านเมืองปอน
หนึ่งในบ้านพักโฮมสเตย์
อย่างไรก็ตามกว่าที่บ้านเมืองปอนจะมาเป็นถึงทุกวันนี้ได้ก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมาไม่น้อยเลย โดย อาจารย์กัลยา ไชยรัตน์ หรือครูแมว จากโรงเรียนชุมชนบ้านเมืองปอนผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันบ้านเมืองปอนเป็นชุมชนท่องเที่ยว เล่าถึงเหตุผลในการทำโครงการนี้ว่า ต้องการให้กิจกรรมท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริมของชาวชุมชนแบบพอเพียง ควบคู่ไปกับการให้ชาวชุมชนอนุรักษ์ธรรมชาติ ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของชาวไทยใหญ่ไว้ไม่ให้สูญหาย ทางหนึ่งนั้นเพื่อเป็นแม่สิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ส่วนอีกทางหนึ่งที่สำคัญมากก็เพื่อการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษไว้ให้คงอยู่ ไม่ให้เสียศูนย์ สลายหายไปตามกระแสธารแห่งโลกาภิวัตน์ที่รุกเร้า ซึ่งเรื่องแบบนี้ถ้าภาคประชาชนไม่ทำก็อย่าหวังว่าภาครัฐหรือภาคการเมืองจะมาทำให้

“ช่วงแรกที่ทำนั้น ไม่รู้อะไรเลย”

ครูแมวเล่าให้ฟังก่อนขยายความเพิ่มเติมว่า ตอนริเริ่มทำการท่องเที่ยวชุมชนและโฮมสเตย์นั้น เธอไร้ประสบการณ์ไม่มีความรู้ จึงลองผิดลองถูกอยู่พักหนึ่ง เดินทางไปดูงานที่โน่นที่นี่ ไปลองพักตามโฮมสเตย์ดังๆด้วยเงินงบประมาณส่วนตัวเพื่อจำมาทำตาม

“ตอนนั้นชาวบ้านเขางงว่าเราทำอะไร ทำให้ชักชวนเข้ากลุ่มลำบาก ชาวบ้านบางคนก็คิดว่าเราจะทำเอาหน้า ทำเพื่อหวังรวย แต่เขาไม่รู้ว่าที่เราทำนี้มีแต่หนี้สินจนเกิดท้อใจในบางครั้ง”
โฮมสเตย์กว้างขวาง
แต่พอทำไปได้ประมาณ 3 ปี เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว มีคนทยอยเข้าท่องเที่ยวในชุมชน เกิดการกระจายรายได้ขึ้นในหมู่ชาวบ้าน ชาวบ้านเริ่มเห็นภาพเริ่มเข้าใจ หลายคนจึงเข้ามาช่วยร่วมลงมือลงแรงกัน ทำให้กิจการท่องเที่ยวชุมชนของบ้านเมืองปอนเดินหน้าไปด้วยดี มีการแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มอาหาร กลุ่มการแสดงทางวัฒนธรรม กลุ่มไกด์ท้องถิ่น เพื่อที่จะเฉลี่ยรายได้กันออกไปให้มากที่สุด

อนึ่งนอกจากกิจการด้านการท่องเที่ยวแล้ว กลุ่มของครูแมวและโรงเรียนชุมชนบ้านเมืองปอนยังพยายามที่จะฟื้นฟูด้านศิลปวัฒนธรรมหลายสิ่งหลายอย่างที่เริ่มเสื่อมหายไป อาทิ การอ่านเขียนภาษาไทยใหญ่ การเล่านิทาน การรำกระบอง รำดาบ ทำขนม การแต่งตัว และการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้สืบสานกัน ซึ่งผลพวงจากการต่อสู้อุปสรรคต่างๆรวมถึงมนต์เสน่ห์เหมือนดังมีพรของชุมชนนี้ ทำให้ปัจจุบันมีคนไทยและชาวต่างชาติที่นิยมการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตวัฒนธรรมเดินทางมาแอ่วบ้านเมืองปอนกันพอสมควร

ครูแมวบอกกับผมว่า ส่วนคนไทยที่มาเที่ยวที่นี่ส่วนใหญ่จะเที่ยวแบบคละเคล้ากันไป คือ ทั้งมาเที่ยวนอนเมืองปอน มาดูทุ่งดอกบัวตอง ไปเที่ยวแม่ฮ่องสอน ไปเที่ยวปางอุ๋ง หรือไปเที่ยวปาย ส่วนฝรั่งที่มาเที่ยวเมืองปอนจะไม่ไปเที่ยวเมืองปาย เพราะเมืองปอนไม่เหมือนเมืองปาย
วัดเมืองปอน
เรื่องนี้ถือเป็นรสนิยมความชอบส่วนตัวของแต่ละคน แต่ในภายภาคหน้าที่การท่องเที่ยวในบ้านเมืองปอนเติบโตมากขึ้นนั้น ยังไงๆผมก็ภาวนาว่า อย่าให้เมืองปอนเหมือนเมืองปายเลย

เพราะถ้าวันใดเมืองปอนเหมือนเมืองปาย นั่นหมายความว่าเสน่ห์หลายสิ่งหลายอย่างอันทรงคุณค่าของเมืองนี้จะเสื่อมสลายไปแบบไม่สามารถกู้กลับคืนมาได้
*****************************************

บ้านเมืองปอน ตั้งอยู่ที่ ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ผู้สนใจท่องเที่ยว-พักค้างโฮมสเตย์ สอบถามข้อมูลได้ที่ 0-5368-4644,08-7181-2286
กำลังโหลดความคิดเห็น