xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัสเสน่ห์มอญลาดกระบัง ตักบาตรพระร้อย วัดสุทธาโภชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
อนุสาวรีย์หินอ่อนของเจ้าจอมมารดากลิ่น
เมื่อคราวก่อนพาไปล่องคลองประเวศบุรีรมย์ ได้เที่ยววัดเที่ยวตลาดเก่า ชมธรรมชาติริมฝั่งคลองกันไปแล้ว แต่วันนี้ฉันก็ยังหลงเสน่ห์แม่น้ำลำคลองในแถบนี้ จึงยังคงเกาะติดไม่ไปไหน เพราะยังไม่ได้พาทุกคนชม "วัดสุทธาโภชน์" วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของลาดกระบังกันเลย

บริเวณวัดสุทธาโภชน์นี้ถือเป็นชุมชนชาวมอญที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง แต่คนอาจยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไรนัก โดยชาวมอญในแถบนี้เป็นกลุ่มชาวมอญที่ขยายตัวมาจากพระประแดง และสมุทรสาคร เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการขุดคลองเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย เพิ่มพื้นที่ทำนาผลิตข้าว ทางการชักชวนให้ชาวบ้านมาบุกเบิกที่ทำกินด้วยการงดเว้นการเก็บภาษีในระยะแรก และเก็บในอัตราลดหย่อนพิเศษกว่าพื้นที่ทำนาเก่าๆ อีกทั้งพื้นที่ทำนาของชาวมอญที่พระประแดงก็เริ่มแออัด ชาวมอญบางส่วนจึงย้ายมาทำนาปลูกข้าวและมาลงหลักปักฐานที่ย่านลาดกระบังกันต่อมาถึงปัจจุบัน
ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตลาดกระบัง
ส่วนประวัติของวัดสุทธาโภชน์ หากจะเล่าถึงก็คงต้องเอ่ยนามของ "เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น" หรือเจ้าจอมมารดากลิ่น ผู้ซึ่งมีความสำคัญต่อวัดสุทธาโภชน์เป็นอย่างมาก เจ้าจอมมารดากลิ่นผู้นี้เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และยังมีเชื้อสายมอญเต็มตัว โดยท่านเป็นเป็นธิดาของพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) และเป็นหลานปู่ของเจ้าพระยามหาโยธารามัญราช (ทอเรียะหรือชื่อไทยว่าทองชื่น) เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เป็นบุตรชายของ เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ซึ่งเป็นมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแต่ครั้งกรุงธนบุรี

เมื่อเจ้าจอมมารดากลิ่นได้ถวายบังคมลาออกจากพระบรมมหาราชวังมาอยู่กับพระโอรสภายนอก ท่านก็ชอบเดินทางไปตามหัวเมืองเพื่อพักผ่อนสูดอากาศบริสุทธิ์อยู่เนืองๆ รวมถึงย่านลาดกระบังนี้ด้วย และด้วยความเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เจ้าจอมมารดากลิ่นจึงมาทำบุญไหว้พระที่วัดสุทธาโภชน์ หรือเดิมชื่อวัดสุทธาวาสอยู่บ่อยครั้ง แต่ในหน้าแล้งน้ำในคลองแห้งจนไม่สามารถพายเรือเข้ามาที่วัดได้ ท่านจึงมีดำริให้ย้ายวัดมาสร้างใหม่ในที่ดินของท่าน อยู่ริมคลองลำปลาทิวที่สามารถพายเรือไปมาได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ชาวมอญได้มีสถานที่ทำบุญตามประเพณีอีกด้วย โดยทุกปีท่านจะร่วมกับชาวไทยและมอญจองกฐินที่วัดนี้ นอกจากนี้ยังได้ ปลูกสร้างตำหนักในบริเวณใกล้เคียงกับวัดอีก 7 หลัง ต่อมาเมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม ทายาทจึงได้ถวายที่ดินบริเวณนั้นแก่วัด
กุฏิไม้สักของอดีตเจ้าอาวาส
ดังนั้นผู้ที่มาเยือนวัดสุทธาโภชน์ก็อย่าลืมมาสักการะอนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดากลิ่นที่ซุ้มบุษบกหน้าอุโบสถกันเสียก่อน อนุสาวรีย์นี้ทำจากหินอ่อนแกะสลักเป็นรูปเจ้าจอมมารดากลิ่นครึ่งตัวในชุดแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งอยู่เคียงข้างกับพระรูปหินอ่อนครึ่งตัวของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

และบริเวณด้านข้างนั้นซุ้มบุษบกนั้นก็จะมีเรือมาดลำใหญ่อยู่ลำหนึ่งเป็นเรือของเจ้าจอมมารดากลิ่น เป็นเรือมาดสี่แจว คือต้องใช้ฝีพายสี่คนในการแจวเรือ โดยเรือมาดสี่แจวนี้ถือว่าเป็นเรือของคนใหญ่คนโต เพราะหากเป็นเรือของคนธรรมดาจะเป็นเรือเพียงสองแจว
เรือนับร้อยในพิพิธภัณฑ์เรือมาด
ทราบเรื่องราวประวัติของวัดกันแล้ว คราวนี้เราไปชมสิ่งต่างๆภายในวัดกันบ้าง ที่วัดสุทธาโภชน์นี้ยังเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตลาดกระบัง" เป็นอาคารสองชั้นตั้งอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดากลิ่น ในชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์นั้นจัดแสดงเรื่องราวของบุคคลสำคัญของเขตลาดกระบัง อันได้แก่ เจ้าจอมมารดากลิ่น และเจ้าคุณทหาร หรือเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหกลาโหมในรัชกาลที่ 5 และเป็นเจ้าของที่ดินอันเป็นที่ตั้งของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบังนั่นเอง

และยังมีป้ายนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับเรือชนิดต่างๆ เพราะในแถบนี้มีแม่น้ำลำคลองมากมาย และพาหนะที่คนลาดกระบังนิยมใช้ในอดีตก็เรือชนิดต่างๆ ที่เลือกใช้กันตามลักษณะการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเรือสำปั้น เรือมาด เรือชะล่า หรือ ชล่า เรือท้องกลม เรือหมู เรืออีแปะ เรือแจว อีกทั้งยังมีอุปกรณ์ทางการเกษตรที่ชาวบ้านเคยใช้กันสมัยก่อนจัดแสดงไว้ให้ชม เช่น สุ่ม ข้อง และอุปกรณ์จับปลา เครื่องฝัดข้าว ครกกระเดื่อง เป็นต้น
เรือมาดสี่แจวประดิษฐานพระพุทธรูปมาเป็นลำแรก
และเมื่อขึ้นไปชั้นสอง ก็จะได้ทราบถึงประเพณีและวัฒนธรรมของชาวมอญ ทั้งเรื่องของการแต่งกายของชายหญิงชาวมอญ ประเพณีและเทศกาลต่างๆ เช่น การตักบาตรพระร้อยทางเรือ การตักบาตรน้ำผึ้ง เทศกาลสงกรานต์ของชาวมอญ เป็นต้น และด้านบนนี้ก็ยังทำให้เรารู้จักของดีและแหล่งท่องเที่ยวของเขตลาดกระบัง เช่น หลวงพ่อขาววัดลาดกระบัง อุโบสถไม้สักทองของวัดทิพพาวาส เป็นต้น

ภายในวัดยังมี "กุฏิไม้สัก" เป็นเรือนโบราณอายุกว่าร้อยปี ซึ่งเดิมเป็นกุฏิของพระมหาอ่อน มหากลฺยาโณ เจ้าอาวาสคนแรกของวัดสุทธาโภชน์ ภายในกุฏินี้ยังเก็บรักษาข้าวของบางชิ้นของท่านไว้ ไม่ว่าจะเป็นเตียงนอน ตู้เก็บพระไตรปิฎก รูปภาพเก่าๆ รวมทั้งเครื่องมือในการทำยา เช่น หินบดยา เป็นต้น
ตักบาตรพระร้อยทางเรือ ประเพณีดีงามของชาวมอญวัดสุทธาโภชน์
เมื่อตอนต้นฉันได้พูดถึงเรือมาดสี่แจวของเจ้าจอมมารดากลิ่นไปแล้ว แต่หากใครยังติดใจเรื่องของเรืออยู่ ที่นี่เขาก็มี "พิพิธภัณฑ์เรือมาด" ให้ได้ศึกษากัน โดยเรือมาดนั้นเป็นเรือที่นิยมใช้กันมากในอดีต ตัวเรือขุดจากไม้เนื้อแข็ง นิยมใช้ไม้สัก หรือไม้ตะเคียนมาขุดเป็นเรือ หัวเรือและท้ายเรือจะมีลักษณะแบนกว้าง มีการต่อและเบิกกาบเรือให้สูงขึ้นจากผิวน้ำมาก และยังมีหลายขนาดด้วยกัน หากขนาดใหญ่หน่อยก็จะใช้บรรทุกข้าว พืชผักผลไม้ต่างๆ ขนาดเล็กก็จะไว้ใช้เป็นพาหนะสัญจรไปมา โดยในพิพิธภัณฑ์นี้มีเรือมาดอยู่กว่า 70 ลำ นอกนั้นก็เป็นเรือชนิดอื่นๆ อีกหลายแบบด้วยกัน

เรือที่จัดแสดงอยู่นี้ส่วนมากเป็นเรือที่ชาวบ้านใช้เป็นพาหนะและใช้ขนข้าวของพืชผลทางการเกษตรต่างๆ แต่เมื่อการสัญจรทางเรือลดน้อยลง ชาวบ้านก็ได้นำเรือมาบริจาคให้กับวัด แต่ดูจากสภาพเรือแล้วเหมือนมีการดูแลรักษาอยู่เสมอ นั่นก็เพราะว่าทางวัดจะนำเรือออกมาใช้เป็นประจำทุกปีหลังวันออกพรรษา ในงาน "ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ" ที่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์แรกหลังวันออกพรรษาของทุกปี ในปีนี้จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม เป็นอีกงานหนึ่งที่ฉันอยากชวนให้ทุกคนมาร่วมงานกัน
ชาวบ้านมารอใส่บาตรพระกันเต็มริมคลอง
สำหรับประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือนี้ถือเป็นวัฒนธรรมของชาวมอญที่สืบทอดกันมายาวนาน คู่ชาวไทยเชื้อสายมอญในชุมชนเลียบคลองมอญเขตลาดกระบัง โดยในตอนรุ่งเช้าเวลาประมาณ 06.00 น.พุทธศาสนิกชนจะจัดอาหารคาวหวานใส่สำรับเบญจรงค์งดงามมาถวายเป็นภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่วัด

และจากนั้นเวลาประมาณ 07.30 น. ก็ได้เวลาตักบาตรพระร้อยทางเรือกัน โดยจะมีพระสงฆ์จำนวน 100 รูป พายเรือมาตามคลองลำปลาทิวมายังบริเวณวัดสุทธาโภชน์เพื่อมารับบิณฑบาต โดยในขบวนนั้นจะนำด้วยเรือมาดสี่แจวประดิษฐานพระพุทธรูปมาเป็นลำแรก และเรือมาดสี่แจวนี้ก็เป็นเรือของเจ้าจอมมารดากลิ่นที่ฉันกล่าวไปให้ฟังแล้ว
หลังจากทำบุญกันเสร็จอย่าลืมสนุกสนานกับการแข่งเรือในช่วงบ่าย
บริเวณสองฝั่งคลองลำปลาทิวใกล้กับวัดสุทธาโภชน์จะมีประชาชนหลายร้อยคนมานั่งเรียงรายบนทางเดินเลียบคลองเพื่อรอใส่บาตรกับพระสงฆ์ บางบ้านที่มีเรือก็จะแจวเรือมาเทียบริมตลิ่งนั่งรอพระอยู่ในเรือ เตรียมใส่บาตรด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และอาหารแห้ง ข้าวสาร เครื่องกระป๋อง ไข่ต้ม เป็นต้น ภาพที่พระสงฆ์พายเรือมาตามคลองเป็นแถวยาว ท่ามกลางพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธามาเตรียมรอใส่บาตรตั้งแต่เช้าตรู่นั้น เชื่อว่าหากใครได้เห็นก็คงต้องประทับใจไปกับเทศกาลอันดีงามที่ไม่ได้มีให้เห็นในที่อื่นๆ

ส่วนในตอนบ่ายก็ไม่ควรพลาดความสนุกสนานของการชมการแข่งขันเรือพาย ซึ่งเรือที่นำมาเข้าแข่งขันนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรือที่มีใช้อยู่ในท้องถิ่นมาพายแข่งกันเพื่อความสนุกสนาน มิได้หวังรางวี่รางวัลแต่อย่างใด เพียงเพื่อเป็นการสร้างเสริมความรักความสามัคคีระหว่างกันนั่นเอง

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

"วัดสุทธาโภชน์" ตั้งอยู่ที่ ถนนฉลองกรุง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง ส่วนการตักบาตรพระร้อยทางเรือจะมีขึ้นในวันที่ 11 ต.ค. 2552 เวลาประมาณ 07.30 น. ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามได้ที่ โทร.0-2360-6520 หรือที่สำนักงานเขตลาดกระบัง โทร.0-2327-0952

กำลังโหลดความคิดเห็น