xs
xsm
sm
md
lg

ฮักเวียงสา เมื่อมาแอ่วน่าน/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
สนง. เทศบาล ต.เวียงสา อดีตที่ว่าการ อ.สา ซึ่งในหลวงและพระราชินีเคยเสด็จมาประทับ
ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาว่า ณ ที่นั่นนอก“น่าน” มีคนเรียกปลาให้ขึ้นมาว่ายเหนือน้ำได้

โอ้!?! แม่เจ้า อะไรมันจะออกแนวพระสังข์ปานนั้น

กับเรื่องแบบนี้แค่ได้ยิน มันย่อมสู้การไปพิสูจน์ให้เห็นจะจะกับตาไม่ได้

ว่าแล้วผมก็เดินทางไปพิสูจน์ความจริงกัน ณ จุดต้นทางของเรื่องที่ “เมืองเวียงสา” อ.เวียงสา ที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองน่านไปทางทิศใต้ประมาณ 25 กม.

รู้จักนามเวียงสา

เมืองเวียงสา(อ.เวียงสา) เดิมชื่อ “เวียงป้อ,เวียงพ้อ” หรือ “เมืองป้อ,เมืองพ้อ” ตามตำนานเล่าว่า ถ้ามีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น จะมีการเรียกผู้คนที่มีอยู่จำนวนไม่มากนักในบริเวณนั้นมา“ป้อ”(รวม)กัน ที่ปากแม่น้ำสา

ในอดีตเวียงป้อมีความสำคัญในฐานะเมืองประเทศราชของนครน่าน จนกระทั่ง พ.ศ. 2440 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเวียงป้อไปขึ้นกับแขวงบริเวณน่านใต้ ต่อมาถูกตั้งเป็น“กิ่งอำเภอเวียงสา” แล้วได้รับการยกฐานะเป็น “อำเภอบุญยืน” ในปี พ.ศ. 2461

ปี พ.ศ. 2482 เปลี่ยนชื่อจากอำเภอบุญยืนเป็น อำเภอสา ก่อนเปลี่ยนเป็น อำเภอเวียงสาในปี พ.ศ. 2526 ซึ่ง 2 ชื่อหลัง ตั้งตาม“ลำน้ำสา” ลำน้ำสำคัญของอำเภอที่มีต้นสาขึ้นอยู่เต็ม

อ.เวียงสา เป็นดังประตูสู่เมืองน่าน เพราะถ้าจะเดินทางสู่น่านไปตามถนนสายหลักนั้น(ทางหลวงหมายเลข 101 กำแพงเพชร-น่าน) ต้องผ่าน อ.เวียงสาก่อน ซึ่งในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเยี่ยมราษฎรภาคเหนือ จากแพร่สู่ที่ว่าการอำเภอสา(ชื่อในขณะนั้น) ด้วยพระราชพาหนะรถจี๊ป และโปรดเกล้าให้พสกนิกรเข้าเฝ้าฯ ณ หน้ามุขชั้น 2ของที่ว่าการอำเภอสา จากนั้นจึงเสด็จฯต่อไปยังศาลากลางจังหวัดน่านในขณะนั้น(ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน)

การเสด็จฯครั้งนั้นของ 2 พระองค์ยังความปลาบปลื้มปีติของชาวอำเภอเวียงสามาจนถึงทุกวันนี้
เด็กๆตีกะหล๊กเรียกปลา
เที่ยวฮักเวียงสา

นอกจากจะเป็นประตูสู่น่าน เป็นเมืองแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จมาประทับรอยพระบาทแรกในน่าน เป็นเมืองที่มีคนเรียกปลาได้แล้ว เวียงสายังมีของดี มีสิ่งน่าสนใจอีกหลายอย่าง

นั่นจึงทำให้ทางกลุ่ม“ฮักเมืองเวียงสา”กับชาวบ้านและภาคส่วนอื่นๆในอำเภอ ร่วมแรงร่วมใจกันจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมขึ้น เพื่อให้ผู้มาเยือนละวางความรีบเร่ง และได้รับรู้ถึงมนต์เสน่ห์ของเมืองเล็กๆอันเรียบง่าย สงบงามแห่งนี้ โดยขอเป็นแหล่งท่องเที่ยวรองเชื่อมต่อจากเมืองน่าน

“ที่สำคัญกว่านั้น คือเราอยากให้คนเวียงสารู้จักบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง ซึ่งการท่องเที่ยวจะทำให้คนเวียงสาเกิดการเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ บอกกล่าว อธิบาย ต่อนักท่องเที่ยวได้”

เฉาก๊วย หนึ่งในผู้มีบทบาทของกลุ่มฮักเมืองเวียงสาบอกกับผม พร้อมทั้งไม่ลืมที่พูดถึงในสิ่งที่ผมเป็นห่วงว่า พวกเขากับชาวบ้านจะทำการท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริมแบบพอเพียงเท่านั้น ด้วยไม่อยากให้เมืองเวียงสาถูกธุรกิจท่องเที่ยวทำลายจนเสียศูนย์ เสียอัตลักษณ์ของชุมชนไป เพราะการท่องเที่ยวถือเป็นดาบ 2 คม ที่ต้องรู้จักมันให้ดี

แอ่วของดีเวียงสา

ฟังคุณเฉาก๊วยอธิบายแล้ว ทีนี้ก็ต้องไปตะลอนๆเที่ยวชมของดีในเมืองนี้กันเสียหน่อย โดยให้เฉาก๊วยกับกลุ่มฮักเมืองเวียงสาเป็นคนพาชม

จุดแรกนั้นผมมุ่งไปชมสิ่งสนใจที่ติดค้างไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องนั่นก็คือการไปดูคนเรียกปลา ที่บ้านกะหล๊กน้ำน่านใต้

บ้านนี้เป็นบ้านไม้ใหญ่โตกว้างขวางติดริมแม่น้ำทิวทัศน์สวยงาม กำลังทดลองจัดทำเป็นโฮมสเตย์ ทุกวันอาทิตย์จะมีการสอนภาษาล้านนาแก่ผู้ที่สนใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ใต้ถุนบ้าน ส่วนตรงลานริมน้ำหลังบ้านแขวน“กะหล๊ก”ไว้ มีลักษณะเป็นไม้คล้ายกระดึงผูกคอวัว สมัยก่อนใช้ในการตีเรียกประชุมชาวบ้านหรือเคาะเรียกยามเกิดเหตุสำคัญ

แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีอื่นเข้ามากะหล๊กจึงค่อยๆเลือนหายไป แต่ที่บ้านหลังนี้เขาเก็บกะหล๊กไว้เพื่อตีเรียกปลาให้มากินอาหาร โดยทุกๆวันคนในบ้านจะนำอาหารปลาใส่ตะกร้าที่แขวนไว้กับผูกรอก แล้วจึงเคาะกะหล๊กเสียงดัง ป๊กๆๆๆ ส่งสัญญาณไปถึงปลา จากนั้นปลาแถวนั้นจะว่ายน้ำมารออาหารกันที่ผิวน้ำ เจ้าของบ้านก็ปล่อยอาหารให้ปลากินอย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาจับเพราะชาวบ้านที่นี่เขาร่วมใจกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาในละแวกนี้ไว้
จักรยานเก่ามากมายที่เฮือนรถถีบ
นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ไม่ต้องใช้คาถาแบบพระสังข์หรือไม่ต้องเป็นจอมขมังเวทย์แต่อย่างใด แต่ภูมิปัญญาแบบนี้แหละสามารถเรียกความสนใจของนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อยเลย

อีกจุดหนึ่งในเวียงสาที่แม้กระทั่งคนเวียงสาหลายยังไม่รู้ก็คือ “เฮือนรถถีบ” ของคุณลุงสุพจน์ เต็งไตรรัตน์ ที่เดิมคุณลุงเปิดร้านซ่อมจักรยาน ก่อนพัฒนามาเป็นตำแทนจำหน่ายจักรยานยุโรป

ต่อมาด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงคนหันไปใช้รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ แทนจักรยาน คุณลุงจึงหันมาเปิดปั๊มแทน ส่วนจักรยานนั้นด้วยใจรักจึงไม่ทิ้ง หากแต่นำเก็บสะสมไว้และซื้อหาจักรยานเก่าๆหายากมาเพิ่มเติม อาทิ จักรยานล้อโต 64 นิ้วที่ซื้อมาจากพิพิธภัณฑ์เยอรมัน จักรยานเก่าแบบพับเห็บได้ และจักรยานเก่าจากยุโรปหลากหลายยี่ห้อ เช่น ราเลย์ กาเซีย โบบินฮูด ฟิลิปส์ นิวฮัทสัน แล้วเปิดให้ชมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ให้คนที่สนใจได้ชื่นชมกัน

ไหนๆก็พูดถึงจักรยานแล้ว คุณเฉาก๊วย บอกว่าเวียงสาเป็นเมืองที่น่าปั่นจักรยานเที่ยวมาก เพราะจะได้สัมผัสกับวิถีชิวิตอันเรียบง่ายของชาวบ้านอย่างใกล้ชิด ทั้งอาคารบ้านเรือน การดำรงชีวิต การทอผ้า การทำเรือ การทำสวนผลไม้ ซึ่งที่นี่มีผลได้อร่อยๆหลายอย่าง อาทิ ขนุน กล้วย มะละกอ ลองกอง โดยใครที่มาเที่ยวเวียงสานั้น ทางชุมชนเขามีจักรยานเตรียมไว้ให้รองรับได้ประมาณ 100 คนเลยทีเดียว
พระพุทธรูปยืนในโบสถ์วัดบุญยืน
นอกจากของดีตามที่กล่าวมาแล้ว เวียงสายังมีพระพุทธรูปไม้ตะเคียนที่ใหญ่มาก ณ ศูนย์วิปัสนาสุญญตวิโมกข์ เป็นอีกหนึ่งสิ่งชูโรง และมี“วัดบุญยืน”เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง

วัดบุญยืน มีอายุกว่า 200 ปีแล้ว ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเทศบาล ต.เวียงสา วัดนี้มีสิ่งน่าสนใจมากอยู่ที่โบสถ์ทรงล้านนาอิทธิพลสุโขทัย มีประตูโบสถ์เป็นไม้แกะสลักรูปเทวดาและลวดลายพรรณพฤกษาอย่างปราณีตอ่อนช้อย ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลกเป็นพระประธาน มีเสาโบสถ์ขนาดใหญ่ส่วนล่างเป็นปูนนำสายตาเข้าไปดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธายิ่งนัก

หลังออกจากการไหว้พระงามในโบสถ์วัดบุญยืน ก่อนร่ำลาจากเมืองนี้ผมแวะยังจุดน่าสนใจสำคัญที่อยู่ตรงข้ามกับวัดนั่นก็คือ สำนักงานเทศบาลตำบลเวียงสา เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น รูปทรงสมส่วนกระทัดรัด

เดิมที่นี่คือที่ว่าการอำเภอสาซึ่งในหลวงและพระราชินีเคยเสด็จมาประทับ และโปรดเกล้าให้พสกนิกรเข้าเฝ้าฯ ณ มุขหน้าชั้น 2 ของที่ว่าการอำเภอตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

นับได้ว่านี่คือหนึ่งในสถานที่ทรงคุณค่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีคุณค่าทางจิตใจอย่างสูงยิ่งของชาวเวียงสา

แต่ทว่าในยุคสมัยหนึ่ง มีข้าราชการจำนวนหนึ่งกลับมองไม่เห็นความสำคัญในจุดนี้ กลับเห็นว่าควรทุบทิ้ง(เพราะเห็นเป็นอาคารไม้ไม่ทันสมัยทั้งที่ยังใช้งานได้ดี)เพื่อสร้างอาคารตึก(ปูน)ใหญ่โตแทน แต่ยังดีที่มีชาวบ้านและกลุ่มภาคีคนฮักเมืองน่านทัดทานไว้ เพราะเห็นเป็นอาคารทรงคุณค่า

นั่นจึงทำให้อาคารนี้ยังคงอยู่คู่เวียงสามาจนถึงทุกวันนี้พร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สำคัญของเมือง ซึ่ง ณ วันนี้มีข่าวดีว่าทางเทศบาลตำบลจะปรับปรุงอาคารไม้หลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองเวียงสา ที่ก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่าจะสัมฤทธิ์ผลเมื่อไหร่

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเทศบาลตำบลบ่นให้ผมและสาธารณะชนจำนวนหนึ่งฟังว่า เมื่อครั้งที่ในหลวงและพระราชินีเสด็จมาที่นี่ พระองค์ท่านทั้งสองได้เสด็จประทับบนเก้าอี้ไม้ 2 ตัว ซึ่งถือเป็นเก้าอี้ทรงคุณค่าที่จะนำมาเป็นไฮไลท์ในการจัดพิพิธภัณฑ์ แต่วันนี้เก้าอี้ 2 ตัวนั้นอันตรธานหายไปนานแล้ว เพราะถูกนายอำเภอผู้นิยมสะสมของเก่าบางคนฉกไปตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต(ซึ่งแกก็ไม่รู้ว่าใคร) นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง

เฮ้อ...ใครหนอช่างกล้าทำได้ถึงเพียงนี้ ซึ่งถ้าเรื่องนี้จริงตามที่เจ้าหน้าที่คนนั้นอ้าง ก็ให้รู้ไว้ด้วยว่าการกระทำแบบนี้ของมันผู้นั้น มีคนก่นด่าและสาปแช่งต่อพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมตามไล่หลังอยู่เป็นจำนวนมาก
*****************************************

สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเวียงสาเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ประสานงานกลุ่มฮักเมืองเวียงสา 08-5864-8920,08-6118-9054
กำลังโหลดความคิดเห็น